QR Code (รหัสขั้นตอนเดียว)


QR Code (รหัสขั้นตอนเดียว) 

โดย คนไอที (http://gotoknow.org/blog/it-guy)

อ่านในรูปแบบ microsft word ที่ http://gotoknow.org/file/jatchai/QRcodeShare.doc

Quick Respond code  เป็นผลผลิตของบรรษัทของญี่ปุ่น ชื่อว่า Denso-Wave คิดขึ้นในปี 1994   QR Code เป็นแบบหนึ่งของ matrix code หรือ two-dimensional bar code พอได้เห็นคำว่า bar code ก็คงพอเดาได้ว่า QR code ก็เป็น barcode ชนิดหนึ่ง ที่ทุกคนคุ้นตา และใกล้ตัว มีให้เห็นทั่วทุกแห่งหน บนหนังสือ บนกล่อง บนขวด บนป้ายสินค้า เป็นภาพของแท่ง หรือเส้นในแนวตั้ง  ที่แทนอักขระชุดหนึ่ง หากต้องการรู้ว่าหมายความว่าอะไร ก็ต้องใช้เครื่องอ่าน ที่เห็นกันตามจุดชำระเงินในห้างสรรพสินค้าทั้งเล็กทั้งใหญ่ ซึ่งจะใช้แสงเลเซอร์กราดที่ป้าย barcodeเพื่อวัดความกว้าง ความห่าง ของแท่งทุกแท่ง แล้วแปลงกลับมาเป็นชุดของอักขระดังเดิมแล้วก็ค้นจากตารางหาความหมายที่ตรงกับชุดอักขระนั้น  แต่ QR code จะไม่ใช่แถบ  หรือเส้น และไม่ต้องใช้อุปกรณ์สำหรับอ่าน QR code เป็นการเฉพาะ  ทุกคนก็อ่านได้เพียงแต่ใช้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีคอมพิวเตอร์และกล้องอยู่ในตัว แล้วติดตั้งโปรแกรมอ่าน QR code ก็จะเป็นเครื่องอ่าน QR code ติดตัวไว้ใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา

ลองมาดูวิวัฒนาการของ barcodeเริ่มจากการทำความรู้จัก barcode กันให้ชัดเจน barcode ก็คือสื่อ(media) หรือสิ่งที่แทนข้อมูล ที่ต้องใช้เครื่องอ่าน    เช่นเดียวกับ floppy disk,  optical disc,  USB flash drive,  magnetic disks, cards, tapes, and drums,  punched cards and paper tapes, magnetic ink characters  อยากรู้ว่ามีข้อมูลอะไรบ้าง ก็ต้องใช้เครื่องมือ เช่น เปิดคอมพิวเตอร์  อ่านข้อมูลในฮาร์ดดิสก์ ต้องใส่แผ่นเข้าไปใน CD Drive ต้องเสียบเข้ากับ USB  portจึงจะแสดงผลออกมาให้คนเข้าใจได้

Barcode จะแทนข้อมูลโดยใช้ความกว้าง และความห่างของแท่งหรือเส้น ที่จัดวางในแนวที่ขนานกัน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกเป็น linear barcode หรือ 1 D (1 dimensional) barcode  มีการนำมาใช้ในระบบคิดเงินอัตโนมัติในห้างและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย  และด้วยวิธีการที่มีประสิทธิภาพในแยกแยะสินค้าที่มีนับพันชนิดเพื่อคำนวณราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่ยอมรับในการใช้ในระบบ Auto ID Data Capture (AIDC) ซึ่งเป็นระบบที่มีกรรมวิธีดังนี้  จำแนกให้ได้ (Identifying)  ต้องการรวบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (Collection) แล้วนำข้อมูลเข้าระบบคอมพิวเตอร์แบบอัตโนมัติ (Entering)  ซึ่งมีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่นำมาใช้กับระบบ AIDC เช่น Radio Frequency Identification (RFID), biometrics, magnetic stripes, Optical Character Recognition (OCR), smart cards, and voice recognition   แต่เพราะ barcode เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน แพร่หลาย และมีราคาถูก  (มีการเปรียบเทียบราคาต่อป้าย (tag) ของ barcode ราคา 0.5¢ (U.S.) .ในขณะที่ราคาของ passive RFID ราคา 7¢ - 30¢ (U.S.))  จึงครองตลาด AIDC   ผู้อ่านลองพิจารณาบัตรที่ตัวเองมี เชื่อว่าปัจจุบันแต่ละคนมีบัตรพกติดตัวกันหลายใบ  แล้วลองดูบัตรที่มี barcode  แล้วนึกถึงเมื่อเวลาส่งบัตรนั้นให้เจ้าหน้าที่เขาเอาไปส่องด้วยเครื่องอ่าน barcode ข้อมูลใน barcode ก็เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทันที    เพียงแต่เจ้าหน้าที่อาจจะเพิ่มเติมข้อมูลที่ต้องใช้กับระบบเพื่อการให้บริการต่อไป อาจกล่าวได้ว่าเรามีความใกล้ชิดกับ barcode โดยไม่รู้ตัว

ก่อนจะถึง QR Code   จาก one-dimensional barcode ก็มาสู่  two-dimensional matrix barcode จะใช้ช่องสี่เหลี่ยมขาว และดำ   (ไม่ใช่แท่ง หรือเส้นอีกต่อไป)  ใช้ได้กับข้อมูลข้อความที่มีขนาด 2 กิโลไบท์  (ข้อมูลที่เป็นทั้งตัวเลขและตัวอักษร 2,335 ตัว) แม้ว่าบางส่วนของ barcode เสียหายก็ยังอ่านได้

QR Code เป็น  matrix code (or two-dimensional bar code) แบบหนึ่งที่มีความรวดเร็วในการถอดรหัส หรืออ่านดูเนื้อหาที่จัดเก็บไว้   ในประเทศญี่ปุ่น QR Code เป็นที่นิยมมากที่สุด  แม้ว่าในเบื้องต้นจะมีความมุ่งหมายจะติดตามชิ้นส่วนในโรงงานผลิตรถยนต์  แต่ก็ขยายการใช้งาน ครอบคลุมทั้งด้านธุรกิจ และการใช้ประโยชน์จาก mobile phone  ดังเช่น ป้าย QR Code ของ address URLs ที่ปรากฏตามหนังสือ (รวมทั้งในบทความนี้) ตามป้ายสัญญาณ ตามที่พักผู้โดยสาร ตามที่สาธารณะ  ผู้ที่สนใจก็จะใช้ mobile phone อ่านแล้วเชื่อมต่อกับ web site ได้ทันที เพียง 2 คลิก

 

QR code ใช้ได้กับข้อมูลหลากหลาย numeric  alphabet symbol และจำนวนอักษรมากกว่า 1D barcode ซึ่งมีข้อจำกัดที่มากกว่า   สำหรับ QR Code รองรับเนื้อหา และปริมาณข้อมูล แต่ละประเภท ดังนี้

Numeric only        Max. 7,089 characters

Alphanumeric      Max. 4,296 characters

Binary (8 bits)       Max. 2,953 bytes

Kanji/Kana            Max. 1,817 characters

Kanji/Kana  จะทำให้รองรับภาษาญี่ปุ่น  ภาษาจีน ซึ่งมีโครงสร้างของตัวอักษรลักษณะเดียวกัน   ส่วนจะรองรับภาษาไทยหรือไม่ ผู้เขียนก็ลองสร้างป้าย QR Code จากข้อความหัวเรื่องของบทความนี้ ก็ได้ผลตามรูปซ้ายมือ และเมื่อลองอ่านก็ได้ผลถูกต้อง

รูป QR Code ข้างกล่องเครื่องดื่มบรรจุกล่องยี่ห้อหนึ่ง ก็เป็นการประยุกต์ใช้เพื่อการตลาด ผู้อ่านก็คงได้เห็นกันบ้าง ถ้ายังไม่เคยเห็น ก็ให้บอกลูกหลานช่วยหามาให้ดู  บางทีแค่บอก QR Code เขาก็รู้จัก ไม่ต้องอธิบาย    เป็นการสร้างจุดสนใจ ตื่นตาตื่นใจ ด้วยการทำก่อนใคร เน้นการสร้างภาพลักษณ์ความทันสมัย   จริง ๆ แล้ว ป้าย หรือ barcode tag นี้มีข้อความว่า “content:3F60C6”  เท่านั้นเอง  ไม่มีเนื้อหา ไม่ได้อธิบายอะไร เป็นเพียงข้อความที่ใช้เล่นเกมส์  ตามที่ลูกหลานอธิบายให้ฟัง  ก็บอกว่าให้เข้า website เครื่องดื่ม แล้วเอาป้าย barcode จ่อเข้ากับ webcam   เป็นการส่งข้อมูลหรือข้อความไปเล่นเกมส์ โดยไม่ต้องใช้คีย์บอร์ด ก็เท่านี้แหละ  คาดว่าคงไม่ค่อยมีคนสนใจเล่นเท่าใดนัก   น่าเสียดาย ควรจะให้เนื้อหาที่เป็นสาระกันบ้าง อาจจะเอาภูมิปัญญาแพทย์จีนอธิบายประโยชน์ของเครื่องดื่ม (ถ้าหากมีอยู่บ้าง)  คนคงอยากซื้อมาอ่านกันบ้าง แม้จะไม่ชอบดื่ม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และบริการทีวีผ่านดาวเทียมรายหนึ่งก็คุยว่า จะมีการประยุกต์ QR Code กับบริการของตน ตอนนี้อยู่ระหว่างสร้างสรรค์กันอยู่  ก็คงต้องดูกันว่าจะให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคในสัดส่วนที่เหมาะสมหรือไม่  หรือมุ่งเน้นเพิ่มยอดการใช้บริการ การซื้ออุปกรณ์เพื่อการสื่อสาร เป็นสำคัญ   

มาทีหลังจะดังกว่าหรือไม่ ต้องดูกันต่อไป   Microsoft นอกจากจะเป็นมหาอำนาจด้านซอฟต์แวร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์มาแต่แรกเริ่ม ระยะหลังได้แทรกตัวลงไปบน mobile phone ปัจจุบัน Windows Phoneเริ่มจะคุ้นหูกันบ้าง ถ้าไม่เล่นกับ barcode  ย่อมถือว่าผิดปกติ  มีการให้เครดิตว่า next generation คือ Microsoft Tag โดยใช้ชื่อว่า High Capacity Color Barcode (HCCB)  เป็นเทคโนโลยีที่ใช้รูปสามเหลี่ยมทั้งสีและขาวดำ ซึ่งจะทำให้เพิ่มปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บได้ด้วยสีทีนำมาใช้ 4 หรือ 8 สี แทนรูปสี่เหลี่ยมขาว ดำ ใน 2 D barcode ทั่วไป    ได้มีการทดสอบว่าสามารถสร้าง barcode tag ขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้วย scanner และ printer ทั่วไป  ซึ่งเก็บข้อมูลได้  3,500 ตัวอักษร

Microsoft tag นอกจากจะพาเข้าสู่ website เช่นเดียวกับ QR Code แล้ว  ยังเกาะเกี่ยวกับการบริการบน website ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฐานข้อมูลระบบชื่อ URLs ยาว ๆ ให้เป็นชื่อที่สั้น ๆ เพื่อสะดวกสำหรับผู้ใช้งาน  การให้ผู้ใช้ส่งพิกัด GPS ไปให้ แล้วจะได้รับรายชื่อร้านอาหาร  แผนที่นำทาง  เมื่อผู้ใช้ถ่ายรูปป้าย หรือ barcode tag แล้วสามารถส่งต่อข้อมูลข่าวสารใน tag นั้น ในรูปของ text file, vCard (รูปแบบหนึ่งของนามบัตรอิเล็กทรอนิกส์ electronic business card) แนบไปกับ e-mail เป็นต้น

คำว่า Code ใน barcode จะเกี่ยวข้องกับการเข้ารหัสหมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ข้อความที่แสดงผลเป็นตัวอักษร ให้แสดงผลเป็นภาพรูปทรงเรขาคณิต  การถอดรหัสก็ย่อมหมายถึงการแปลงภาพกลับมาเป็นข้อความ    มิได้มุ่งหมายที่ต้องการปกปิดข้อความให้เป็นความลับ  แต่มุ่งหมายที่จะนำข้อมูล หรือข้อความเข้าประมวลผลโดยผ่านเครื่องอ่าน ต้องการแบบอัตโนมัติ      ไม่ต้องการให้คนอ่านแล้วคีย์ข้อมูลเข้าสู่ระบบ    ไม่ต้องการให้เกิดผิดพลาด ไม่ต้องการความล่าช้า  ไม่ต้องการความยุ่งยาก    เมื่อพูดถึง 1D barcode ภาพที่เกิดขึ้นทันที คือภาพการคิดเงินตามห้าง (point of sale) ลองนึกภาพเมื่อพนักงานในห้างหยิบสินค้าชิ้นหนึ่งมาส่องด้วยเครื่องอ่าน หมุนแล้วหมุนอีกเครื่องก็อ่านไม่ออก......ก็ต้องเริ่มกระบวนการทำมือ  ตาเพ่งตัวเลขใต้แถบ barcode  นิ้วจิ้ม keyboard ประมาณสิบครั้ง  ครบแล้วกด enter โชดดีไม่มีอะไรผิดพลาด ครั้งเดียวผ่าน  ก็ลองจินตนาการขยายผลต่อไป หากพนักงานต้องทำแบบนี้กับสินค้าทุกชิ้น และกับลูกค้าทุกคน  น่าจะเชื่อได้ว่าทั้งเจ้าของห้าง พนักงาน และลูกค้า ไม่มีใครต้องการเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้น

ผู้อ่านลองดูใบเสร็จที่ได้จากห้าง จะเห็นรายการสินค้าทำให้ตรวจสอบกับสินค้าที่ซื้อมาได้โดยสะดวก   สมมุติว่าถ้าใบเสร็จพิมพ์รายการสินค้าเป็นตัวเลขใต้แถบ barcode  เพราะเป็นข้อมูลจำเพาะของสินค้าชนิดเดียวกัน  ผู้อ่านคงนึกออกว่าจะยุ่งยากเพียงใด ถ้าต้องเทียบตัวเลข กับป้าย barcode ที่แปะติด หรือพิมพ์ไว้บนบรรจุภัณฑ์   

แล้วทำไมต้องมีตัวเลข หรือตัวเลขกับตัวอักษร ซึ่งอ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี   อักขระเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดของ (1 Dimension) barcode ในการแปลงอักขระเฉพาะเท่าที่กำหนดเป็น ภาพของแท่ง หรือเส้น  ส่งผลให้มาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ หรือข้อบังคับ บางมาตรฐาน บีบบังคับให้ใช้ได้กับตัวเลขล้วน ๆ เพียง 10 หลัก ตัวเลขสุดท้ายจะเป็นไปตามมาตรฐาน  ใช้กับตัวเลขกับตัวอักษรภาษาอังกฤษเท่านั้น  เป็นต้น  จึงทำให้ไม่สามารถใช้ข้อความจำเพาะของสินค้าแต่ละชนิด มาแปลงเป็นภาพของแท่ง หรือเส้นได้ทันที  ดังนั้นการจะใช้ barcode  ผู้ใช้จึงต้องสร้างรหัสขึ้นอีกชุดหนึ่ง ให้กับสินค้าซึ่งจะต้องสามารถจำแนก หรือแทนสินค้าแต่ละชนิดของตัวเองโดยไม่ซ้ำกัน และต้องสอดคล้องตามกฏเกณฑ์ของมาตรฐานของ barcodeที่จะใช้   การจะนำรหัสที่มีอยู่แล้วเช่น part number, serial number จากระบบผลิตสินค้า ซึ่งนอกจากจำแนกชนิดได้แล้ว ยังจำแนกสินค้าแต่ละชิ้นได้  ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของ barcode หรือ อาจไม่สอดคล้องกับระบบขายซึ่งเป็นการจัดการของผู้ขาย ซึ่งปกติจะขายของจากผู้ผลิตหลายเจ้า  ดังนั้นจึงไม่อาจหลีกเลี่ยง การสร้างรหัสขึ้นอีกชุดหนึ่ง ก่อนจะให้โปรแกรมแปลงเป็นภาพของแท่งหรือเส้น ที่เรียกว่า barcode   

แต่เพราะ  2D matrix barcode หรือ QR Code สามารถใช้ทั้งตำแหน่งในแผ่นป้าย  รูปทรงทั้งสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และสีที่แตกต่างกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ในการสร้างภาพของ barcode ให้เหมาะสมกับการใช้งานได้หลากหลาย  สามารถลดข้อจำกัดที่มีใน 1D barcode ทั้งปริมาณและรูปแบบของอักขระ ดังจะเห็นได้ว่า QR Code รองรับข้อความที่มีทั้งตัวเลขและตัวอักษรได้ถึง 4,296 ตัว (มากกว่าข้อจำกัดในการเขียนกะทู้ในสังคมออนไลน์ 3-5 เท่าเสียอีก)  ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างชุดรหัสเพื่อลดจำนวนตัวอักขระ    หากจะนำ 2D barcode มาใช้กับระบบ point of sale ก็สามารถใช้ข้อมูลจำเพาะของสินค้าแปลงเป็นภาพ ได้ทันที    ในขณะเดียวกันลูกค้าก็ใช้ mobile phone อ่านป้าย (2D barcode)และเข้าใจได้ทันที ไม่ต้องถือสินค้าเดินไปหาเครื่องอ่านป้าย (1D barcode) ที่บางห้างติดตั้งไว้ (ข้อมูลจำเพาะย่อมหมายความว่าเป็นข้อความที่คนอ่านแล้วรู้ว่าเป็นสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างแน่นอน ชัดเจน ไม่มีข้อสงสัย ซึ่งก็คือรายการสินค้าในใบเสร็จนั่นเอง)  ด้วยเหตุที่ผู้เขียนเห็นว่าเมื่อนำ 2D barcode (ซึ่งปัจจุบัน QR Code เป็นที่รู้จักแพร่หลาย) มาใช้แล้ว ไม่ต้องสร้างรหัสอีกชุดหนึ่ง  จึงให้ฉายา QR Code ว่า รหัสขั้นตอนเดียว 

นอกจาก 2D barcode จะมีความเหมาะสมในการใช้แทน 1D barcode  ได้แล้ว  หากพิจารณาคุณลักษณะของ ที่ต่างจาก 1D barcode คือรองรับการการเชื่อมต่อเข้า website ด้วยเครื่องอ่าน (mobile phone)   ทำให้การอ่านป้าย(2D barcode tag) ไม่ว่าจะป้ายเล็ก ๆ บนสินค้า ในหนังสือ  หรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ริมถนน   เมื่ออ่านได้แล้ว กดปุ่มอีกคลิกเดียวก็จะพาเข้าสู่ website ทันที  ก็พอจะมองได้ว่า 2D barcode จะเป็นสื่อโฆษณาที่มีอิทธิฤทธิ์  เพราะ  เพียงป้ายแผ่นเดียวแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม  รูปซ้ายมือ เป็นรูปถ่ายป้าย QR Code ขนาดใหญ่ สูงเท่าตึกชั้น ใครผ่านไปผ่านมา มี mobile phone ก็อ่านได้ แล้วก็ถูกพาไป website ทันที ใคร post รูปนี้ขึ้นอินเตอร์เน็ต คนทั้งโลกใช้  mobile phone อ่านจากหน้าจอ กดปุ่ม 1 คลิก ก็ถูกพาไปที่เดียวกัน  ผู้เขียนเอารูปมาลงในวารสารทางหลวง ผู้อ่านอยากรู้ว่าเป็น website อะไร ก็ลองทำแบบเดียวกัน  และ ป้ายแผ่นเดียวแผ่นนั้นใช้ได้ตลอดไป เพราะเนื้อหาที่ต้องการโฆษณาที่ต้องปรับเปลี่ยน ทำที่ website

2D barcode คงมิใช่จะเป็นประโยชน์ต่อการขายของ หรือการโฆษณา ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของภาคธุรกิจ  กิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ ก็ควรจะทำความเข้าใจแนวคิด วิธีการ คุณลักษณะหรือความสามารถ เพื่อนำมาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์กับงานได้เช่นกัน  ในมุมมองของผู้เขียน เห็นว่าการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้งานทันที (สำเร็จรูป) บางกรณีอาจจะต้องออกแรงทำเองบ้าง (กึ่งสำเร็จรูป) ก็ควรจะนำมาใช้  เห็นว่า 2D barcode เป็นพัฒนาการที่ทำให้การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบแบบอัตโนมัติ (AIDC)สะดวกขึ้นมาก ใช้เครื่องมือที่มีใช้ทั่วไป (mobile phone) อ่านข้อมูลเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น  รองรับข้อมูลหลากหลายรูปแบบ สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต มีโปรแกรมประยุกต์ที่จะนำมาใช้งานต่อเนื่องได้

แนวทางในเบื้องต้น ควรพิจารณางานที่ใช้ 1D barcode อยู่แล้ว ควรปรับเปลี่ยนเป็น QR Code หากไม่มีงานที่ใช้ 1D barcode อยู่ก่อน ควรพิจารณางานพัสดุที่ต้องมีการตรวจสอบด้วยการอ่านหมายเลขรหัสจำนวนนับสิบตัว แล้วจดบันทึก โดยปรับเปลี่ยนเป็นใช้ป้าย QR Code ติดแทนการเขียนเลขรหัส และใช้วิธีการตรวจสอบโดยการอ่านป้ายด้วยเครื่องเข้าสู่ระบบทะเบียนพัสดุ เป็นต้น  ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่ทำงานในแต่ละด้านย่อมจะพิจารณาความเหมาะสมที่จะนำไอทีมาใช้กับงานได้หากจะได้แลกเปลี่ยนกับความเห็นกับผู้ที่เข้าใจไอที ซึ่งควรจะร่วมกันคิด  สภาวะที่เกิดจากคนคิดไม่ได้ทำ  คนทำไม่ได้คิด จะได้ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

ผู้อ่านที่สนใจ QR Code อยากจะอ่านป้าย ถ้ามี Smart phone รุ่นใหม่ ๆ ที่ติดตั้งโปรแกรมมาแล้ว ก็อ่านป้ายต่าง ๆ ได้ทันที  หากไม่มีโปรแกรม หรืออ่านป้ายในบทความนี้ไม่ได้ ก็โหลดโปรแกรม หรือสร้างป้ายขึ้นทดสอบตามใจชอบ โดยเข้าไป website   http://qrcode.kaywa.com/

หมายเลขบันทึก: 367168เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 12:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

รหัสแท่ง ใช้ความกว้าง ความยาว ระยะห่าง ของแท่ง ในการระบุข้อมูล แล้ว QR Code ใช้อะไร

เมื่อ QR Code ใช้การเข้ารหัส หรือการแปลง "ข้อมูล" โดยโปรแกรมจะแปลงเป็นภาพทรงเรขาคณิต แล้ววางลงบนพื้นที่สี่เหลี่ยมตามตำแหน่งที่ต่างกัน และบางมาตรฐานมีการใช้สีร่วมด้วย  โดยต้องทำตามข้อกำหนดหรือจะเรียกว่าเงื่อนไข หรือจะเรียกว่ามาตรฐานก็ตามแต่   ซึ่งจะกำหนดไว้แน่นอน ว่ารูปทรงเรขาชนิดใด วางตำแหน่งใด สีอะไร จะหมายถึง อักขระตัวใด

ดังนั้นเมื่อได้ภาพของ QR Code มาแล้ว โปรแกรมอ่าน QR Code ก็จะทำหน้าที่ถอดรหัส โดยการดูภาพแทนคน ซึ่งจะรู้ว่าเป็นรูปทรงอะไร อยู่ที่ตำแหน่งใด สีอะไร แล้วก็นำไปเปรียบเทียบกับ ข้อกำหนดเดียวกันกับที่ใช้เข้ารหัส ก็จะแสดงข้อมูลได้ตรงตามที่เข้ารหัส

อาจกล่าวได้ว่า เป็นการเข้ารหัส-ถอดรหัส ด้วยวิธีการที่ต่างกันนั่นเอง

QR code ถ้าเราใช้ตัว อ่านส่องอ่านที่ qr code แล้วให้มัน เปิดไฟล์ excel แบบอัตโนมัติเลย สามารถทำได้หรือเปล่าครับ

กรณีใช้ pc แล้วกล้องเวปแคม อ่านครับ

ขอบคุณครับ

ขณะนี้คงมีโปรแกรมท่องเว็บ และโปรแกรมอ่านข้อความ ที่่ทำงานกับ QR Code โดยอัตโนมัติ ยังไม่พบว่าโปรแกรมอ่าน QR Code จเเปิดโปรแกรม excel โดยอัตโนมัติ แต่อย่างไรก็ตามอยากให้คุณ maxx ลองพิจารณาว่า หากเนื้อข้อความ เป็นรูปแบบที่แบบเดียวกันทั้งชุด เช่น ข้อความคั่นด้วย comma คั่นด้วย tab มีจำนวนเท่ากันทุกบรรทัด เราก็อาจนำข้อความเหล่านี้ paste ลงบนตารางได้ทันที เช่นที่เราเคยใช้ส่งข้อมูลให้กันในรูปแบบไฟล์ข้อความ (text file) กันมาในอดีตนั่นเอง ดังนั้นแม้จะไม่อัตโนมัติแต่คุณ maxx คงจะนำไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการได้ แต่คุณต้องคำนึงว่าปริมาณอักขระทั้งหมดที่ QR Code จะรองรับได้นั้น จะพอเพียงกับการนำไปใช้ประโยชน์ได้หรือไม่ ในอนาคตอาจนะมีใครเขียนโปรแกรมให้ทำงานกับตารางคำนวณตามที่คุณต้องการก็อาจเป็นไปได้ ยังไงก็ตามถ้าคุณประยุกต์ใช้กับงานใดได้ผล ก็เผยแพร่บ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท