อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค


คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค

                        คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค                   

                                                                       ศุภฤกษ์  ภมรรัตนปัญญา

  • กล่าวถึงโรคผิวหนังที่เกิดจากความแปรปรวนของกองธาตุตาม

                คัมภีร์วิถีกุฏฐโรค

  • โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุอื่น ตามคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค

โรคผิวหนังที่เกิดจากความแปรปรวนของกองธาตุตามคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค

สาเหตุ จากกิมิชาติหรือเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุทั้งสี่ ได้แก่ กุฏฐโรคที่เกิดจากกองปถวี กองอาโป กองเตโช และกองวาโยธาตุ

 ๑. กุฏฐโรคที่เกิดจากกองปถวีธาตุ           การรักษา

  • ยากิน          เบญจเหล็ก เบญจมะขามป้อม เบญจข่อย เบญจมะยมตัวผู้   สิ่งละ ๑๐ ส่วน ยาข้าวเย็นทั้งสอง กำมะถันเหลือง สิ่งละ ๒๐ ส่วน มะพร้าวไฟ ๑ ผล เอาทั้งเนื้อ ต้มด้วยสุราครึ่งหนึ่ง น้ำครึ่งหนึ่ง    ให้กินพอควร
  • ยาอาบ   เอื้องเพ็ดม้า เบญจลำโพง เบญจตาเสือ ต้มอาบ

๒. กุฏฐโรคที่เกิดจากกองอาโปธาตุ

  • อาการ     โลหิตและน้ำเหลืองกำเริบ หย่อน พิการระคนกัน ทำโทษให้เสียวลึกไปในชิ้นเนื้อและผิวหนัง บางทีเขม่นตามเส้นเอ็นและผิวเนื้อ     ถ้าเริ่มเป็นตรงไหนจะสั่นระริกบริเวณที่เป็นก่อน แล้วตั้งขึ้นเท่าเมล็ดถั่ว เมล็ดงา คล้ายเกลื้อน ขยายขึ้นเท่าใบมะขามและโตขึ้นเรื่อย

***เนื้อตรงนั้นจะชา หยิกไม่เจ็บ ผิวนวลคล้ายผิวน้ำเต้า เรียก “เรื้อนน้ำเต้า”

                ถ้ารักษาไม่หายนานไปจะเมื่อย บวมตามนิ้วมือ นิ้วเท้า ตามข้อและกระดูก แล้วเปื่อยเป็นน้ำเหลือง นิ้วมือนิ้วเท้าเริ่มกุด หูทั้งสองข้างหนาขึ้น ผิวหน้าคล้ายผิวมะกรูด แต่ไม่แดง รักษายาก

  • ยากิน : รากมะขามป้อม เบญจขัดมอญแห้ง ไส้ฟักเขียวแห้ง    แซ่ม้าทลาย ยาข้าวเย็นทั้งสอง สิ่งละ ๕ ตำลึง น้ำอ้อยหนึ่งงบ  เมื่อจะต้มให้เอาใบขนุนสะมะลอ ใบทองหลางใบมน   สิ่งละ    ๓ ใบ   รองก้นหม้อก่อน
  • ยาทา : มูลตะกรันเหล็ก สารปากนกแขกเต้า กำมะถันเหลือง    ใบพลูแก รากเจตมูลเพลิงแดง ขาว จุณขี้เหล็ก ปูนขาว    ถ่านไม้ซาก กระเทียม ดองดึงส์ เมล็ดมะนาว เสมอภาค บดละเอียด ทำเป็นแท่งไว้ละลายน้ำมะนาวทาตัว

๓. กุฏฐโรคที่เกิดจากกองเตโชธาตุ        การรักษา

  • ยากินขนานที่ ๑  ผลจันทน์ ดอกจันทน์ ผลกระวาน ผลหมากแหน              ผลกระดอม ผลมูกมัน ผักแพวแดง ใบเสนียด ใบมะเดื่อดิน      ใบสะเดา ใบเอื้องขาว สิ่งละส่วน ผลมะขามป้อม ๒ ส่วน        ผลสมอไทย ๓ ส่วน ดีปลี ๔ ส่วน ผลกระเบาคั่วให้เหลืองก่อนผสมยาอื่น ๒๐ ส่วน บดละเอียดทำแท่งละลายสุรากิน
  • ยากินขนานที่ ๒   แก่นจันทน์หอม แก่นสน แก่นมะหาด แก่นขี้เหล็ก แก่นปรู แก่นมะเกลือ แก่นคูน แก่นเทียนต้น รากช้าเลือด จุณขี้เหล็ก     สิ่งละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ผลกระเบาหนึ่งทะนาน บดละเอียดละลายน้ำผึ้งกิน

๔. กุฏฐโรคที่เกิดจากกองวาโยธาตุ

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : เริ่มจากสมุฏฐานวาโย พิกัดลมอังคมังคานุสารีวาตาพิการ ลามให้สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ มังสังพิการและอัฏฐิพิการตามมา
  • อาการ : เมื่อจะเกิดวาโยธาตุอาจกำเริบ หย่อน พิการ พัดซ่านไปตามผิวเนื้อและผิวหนัง ทำให้เนื้อแข็งเป็นข้อขอด เป็นเม็ดเท่าผลพุทรา มะกรูด หรือมะนาว หนังและเนื้อเป็นเหน็บชา หยิกไม่เจ็บ ต่อมาแตก เปื่อยเน่าเหม็นดุจซากศพ กินจนกระดูกผุด้วน เรียก “เรื้อนมะกรูด” รักษายาก เป็น ๑๐ ส่วน รักษาได้ ๑ ส่วน
  • ยากินขนานที่ ๑       บัลลังก์ศิลา ๒ ส่วน ดินประสิวขาว ๓ ส่วน มหาหิงคุ์ กำมะถันเหลือง หรดาลกลีบทอง โหราเท้าสุนัข ปรอท     สิ่งละ ๔ ส่วน ทำให้เป็นผง บดด้วยน้ำพลูแก กวน ๗ วัน        ตากแดดใส่ขวดผนึกให้แน่น แล้วพอกดินเพ็ด(ดินประสิวก็ได้) ใส่ในหม้อทรายตั้งไฟให้สุก ตั้งไว้ให้เย็นแล้วกวนด้วยน้ำนมควายแล้วปั้นเท่าเมล็ดพริกไทยใส่ตลับไว้กิน วันละ ๑ เม็ดทุกวัน
  • การเปรียบเทียบทางแผนปัจจุบัน

                                กุฏฐโรคที่เกิดจากธาตุแปรปรวน : โรคเรื้อน เดิมเรียก ขี้ทูต กุฏฐัง ไทกอ หูหนาตาเล่อ

  • เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไมโคแบคทีเรียมเลแพร (Mycobacterium lepra)
  • ติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนังหรือสูดเข้าทางเดินหายใจ(ติดต่อยาก)
  • มิใช่กรรมพันธุ์
  • ระยะฟักตัว ๓-๕ ปี (ต่ำสุด ๖ เดือน และอาจนานหลายเดือน)

ชนิดของเรื้อน : ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

โรคเรื้อนไม่ทราบชนิด (Indeterminate leprosy)

  • เป็นโรคเรื้อนระยะเริ่มแรก อาการยังไม่ชัดเจน
  • มักพบผิวหนังเป็นวงขาวหรือสีจาง ขอบไม่ชัดเจน
  • ผิวหนังบริเวณนี้มีขนร่วง เหงื่อออกน้อยกว่าปกติ
  • ยังไม่ค่อยรู้สึกชา มักพบที่หลัง ก้น แขนและขา
  • หากเป็นระยะนี้อาจหายเองได้ หรือกลายเป็นเรื้อนชนิดอื่น

โรคเรื้อนชนิดทูเบอรคูลอยด์(Tuberculoid leprosy)

  • พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย
  • ระยะแรกผิวหนังจะชาและเส้นประสาทถูกทำลาย
  • ส่วนมากมีผื่นเดียวเป็นวงขาวหรือสีจางเห็นขอบชัดเจน หรือเป็นวงขาวขอบแดง หนาเป็นปื้น
  • อาจมีสะเก็ดเล็กน้อยหรือไม่มีก็ได้
  • เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑๐ เซนติเมตร
  • ตรงกลางผื่นไม่มีขน ไม่มีเหงื่อ ชา หยิกหรือใช้เข็มแทงไม่เจ็บ
  • พบบ่อยบริเวณหน้า ลำตัว ก้น บางครั้งอาจพบเส้นประสาท   บวมโตใต้ผิวหนังบริเวณที่เป็น
  • ตรวจไม่ค่อยพบเชื้อ ไม่ติดต่อ
  • การอักเสบมักบรรเทาได้เองภายใน ๑-๓ ปี แต่อาจพิการ

โรคเรื้อนชนิดก้ำกึ่ง (Boderline leprosy)

  • ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันน้อยกว่าชนิดทูเบอร์คูลอยด์ แต่มากกว่าชนิด   เลโพมาตัส
  • ผิวหนังขึ้นผื่นเป็นวงแหวนหรือวงรี ขอบนูน แดง หนา เป็นมัน ขอบในชัดเจนกว่าขอบนอก
  • กลางผื่นไม่มีขน ไม่มีเหงื่อเช่นเดียวกับชนิดทูเบอร์คูลอยด์
  • ตรวจพบเชื้อได้บ้าง แต่ติดต่อไปยังผู้อื่นได้
  • อาการและความรุนแรงอยู่ระหว่างชนิดทูเบอร์คูลอยด์ และ       เลโพมาตัส

โรคเรื้อนชนิดเลโพมาตัส (Lepromatous leprosy)

  • ผู้ป่วยไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้
  • เชื้อโรคเรื้อนสามารถแบ่งตัวเป็นล้าน ๆ ตัว กระจายทั่วร่างกาย
  • จัดเป็นเรื้อนชนิดร้ายแรงและติดต่อง่ายที่สุด
  • เส้นประสาทถูกทำลายในระยะสุดท้ายของโรค
  • ผิวหนังเป็นผื่นแดง ขอบไม่ชัดเจน ต่อมาจะเห็นเป็นเม็ด เป็นตุ่ม หรือเป็นแผ่น
  • ผิวมักแดงเป็นมันเลื่อม ไม่เจ็บ ไม่คัน ไม่ชา
  • ผื่นตุ่มขึ้นกระจายทั้งสองข้างของร่างกาย
  • พบบ่อยตามใบหน้า ใบหู ข้อศอก ข้อเข่า ลำตัว และก้น
  • ขนคิ้วส่วนหางมักจะร่วง และขาบวม
  • ระยะสุดท้ายของโรคคิ้วจะเห่อ หูหนา ตาเล่อ มีอาการชา นิ้วมือนิ้วเท้าทั้งสองงอเหยียดไม่ออก มือหงิก เท้าตก นิ้วกุด หรือ       ตาบอด จมูกแหว่ง
  • การรักษา
  • ใช้ยาปฏิชีวนะ
  • โรคเรื้อนชนิดที่ ๑-๓ (ตรวจไม่พบเชื้อหรือเชื้อน้อยมาก จนตรวจไม่พบ) รับประทานยานาน ๑ ปี
  • ชนิดพบเชื้อมากต้องรับประทานยาต่อเนื่องนาน ๒ ปี

การดูแลและคำแนะนำ

  • ๑. การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
  • ควรจัดให้ผู้ป่วยนอนแยกจากผู้อื่น ไม่ใช้เสื้อผ้า ของใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • หากมือและเท้าชา ต้องระวังถูกของมีคมและของร้อน โดยใช้ผ้าพันมือเวลาทำงาน และสวมรองเท้าออกนอกบ้าน
  • ๒. การป้องกันบุคคลในครอบครัวจากการติดเชื้อ
  • ไม่คลุกคลีผู้ป่วยในระยะติดต่อ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ เสื้อผ้าร่วมกับผู้ป่วย
  • ตรวจสุขภาพสมาชิกของครอบครัว โดยเฉพาะโรคผิวหนัง หากผิดปกติรีบพบแพทย์

โรคผิวหนังที่เกิดจากสาเหตุอื่นตามคัมภีร์วิถีกุฏฐโรค

  • กล่าวถึงโรคผิวหนังที่เชื้อโรคอาศัยกินอยู่ในชิ้นเนื้อ ๓ ประเภท

                                ๑. โรคเรื้อนที่เกิดจากชาติสัมพันธ์ตระกูล : เป็นตามกรรมพันธุ์

                                ๒. โรคเรื้อนที่เกิดด้วยสามัคคีรส : เป็นตามคู่สามัคคีหรือคู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินหลับนอนด้วย

                                ๓. โรคเรื้อนที่เกิดเป็นอุปปาติกะ : เกิดเองโดยหาสาเหตุไม่ได้

โรคเรื้อนที่มีสาเหตุทั้ง 3 ประเภทแบ่งเป็นโรคเรื้อน ๙ ชนิด

๑. เรื้อนกวาง

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : เริ่มที่สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : เริ่มเป็นตามข้อมือ ข้อเท้า และชายผมบริเวณต้นคอ (กำด้น)
  • การรักษา
  • ขนานที่ ๑   หนังคอกเผาไฟ ละลายน้ำมันงาทาที่แผล ระวังไม่ให้ถูกน้ำ ๓ วัน ทาให้ได้ ๓ หน
  • ขนานที่ ๒   ศีรษะสุนัขตายที่คางยังติดอยู่(ยังมีไขกระดูก) เผาไฟให้ไหม้ บดละเอียด ละลายน้ำมันงาทาแผล
  • ขนานที่ ๓    เห็ดร่างแห เห็ดมูลโค เสมอภาค บดละลายน้ำมันงาทา
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                อาการคล้ายโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง เกิดในผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้จากกรรมพันธุ์ (autopic dermatitis)

  • คำแนะนำ

                ๑. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคือง ควรอาบน้ำฟอกสบู่อ่อนวันละครั้ง ไม่ควรอาบน้ำบ่อย

                ๒. รักษาอุณหภูมิร่างกายให้พอเหมาะ ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป

                ๓. งดอาหารที่ทำให้แพ้ง่าย เช่น นม ไข่ อาหารทะเล ยาบางชนิด

  • ถ้าไม่ได้รักษาอาจเสียชีวิตภายใน ๑๐-๒๐ ปี
  • กล้ามเนื้อมือ อ่อนแรง ชา อาจทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุดหายไป
  • อาจมีการทำลายของกระดูกและเป็นหมันเนื่องจากอัณฑะฝ่อหรือมีอาการทางไตร่วมด้วย

๒. เรื้อนมูลนก

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : ผุดขึ้นเป็นแว่น เป็นวงตามผิวหนังเล็กก็มีใหญ่ก็มี สีขาว ขอบนูนคล้ายกลาก คัน ถ้านานเข้าจะลามไปทั้งตัว รักษาหายบ้างไม่หายบ้าง แต่ไม่ตาย
  • การรักษา
  • ขนานที่ ๑ยาทั้งกินทั้งทา : หัวว่านอิน ผลกระเบา ผลกระเบียน ผลลำโพงแดง ผลบวบขม ขอบชะนางทั้งสอง ใบรักขาว ใบกรวยป่า กำมะถัน เสมอภาค ตำเอาน้ำ สิ่งละทะนาน น้ำมันงา ๑ ทะนานหุงให้เหลือแต่น้ำมัน ทาหรือปั้นกิน
  • ขนานที่ ๒ยากิน : ข้าวเย็นทั้งสอง หัวยั้ง รากมะดูก ขันทองพยาบาท   หนอนตายอยาก โรคแดง โรคขาว กุ่มน้ำ กุ่มบก กำมะถัน ข่าต้น เปล้าน้อย เปล้าใหญ่ ดีบุกดำ ชามเทพนม(เบญจรงค์ มีสารหนู) เสมอภาค ต้มกิน
  • ขนานที่ ๓ยาทา : ใบลำโพง ใบกรวยป่า ข่าหลวง ใบพลูแก เอื้องเพ็ดม้า ใบกุ่มบก ใบกุ่มน้ำ ใบขอบชะนางแดง ใบขอบชะนางขาว เสมอภาค บดละเอียดละลายน้ำสุราทา
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                คล้ายโรคสะเก็ดเงินซึ่งเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง เกิดจากการหนาตัวของชั้นหนังกำพร้า ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่าอาจ เป็นกรรมพันธุ์

 

 

  • คำแนะนำ

                                ๑. ผู้ป่วยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เนื่องจากไม่ติดต่อ

                                ๒. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ พยายามไม่เครียด

                                ๓. หลีกเลี่ยงการขูดข่วนผิวหนัง

                                ๔. ควรให้ผิวหนังถูกแสงแดด แต่ไม่นานเกินไป

๓. เรื้อนวิมาลา

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : ผุดขึ้นที่ใบหูและชายผมบริเวณต้นคอก่อน แล้วเปื่อยพุพอง คัน ลักษณะคล้ายมะเร็งไร(เป็นเม็ดเล็ก ๆ ละเอียดเป็นปื้นและแถวขึ้นมา) ยิ่งเกายิ่งคัน
  • การรักษา
  • ขนานที่ ๑ยาทา : ใบบอน ใบบัวหลวง ใบตาลหม่อน ใบขนุนละมุด         ใบหวายขม สิ่งละส่วน หญ้ายองไฟ ผลกระเบา ผลกระเบียน    ผลลำโพงแดง สิ่งละ ๒ ส่วน บดละเอียดทำเป็นแท่งไว้ เมื่อ      จะใช้นำมาละลายน้ำมันงา
  • ขนานที่ ๒ยาทา : ใบกรวยป่า ใบยาสูบ ใบเลี่ยน ใบลำโพงแดง ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ใบมะระ ใบรักขาว มะพร้าวแกะ เกลือธาร เสมอภาค ตำละเอียดคั้นเอาแต่น้ำทา
  • ขนานที่ ๓ยากิน : ผลลำโพงแดง ใบกรวยป่า ขอบชะนางทั้งสอง ใบรักขาว เสมอภาค บดละเอียดละลายน้ำมันดิบทา
  • ขนานที่ ๔ยากิน : ยาข้าวเย็นเหนือ ยาข้าวเย็นใต้ ขันทองพยาบาท หนอนตายอยากแดง ไฟเดือนห้า คงคาเดือด กำมะถันเหลือง รากตะขบ รากมะดุก ถ่านไม้ซาก(ถ่านไม้ มีก้อนเล็กย่อย เนื้อแข็ง ไม่มีขี้เถ้า ให้ไฟลุกแรงมีพิษแรงมาก แค่รมควันจะหลับทั้งบ้าน อาจเสียชีวิตได้) สิ่งละ ๕ ตำลึง เนื้อสมันแผ่นหนึ่ง(ใช้เนื้อวัวแทนได้) เท่าฝ่ามือ มะพร้าวไฟลูกหนึ่งต้ม
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                คล้ายโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัสสารระคายเคือง เช่น การสัมผัสสบู่ ผงซักฟอก ยาย้อมผม พลาสเตอร์ และอื่นๆ

  • คำแนะนำ

                                พิจารณาสิ่งที่แพ้ แล้วพยายามหลีก

๔. เรื้อนหูด

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการและมังสังพิการ
  • อาการ : ผุดเป็นตุ่มทั่วตัว เท่าเมล็ดพริกไทย เมล็ดถัวเขียว ผลตะขบ ผลมะนาว มะกรูดก็มี ให้เมื่อยไปทั้งตัวแต่ไม่ตายทันที
  • การรักษาขนานที่ ๑
  • ยารม : หนามรอบข้อ หนามพุงดอ หนามแดง หนามพุทรา หนามเล็บเหยี่ยว หนามพรม หนามคัดเค้า หนามโยทะ หนามส้มป่อย หนามหวายขม หนามหวายโป่ง หนามไผ่สีสุก กำมะถันเหลือง เสมอภาค ใส่หม้อ(ไม่ใส่น้ำ) ตั้งไฟขึ้นรมควันเข้ากระโจมอบทั้งตัว
  • ขนานที่ ๒
  • ยาต้มอาบ : ใบพลับพลึง ใบข่าหลวง ใบขิง เปลือกตะเคียน เบญจลำโพงกาสลัก เสมอภาค ต้มอาบทุกวัน แล้วจึงเอายารม  ตั้งไฟ
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                ตุ่มเนื้องอกตามเส้นประสาท ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

๕. เรื้อนเกล็ดปลา

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : มักเริ่มขึ้นที่หน้าก่อน แล้วลามถึงต้นคอ ทรวงอก ลามเป็นเกล็ดทั่วตัว ผิวดำ
  • การรักษา  ขนานที่ ๑ยาทา : ปรอทบริสุทธิ์ บัลลังก์ศิลา กำมะถันแดง กำมะถันเหลืองเสมอภาค บดละเอียดแล้วจึงเอาใบมะขาม ใบส้มป่อย สิ่งละ ๑ ชั่ง ใส่น้ำ ๕ ทะนาน เคี่ยวเหลือ ๑ ทะนานแล้วนำมาเคล้ากับยาที่บดไว้

ตากแดดให้แห้งประมาณ ๘ วัน จึงสับผิวผู้เป็นโรคเรื้อนให้

เลือดออกแล้วทายา

  • ขนานที่ ๒ยาทา : ผลมะเดื่อป่า เบญจข่าป่า เสมอภาค บดละเอียด พริกไทยรำหัด บดละเอียดผสมกับยา ๒ ชนิดแรก ละลายน้ำผึ้งรวงใส่ผะอบ ฝังข้าวเปลือกไว้ ๑ เดือน อย่าให้มดตอม นำมาเสกคาถา แล้วทาวันละครั้ง
  • ขนานที่ ๓ยาต้มอาบ : เบญจลำโพงกาสลัก เบญจมะฝ่อ ใบตองกล้วยตีบแห้ง เสมอภาค ต้มอาบทุกวัน
  • ขนานที่ ๔ยากิน : รากปีบ รากมูลหนอน รากพุง รากหญ้านาง รากตาเสือ เสมอภาค บดละเอียดดองด้วยสุราฝังข้าวเปลือกไว้แล้วกิน
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                โรคผิวหนังเกล็ดปลา ถ่ายทอดทางพันธุกรรม

๖. เรื้อนหิด

  •  ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : มักเริ่มเป็นเม็ดเล็ก ๆ ขึ้นทั้งตัวแล้วลามออกคล้ายเป็นกลาก
  • การรักษา
  • ขนานที่ ๑
  • ยาทา : ใบถั่วแปบ ใบถั่วแระ ใบเจตมูลเพลิง ใบย่านทราย
  • ขนานที่ ๒
  • ยากิน : รากป่าช้าหมอง กำแพงเจ็ดชั้น โรคทั้งสอง เชือกเขาหนัง ต้นไข่แลน หญ้าหนวดแมว หัวยั้ง ยาข้าวเย็น สิ่งละ ๒ ตำลึง ๒ บาท กะลามะพร้าวไฟ ๓ ซีก ตาไม้ไผ่ป่า ๗ ตา ต้มกิน
  • ขนานที่ ๓
  • ยากิน :  บุกรอ กลอย รากกระถินแดง รากทองพันชั่ง หางไหลแดง สิ่งละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ยาข้าวเย็นทั้งสอง สิ่งละ ๕ ตำลึง  ต้มกิน
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                โรคผิวหนังอักเสบจากตัวหิด ซึ่งเป็นตัวไรเล็ก ๆ ชื่อ Sarcoptes scabiei

๗. เรื้อนดอกหมาก

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : มักเริ่มผุดตามตัวเป็นสีขาว ๆ คล้ายดอกมาก จะคันมากเมื่อเหงื่อออก ต้องเกาจนน้ำเหลืองซึมจึงหายคัน
  • การรักษา : มียา ๓ ขนาน เช่นเดียวกับเรื้อนหิด
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                เกลื้อนดอกหมาก (Pityriasis vesicolor) จากเชื้อรา ชื่อ Malassezia furfur หรือ Pityrosporum orbiculare

๘. เรื้อนบอน

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : แรกผุดขึ้นเป็นรูปรุ มองไม่ค่อยเห็นหรือเห็นไม่ชัด มีสีขาว ๆ แดง ๆ จาง ๆ
  • การรักษา : มียา ๓ ขนาน เช่นเดียวกับเรื้อนหิด
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                                ยังไม่ชัดเจนที่จะระบุว่าเป็นโรคใด แต่ลักษณะเป็นเกลื้อนชนิด erythematous type ซึ่งมีสีแดง พบในผู้ที่มีผิวขาวเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดบริเวณผิวหนังทำให้มองเห็นเป็นรอยแดง

 

๙. เรื้อนมะไฟ

  • ที่ตั้งที่แรกเกิด : สมุฏฐานปถวี พิกัดตะโจพิการ
  • อาการ : เริ่มเกิดเป็นเกล็ดแดง ขอบขาวใหญ่เท่าผลมะไฟ มักร้อนเหมือนถูกไฟและผิวหนังจะพองขึ้น
  • การรักษา : มียา ๓ ขนาน เช่นเดียวกับเรื้อนหิด
  • การเปรียบเทียบโรคทางแผนปัจจุบัน

                กลากหรือเกลื้อน จากเชื้อราชนิดตื้นในกลุ่มเดอมาโตไฟต์(dermatophyte) ซึ่งทำให้เกิดโรคผิวหนังแทบทุกส่วนของร่างกาย ที่พบบ่อยคือตามลำตัว (tinea corporis)

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 366619เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 07:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณข้อมูลดีๆค่ะ...ตัวยาหาซื้อยากไหมคะ ?...ขออนุญาตเผยแพร่นะคะ..

ยินดีครับ ตัวยาสมุนไพรสามารถหาซื้อได้ตามร้านยาแผนโบราญทั่วไปครับ คุณป้า

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท