Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ระดับป.6 สัปปุริสธรรมและทิฏฐธัมมิกัตถะกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง


๑.  วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้

                เพื่อให้ผู้เรียน

๑.๑  มีความเข้าใจสัปปุริสธรรมกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง

๑.๒ รู้วิธีการใช้หลักทิฏฐธัมมิกัตถะในการปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

๑.๓  รู้จักและเข้าใจ อริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวัน

๑.๔ หลีกเลี่ยงมิจฉาวณิชชา  และมีอาชีพที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

๑.๕  รู้จักและเข้าใจอริยทรัพย์ ๗ ในการทำความดีทุก ๆ ด้าน

๑.๖  รู้จักและเข้าใจฆราวาสธรรม พัฒนาชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น

 

๒. รายละเอียดของเนื้อหาการเรียนรู้

                ๑.  สัปปุริสธรรมกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง

สัปปุริสธรรม ๗   (ธรรมของสัตบุรุษ)

๑. ธัมมัญญุตา      ความเป็นผู้รู้จักเหตุ เช่น รู้จักว่า สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งสุข สิ่งนี้เป็นเหตุแห่งทุกข์  (รู้จักเหตุ)

๒. อัตถัญญุตา     ความเป็นผู้รู้จักผล เช่น รู้จักว่า สุขเป็นผลแห่งเหตุอันนี้ ทุกข์เป็นผลแห่งเหตุอันนี้ (รู้จักผล)

๓. อัตตัญญุตา     ความเป็นผู้รู้จักตนว่า เรามีชาติตระกูล ยศศักดิ์สมบัติบริวาร  ความรู้และคุณธรรมเพียงเท่านี้ ๆ แล้วประพฤติตนให้สมควรแก่ที่เป็นอยู่ (รู้จักตน)

๔. มัตตัญญุตา     ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในการแสวงหาเครื่องเลี้ยงชีวิตแต่โดยทางที่ชอบ และรู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอควร (รู้จักประมาณ)

๕. กาลัญญุตา      ความเป็นผู้รู้จักกาลเวลาอันสมควรในอันประกอบกิจนั้นๆ (รู้จักเวลา)

๖. ปริสัญญุตา      ความเป็นผู้รู้จักประชุมชน และกิริยาที่จะต้องประพฤติต่อประชุมชนนั้นๆ ว่าชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหาจะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ เป็นต้น (รู้จักชุมชน)

๗. ปุคคลปโรปรัญญุตา      ความเป็นผู้รู้จักเลือกบุคคลว่า ผู้นี้เป็นคนดี ควรคบ ผู้นี้เป็นคนไม่ดี ไม่ควรคบ เป็นต้น (รู้จักบุคคล)

คนดีที่เรียกว่า สัปบุรุษ หรือ สัตบุรุษ จะต้องประกอบด้วยคุณธรรมหรือคุณสมบัติเหล่านี้ คือ ความเป็นผู้รู้จักเหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล

 

                ๒.  หลักทิฏฐธัมมิกัตถะกับความพอประมาณ

ทิฏฐธัมมิกัตถะ ๔ (ประโยชน์ในปัจจุบัน)

๑. อุฏฐานสัมปทา     มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาหรือทำการงาน

๒. อารักขสัมปทา     รักษาทรัพย์สินที่หามาได้ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

๓. กัลยาณมิตตตา    คบแต่คนดีเป็นเพื่อน และให้หลีกเลี่ยงคนชั่ว

๔. สมชีวิตา               จับจ่ายใช้สอยทรัพย์ที่หามาได้ให้พอดีพอควร

 

ธรรม ๔ อย่างนี้ย่อเป็นคำสั้นๆ เรียกว่า หัวใจเศรษฐี คือ อุ อา กะ สะ

 

                ๓.  อริยสัจ ๔ กับความมีเหตุผล

อริยสัจ  คือ ความจริงอันประเสริฐ    มี  ๔ อย่าง

๑. ทุกข์                   ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

๒. สมุทัย              เหตุให้เกิดทุกข์

๓. นิโรธ                ความดับทุกข์

๔. มรรค                ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

                สิ่งที่เป็นปัญหาในชีวิต เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ประสบสิ่งที่ไม่ชอบ พลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความไม่สมปรารถนา  กล่าวโดยสรุป ได้แก่การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ จัดเป็นทุกข์

                ตัณหา คือ ความทะยานอยากได้ชื่อว่าสมุทัย เพราะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ มี ๓ ประการ คือ กามตัณหา ความอยากในกามคุณ ๕  ภวตัณหา  ความอยากมีอยากเป็น และ วิภวตัณหา ความอยากไม่มี ไม่เป็น

                ธรรมเป็นที่ดับตัณหา เป็นที่ดับทุกข์ได้สิ้นเชิง  คือ นิโรธ เพราะเป็นที่ดับทุกข์ ได้แก่ พระนิพพาน 

                ทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ ทำความเพียรชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

 

                ๔.มิจฉาวณิชชากับการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ผิด หรือไม่ชอบธรรม หมายถึง บุคคลไม่ควรค้าขายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสัตว์และต่อสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย

1. สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข นอกจากนั้นยังก่อมลพิษต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย

2. สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ

3. มังสวณิชชา หมายถึง การขายเนื้อสัตว์ เป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ทุกชนิด

4. มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด

5. วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย

 

                ๕.อริยทรัพย์ ๗ กับเงื่อนไขความรู้

อริยทรัพย์ ๗   (ทรัพย์อันประเสริฐ)

๑. สัทธา                 ความเชื่อ

๒. สีล                    การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อย

๓. หิริ                     ความละอายแก่ใจในการทำความชั่ว

๔. โอตตัปปะ        ความเกรงกลัวต่อผลของบาป

๕. พาหุสัจจะ       ความเป็นผู้ศึกษามาก

๖. จาคะ                 การเสียสละ

๗. ปัญญา              การรอบรู้ เฉลียวฉลาด

               

                อริยทรัพย์ ทั้ง ๗ อย่างนี้เป็นธรรมสนับสนุนในการทำความดีทุก ๆ ด้านโดยเฉพาะในการพึ่งตนเอง ย่อมอำนวยให้สำเร็จสิ่งที่พึงประสงค์ได้สมปรารถนา

 

                ๖. ฆราวาสธรรมกับเงื่อนไขคุณธรรม

ฆราวาสธรรม คือ หลักธรรมสำหรับผู้ครองเรือน ที่จำเป็นต้องมีอยู่ประจำ เพื่อเสริมให้มีความสุขยิ่งขึ้น มี ๔ ประการ คือ

         ๑. สัจจะ คือ ความจริง ดำรงมั่นอยู่ในสัจจะ ซื่อตรง ซื่อสัตว์ จริงใจ พูดจริง ทำจริง เป็นเหตุนำมาซึ่งความเชื่อถือ หรือไว้วางใจได้

         ๒. ทมะ คือ ฝึกตน ปรับปรุงตน บังคับควบคุมตนเองได้รู้จักปรับตัว และแก้ไขปรับปรุงตน ให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ รวมทั้งการยอมรับและแก้ไขสิ่งบกพร่องของตนด้วย

          ๓. ขันติ คือ อดทน อดทนต่อความหนาว ร้อน หิว กระหาย ทนตรากตรำ ทนต่อความเจ็บใจ ทนข่มอารมณ์ของตนได้ ทนต่อความยั่วยวนต่าง ๆ อดทนต่ออำนาจฝ่ายต่ำ อดทนต่อการทำการงาน

         ๔. จาคะ คือ เสียสละ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล ช่วยเหลือบำเพ็ญประโยชน์ สละความโกรธ ความเห็นแก่ตัว มีใจกว้างร่วมงานกับคนอื่นได้ สละอารมณ์ขุ่นมัวภายในจิตใจได้

 

๓. แนวทางการเรียนการสอน (กิจกรรมการเรียนรู้)

๓.๑  การสร้างความพร้อม

๑)  ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสร้างกติกาในการเรียนรู้เพื่อถือปฏิบัติเป็น “วินัยประจำวิชา” เช่น การแต่งกายให้เรียบร้อย การตรงต่อเวลา การตั้งใจเรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้

๒)  อธิบายเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยก่อนเรียนจะต้องมีการการบูชาพระรัตนตรัย สมาทานศีล นั่งสมาธิ และแผ่เมตตาก่อนการเรียน (ประมาณ ๕ นาที) ในทุกชั่วโมงเรียน โดยเน้นให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและความสำคัญของการกระทำดังกล่าว

๓)  ให้ผู้เรียน ๑ คน เป็นผู้นำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย และสมาทานศีล (โดยต้องวนเวียนกันไปไม่ซ้ำบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนมีประสบการณ์อย่างทั่วถึง)

๔) นำผู้เรียนเจริญภาวนาด้วยวิธีง่ายๆ  คือ การดูกาย  ดูจิต

 

๓.๒  การสร้างปัญญา

                ๑. ขั้นเสวนาผู้รู้

-  ผู้สอนกล่าวชื่นชมและอนุโมทนาในการทำความดีของผู้เรียน

-  ผู้สอนแจ้งรายละเอียดของเนื้อหาโดยภาพรวมทั้งหมดว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง

-  ผู้สอนนำเข้าสู่บทเรียนโดยให้ผู้เรียนระบุพฤติกรรมของคนดี  มีอะไรบ้าง

-  ผู้สอนให้นักเรียนช่วยกันระดมความคิดว่า สัปปุริสธรรม  ทิฏฐธัมมิกัตถะ  อริยสัจ ๔และอริยทรัพย์ ๗ คืออะไร  มีความสำคัญอย่างไรกับชีวิต

-  ผู้สอนตั้งคำถามว่า อาชีพที่ดีและอาชีพที่ไม่ดี  มีอะไรบ้าง

-  ผู้สอนตั้งคำถามว่า นักเรียนสามารถพัฒนาชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้นจากการปฏิบัติตนตาม ฆราวาสธรรมได้อย่างไรบ้าง

-  ให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน

 

๒. ขั้นสดับคำสอน

-  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของสัปปุริสธรรมกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง

-  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของหลักทิฏฐธัมมิกัตถะในการปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

-  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของอริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวัน

-  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของมิจฉาวณิชชา  และการมีอาชีพที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

-  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของอริยทรัพย์ ๗ ในการทำความดีทุก ๆ ด้าน

 -  อธิบายความสำคัญ  คุณธรรมและยกตัวอย่างของฆราวาสธรรม เพื่อพัฒนาชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น

 

๓. ขั้นสร้างสรรค์ความคิด

-  ผู้สอนแบ่งกลุ่มผู้เรียนกลุ่มประมาณ ๕ คน

-  ผู้สอนแจกใบงานให้ทุกคน

-  ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันระดมความคิดโดยยกตัวอย่างลักษณะวิธีการใช้หลักทิฏฐธัมมิกัตถะในการปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  นำเสนอภายในกลุ่ม  คนละ 1 นาที

-  ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันเขียนสรุปวิธีการนำอริยสัจ ๔  อริยทรัพย์ ๗และฆราวาสธรรม  มาใช้ในชีวิตประจำวัน  ในใบงาน  ให้เวลา 5  นาที

-  ให้ผู้เรียนแต่ละคนบอกเล่าเรื่องราวพฤติกรรมของคนดี (สัปปุริสธรรม) ที่ตนเองประทับใจ  และยึดถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต  ในใบงาน  ให้เวลา 10  นาที

-  ให้สมาชิกทุกคนในกลุ่มออกมานำเสนอผลงานการปั้นดินน้ำมันและบอกเล่าประสบการณ์ของตนเองภายในกลุ่ม  คนละ 2 นาที

-  ให้สมาชิกในกลุ่มช่วยกันคัดเลือกเรื่องราวและรูปปั้นที่ดีที่สุดในกลุ่ม  ส่งเป็นตัวแทนกลุ่ม  เพื่อนำเสนอหน้าชั้นเรียนต่อไป

 

๔. ขั้นนำเสนอและสรุป      

-  ผู้สอนให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน 

-  ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสัปปุริสธรรมกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง วิธีการใช้หลักทิฏฐธัมมิกัตถะในการปฏิบัติตนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  การใช้อริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวัน  การหลีกเลี่ยงมิจฉาวณิชชา  และมีอาชีพที่ดีตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง  อริยทรัพย์ ๗ ในการทำความดีทุก ๆ ด้าน  และฆราวาสธรรม พัฒนาชีวิตให้มีความสุขยิ่งขึ้น  โดยการถามตอบและแสดงความคิดเห็น 

-  สรุปความรู้และประโยชน์ที่ได้จากการเรียนและการทำกิจกรรมในชั้นเรียน

-  เปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย

-  ให้ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน

 

๔. สื่อการเรียนการสอน

๑.  หนังสือเรียนวิชา ธรรมะกับเศรษฐกิจพอเพียง

๒.  รูปภาพโครงการพระราชดำริและเศรษฐกิจพอเพียง

๓.  วีดีทัศน์ / สื่อเสียง 

๔.  สื่อประดิษฐ์

๕.  ใบความรู้ เรื่อง สัปปุริสธรรมและทิฏฐธัมมิกัตถะกับสาระสำคัญของหลักเศรษฐกิจพอเพียง

๖.  การนำเสนอด้วย  PowerPoint

๗.  E-Learning  วิชา ธรรมะกับเศรษฐกิจพอเพียง

 

๕.  การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน

 

๑.  ประเมินจากพฤติกรรมการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน เช่น การตั้งคำถาม การตอบคำถาม การนำเสนอ

๒.  ประเมินจากพฤติกรรมการเข้าชั้นเรียนและการส่งงานที่ได้รับมอบหมาย

๓.  ประเมินจากความรับผิดชอบในงานที่มอบหมายทั้งระดับรายบุคคลและกลุ่ม

๔.  ประเมินจากการรับฟัง และการปรับปรุงแก้ไขผลงาน

๕.  ประเมินจากการแสดงความคิดเห็น

๖.  ประเมินจากการทำกิจกรรมกลุ่มและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน

๗.  ประเมินจากการสอบวัดผลการเรียนรู้ก่อนและหลังเรียน

 

๖. หนังสืออ่านประกอบ   http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=326

 

หนังสือ "หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  จำนวนหน้า : (40 หน้า)

  

หนังสือ "เรียนรู้หลักการทรงงาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"  จำนวนหน้า : (78 หน้า)

 

หนังสือ "การประยุกต์ใช้ หลักเศรษฐกิจพอเพียง"  จำนวนหน้า : (32 หน้า)

 

หนังสือ "เส้นทางสู่ความพอเพียง"  จำนวนหน้า : (82 หน้า)

 

หนังสือการ์ตูน "เศรษฐกิจพอเพียง" จำนวนหน้า : (200 หน้า)

 

หมายเลขบันทึก: 367210เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท