อ.ผัก
อาจารย์ พท. ศุภฤกษ์ ภมรรัตนปัญญา

คุณธรรมค้ำจุนโลก


คุณธรรมค้ำจุนโลก

คุณธรรมค้ำจุนโลก

                                                                 ศุภฤกษ์  ภมรรัตนปัญญา

                                                                                       

            ในสภาพสังคมปัจจุบัน จากที่โลกได้มีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ผู้คนได้พัฒนารูปแบบวิธีการการดำรงชีวิตที่หลากหลาย เพื่อการมีชีวิตอยู่คู่กับโลกอย่างมีความสุขและยาวนานที่สุด รูปแบบที่หลากหลายเหล่านั้นขึ้นอยู่กับแนวความคิด พื้นฐานการเรียนรู้ และประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเพื่อความอยู่รอดของตนเอง รูปแบบการดิ้นรนต่อสู้ดังกล่าว ในบางครั้งมันอาจจะกลายเป็นความเห็นแก่ตัวซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สังคมไม่ต้องการ ซึ่งมันก็คือพฤติกรรมพื้นฐานของสัตว์โลก นักปราชญ์ชาวพุทธได้พูดต่อๆกันมาหลายยุคหลายสมัย จากแนวความคิดของพุทธศาสนาจนถือเป็นพุทธพจน์ที่เป็นสัจพจน์ว่า  คุณธรรมค้ำจุนโลก  เมื่อความเห็นแก่ตัวของผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆสังคมย่อมมีความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเปรียบเสมือนเงาซึ่งตามติดกันมาด้วย เหลือเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้สังคมมีความสงบสุขนั่นคือ ความเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมของมนุษย์ในสังคม ด้วยเหตุนี้เองการสอนนักเรียนให้มีคุณธรรมนำความรู้จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

       ขอบข่ายความหมายของคุณธรรม

            คุณธรรม หมายถึง สิ่งที่บุคคลส่วนใหญ่ให้การยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่เป็นประโยชน์ จริยธรรมหมายถึง หลักแห่งความประพฤติหรืแนวทางของการประพฤติ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้คำนิยามไว้ว่า จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ ศีลธรรม กฎศีลธรรม คุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งที่ควรประพฤติ ปฏิบัติ เป็นการประพฤติที่ดี ที่ชอบ ที่ถูก และที่ควร เป็นการพัฒนาที่มุ่งหมายให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ดำรงชีวิตอยู่อย่างบริบูรณ์ เปี่ยมด้วยความดีทั้งกาย วาจา และใจ

 

 

            ความสำคัญของคุณธรรม

            การประพฤติปฏิบัติตนตามจรรยาอริยมงคลแน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่นำให้เราประสบความสำเร็จ พบแต่ความถูกต้องดีงามไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใคร อยู่ในฐานะใด เพศใด วัยใด ชนชั้นใด หากดำเนินชีวิตตามมรรคมงคล ตามหลักคุณธรรมจริยธรรม ก็จะพบความดีงามเท่าเทียมกันหมดไม่เลือกชาติ ชั้น วรรณะ เช่นหากอยู่ในวัยเรียน วัยศึกษาก็จะมีความก้าวหน้าในการเรียน การศึกษา หากอยู่ในวัยสร้างสรรค์ คือมีครอบครัวก็จะนำพาครอบครัวให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง มีความรัก ความอบอุ่น หากประกอบอาชีพรับราชการก็จะเป็นแบบอย่างที่สวยงาม ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตรับราชการ แม้การเป็นนักบวช นักพรต ก็จะเป็นผู้ที่มีความน่าศรัทธาเลื่อมใส น่าเคารพเชื่อถือของบุคคลทั่วไป

            ประโยชน์คุณค่าของคุณธรรม

            คุณธรรม จริยธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญสำหรับมวลมนุษย์ เป็นความประพฤติ การกระทำ และความคิดที่ถูกตองดีงาม รวมถึงการทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ดำรงชีวิตอย่างฉลาด ด้วยสติปัญญา รู้เหตุ รู้ผล รู้กาลเทศะ กระทำทุกอย่างด้วยความละเอียด รอบคอบ เสียสละ อุทิศตน มุ่งมั่นและบากบั่น คุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ เป็นพื้นฐานที่จะช่วยให้สังคมมีความสงบสุขและพัฒนาไปอย่างมีระบบ ซึ่งพอสรุปประโยชน์ของการเป็นผู้มีคุณธรรมได้ดังนี้

  1. ประโยชน์ต่อตนเอง เมื่อใครได้ประพฤติปฏิบัติจะมีเกิดขึ้นกับตัวเองก่อนอย่างไม่ต้องสงสัยใครกระทำใครปฏิบัติคนนั้นย่อมได้ผลของการกระทำการปฏิบัตินั้นย่อมเป็นของของตนเรียกว่าใครทำใครได้ กรรมใดใครก่อกรรมนั้นต้องตามสนอง ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ความดีจะไปเกิดกับบุคคลอื่นไม่ได้ ประเด็นนี้ชาวพุทธไม่ต้องกังขาหรือมีข้อสงสัยหรือเกิดวิจิกิจฉาในใจ เพราะในอภิณณหปัจจเวกขณะ กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า”กัมมัสสโกมหิ”เรามีกรรมเป็นของของตน จะเป็นของคนอื่นไม่ได้ เมื่อเราทำเราปฏิบัติแล้วย่อมเป็นความดี ความประเสริฐติดตามเราไปทุกหนแห่งตลอดภพตลอดชาติเป็นเหมือนเงาตามตัวเราโดยที่เรามิอาจลบล้างได้ ความดีที่จะไปกระทบหรือเกิดมีกับคนอื่นนั้นก็เป็นผลข้างเคียง เป็นผลได้ผลดีอันเกิดจากการกระทำของเราต่างหาก เพราะคนทำดีไม่ว่าจะอยู่ที่ใดย่อมทำให้ที่นั้นดีน่าอยู่มีความสุข เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมบุคคลที่ดี ดั่งแสงอาทิตย์แสงจันทร์ที่ให้ความอบอุ่นให้แสงสว่างกับสรรพสัตว์ฉันใด คนดีย่อมให้ความสุขให้สิ่งแวดล้อมที่ดีแก่คนรอบข้างใกล้เคียงฉันนั้น การอยู่ร่วมกับคนดีหรือการอยู่ใกล้กับคนดีจึงเป็นมงคลอย่างยิ่ง
  2. ประโยชน์ต่อครอบครัว ใครก็ตามที่ดำเนินชีวิตโดยประกอบด้วยคุณธรรมนอกจากจะทำให้ชีวิตตนเองมีความสุขความสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ยังทำให้ครอบครัวและบุคคลที่อยู่รอบข้างมีความสุขไปด้วย เนื่องเพราะบุคคลนั้นจะไม่เป็นคนก่อปัญหา ไม่สร้างความเดือดร้อนแตกแยกให้กับครอบครัว มีแต่จะนำความสุข ความเจริญมาสู่ครอบครัว เหมือนพุทธสุภาษิตที่ว่า”ปรฺฑิโต สีลสมฺปนฺโน ชลํ อคฺคีว ภาสติ.”คนดีที่ประกอบด้วยกรรมดี ย่อมนำความรุ่งเรืองเหมือนไฟสว่างหากเป็นบุตรก็เป็นบุตรที่ดี หากเป็นพ่อแม่ก็เป็นพ่อแม่ที่ดีมีคุณธรรม หากเป็นคนรับใช้ก็เป็นคนรับใช้ที่ดีรักเจ้านาย หากเป็นปู่ย่าตายายที่ดีเป็นที่รักของลูกหลานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว คนที่ดีมีจิตใจอันประเสริฐท่านเรียกว่ามี”พร”หรือมีความเป็น”พระ”อยู่ข้างใน ดังนั้นหากเป็นพ่อก็เรียกว่า”พ่อพระ”ถ้าเป็นแม่ก็เรียกว่า”แม่พระ”ถ้าเป็นลูกก็จะเรียก”ลูกพระ”เมื่อมีคนดีอยู่ในบ้านก็เท่ากับว่ามี”พระ”ในบ้านย่อมทำให้ครอบครัวนั้นสงบร่มเย็น
  3. ประโยชน์ต่อสังคม มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์สังคมมีการปฏิสังสรรค์ มีการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่กลุ่ม เป็นสังคม คำว่า”สังคม”คือการอยู่ร่วมกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปย่อมมีปัญหาเป็นธรรมดา อยู่ร่วมกันมากปัญหาก็ย่อมมีมากเรียกว่ามากคนมากปัญหา เพราะความจริงแล้วแม้แต่มีเพียงคนเดียวก็มีปัญหาผู้รู้จึงกล่าวว่าชีวิตนี้ปัญหา เมื่อชีวิตมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ดื่มเสพเดินวิ่งหลับนอนทุกอิริยาบถเป็นที่มาของปัญหาทั้งนั้น การอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่มีปัญหามากที่สุดอันเป็นรากเค้าของปัญหาเลยคือปัญหาอัตตามานะ และการคือทิฐิที่ยึดอัตถาภาวะเป็นสำคัญถือตัวเองเป็นศูนย์กลางวามถูกผิด ใครจะคิดดี พูดดี ทำดี อย่างไรก็ไม่เอาด้วยไม่เห็นด้วยหากไม่คล้องกับความคิดของตนทำให้สังคมมีปัญหาไม่รู้จบ หากคนในสังคมดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมจริยธรรมย่อมทำให้สังคม มีความร่มเย็นปราศจากข้อพิพาท บาดหมาง ปัญหาต่างๆก็จะไม่มี หรือมีก็มีน้อยมากและหาทางออกอย่างนุ่มนวล 
  4. ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประเทศชาติหมายรวมเอาคนทั้งครอบครัว สังคมกลุ่มชนทั้งหมดของแผ่นดินรวมเข้าด้วยกัน หากประเทศใดมีคนที่เป็นมงคลมากๆ ย่อมเป็นมงคลแก่ประเทศนั้น นั้นคือประเทศนั้นย่อมปกครองได้ง่าย คนในชาติมีความปรองดองสามัคคีกันสูง ไม่มีปัญหาเรื่องโจรขโมย การทำร้ายทำลายกัน การพัฒนาประเทศชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วประชาชนมีความมั่นคงมั่นใจในชีวิตทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ พอใจในสถานภาพของตนเอง การทำมาหากินก็ปลอดภัยสะดวกสบาย   ดังพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ ที่ว่า”ประเทศใดไร้รักสมัครสมาน จะทำการสิ่งใดก็ไร้ผล หากประเทศย่อยยับอับจน ประชาชนจะอยู่สุขได้อย่างไร”พระราชนิพนธ์นี้ยืนยันได้ว่าความรักความสามัคคีของกลุ่มชนคนในชาตินั้นย่อมมีอิทธิพลต่อประเทศโดยส่วนรวม ทำให้ประเทศชาติมีความสงบสุข ความเจริญ มีความแข็งแรงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง การทหารประเทศใดก็ไม่กล้ารุกราน เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เราทั้งหลายทราบว่าการเสียกรุงแต่ละครั้งนั้นเกิดจากความไม่สามัคคีของคนในชาติเป็นสำคัญ คนในชาติจะมีความสามัคคีมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงนั้น ประชาชนจะต้องดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพระพุทธองค์  กล่าวคือมีมงคลชีวิตเป็นปทัฎฐานที่สำคัญ
  5. ประโยชน์ต่อสังคมโลก โลกจะมีความสุขไม่มีปัญหาสงครามกัน ไม่แย่งชิงทรัพยากรของกันและกัน ผู้นำประเทศจะต้องมีคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักสำคัญ สังคมโลกก็จะประสบพบแต่ความสงบสุข การก่อสงครามกันย่อมจะไม่เกิดขึ้น คนในโลกย่อมไม่หวาดผวาไม่กลัวภัยสงครามไม่กลัวการถูกถล่มทลายจากอาวุธมหาประลัย แต่โลกในปัจจุบันกำลังจะร้อนเป็นไฟเพราะผู้คนในโลกผู้นำแต่ละประเทศขาดคุณธรรมจริยธรรม มีความกระหายสงครามชอบอ้างความชอบธรรมเพื่อทำลายประเทศอื่น จนหลายคนกลัวว่าจะเกิดกลียุคขึ้นบนโลกนี้ในไม่ช้าและจะกลายเป็นยุคมิคสัญญีในที่สุด ดังนั้นหากผู้คนในสังคมโลกรวมถึงผู้นำของแต่ละประเทศมีคุณธรรมจริยธรรม โลกย่อมพบแต่ความสงบสุขอย่างแน่นอน

            แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษากับการปลูกฝังคุณธรรม

            การเล่าเรียนของคนไทยตั้งแต่โบราณจนถึง พ.ศ.2441 (สมัยเมื่อเริ่มโครงการศึกษาฉบับแรก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มแรกของระบบโรงเรียนในประเทศไทย) อยู่ที่วัด วัง และบ้าน ซึ่งมีแนวคิดที่เน้นการฝึกฝนอบรมทางด้านวิชาการ วิชาชีพและธรรมจรรยา ควบคู่กันไปโดยระดับการเน้น การอบรมฝึกฝนก็ขึ้นอยู่กับระดับความรู้ความสามารถของอาจารย์ผู้สอน และจุดมุ่งหมายของการฝึกอบรม กล่าวคือ การฝึกอบรมในวัดมีจุดเน้นการฝึกคนเพื่อให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีตามศาสนา ส่วนการฝึกฝนในวังมุ่งเตรียมคนเพื่อเข้ารับราชการ สำหรับการฝึกฝนที่บ้านนั้นมุ่งเพื่อสืบต่ออาชีพของครอบครัวเป็นสำคัญ

            ต่อเมื่อมีการจัดตั้งระบบโรงเรียนและเริ่มมีโครงการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2441 เป็นต้นมา การเล่าเรียนของคนไทยเริ่มจัดเป็นระบบโดยมีสถานที่เรียน หลักสูตร ครูผู้สอน ชั้นเรียน การสอบวัดระดับความรู้ และอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนตำราเรียนที่แน่นอนชัดเจนตามแนวการจัดการศึกษาของตะวันตก การจัดการเล่าเรียนในลักษณะที่ไม่เป็นระบบแน่นอนก็เริ่มจะหายไปรวมทั้งได้รับความนิยมน้อยลง ความสำคัญ และความสนใจทั้งของรัฐและเอกชนจะอยู่ที่การศึกษาในระบบโรงเรียนตามที่จัดขึ้นใหม่นี้เป็นสำคัญ การเล่าเรียนจึงขยายมาเป็นการศึกษา โดยมีการจัดเป็นระบบ และอยู่ในการควบคุมดูแลของรัฐ โดยรัฐเข้ารับผิดชอบดำเนินการเองเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นแนวคิดเกี่ยวกับวิชาความรู้จึงมีผู้เกี่ยวข้อง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายรัฐในฐานะผู้จัดให้ กับผู้เรียนในฐานะผู้รับความรู้ และความรู้ที่ได้รับมีการจัดเป็นระบบโรงเรียนหรือระบบการศึกษา และสถาบันที่ให้ความรู้ก็จะต้องจัดให้มีการอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้ผู้ที่เรียนมีศีลธรรมจริยธรรมพร้อมที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่จะต้องมีภาระรับผิดชอบต่อครอบครัวต่อไป และนอกจากนี้ควรเน้นเรื่องการให้ความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพและการฝึกฝนอบรมศีลธรรมจรรยา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ และคุณธรรมจริยธรรมเหมาะสมสำหรับการดำรงตนเป็นพลเมืองดี ประกอบสัมมาชีพตามระดับความรู้ความสามารถ และหากได้รับการศึกษาระดับสูงก็อาจจะเข้ารับราชการมีตำแหน่งใหญ่โตได้

 

 

            คุณธรรมที่สำคัญที่ควรปลูกฝังให้แก่ผู้บริหาร

            คุณธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญสำหรับมวลมนุษย์ เพราะจะส่งผลให้มีการกระทำและความคิดที่ถูกต้องดีงาม อันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะช่วยให้สังคมมีความสงบสุขและพัฒนาไปอย่างมีระบบ ดังคำกลอนที่ว่า

                        ถึงสูงศักดิ์ อัครฐาน สักปานใด                       ถึงวิไล เลิศฟ้า สง่าศรี

            ถึงฉลาด กาจกล้า ปัญญาดี                              ถ้าไม่มีคุณธรรมก็ต่ำคน

                                                                                                (ไม่ทราบนามผู้แต่ง)

            คุณธรรมที่ควรปลูกฝังให้แก่ผู้บริหาร

            เยาวชนควรได้รับการปลูกฝังคุณธรรมมาตั้งแต่เด็ก โดยขณะอยู่ที่บ้านต้องได้รับการปลูกฝังจากครอบครัว และขณะอยู่ที่โรงเรียนต้องได้รับการปลูกฝังจากครูอาจารย์ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและฝังลึกเข้าไปในจิตใจของเด็กเหล่านั้น เมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ จะได้เป็นคนดีของสังคม (สิริพัชร์  เจษฎาวิโรจน์(๒๕๕๐) ) กล่าวไว้ว่า คุณธรรมที่สำคัญที่ควรปลูกฝังให้กับผู้เรียนประกอบด้วย

๑.      ความมีวินัย หมายถึง การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของโรงเรียน ครอบครัวและชุมชน เช่น การตรงต่อเวลา การปฏิบัติตามหน้าที่ของตนเองและยอมรับผลการกระทำของตนเอง การปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียน การเคารพสิทธิของผู้อื่น

๒.    ความซื่อสัตย์ หมายถึง การไม่โกหกหลอกลวงผู้อื่น เช่น การทำการบ้านของตนเอง ปฏิบัติตนเป็นคนพูดจริงทำจริง ปฏิบัติตนเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ลักขโมย ไม่รับทรัพย์สินของผู้อื่นเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

๓.     ความประหยัด หมายถึง การใช้จ่ายทรัพย์สินของตนและประเทศชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ใช้ทรัพย์สินของตนเองและส่วนรวมอย่างคุ้มค่า ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ใช้น้ำและใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่า

๔.     ความเมตตากรุณา หมายถึง การปฏิบัติตนเพื่อต้องการช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ และมีความสุขตามกำลังของตนที่มีอยู่ เช่น แสดงความมีน้ำใจ เอื้ออาทรผู้อื่นด้วยความเต็มใจ แสดงอาการทางวาจาต่อผู้อื่นอย่างนุ่มนวล ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ร่วมบริจาคทรัพย์เพื่อส่วนรวม

๕.    ความกตัญญูกตเวที หมายถึง การยินดีช่วยเหลือและตอบแทนผู้มีพระคุณให้มีความสุขอย่างจริงใจ พร้อมทั้งยกย่องเชิดชูผู้มีพระคุณ เช่น อาสาช่วยเหลืองานพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ครู อาจารย์ แสดงความเคารพนับถือ ยกย่องเชิดชูผู้มีพระคุณ รักษาเกียรติ และนำชื่อเสียงมาสู่ครอบครัว ทำให้ผู้มีพระคุณสุขใจ อิ่มใจ

๖.      ความอดทน อดกลั้น หมายถึง การข่มใจ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นอุปสรรค พร้อมรับฟังความคิดเห็น มีสติในการแก้ปัญหาให้สำเร็จลุล่วง เช่น มีความอดทนในการเรียนและการทำงาน ควบคุมอารมณ์ได้ดีและรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นได้ ควบคุมกิริยาอันไม่พึงประสงค์ พยายามต่อสู้อุปสรรคจนประสบความสำเร็จ หนักแน่นไม่หวั่นไหว

๗.    ความเสียสละ หมายถึง การละความเห็นแก่ตัว การให้ปันแก่ผู้ที่ควรได้รับ ด้วยกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา รวมทั้งการรู้จักสลัดทิ้งอารมณ์ร้ายในตนเอง ความมีจิตใจกว้างขวาง เช่น การบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนร่วม ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนฯลฯ

๘.     ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียง ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การร่วมมือกันทำกิจการให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี เช่น รักในหมู่คณะ มีใจหวังดี มองคนอื่นในแง่ดีเสมอ เป็นผู้ประสานความสามัคคีในหมู่คณะ

๙.      ความมีสติสัมปชัญญะ หมายถึง การควบคุมตนเองให้มีความพร้อม มีสภาพตื่นตัว ฉับไวในการรับรู้ทางประสาทสัมผัส ในการตัดสินใจ และในการประพฤติอย่างเหมาะสมบนพื้นฐานของการสำรวม รอบคอบและระมัดระวัง เช่น รู้ตัวตลอดเวลาว่าตนเองกำลังคิดอะไร ทำอะไร ตระหนักในข้อดีข้อเสียของพฤติกรรมของตน มีความฉับไวในการรับรู้สิ่งภายนอก ควบคุมตนเองไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ระลึกตั้งมั่นในความถูกต้องดีงามอยู่เสมอ

๑๐.  ความรับผิดชอบ หมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความผูกพันและละเอียดรอบคอบ เช่น ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ รู้หน้าที่และกระทำหน้าที่เป็นอย่างดี เอาใจใส่ในการทำงาน

๑๑.  ความขยันหมั่นเพียร หมายถึง ความพยายามทำงานให้สำเร็จลุล่วง ความมานะพยายามในการทำงานโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เช่น มีความมานะพยายาม ขยัน บากบั่น ไม่ย่อท้อ ไม่ละเลยหรือทอดทิ้งงาน พยายามต่อสู้อุปสรรค

           

            คุณธรรมนำความรู้นับเป็นคำพูดที่ให้ความหมายได้สมบูรณ์ในตัวเอง คนที่มีคุณธรรมจะถูกเลือกมากกว่าคนที่มีความรู้ เพราะคนที่มีความรู้หลายคนเป็นบุคคลที่สังคมไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อน วุ่นวายให้กับสังคม เพราะเป็นคนที่มีความรู้แต่ไม่มีคุณธรรม การปลูกฝังคุณธรรม ไม่ได้ทำเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาใช้ความอดทนและกระทำอย่างต่อเนื่อง คุณธรรมจึงจะเกิดขึ้นได้ การอบรมสั่งสอนตั้งแต่เด็กโดยพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือสถาบันครอบครัว ถือเป็นหน้าที่ ที่ต้องตระหนักเป็นอันดับแรก ครู-อาจารย์หรือสถาบันการศึกษา คอยรับช่วงต่อคอยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดไป ทั้งสองสถาบันต้องมุ่งมั่น จริงจังและจริงใจต่อกัน

            นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบการจัดการศึกษา ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนักและถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ว่าการสร้างคนจะต้องปลูกฝังคุณธรรมที่ให้กับเขาอย่างไร การคืนสู่รากเหง้าเป็นคำที่ใช้เพื่อหมายถึงการฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น ค้นหาวิธีการและคุณค่าต่างๆมาบูรณาการให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน แนวคิดเรื่องการจัดการศึกษากับการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมของสังคมไทยในอดีตก็เช่นกัน รูปแบบการสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมตามที่เสนอไปแล้วนั้นน่าจะนำกลับมาฟื้นฟูพัฒนา บูรณาการในระบบการจัดการศึกษาในปจจุบันได้  เพื่อเด็กเยาวชนเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพของชาติต่อไปและเพื่อสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า

” คุณธรรมค้ำจุนโลก ” นั่นเอง

 

คำสำคัญ (Tags): #คุณธรรม#วัฒธรรม
หมายเลขบันทึก: 366609เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 07:49 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งค่ะ ในสภาพปัจจุบันที่โลกหมุนเร็วแบบนี้ เรายิ่งต้องยกระดับจิตใจและยกระดับศีลธรรมให้สูงขึ้นแล้วเร็วตามโลกด้วยค่ะ

ขออนุญาตนำบล็อกนี้เข้าแพล็นเน็ตนะคะ

คุณธรรมค้ำจุนโลกครับ

ขอบคุณครับ...

ถ้าทุกท่านเห็นว่าบทความที่ผมเขียนขึ้น มีประโยชน์ต่อบุคคลอื่น ยินดีให้เผยเเพร่ครับ เเละหวังว่าทุกท่านจะได้เลกเปลียนความคิดเเละทันคติ เพื่อการนำไปสู้การเกิดเเง่คิดใหม่ เเละนำไปสานต่อครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท