นปส.55 (9): วินัยสร้างชาติ


คติพจน์ของลูกเสือสำรอง "ทำดีที่สุด" ของลูกเสือสามัญ "จงเตรียมพร้อม" ของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ "มองไกล" และของลูกเสือวิสามัญ "บริการ"

๙.วินัยสร้างชาติ

ย่างเข้าสู่วันที่สามของชีวิตในค่ายลูกเสือศรีราชา จากความตื่นเต้นก่อนเข้า มาสู่ความเบื่อหน่ายอิดโรยในช่วงแรก แล้วก็เริ่มรู้สึกสนุกและเห็นคุณค่าของวิชาการลูกเสือที่ช่วยฝึกหลายๆเรื่องให้แก่เรา ช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีในกลุ่ม เป็นการละลายพฤติกรรมได้ดีมาก วันที่สองหมู่นกเค้าแมวก็ยังคงได้คะแนนมาตรฐาน (ได้ธงเขียว) การนอนในเต้นท์ที่มีพัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน กิจกรรมเสริมที่ให้วาดรูปและการหุงหาอาหารให้ความสนุกและความเหน็ดเหนื่อยไปพร้อมๆกัน วันที่สองพี่แดงเป็นนายหมู่ วันที่สามพี่ขุนเป็นนายหมู่และวันที่สี่ผมเป็นนายหมู่และเป็นนายหมู่ถาวรของหมู่นกเค้าแมว

9.00-12.00 น. เรียนวิชาแนวทางการฝึกอบรมลูกเสือกลุ่มเฉพาะกิจ มีอาจารย์สนั่น พาหอมมาบรรยาก่อนราว 45 นาที แล้วแบ่งออกเป็นฐานต่างๆ 4 ฐานคือฐานลูกเสือสำรอง ลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสือวิสามัญ เครื่องหมายลูกเสือโลกเป็นช่อเฟอร์ดารี มี 3 ฉฉก หมายถึงกฎ 3 ข้อของลูกเสือล้อมรอบด้วยเชือกเกลียวผูกกันด้วยเงื่อนพิรอด หมายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือunity

ลูกเสือสำรองอายุราว 8-11 ปี เรียนวิชาชั้นดาวดวงที่ 1-3 เครื่องหมายลูกเสือสัมพันธ์ เครื่องหมายวิชาพิเศษ ความสนุกสนาน การร้องเพลง การเล่านิทานและความภาคภูิมใจในเครื่องแบบ คติพจน์คือDo your best ทำดีที่สุด มีพิธีลูกเสือสำรอง หรือGran Howl การเปิดประชุมกองลูกเสือสำรองราว 60 นาที โดยชักธงขึ้น สวดมนต์ สงบนิ่ง ตรวจและแยก 10 นาที เล่นเกมส์เพื่อบริหารร่างกาย 5 นาที ฝึกอบรมตามหลักสูตร 30 นาทีเกี่ยวกับประวัติการเริ่มวิชาการลูกเสือสำรอง คำปฏิญาณ กฎและคติพจน์ การทำความเคารพ การจับมือ ต่อจากนั้นผู้กำกับลูกเสือเล่าเรื่องสั้นที่เป็นประโยชน์ 5 นาที พิธีปิด นัดหมาย ตรวจเครื่องแบบ 10 นาทีแล้วชักธงลง เลิก

ลูกเสือสามัญ อายุราว 11-17 ปี เรียนวิชาลูกเสือตรี โท เอก สายยงยศ เครื่องหมายวิชาพิเศษชั้นสูงสุด ความสนุกสนาน การสังเกตุและจำ การอยู่ค่ายพักแรมและการบำเพ็ญประโยชน์ สายยงยศเป็นสายไหมสีเขียว จะได้เมื่อได้ลูกเสือเอกแล้ว สอบวิชาพิเศษลูกเสือสามัญได้ 6 วิชา โดยเป็นวิชาในข้อ ก 1 วิชา (นักผจญภัยในป่า นักสำรวจ นักบุกเบิก) และ ข 1 วิชา (ชาวค่าย ผู้ประกอบอาหารในค่าย นักธรรมชาติศึกษา นักดาราศาสตร์เบื้องต้น นักอุตุนิยมวิทยาเบื้องต้น) ลูกเสือสามัญเหล่าเสนาชุดกากี เหล่าสมุทรชุดสีขาวและเหล่าอากาศชุดสีน้ำเงิน

ผู้บังคับบัญชาลูกเสือสามัญ ใช้หมวกปีกกว้างหรือหมวกเบเล่ย์ (ทรงอ่อน)สีเขียว ถ้าอินทรธนูไม่มีสีอะไรหรือใชส่ตราลูกเสือแห่งชาติ สวมหมวกได้ทั้งสองแบบ ถ้ามีสีใส่หมวกทรงอ่อนตามสี อาวุธผู้บังคับบัญชาเป็นไม้ถือยาว 75 ซ.ม. กลม สีน้ำตาลแก่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-1.8-1.5 ซ.ม. มีพู่สีม่วง ปลอกตราคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงลูกเสือมี 4 ประเภทคือธงคณะลูกเสือแห่งชาติ ธงจังหวัด ธงกลุ่ม/กอง และธงหมู่

ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ อายุราว 14-18 ปี (ม.1-3) เรียนวิชาหลักสูตรเครื่องหมายลูกเสือโลก/ชั้นพิเศษ/หลวง เครื่องหมายสายยงยศของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ วิชาพิเศษลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ 76 วิชา การผจญภัย การพัมนาชุมชน การบำเพ็ญประโยชน์ การยอมรับของสังคม ความภาคภูมิใจในเครื่องแบบ แบ่งออกเป็นเหล่าเสนา เหล่าอากาศและเหล่าสมุทร ชื่อหมู่เป็นชื่อกษัตริย์ เช่นอู่ทอง เสื้อกากี อินทรธนูแดง-ลญ

ม.1 เทอม 1 เรียนลูกเสือโลก สัญญลักษณ์สีม่วงติดกระเป๋าซ้าย เทอม 2 เรียนชั้นพิเศษ (ช่อชัยพฤกษ์สีขาวติดกระเป๋าขวาตรงกลาง) ม.2 เรียนลูกเสือหลวง มีตรามงกุฎสีขาวติดแทนช่อชัยพฤกษ์ เรียนเครื่องหมายลูกเสือชั้นพิเศษ 76 วิชา ถ้าได้ 9 ชั้น(ดวง) ติดที่แขน ดวงที่ 10 ได้สายสะพายสีเหลืองขอบกรมท่า อาวุธใช้ไม้ง่าม นายหมู่มีธงหมู่รูปบุคคลสำคัญติดอยู่ แต่ของเนตรนารีจะเป็นรูปนกชนิดต่างๆ ผมเองก็เพิ่งทราบว่า เนตรนารีคือลูกเสือหญิงนั่นเอง

ลูกเสือวิสามัญ อายุราว 18-25 ปี (ม.4-6, อาชีวะ, อุดมศึกษา) มี 2 ระยะคือระยะทดลองและเมื่อได้เป็นลูกเสือวิสามัญแล้ว เรียนภาวะการเป็นผู้นำ การบริการชุมชน การยอมรับของสังคม ค่านิยมของสังคมและการบำเพ็ญประโยชน์ 

ช่วงพักกลางวัน มีการเลือกประธานรุ่นลูกเสือ เนื่องจากเรายังไม่มีประธานรุ่น นปส.55 มีการเสนอชื่อ 3 คน ผลการคัดเลือกได้แก่นายอำเภอเฉลิมพล มั่งคั่ง นอภ.บางบ่อ สมุทรปราการ และมอบหมายให้ประธานไปสรรหาคณะกรรมการเอง อาหารกลางวันแต่ละมื้อจัดได้อร่อย รสชาติดี มีอาหารหวานและผลไม้ประกอบทุกมื้อ

13.30-14.15 น. เรียนหัวข้อ หมู่ลูกเสือและการทำงานในระบบหมู่ กับอาจารย์สถาพร ภูระก้านตรง ระบบหมู่เป็นระบบการเป็นสมาชิกของกลุ่มหรือหมู่เล็กๆตามความพึงพอใจของตนในกลุ่มที่มีลักษณะการที่ตนพึงพอใจ นี่เป็นเหตุให้ต้องแบ่งลูกเสืออกเป็น 4 ประเภท เพราะเด็กแต่ละวัยความพึงพอใจความชอบไม่เหมือนกัน ระบบหมู่มีการจัดหน้าที่เพื่อกำหนดผู็รับผิดชอบงาน แต่เวลาปฏิบัติทุกคนต้องช่วยกัน ตามหลักการมนุษย์ทุกคนต้องการการยอมรับ หมู่ลูกเสือแบ่งหน้าที่ออกเป็น นายหมู่ รองนายหมู่ พลาธิการ คนครัว ผู้ช่วยเหลือคนครัว คนหาน้ำ คนหาฟืนและคนรับใช้ทั่วไป

การเปลี่ยนหน้าที่ เป็นการกระจายหน้าที่ให้ทุกคนได้เรียนรู้งานทุกอย่าง ฝึกให้สามารถทำงานได้ทั้งตำแหน่งต่ำสุดถึงสุงสุดและสอนให้เรารู้จักปล่อยวางจากตำแหน่ง  คุณชิน โสภณพานิชเคยกล่าวไว้ว่า "คนที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดได้ ต้องเรียนรู้งานที่ต่ำสุดก่อน"

ความมุ่งหมายของระบบหมู่จึงเป็นการฝึกการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการองค์กรที่ต้องรู้จักวิธีการของประชาธิปไตย ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตาม ฝึกการรับผิดชอบต่องาน ภารกิจและหน้าที่ ฝึกความสามัคคีพร้อมเพรียงในหมู่คณะและพลังกลุ่ม ฝึกการปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสังคม ไม่ตามใจตนเอง ให้มองเห็นอกเขาอกเรา ในชีวิตจริงเราพบว่า "เรามีหลักสูตรฝึกการเป็นผู้นำ แต่ไม่เคยมีหลักสูตรฝึกเป็นผู้ตาม จึงทำให้คนทำหน้าที่ผู้ตามได้ไม่ดี เมื่อเป็นผู้ตามที่ไม่ดี ก็เป็นผู้นำที่ดีไม่ได้ และในขณะเดียวกันเรามีหลักสูตรฝึกพูดมากมาย แต่กลับไม่มีหลักสูตรฝึกฟัง ทั้งๆที่การฟังมีความสำคัญยิ่ง ไม่เพียงเป็นการรับความรู้เท่านั้นแต่เป็นการฝึกการยอมรับ เคารพและให้เกียรติผู้อื่นด้วย"

14.45-15.30 น. เรียนหัวข้อกิจการลูกเสือกับชุมชน อาจารย์อภินุช สุดประเสริฐ เป็นวิทยากร การพัฒนาชุมชนในมุมมองของสหประชาชาติกล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐบาลเพื่อปรับปรุงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของชุมชนให้ดีขึ้น และชุมชนนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่เอื้ออำนวยต่อความก้าวหน้าของประเทศ ส่วนในมุมมองลูกเสือกล่าวว่า เป็นการเปลี่่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในชุมชนอันจะนำมาซึ่งความอยู่ดีกินดี อาจารย์ให้แต่ละหมู่ร่วมกันคิดว่าจะพัฒนาชุมชนที่อยู่ได้อย่างไรด้วยกิจการลูกเสือและให้มีการนำเสนอ

หลังจากนั้นก็ปล่อยให้แต่ละกลุ่มไปเตรียมงานกิจกรรมการชุมนุมรอบกองไฟที่จะมีขึ้นในคืนนี้ โดยแต่ละหมู่ต้องทำไข่ตุ๋นมะพร้าวไปส่ง เตรียมการแสดง 1 ชุดและหมู่นกเค้าแมวเป็นหมู่บริการต้องทำพุ่มฉลากไปด้วย เรารีบปรุงอาหารทานอาหารและก็เตรียมเพลงประจำหมู่ พี่อึ่งคิดขึ้นมาได้ว่า "ค่ำแล้ว นกเค้าแมวเริงร่า สนุกสนานเฮฮา สมัครสมานสามัคคี" ส่วนการแสดงเราก็เตรียมเรื่องเทวดากับคนตัดฟืน ผมเป็นคนพากษ์ดำเนินรายการ พี่ช้างเป็นเทวดา พี่อึ่งเป็นคนตัดฟืนคนแรก พี่เสริฐเป็นคนตัดฟืนคนที่สอง พี่จุเป็นภรรยาคนตัดฟืนคนแรก พี่สรเป็นเถ้าแก่ร้านทอง พี่แดงกับพี่ขุนเป็นต้นไม้ ผม พี่เสิดและพี่สร ช่วยกันเผาไข่ตุ๋นมะพร้าวที่พี่จุ๋มปรุงมาให้

19.30-22.20 น. เป็นการชุมนุมรอบกองไฟ ทุกคนไปนั่งล้อมวงรอบกองไฟ จุดกองไฟ ประธาน (อาจารย์คงวุฒิ) มาถึงกล่าวเปิดงาน (ยกมือขวา 3 นิ้วชี้ไปทางกองไฟพร้อมกล่าวเปิด) ร้องเพลงสยามานุสสติ หมู่บริการแห่พวงมาลัยและพุ่มฉลาก มอบพวงมาลัยให้ประธานและผู้ติดตาม 2 คน พิธีกรจับฉบากเชิญหมู่ที่แสดง หลังแสดงมีการกล่าวชมเชย (กล่าวเยล)และกล่าวตอบรับ ทุกหมู่แสดงได้สนุกสนานดีมาก ทุกๆคนให้ความร่วมมือดี สมกับเป็นรุ่นที่ 55 (ฮ่าฮ่า...ฮาฮา) พอแสดงครบทุกชุด ประธานกล่าวให้ข้อคิด (กล่าวยาน) ประะานกล่าวปิดแล้วจับมือกันยืนรอบกองไฟร้องเพลงสามัคคีชุมนุมแล้วก็แยกย้ายกันไปนอน ก่อนนอพบอาจารย์ที่ปรึกษา หมู่เราเลยขอสอบท่องกฎและคำปฏิญาณเลย เพื่อจะได้ไม่กังวลในวันรุ่งขึ้นหรือเร่งรีบมากนัก

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน 2553 กิจกรรมต่างๆเป็นแบบเดิม เราคงได้ธงเขียวติดกันเป็นวันที่สาม เริ่มเรียนเช้าด้วยคติธรรม "ผู้ที่ได้ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์" อาจารย์วรเกียรติได้ให้พวกเราช่วยกันอภิปราย อธิบายความหมาย ช่วง 9.00-12.00 น. เป็นกิจกรรมกลางแจ้งภาคปฏิบัติโดยเป็นปฏิบัติการบุกเบิก ทุกกลุ่มจะได้โมเดลจำลองมาหมู่ละ 1 ชิ้น เพื่อมาให้เป็นแบบในการปฏิบัติบุกเบิกมีปั้นจั่น บันไดลิง สะพานข้ามน้ำ สะพานเสากระโดง ลิฟต์ สะพาน เต็นท์ลอยได้ โล้ชิงช้า หอคอย มีอาจารย์เฉลิมพรและคณะคอยให้การดูแลสอนแนะอย่างใกล้ชิด หมู่ผมได้ประกอบปั้นจั่น ทุกคนช่วยกันดี พอทำเสร็จแล้วก็ทดลองใช้โดยให้พี่จุเป็นนางแบบนั่งปั้นจั่น

13.30-14.00 น. เรียนหัวข้อโครงสร้างคณะลูกเสือแห่งชาติโดยอาจารย์สนั่น พาหอม หลังจากนั้น 14.30-16.30 น.เรียนหัวข้อการเดินทางสำรวจและกิจกรรมเกี่ยวกับการผจญภัย โดย ว่าที่ ร.ท. ณัฏฐ์ ยุวยุทธ การเดินทางสำรวจใช้ศึกษาภูมิประเทศ ศึกษาโบราณคดี หรือศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นก็ได้ ทักษะสำคัญคือการใช้แผนที่และเข็มทิศ การบอกทิศทางอาจบอกเป็นชื่อ เป็นมิล (Mil) เป็นเกรด (Grade) หรือเป็นอาซิมัธ (Azimuth) เข็มทิศมีข้อจำกัดคืออยู่ใกล้โลหะไม่ได้ การใช้แผนที่ประกอบเข็มทิศต้องวางแผนที่ให้ตรงทิศก่อน การอ่านพิกัดในพื้นที่ให้อ่านเป็นเลข 6 ตัว ตัวแรกเป็นเลขแนวนอน ตัวที่สามเป็นการกำหนดระหว่างตัวเลขเป็น 10 แล้วคูณเท่าไหร่ สามตัวหลังเป็นตัวเลขแนวตั้งอ่านแบบแนวนอน เช่น 115345 ก็อยู่ที่ช่องนอน11กึ่งกลาง (5) และช่องตั้ง 34กึ่งกลาง (5)

หลังจากนั้นก็เป็นการเดินสำรวจไปตามจุดหรือฐานที่กำหนดให้เพื่อฝึกอ่านแผนที่และใช้เข็มทิศ ช่วงเย็นมีงานเลี้ยงสังสรรค์Cherry Night ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการลูกเสือรุ่น มี ร.ท. กฤษณ์ จินตเวช นอภ.บางเลน นครปฐมมาขับกล่อมดนตรีให้เพื่อนๆได้ฟัง มีนักร้องและวงดนตรีที่สนับสนุนโดยคุณเชาวลิตร นอภ.เกาะจันทร์ ชลบุรีและเครื่องดื่มจากคุณสมภาพ นอภ. บ่อทอง ชลบุรี สนับสนุนแก่เพื่อนๆในรุ่น ราว5 ทุ่มก็เลิกกิจกรรม แยกย้ายกันไปนอน

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2553 ภารกิจตอนเช้าเหมือนเดิม ผมเป็นนายหมู่ ได้รับมอบหมายให้มาตรวจหมู่และให้คะแนนแทนอาจารย์ ผลปรากฎว่าเรายังคงได้ธงเขียวทุกวันแต่คะแนนสูงสุดเป็นของหมู่ช้างกับสิงโต มีการมอบรางวัลกันในช่วงเช้าที่หน้าเสาธง แล้วก็เก็บกระเป๋าเสื้อผ้า รื้อสิ่งก่อสร้างและเก็บกวาดให้เรียบร้อย นำอุปกรณ์ครัวและอุปกรณ์ช่างไปคืน

9.15-10.00 น. เรียนหัวข้อ โครงการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือและแผนปฏิบัติงานส่วนตัว การฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือมี 2 ระดับคือระดับ1 วิชาผู้กำกับลูกเสือ ระดับ2 การให้การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชากำกับลูกเสือแล้ว (เพื่อเป็นวิทยากรการฝึกอบรม) ในระดับที่ 1 มี 5 ขั้นคือ

1. ขั้นความรู้ทั่วไป 8 ชั่วโมง ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ ไม่ต้องค้างคืน ไม่แยกประเภท

2. ขั้นความรู้เบื้องต้น (Basic Unit Leader Training Course: B.T.C.) ฝึก 3 วัน 2 คืน แยกประเภทลูกเสือ ค้างคืน ได้วุฒิบัตร B.T.C. และว๊อกเกิ้ล

3. ขั้นฝึกหัดงาน (In-service training) ฝึกงานในกองลูกเสือ 4 เดือนเป็นอย่างน้อย

4. ขั้นความรู้ชั้นสูง (Advanced Unit Leader Training Course: A.T.C.) ฝึก 7 วัน 6 คืน แยกตามประเภทลูกเสือ ค้างคืน ได้วุฒิบัตร

5. ขั้นปฏิบัติการและประเมินผล (Application & Evaluation) ได้วุฒิบัตร เครื่องหมายวูดแบดจ์ ต้องขอรับการตรวจประเมินภายใน 2 ปี นับจากวันสุดท้ายของการฝึกอบรมขั้นที่ 4 แต่ต้องไม่ก่อน 4 เดือน

การฝึกอบรมแก่ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือแล้ว มี 2 ขั้นคือ

1. ขั้นผู้ช่วยผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ (Assistant Leader trainer course: A.L.T.C.) ฝึกอบรม 7 วัน 6 คืน จบแล้วได้วุฒิบัตรเรียกว่า A.L.T. หรือได้ 3 ท่อน โดยผู้เข้าอบรมต้องมีคุณสมบัติคือเคยเป็นวิทยากร B.T.C.หรือA.T.C. ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง (มีหนังสือรับรอง) และเคยได้รับ 2 ท่อนไม่น้อยกว่า 2 ปี

2. ขั้นหัวหน้าผู้ให้การฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือ (Leader Trainers Course: L.T.C.) ผู้เข้าอบรมมีคุณสมบัติคือเป็นวิทยากร A.T.C. ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เป็นผู้อำนวยการฝึกขั้น B.T.C. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เป็นA.L.T. ไม่น้อยกว่า 1 ปี จัดฝึกอบรม 7 วัน 6 คืน หลังฝึกอบรมต้องเป็น ผอ.ฝึกขั้น B.T.C. ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง  เป็นวิทยากรALT, LTC, ALTC รวมกันไม่น้อยกว่า 4 ครั้ง ได้วุฒิบัตร L.T. หรือ 4 ท่อน

หลังจากการบรรยายก็มีพิธีปิดกองลูกเสือหน้าเสาธง และพิธีปิดและแจกวุฒิบัตรในห้องประชุม วุฒิบัตรที่ได้รับ เขียนว่าได้ผ่านการฝึกอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือระดับผู้นำขั้นความรู้ชั้นสูง รุ่นที่ 437 ของผมทะเบียนเลขที่ 29597 ส่วนวูดแบดจ์และผ้าพันคอจะได้รับหลังการประเมินในอีก 4 เดือนข้างหน้า

กิจกรรมพิเศษในขณะฝึกอบรมที่ต้องปฏิบัติคือการสรุปบทเรียนในแต่ละชั่วโมงลงสมุด การล่าลายชื่อทีมวิทยากรเพื่อสร้างความรู้จักกัน และทำกิจกรรมพิเศษ 5 อย่างคือท่องกฎและคำปฏิญาณของลูกเสือ อาหารชาวค่าย (ไข่ตุ๋นมะพร้าว หมู่นกเค้าแมวได้รางวัลด้วย) วาดภาพประจำวัน สอบเงื่อนเชือก 6 เงื่อน และแต่งเพลงประจำหมู่

คณะกรรมการรุ่นลูกเสือ A.T.C. ผู้นำรุ่น 437 ประกอบด้วยนายเฉลิมพล มั่งคั่ง (ประธาน) นายวิสิษฐ์ พวงเพชรและนายสมภาพ รุ่งโรจน์และว่าที่ร้อยตรี ไพเจน มากสุวรรณ์ (รองประธาน) ร.ท. กฤษณ์ จินตะเวช (ประชาสัมพันธ์) นายปรมินทร์ วงศ์สุวัฒน์ (ผช.ปชส.) นายยุทธนา นุชนารถ (ปฏิคม) นายบุญเติม เรณุมาศและนายพิรุณ เสลานนท์และนายผล ดำธรรม (ผช.ปฏิคม) นางจรัส ใยเยื่อ (เหรัญญิก) นส.สุวรรณา ตรีสิทธิเดช (ผช.เหฯ) นายเชาวลิตร แสงอุทัย (เลขานุการ) นายจำรัส กังน้อยและนายกอบชัย บุญอรณะและนายะารทิพย์ มีเกาะ (ผช.เลขาฯ)

ผมคิดว่า การเข้าค่ายอบรมลูกเสือในครั้งนี้ได้อะไรมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลย และมีความเห็นว่า ถ้าเราสามารถนำแนวคิดหลักการของลูกเสือ มาปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันให้มากขึ้น แล้วนำมาฝึกอบรมแก่เด็กไทยอย่างจริงจัง การสร้างวินัยของคนไทยที่ถือกันว่าเป็นจุดอ่อนอย่างยิ่งคงจะดีขึ้นกับอีกทั้งการทำงานเป็นทีมก้น่าจะดีขึ้นด้วย เช่นกัน

นึกถึงวันแรกที่เดินลอดซุ้มเข้าค่ายลูกเสือ ก็ต้องท่องคำว่า "ระเบียบ วินัย กล้าหาญ อดทน ไม่บ่น" ถ้าจำขึ้นใจแล้วนำไปใช้ก้จะเกิดประโยชน์ระยะยาวได้ สำหรับรูปกิจกรรมสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.interior.ac.th/icmoi/index.php?option=com_content&view=article&id=115:scountnps55&catid=50:2009-12-29-16-24-09&Itemid=76 ครับ

หนังสือพิมพ์ฉบับเมื่อวานได้พูดถึงเล่าจื้อสอนว่า "การปกครองในยุคที่ประเสริฐยิ่งคือราษฎรไม่รู้ว่ามีการปกครอง รองลงมาราษฎรยกย่องชมชื่น รองลงมาราษฎรกลัวเกรง รองลงมาราษฎรดูหมิ่นเยาะเย้ย ประมุขบริหารราชการที่ดี เป็นผู้มีเวลาว่าง ไม่มีงานมาก ไม่ออกคำสั่งพล่อยๆ กิจการใดที่ทำสำเร็จผลไปแล้ว ราษฎรจะพากันกล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราต้องการมานานแล้ว" เป็นบทเตือนใจนักปกครองได้อย่างดี

กลับถึงหอพักที่วิทยาลัยมหาดไทย ราวบ่ายโมงกว่าๆ นอนพักผ่อนอยู่ที่หอไม่ได้ไปไหน ตกเย็นประมาณ 5 โมงก็ออกไปรับแม่กับน้องที่พัทยา ไปทานอาหารเย็นด้วยกัน แล้วก็กลับมาพักผ่อน เป็นอันสิ้นสุดการฝึกอบรมในสัปดาห์แรก

หมายเลขบันทึก: 365170เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 08:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท