Principle of Life Underwriting : หลักการพิจารณารับประกัน


หลักการพิจารณารับประกัน

การพิจารณารับประกันภัย (Underwriting) หรือบางครั้งเราเรียกว่า การคัดเลือกภัย (Risk Selection) หมายถึงกระบวนการพิจารณาจัดกลุ่มบุคคลที่ขอเอาประกันชีวิต (Proposed insured) หรือผู้สมัครทำประกันภัย (Applicant) ให้ตรงกับอัตรามรณะ (Mortality Rate) หรืออีกนัยหยึ่งก็คือการคัดเลือกความเสี่ยงของผู้สมัครเอาประกันภัยให้สอดคล้องกับอัตราเบี้ยประกันภัย (Premium) ตามหลักของคณิตศาสตร์ประกันชีวิต (Actuary) ให้มากที่สุด

การพิจารณารับประกันภัยในธุรกิจประกันชีวิต (Life Underwriting) นั้น อาจใช้หลักการของปิรามิดหลักการพิจารณารับประกัน ซึ่งเป็นปิรามิดฐาน 3 เหลี่ยม ประกอบไปด้วยด้าน 4 ด้าน ด้านฐานของปิรามิดประกอบด้วย อายุ (Age) ภาวะสุขภาพ (Health) และวิถีชีวิต (Life Style) ของผู้เอาประกัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตรามรณะของผู้ขอเอาประกันมากที่สุด เรียกว่า Mortality Impact Triangle ส่วนยอดของปิรามิดนั้นคือองค์ประกอบด้านการเงินซึ่งมีความสัมพันธ์กับอัตรามรณะน้อยที่สุด แต่จะมีความเกี่ยวข้องการพิจารณาถึงความสามารถในการทำประกันของผู้ขอเอาประกัน คือ ใช้พิจารณาวงเงินเอาประกันกับความสามารถในการหารายได้ที่จะนำมาชำระเบี้ยประกันภัยของวงเงินเอาประกัน

Mortality Impact Triangle ซึ่งเป็นส่วนฐานของปิรามิดประกอบด้วย อายุ (Age) ภาวะสุขภาพ (Health) และวิถีชีวิต (Life Style) ของผู้เอาประกันซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณารับประกันเพราะมีความสัมพันธ์กับอัตรามรณะมากที่สุด กล่าวคือ อายุยิ่งมากยิ่งมีอัตรามรณะสูง หากมีวิถีชีวิตที่เสี่ยงสูงก็ยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตสูงตามด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาวะสุขภาพคือหากสุขภาพดีก็มีอัตรามรณะน้อยกว่าผู้ที่มีสุขภาพไม่ดีนั่นเอง ในกรณีเรื่องของเพศนั้นทราบกันดีว่าเพศชายมีอัตรามรณะสูงกว่าเพศหญิง แต่เพศหญิงจะมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าเพศชาย แต่เนื่องจากเบี้ยประกันสุขภาพและเบี้ยประกันชีวิตของเพศชายและเพศหญิงนั้นถูกคำนวณตามหลักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตโดยแยกตามเพศตั้งแต่เริ่มต้น จึงทำให้อัตราเบี้ยประกันแตกต่างกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ดังนั้นการพิจารณารับประกันจึงไม่ได้คำนึงถึงเรื่องเพศเท่าไหร่นัก

การพิจารณาถึงองค์ประกอบในพิจารณารับประกันของผู้ขอเอาประกันประกอบด้วย

1. อายุของผู้เอาประกัน (Age) หมายถึงอายุของผู้ขอเอาประกันอยู่ในช่วงที่สามารถรับประกันได้

2. สุขภาพของผู้เอาประกันภัย (Health) หมายถึง ภาวะสุขภาพในขณะทำประกันของผู้ขอเอาประกัน ภาวะสุขภาพและประวัติการเจ็บป่วยของผู้ขอเอาประกัน ประวัติการเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวรวมถึงญาติของผู้ขอเอาประกันที่อาจเกี่ยวข้องกับโรคที่สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้

3. วิถีชีวิตของผู้ขอเอาประกัน (Life Style) หมายถึง กิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ขอเอาประกัน ลักษณะอาชีพการงาน งานอดิเรก การออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ เป็นต้น

4. การเงิน (Financial) หมายถึง ฐานะทางการเงินและข้อมูลทางการเงินของผู้ของเอาประกัน ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาว่าผู้ขอเอาประกันมีฐานะทางการเงินที่จะสามารถชำระเบี้ยประกันได้ตลอดสัญญา และแหล่งที่มาของรายได้หรือเงินของผู้เอาประกันนั้นต้องไม่ผิดกฎหมายด้วย เพื่อป้องกันการทำประกันชีวิตเพื่อฟอกเงิน

โดยทั่วไปผู้ขอเอาประกันนั้นไม่สามารถรับประกันได้ทุกคน เพราะบางคนมีความเสี่ยงที่สูงเกินไปจนไม่สามารถมารถรับประกันได้ หรือผู้ขอเอาประกันบางคนอาจไม่มีความสามารถในการชำระเบี้ย ซึ่งหากรับประกันแล้วผู้เอาประกันอาจปล่อยให้กรมธรรม์ขาดผลบังคับ (Lapse) ในอนาคตโดยเฉพาะช่วงปีแรกๆซึ่งจะทำให้บริษัทประกันชีวิตขาดทุน เพราะค่าใช้จ่ายสำหรับรับประกันในช่วงแรกๆสูงเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ของเบี้ยที่รับมา ผู้พิจารณารับประกันอาจไม่รับประกันกลุ่มคนดังกล่าวได้ เราสามารถแบ่งกลุ่มผู้ขอเอาประกันได้เป็น 4 กลุ่มตาม Underwriting Matrix

Underwriting Matrix ใช้สำหรับ การพิจาณารับประกันผู้ขอเอาประกันภัย โดยผู้พิจารณารับประกันสามารถพิจารณาแบ่งกลุ่มผู้ขอเอาประกัน ตามความสามารถในการรับประกันได้ของผู้ขอเอาประกัน ซึ่งออกเป็น 4 โซน ได้แก่

Zone 1 (Gray Zone) Questionable Class หมายถึง ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงแต่ไม่สามารถรับประกันได้ (Healthy, Unacceptable) เนื่องจากยังความเสี่ยงด้านอื่นๆสูง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุนอกเหนือจากช่วงอายุที่สามารถรับประกันได้ ผู้ที่มีกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายสูง หรือมีอาชีพที่เสี่ยงอันตรายสูงมาก จนไม่สามารถรับประกันได้ นอกจากนี้ประชากรที่อยู่ในโซนที่หนึ่งแม้อาจมีอายุหรือสุขภาพและวิถีชีวิตในเกณฑ์ที่รับประกันได้ แต่อาจมีแหล่งที่มาของเงินของผู้ขอเอาประกันที่ผิดกฎหมายหรือต้องการทำประกันเพื่อฟอกเงินซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการทำประกัน จึงไม่สามารถมารถรับประกันบุคคลประเภทนี้ได้ ประชากรบางคนในกลุ่มนี้บางทีอาจเรียกว่า Questionable Class เพราะผู้ขอเอาประกันในโซนสีเทานี้อาจเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสามารถเอาประกัน (Potencially insurable)ได้แต่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ออกมารองรับ หากบริษัทมีการศึกษาโดยฝ่ายคณิตศาสตร์เพื่อดูอัตราเสี่ยงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันมารองรับก็สามารถขยายการรับประกันไปถึงกลุ่มผู้เอาประกันกลุ่มนี้ได้ เช่น ในปัจจุบันบริษัทมีผลิตภัณฑ์ที่ขายให้กับผู้เอาประกันที่มีอายุระหว่าง 1 เดือน 1วันถึง 60 ปีเท่านั้น แต่เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยให้คนมีอายุยืนยาวมากขึ้นและคนที่มีอายุเกิน 60 ปีอาจมีอัตราการตายต่ำและเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางการเงินที่มั่นคงเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีเงินเก็บไว้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ อีกทั้งเป็นกลุ่มที่ยังมีสุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้นบริษัทรับประกันอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นการลงทุนและมีความคุ้มครองระยะสั้นมาเสนอให้แก่กลุ่มนี้ได้

Zone 2 (Red Zone) True Decline Class หมายถึง ผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ หรือกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง (Unhealthy, Unacceptable) จนไม่สามารถรับประกันได้ (Decline Class) ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม ผู้ป่วยเอาหวานที่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ติดเชื้อ HIVหรือผู้ป่วยเอดส์ ผู้พิการซ้ำซ้อน ผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นต้น

Zone 3 (Yellow Zone) Substandard Class หมายถึง ผู้ที่มีปัญหาภาวะสุขภาพ แต่ยังสามารถรับประกันได้ (Unhealthy, Acceptable) โดยในการพิจารณารับประกันอาจมีเงื่อนไขในการรับประกัน เช่น ผู้พิจารณารับประกันอาจเพิ่มเบี้ยประกัน (Extra Premium Rate-Up) ให้เหมาะสมกับอัตรามรณะจากภาวะสุขภาพของผู้ขอเอาประกันรวมทั้งไม่อนุมัติสัญญาเพิ่มเติมบางอย่าง เช่น ไม่อนุมัติสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ หรืออาจมีเงื่อนไขอื่นๆในการรับประกัน เช่น การไม่คุ้มครองการรักษาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะการเจ็บป่วยในปัจจุบันหรือก่อนทำประกันของผู้เอาประกัน (Exclusion) ผู้ที่มีปัญหาภาวะสุขภาพบางคนอาจมีความเสี่ยงต่อการชีวิตในระดับมาตรฐานแต่อาจเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่า ดังนั้นผู้พิจารณารับประกันอาจพิจารณาเพิ่มเฉพาะเบี้ยประกันของสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพเท่านั้น แต่ไม่เพิ่มเบี้ยจากอัตรามรณะ กลุ่มผู้ขอเอาประกันเหล่านี้ ได้แก่ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคธรรมดา เช่น เป็นต่อมไทรอยด์โตแบบธรรมดา ผู้ป่วยโรคนิ่วแบบธรรมดา ไซนัสอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกชนิดธรรมดา ผู้ป่วยมะเร็งระยะเริ่มต้นบางประเภท ผู้ป่วยเบาหวานที่มีการพยากรณ์โรคดี โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

Zone 4 (Green Zone) Most wanted Class หมายถึง กลุ่มผู้ขอเอาประกันที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (Healthy, Acceptable) ไม่มีความบกพร่องทางร่างกายและจิตใจ มีความเสี่ยงในระดับมาตราฐาน (Standard Class) หรือดีกว่ามาตรฐาน (Preferred Class) ซึ่งสามารถเอาประกันได้ในอัตราปกติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่บริษัทรับประกันต้องการมากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจประกันชีวิต

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งกลุ่มผู้เอาประกันภัยตามระดับความเสี่ยง (Risk Classes) ได้แก่

1.กลุ่มที่มีความเสี่ยงดีกว่าระดับมาตรฐาน (Preferred Class)

2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงในระดับมาตรฐาน (Standard Class)

3.กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้อยกว่าระดับมาตรฐาน (Substandard Class)

4.กลุ่มที่ไม่สามารถรับประกันได้ (Declined Class)

ความเสี่ยงแต่ละระดับของผู้เอาประกันจะมีความสัมพันธ์กับอัตรามรณะ กล่าวคือคนที่มีความเสี่ยงดีกว่าระดับมาตรฐาน (Preferred Class) หมายถึงผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงกว่าคนทั่วไป ไม่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพหรือวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยง ส่วนคนที่มีความเสี่ยงในระดับมาตรฐานคือคนที่มีสุขภาพเหมือนคนทั่วไป ซึ่งคนส่วนใหญ่มักถูกจัดอยู่ในความเสี่ยงระดับนี้ อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงดีกว่ามาตรฐานและในระดับมาตรฐานจะถูกพิจารณาให้อยู่ในความเสี่ยงระดับเดียวกันและถือว่ามีอัตรามรณะเท่ากันจึงถูกคำนวณเบี้ยเท่ากัน ส่วนคนที่มีความเสี่ยงด้อยกว่ามาตรฐานหมายความว่ามีความเสี่ยงด้านสุขภาพ หรืออาชีพหรือวิถีชีวิตที่เสี่ยงกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจทำให้มีอัตรามรณะสูงกว่า จึงถูกพิจารณารับประกันด้วยเบี้ยประกันที่สูงกว่าเพื่อให้เพียงพอกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง หากผู้เอาประกันมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น เจ็บป่วยร้ายแรงมีวิถีชีวิตหรือประกอบอาชีพเสี่ยงภัยมากเกินไป อัตรามรณะจะสูงมากจนไม่สามารถรับประกันได้

การพิจารณารับประกันที่ดีควรสามารถคัดเลือกลูกค้าให้ได้ตรงตามอัตรามรณะมากที่สุดและควรคัดเลือกหรือรับประกันกลุ่ม Preferred Class ให้ได้มากที่สุด และให้มีกลุ่ม Declined Class ให้น้อยที่สุด จึงจะทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้อย่างมีกำไร

หมายเลขบันทึก: 365821เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มีนาคม 2017 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท