การปลูก บำรุงรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชนอกฤดูกาล


การปลูกพืชนอกฤดูกาลได้ทำให้มีพืชผักรับประทานตลอดทั้งปี เกษตรกรใช้ที่ดินคุ้มค่ามีงานทำทั้งปี มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะผลผลิตนอกฤดูกาลมีราคาสูง

 

 

การปลูกพืชนอกฤดูกาล

           การปลูกพืชนอกฤดูกาล คือการนำพืชที่ปลูกเจริญงอกงามได้ผลดีในฤดูหนึ่งนำมาปลูกในอีกฤดูหนึ่ง  ซึ่งต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ  เช่น  การนำพืชที่ปลูกในฤดูหนาวมาปลูกในฤดูร้อนหรือฤดูฝน เป็นต้น   การปลูกพืชนอกฤดูกาล เช่น กะหล่ำปลี  กะหล่ำดอก  ผักกาดขาวปลี  ฯลฯ  ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

  1. การเลือกสถานที่ปลูก  ต้องเป็นที่ดินอุดมสมบูรณ์  ใกล้แหล่งน้ำ  การระบายน้ำดีและเป็นแหล่งที่สะดวกในการดูแลรักษา  เช่น  ใกล้ที่พัก  เป็นต้น
  2. การเตรียมดินเพาะ   ควรใช้ดินร่วนซุย  มีอาหารอุดมสมบูรณ์ เตรียมแปลงเพาะกว้าง 1 เมตร ความยาวตามความต้องการ หรือเหมาะสมกับเนื้อที่ ขุดดินผึ่งแดดไว้ 1-3 สัปดาห์เพื่อให้แห้ง  จึงย่อยดินให้เป็นก้อนเล็กๆ เก็บเศษวัสดุต่างๆออกให้หมด  ยกหน้าดินให้สูงประมาณ 10 เซนติเมตร ผสมดินเพาะโดยใช้ดินร่วนตากแห้ง 6 ส่วน ปุ๋ยหมักตากแห้ง 2 ส่วน และปุ๋ยคอกตากแห้ง 2 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่บนหน้าแปลงที่เตรียมไว้หนาประมาณ 10 เซนติเมตร
  3. การเพาะเมล็ด  โรยเมล็ดเป็นแถว ห่างกันประมาณ 2 เซนติเมตร หรือหว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง แล้วเกลี่ยดินกลบเมล็ดพืช  รดน้ำให้ชุ่ม  ใช้ฟางหรือหญ้าแห้งคลุมดิน เพื่อรักษาความชุ่มชื้นและอุณหภูมิในดิน  ช่วยให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น ระยะนี้ต้องคอยดูแลกำจัดศัตรูพืช  เช่น มด หรือแมลงอื่นๆ
  4. การเตรียมดินปลูก  

 -  ดายหญ้าบริเวณที่ต้องการทำแปลง ขุดดินยกร่องให้ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร พลิกดินชั้นล่างขึ้นข้างบน  ผึ่งแดดไว้ประมาณ 1-3 สัปดาห์

 - ย่อยดินให้ละเอียด ผึ่งแดดอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เก็บเศษวัสดุออกให้หมด ใส่ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกอย่างละครึ่งปี๊บต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ถ้าเป็นดินทรายควรทำเป็นขอบแปลง  ถ้าเป็นดินเหนียวต้องทำให้นูนตรงกลาง

5. การย้ายต้นกล้า  เมื่อต้นกล้าแข็งแรงมีใบจริงประมาณ 2-3 ใบ  จึงนำไปปลูกได้ ก่อนย้ายต้นกล้ารดน้ำให้ชุ่ม  เพื่อให้ดินอ่อนนุ่ม และป้องกันรากต้นกล้าขาด ใช้ช้อนปลูกแซะขึ้นเบาๆ ให้ดินติดขึ้นมาด้วย นำไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้  การย้ายต้นกล้าควรทำในเวลาเย็น  อากาศไม่ร้อนทำให้ต้นกล้า ตั้งตัวเร็วขึ้น

6. การปลูก  ใช้ช้อนปลูกขุดดินในแปลงให้เป็นหลุมขนาดเล็ก  วางต้นกล้าลงกลางหลุมให้ลำต้นตั้งตรง  กดดินรอบๆโคนต้นให้แน่นพอ  ไม่ให้ต้นกล้าล้มหรือเอียงเวลารดน้ำ  เมื่อปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่ม  การกำหนดระยะในการปลูกกะหล่ำดอก  ควรให้ระยะห่างกันประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร  ระหว่างแถวประมาณ 60 เซนติเมตร 

7. การดูแลรักษา 

- หมั่นรดน้ำเช้า – เย็น  ระวังไม่ให้ดินแฉะเกินไป

- ทำร่มบังแดดให้  อาจใช้กาบกล้วยหรือทางมะพร้าวก็ได้

-  เมื่อปลูกไปแล้ว 10 วัน ควรให้ปุ๋ย หลังจากนั้นให้ทุกสัปดาห์และควรให้เวลาเช้า

-  การพรวนดิน  หลังจากใส่ปุ๋ยแล้วควรพรวนดิน การพรวนดินต้องทำอย่างระมัดระวัง  ถ้าพืชยังเล็กให้พรวนลึกๆรอบต้น  ถ้าพืชโตแล้วพรวนตื้นๆ และห่างจากต้น หมั่นเก็บวัชพืชออกด้วย

8.  การป้องกันกำจัดศัตรูพืช  การปลูกพืชนอกฤดูต้องดูแลศัตรูพืชเป็นพิเศษ   เพราะจะมีมากกว่าปกติ  ศัตรูของพืชได้แก แมลง รา  แบคทีเรีย  วัชพืช  และสัตว์ต่างๆเช่น  นก  หนู  เป็นต้น มีวิธีป้องกันทำได้ดังนี้

-  ปลูกพืชหมุนเวียน

-  นำพืชที่มีความต้านทานโรคสูงมาปลูก

-  ทำความสะอาดแปลงอยู่เสมอ   ไม่ให้รก  คอยกำจัดศัตรูพืช

-  เมื่อพบว่ามีโรคหรือแมลงต้องรีบกำจัดทันที โดยฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ควรทำอย่าง

    ระมัดระวัง  เพราะเป็นอันตรายแก่คนด้วย

- ไถหรือขุดดินตากแดดทิ้งไว้เพื่อฆ่าเชื้อโรคแมลง หลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วทุกครั้ง

9.       การเก็บเกี่ยวผลผลิต 

-  ระยะที่ 1 เก็บเมื่อยังอ่อน เช่น  พวกผักต่างๆ โดยสังเกตจากลักษณะ รูปร่าง      

    ขนาด  สีและเนื้อ หรือใช้การนับอายุของพืชแต่ละชนิด

    -    ระยะที่ 2 เก็บเมื่อแก่จัด  เช่น  ฟักทอง  หัวหอม  กระเทียม เป็นต้น ช่วงเวลาในการเก็บผลผลิตของพืชแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป  เช่น  ดอกไม้ ผักควรเก็บเวลาเช้าตรู่หรือเย็น  แต่บางชนิดต้องเก็บตอนสาย  เป็นต้น

10 .  การเก็บรักษาผลผลิตที่ถูกวิธี  มีประโยน์หรือข้อดี  คือ

-  ช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารให้คงอยู่ในปริมาณสูง 

-  ช่วยให้ผลผลิตสดและมีรูปลักษณะที่ดี 

-  จำหน่ายได้ราคาสูง 

-  สามารถเก็บรักษาได้นาน พืชบางชนิดต้องแขวนให้แห้งในที่ร่ม เช่น หัวหอมแดง กระเทียม บางชนิดเก็บแล้วไม่ต้องให้โดนน้ำและไม่ล้างน้ำ เช่น พริก มะเขือเทศ แตงกวา จะช่วยเก็บรักษาไว้ได้หลายวัน กะหล่ำปลีเก็บโดยไม่ต้องปอกใบนอกออก  เก็บในที่แห้งและเย็น  เมื่อรับประทานปอกใบนอกออก  ล้างน้ำให้สะอาด เป็นต้น

-   ถ้าพืชผักเป็นจำนวนมากรับประทานไม่หมด ควรเก็บโดยเอาโคนแช่น้ำ  และนำผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดหรือใบตองสดปิดคลุมไว้  วางในที่ร่ม หรือใส่ถุงพลาสติก  รัดปากถุงให้แน่นเก็บใส่ตู้เย็น

11. การบริโภคผักให้ปลอดภัยจากสารพิษ

            การปลูกผักไว้รับประทานเอง เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้บริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ แต่ทุกครอบครัวคงไม่สามารถปลูกผักทุกชนิดไว้รับประทานเองได้ ดังนั้นการต้องซื้อหาผักจากตลาดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่ ทั้งนี้ผักต่างๆ เหล่านั้นอาจจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยจากสารพิษตกค้างก็ได้ ดังนั้นควรมีการล้างผักให้ถูกวิธีและให้ปลอดภัยจากสารพิษมากที่สุด วิธีการล้างผักให้สะอาดเพื่อลดปริมาณสารพิษ สามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวกดังนี้

  1. ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่ในน้ำสะอาด นาน 5-10 นาที หลังจากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-72
  2. แช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 34-52
  3.  แช่ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์นาน 10 นาที (ไฮโดเจนเพอร์ออกไซด์ 1 ช้อนชา ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 35-50
  4.  แช่น้ำด่างทับทิมนาน 10 นาที (ด่างทับทิม 20-30 เกล็ดผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 35-43
  5. ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกนาน 2 นาที ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-39
  6.  แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
  7. แช่น้ำเกลือนาน 10 นาที (เกลือป่น 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
  8. แช่น้ำส้มสายชูนาน 10 นาที (น้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร) และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-36
  9.  แช่น้ำยาล้างผักนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 22-36

แบบฝึกหัด    

คำชี้แจง  ให้นักเรียนเขียนเครื่องหมาย x ทับตัวอักษรหน้าคำตอบที่ถูกที่สุด

  1. ข้อใดกล่าว ไม่ ถูกต้อง

ก.      การปลูกพืชนอกฤดูกาลทำให้กลายพันธุ์ได้

ข.      การปลูกพืชนอกฤดูกาลทำให้มีผักตลอดปี

ค.      การปลูกพืชนอกฤดูกาลต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นพิเศษ

ง.       การปลูกพืชนอกฤดูกาลทำให้ขายผลผลิตได้ราคาแพง

2. ข้อใด ไม่ควร เป็นทำเลปลูกผัก

             ก.   ใกล้ที่พัก                           ข.  น้ำท่วมถึง

             ค.   ระบายน้ำได้ดี                    ง.  การคมนาคมดี

3.    เครื่องมือในการปลูก คือข้อใด

             ก.   บัวรดน้ำ                            ข.  จอบ  เสียม

             ค.   วัสดุคลุมดิน                      ง.   ยาปราบศัตรูพืช

4.    ข้อใดเป็นการป้องกันศัตรูพืช

              ก.   ฉีดยาฆ่าเชื้อรา

              ข.   ปลูกพืชหมุนเวียน

              ค.   ใช้ตะเกียงล่อแมลง

              ง.    จับหนอนกระทู้ไปเผา

5.     ข้อใด  เป็นการกำจัดศัตรูพืช

              ก.    ทำความสะอาดสวน

              ข.    เก็บหรือจับแมลงไปทำลาย

              ค.    หมั่นตรวจดูพืชผักเสมอ

              ง.     ใช้ต้นกล้าแข็งแรงมาปลูก

6.      ข้อใดไม่ใช่การบำรุงรักษาพืช

              ก.    รดน้ำ                              ข.   ใส่ปุ๋ย

              ค.    พรวนดิน                        ง.    เพาะเมล็ด

7.     แปลงเพาะควรมีขนาดกว้างกี่เซนติเมตร

              ก.    50   เซนติเมตร               ข.    100   เซนติเมตร

              ค.    150  เซนติเมตร              ง.     200  เซนติเมตร

8.     ข้อใดเป็นลักษณะของพื้นที่ที่เหมาะต่อการปลูกพืชนอกฤดูกาล

              ก.   เคยมีโรคพืชระบาดมาก

              ข.   เป็นที่รกร้างมีวัชพืชมาก

              ค.   ครั้งก่อนเคยปลูกพืชชนิดนั้น

              ง.   ไม่เคยปลูกพืชชนิดนั้นมาก่อน

 9.     การเก็บเกี่ยวพืชควรใช้เกณฑ์อะไร

              ก.    นับอายุ                        ข.    สังเกตสี   เนื้อ

              ค.    สังเกตขนาด  รูปร่าง       ง.    ถูกทุกข้อ

10.    พืชในข้อใดสามารถเก็บเกี่ยวเมื่อแก่เต็มที่ได้

              ก.    มะเขือ                         ข.    กะหล่ำดอก

              ค.    ผักกาดขาวปลี               ง.    ผักกาดเขียวปลี

หมายเลขบันทึก: 368074เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2010 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท