ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๑๑. ติดตามทีมไทยใน WHA 63


ในเวทีเช่นนี้ ต้องใช้ความรู้หรือ evidence มาก ทีมไทยใหญ่กว่า ๖๐ คน มีการเตรียมตัวจัดทีมไว้อย่างดี มีการทำวิจัยไว้ล่วงหน้า เราจึงได้ทำหน้าที่ต่อสู้ทางนโยบายเพื่อสุขภาพของผู้คนในโลกอย่างไว้ลายไว้ศักดิ์ศรี เป็นที่ชื่นชมยกย่องมากในวงการสุขภาพของโลก


          ช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑๕ – ๒๓ พ.ค. ๕๓ ผมติดตามการไปร่วมประชุมสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ ๖๓ ที่เจนีวาด้วยความสุขใจและชื่นชมความสามารถหลากหลายด้านของทีมไทย   โดยติดตามทาง อินเทอร์เน็ต ผ่านทาง อี-เมล์กลุ่ม   ที่ รศ. ดร. ชื่นฤทัย กาญจนจิตรา กรุณาใส่ผมเข้าไปในกลุ่ม   ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มอยู่ตลอด   ได้รู้ว่าได้เกิดดาราใหม่ๆ ขึ้นจากเวทีสมัชชานี้

          เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนไทยทำคุณประโยชน์ให้แก่โลก ในด้านนโยบายสุขภาพของโลก   ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวได้ที่เว็บไซต์ http://sites.google.com/site/thaiwha2553/    จะได้เรื่องราวความรู้มากมายเกี่ยวกับสมัชชาอนามัยโลก   ซึ่งเป็นเวทีกำกับดูแลสุขภาพของคนทั้งโลก   หรือมองอีกมุมหนึ่งเป็นเวทีของการต่อสู้กันทางความคิดและทางผลประโยชน์ระหว่างประเทศต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ   ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมาก

          แน่นอนว่า ทีมไทยเป็นทีมของประเทศที่มีระดับการพัฒนากลางๆ (ค่อนไปทางต่ำ) เราก็มีมุมมองและผลประโยชน์ตามแบบของเรา   ตัวแทนของประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศเขาเอาใจอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของเขา    ก็มีการเล่นการเมืองระหว่างประเทศหาพวกหาเสียงเพื่อการลงมติที่ไม่ทำให้เขาเสียโอกาสทำธุรกิจ

          ในเวทีเช่นนี้ ต้องใช้ความรู้หรือ evidence มาก   ทีมไทยใหญ่กว่า ๖๐ คน   มีการเตรียมตัวจัดทีมไว้อย่างดี   มีการทำวิจัยไว้ล่วงหน้า   เราจึงได้ทำหน้าที่ต่อสู้ทางนโยบายเพื่อสุขภาพของผู้คนในโลกอย่างไว้ลายไว้ศักดิ์ศรี    เป็นที่ชื่นชมยกย่องมากในวงการสุขภาพของโลก  

          หัวหน้าทีมไทยอย่างเป็นทางการคือท่านรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล   หัวหน้าทีมวิชาการคือ นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ    นักวิชาการใหญ่คือ นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผอ. IHPP  และทีมนักวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุข, สสส., สช.,  มหาวิทยาลัย และอื่นๆ   

          ผมมองว่า นี่คือตัวอย่างของการใช้เวทีปฏิบัติจริงเป็นที่ฝึกฝนพัฒนานักวิชาการ/วิจัย   ผมได้เห็นการทำงานเป็นทีม การทำหน้าที่ coaching ของพี่ใหญ่ต่อน้องๆ ลูกทีม   การให้โอกาสลูกทีมได้ฝึกนำเสนอต่อที่ประชุม   การฝึกการเจรจาต่อรองประเด็นทางวิชาการเพื่อบรรจุไว้ในเอกสารนโยบาย   ได้เห็นกิจกรรมนี้แล้วผมมีความสุข   มีความชื่นชม มีความหวัง ว่าวงการสุขภาพไทยได้รวมตัวกันทำงานใหญ่ เป็นตัวอย่างของการทำงานวิชาการป้อนเข้าสู่เวทีเจรจาระหว่างประเทศ  

          ผมอยากเห็นวงการอื่นๆ ของไทย เรียนรู้และนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ เช่นเวทีเจรจาการค้า  เวทีเจรจาสิ่งแวดล้อม  และอื่นๆ

          เกือบลืมย้ำไป ว่าผมติดตามแบบ iFollow ครับ   คือผมอยู่ที่เมืองไทย   ไม่ได้ไปร่วมประชุมกับเขาครับ     

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ พ.ค. ๕๓
       
             

หมายเลขบันทึก: 365425เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท