Moral Hazard and Adverse Selection : A Big Problem of Insurance Industry (ตอนจบ)


ปัญหา Moral Hazard และ Adverse Selection (Anti-selection) ในธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย

ทั้ง Moral Hazard และ Adverse Selection (หรือ Anti-selection) นั้นเป็นพฤติกรรมของผู้เอาประกันที่แสดงถึงการเอารัดเอาเปรียบผู้รับประกันครับ เพราะไม่ว่าจะเป็น Moral Hazard หรือ Adverse Selection ต่างก็ทำให้ผู้รับประกันเสียประโยชน์ทั้งสิ้น เพราะ Adverse Selection นั้นผู้เอาประกันมีเจตนาในการเลี่ยงการคัดเลือกภัย (Anti-selection) โดยการปกปิดข้อมูลหรือไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง (Non-dicclosure) ของผู้เอาประกันให้ผู้รับประกันทราบ โดยที่ข้อมูลที่ผู้เอาประกันไม่ยอมเปิดเผยนั้น (Hidden Information) มีผลต่อการคัดเลือกภัย (Risk selection) หรือการพิจารณารับประกัน (Underwriting) ของผู้รับประกัน เช่น หากแจ้งข้อมูลให้ผู้รับประกันทราบผู้รับประกันอาจต้องเพิ่มเบี้ยผู้เอาประกันเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้เอาประกัน (ตามหลักการพิจารณารับประกัน คนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าก็ต้องจ่ายเบี้ยสูงกว่า) แต่การปกปิดข้อมูลทำให้ผู้รับประกันไม่สามารถคัดเลือกภัยได้ตรงตามความเสี่ยงหรืออัตรามรณะที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เอาประกันรายอื่นที่มีเจตนาบริสุทธิ์โดยทางอ้อมอีกด้วย เพราะการประกันภัยนั้นใช้หลักการเฉลี่ยความเสี่ยง (Law of Everage) โดยคนที่มีความเสี่ยงเท่ากัน (Equal Risk) มารวมกัน (Pool) เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงภัย (Risk everage) กับคนอื่นๆ ซึ่งผู้คัดเลือกภัยจะต้องมีทักาะและความรู้ในการคัดเลือกดังกล่าว แต่ Adverse Selection ทำให้การคัดเลือกภัยไม่ตรงตามความเสี่ยงโดยได้คนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่น ( Higher than everage risk) เข้ามาเฉลี่ยภัยด้วย นั่นเท่ากับว่าทำให้คนอื่นต้องมาแบกรับการเสี่ยงภัยที่สูงขึ้นตามไปด้วยนั่นเองครับ

ส่วน Moral Hazard ก็เช่นกันครับ เป็นปัญหาที่แก้กันลำบากเพราะเป็นเรื่องที่มาจากคุณธรรมและจริยธรรมของแต่ละบุคคล ดังนั้นยิ่งสังคมบ้านเราเสื่อมคุณธรรมและจริยธรรมลงมากเท่าไหร ปัญหา Moral Hazard ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจประกันชีวิต หากผู้เอาประกันส่วนใหญ่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการทำประกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการที่แท้จริงของการประกันชีวิตแล้ว ก็คงทำให้ดำเนินธุรกิจได้ยากลำบากมากขึ้นครับ

Moral Hazard นั้นจะแตกต่างจาก Adverse Selection ตรงที่ Moral Hazard คือการกระทำที่แฝงด้วยเจตนา (Hidden Action) ของผู้เอาประกันหรือผู้ที่สมรู้ร่วมคิด (เช่น ตัวแทน ผู้รับผลประโยชน์ นายทุน) ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์จากการทำประกันครับ ส่วน Adverse Selection จะเป็นเรื่องของข้อมูลที่ถูกปกปิด (Hidden Information) โดยผู้เอาประกันหรือผู้สมรู้ร่วมคิดทำให้เกิดความไม่ทัดเทียมของข้อมูล (Asymmetric Information) ระหว่างผู้เอาประกันและผู้รับประกัน ซึ่งผู้รับประกันมักจะเสียประโยชน์ครับ

อย่างไรก็ตามทั้ง Moral Hazard และ Adverse Selection สามารถเกิดขึ้นโดยแยกจากกันหรือทับซ้อนกันก็ได้นะครับ โดยผู้เอาประกันเองอาจมีพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิด  Adverse Selection หรือ Moral Hazard อย่างใดอย่างหนึ่งหรือพร้อมกันหรือต่อเนื่องกันก็ได้

การมี Moral Hazard ที่แยกจาก Adverse Selection นั้น เช่น ผู้เอาประกันอาจได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพและข้อมูลต่างๆที่จำเป็นต่อการทำประกันทุกอย่าง ซึ่งผู้พิจารณารับประกันเองก็สามารถคัดเลือกภัยผู้เอาประกันได้อย่างเหมาะสม (ไม่มี Adverse Selection) แต่เมื่อบริษัทประกันรับประกันไปแล้ว ผู้เอาประกันก็พยายามแสวงหาผลประโยชน์จากการทำประกัน (มี Moral Hazard) เช่น เคลมบ่อยๆ ถี่ๆ เป็นต้นครับ หรือกรณีที่ลูกค้าปกปิดข้อเท็จจริงด้านสุขภาพ (มี Adverse Selection) แต่การเรียกร้องสินไหมไม่ได้แตกต่างจากผู้เอาประกันคนอื่นๆ (ส่วนใหญ่มีน้อยครับเพราะส่วนใหญ่ Adverse Selection นั้นถือว่าเป็นการกระทำที่แฝงไปการกระทำที่ทำให้ผู้รับประกันเสียหายอยู่แล้วพูดให้เข้าใจง่ายคือบุคคลที่ปกปิดข้อมูลก้ย่อมต้องมีความคิดที่ไม่ดีในการเอาประกันหรือพูดง่ายๆคือมีภาวะภัยทางศีลธรรมเป็นพื้นฐานของการปกปิดข้อมูลนั่นเองครับ)

ส่วนกรณีที่ Moral Hazard และ Adverse Selection เกิดต่อเนื่องหรือพร้อมกันนั้นมักเป็นส่วนใหญ่ในธุรกิจประกันชีวิตครับ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่าการที่คนเราจะปกปิดข้อมูลเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์ และทำให้ผู้อื่นเสียประโยชน์นั้นย่อมมีความอันตรายทางคุณธรรมเกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว หรือมี Moral Hazard อยู่แล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ผู้เอาประกันคิดปกปิดข้อมูลทำให้ผู้รับประกันได้รับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียม และไม่สามารถคัดเลือกภัยได้ตรงตามความเสี่ยงในที่สุด หลังจากปกปิดข้อมูลสำเร็จ และบริษัทประกันตกลงรับประกันแล้ว ผู้เอาประกันก็เริ่มแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆจากการทำประกันอีกทีความ กรณีผู้รับประกันเสียผลประโยชน์สองเด้งเลยทีเดียว คือคัดเลือกภัยได้ไม่ตรงตามความเสี่ยงแล้วยังต้องมาถูกแสงหาประโยชน์ที่มิชอบอีกด้วย

 

ดังนั้นเพื่อลดความเสียหายที่เกิดจาก Moral Hazard หรือ Adverse Selection ของผู้เอาประกันหรือบุคคลที่หวังผลประโยชน์จากการทำประกัน บริษัทประกันเองก็ต้องมีแนวทางในการป้องกันและลด Moral Hazard หรือ Adverse Selection ให้ได้ครับ อย่างแรกคือต้องคัดเลือกตัวแทนประกันที่มีคุณธรรมจริยธรรมและซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและบริษัทครับ เพราะส่วนใหย่ตัวแทนมักเป็นด่านแรกในการพบเจอกับผู้เอาประกัน ตัวแทนถือเป็นผู้พิจารณารับประกันภาคสนาม (Field Underwriter) ดังนั้นตัวแทนจะต้องคัดกรองลูกค้าในเบื้องต้นก่อนส่งขอเอาประกันกับบริษัทครับ ซึ่งหลักการพิจารณาเบื้องต้นของตัวแทนในการคัดเลือกลูกค้าที่มีแนวโน้มจะเกิด Moral Hazard หรือ Adverse Selection ได้แก่

 1.ลูกค้าปกปิดที่อยู่ เข้าพบหรือถึงตัวได้ยาก

2.ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

3.ไม่มีรายได้หรือไม่ทราบที่มาที่ไปของรายได้

4.สังเกตเห็นความบกพร่องทางร่ายกายหรือสุขภาพ

5.มีวิถีชีวิตที่เสี่ยง เช่น เล่นการพนัน ติดยาเสพติด พฤติกรรมเบี่ยงเบน เป็นผู้มีอิทธิพล นักการเมือง หรือมีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยๆ

6.มีอาชีพหรืองานอดิเรกทีเสี่ยง เช่น ชอบกีฬาผาดโผน เป็นต้น

 

 ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสมกับการทำประกัน ตัวแทนก็ไม่ควรชักชวนให้บุคคลเหล่านี้ทำประกันครับ เพราะโอกาสที่จะเกิด Moral Hazard หรือ Adverse Selection นั้นสูงมาก แต่ถ้าตัวแทนร่วมมือกับผู้เอาประกันเองแล้วล่ะก็ การตรวจสอบหรือคัดเลือก Moral Hazard หรือ Adverse Selection ก็ทำได้ยากขึ้นครับ

อย่างไรก้ตามบริษัทประกันมีฝ่ายพิจารณารับประกัน (Underwriting) ในการคัดเลือกผู้เอาประกันอีกหนึ่งขั้นตอน ซึ่งผู้พิจารณารับประกัน (Underwriter) ก็ต้องใช้ความรู้ความสามารถในการคัดเลือผู้เอาประกันให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของผู้เอาประกันแต่ละบุคคลให้มากที่สุดครับ ใครที่อยากรู้ว่าการพิจารณารับประกันทำอย่างไร สามารถไปหาอ่านเรื่อง “หลักการพิจารณารับประกัน” ที่ผมเคยเขียนไว้แล้วก่อนหน้านี้ได้ครับ

บางครั้งการตรวจสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลในการคัดเลือกภัยของผู้พิจารณารับประกันนั้นอาจจำเป็นต้องมีการตรวจสอบประกันภาคสนาม (Field Insurance Investgation) โดยผู้ตรวจสอบประกันภัย (Insurance Investigator) ด้วยครับ โดยหน้าที่ของผู้ตรวจสอบประกันภัยคือลงพื้นที่ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อมูลผู้เอาประกันประกันว่าตรงตามที่ตัวแทนหรือผู้เอาประกันเปิดเผยกับบริษัทหรือไม่ เช่น วัตถุประสงค์ของการทำประกัน ที่มาของรายได้ในการชำระเบี้ย ที่อยู่ อาชีพการงาน วิถีชีวิต ความขัดแย้ง พฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายและสุขภาพ  ประวัติการเจ็บป่วย สถานพยาบาลที่ผู้เอาประกันเคยใช้บริการ สอบถามข้อมูลจากเพื่อนบ้านหรือคนใกล้ชิดของผู้เอาประกัน หรือบางครั้งหากเกิดเหตุการณ์ที่สงสัยว่าน่าจะเกิดจาก Moral Hazard ของผู้เอาประกัน เช่น ผู้เอาประกันแจ้งว่าโดนมีดตัดนิ้วขาดขณะสับเนื่อหมู ซึ่งอาจเป็นอุบัติเหตุที่น่าสังสัยว่าผู้เอาประกันมีเจตนาตัดนิ้วตัวเองเพื่อหวังเงินประกันหรือไม่ ก็ต้องหาหลักฐานพยานแวดล้อมจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลหรือตำรวจหรือสิ่งที่อาจเป็นแรงจูงใจให้เกิด Moral Hazard เช่น ผู้เอาประกันมีหนี้สินหรือไม่ เป็นต้น

การตรวจสอบเกี่ยวกับผู้เอาประกันหรือบุคคลที่มี Moral Hazard และ Adverse Selection นั้นยากครับและที่สำคัญคืออาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบอีกด้วย  ซึ่งบางครั้งค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการตรวจสอบนั้นไม่คุ้มกับผลที่ได้มาครับ

นอกจากนี้ถึงแม้ว่าตัวแทนจะคัดกรองผู้เอาประกันแทนบริษัทเป็นอย่างดี และผู้พิจารณารับประกันก้ใช้ความสามารถในการคัดเลือกผู้เอาประกันแล้ว ก็ใช้ว่าจะ คัดกรอง ผุ้เอาประกันที่มี Moral Hazard หรือ Adverse Selection ได้หมดนะครับ เพราะอย่างที่บอกครับว่า ปัจจุบันนั้นดังนั้นพฤติกรรม Moral Hazard หรือ Adverse Selection ของผู้เอาประกันในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น จึงมักมีผู้เอาประกัน ที่มี Moral Hazard หรือ Adverse Selection เล็ดลอดเข้ามาได้ครับ จะรู้อีกทีก็ตอนที่บุคคลเหล่านี้เรียกร้องสินไหมเข้ามานั่นแหละครับ ฝ่ายสินไหมทดแทนจึงเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนในการดำเนินการเกี่ยวกับผู้เอาประกันที่น่าสงสัยว่าเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทโดยมี Moral Hazard หรือ Adverse Selection บางครั้งบริษัทประกันมักจ่ายสินไหมทดแทนไป ทั้งๆที่สงสัยว่าอาจเป็น Moral Hazard หรือ Adverse Selection  ซึ่งอาจทำให้ผู้เอาประกันยิ่งพยายามหาผลประโยชน์จากบริษัทประกันมากขึ้น และทำให้ผู้เอาประกันรายอื่นเลียนแบบพฤติกรรมกันอีกด้วยครับ ดังนั้นผู้พิจารณาสินไหมเองจึงต้องมีความรอบคอบในการตรวจสอบการจ่ายสินไหม หากพบว่าผู้เอาประกันมีพฤติกรรมการเรียกร้องสินไหมที่น่าสงสัยและผิดปกติ ได้แก่

1.เจ็บป่วยบ่อย เช่น รักษาในฐานะผู้ป่วยในมากกว่า 2 ครั้งต่อปี หรือ รักษาในฐานะผู้ป่วยนอกถี่เกิน 10 -15 ครั้งต่อปี

2.เกิดอุบัติเหตุบ่อยเกิน 3 ครั้งต่อปี

3.เคลมเข้ามาหลังจากกรมธรรม์มีผลบังคับไม่นาน

4.เสียชีวิตเร็วภายใน 2 ปี

5.มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหลังกรมธรรม์มีผลบังคับไม่เกิน 2 ปี เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคภูมฺคุ้มกันบกพร่อง หรือป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

6.นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานเกินความจำเป็น

7.ส่งเรียกร้องสินไหมทดแทนช้า

8.ใช้สำเนาใบเสร็จมาเบิกค่ารักษาพยาบาล

9.มีการเวียนไปรักษาตามสถานพยาบาลหลายแห่ง

10.ใช้สำเนาเอกสารแทนตัวจริงในการเรียกร้องสินไหมทดแทน

พฤติกรรมต่างๆเหล่านี้อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้เอาประกันนั้นมี Moral Hazard หรือ Adverse Selection แอบแฝงอยู่ซึ่งผู้พิจารณาสินไหมเองต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบในการพิจารณาสินไหม หากพบพฤติกรรมดังกล่าวควรมีการตรวจสอบผู้เอาประกันครับ การตรวจสอบสามารถทำได้โดยอาศัยรายการการตรวจสอบประกันภัย (Insurance Investigation Report) จากผู้ตรวจสอบประกันภัย การขอประวัติการรักษาของผู้เอาประกันจากดรงพยาบาลที่ผู้เอาประกันเคยไปรักษา การขอข้อมูลจากบริษัทประกันอื่นๆ การขอข็อมูลหรือพยานหลักฐานจากตำรวจ เป็นต้น

การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับ Moral Hazard และ Adverse Selection ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันของบริษัทประกันทุกบริษัทในภาคธุรกิจและต้องอาศัยการประสานกับหน่วยงานรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการบริหารจัดการข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีหรือสงสัยว่ามี Moral Hazard และ Adverse Selection เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการทำประกันที่ไม่เป็นธรรมกับบริษัทประกันครับ เพราะพฤติกรรมของผู้ที่มี Moral Hazard และ Adverse Selection นั้นนับจะมีความหลากหลายและซับซ้อนขึ้นทุกที หากขาดการร่วมมือในภาคธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัยด้วยกันแล้วล่ะก็โอกาสที่จะป้องกันบรรเทาความเสียหายจาก Moral Hazard และ Adverse Selection ที่เกิดจากผู้เอาประกันก็จะน้อยลงไปด้วยครับ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 367464เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 18:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากค่ะ ได้รับความรู้จากบล็อกของคุณมากมายเลย

เพิ่งได้อ่าน เยี่ยมมาก ขนาดคณะอนุกรรมการการพิจารณารับประกัน ยังชมเลย

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท