Ex - Gratia Payment : สินไหมกรุณา


เมื่อภัยที่ทำประกันไว้ไม่เข้าเงื่อนไข บริษัทประกันจะช่วยจ่ายได้หรือเปล่า

 

จากสถานการณ์ขอคืนพื้นที่การชุมนุมคืนจากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของฝ่ายรัฐบาลและทหารตำรวจจนเป็นสาเหตุให้แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมซึ่งควรจะนำความสงบปกติแต่ปรากฏว่าก็เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย โดยอ้างว่าผู้ที่ตกใจและไม่พอใจในการตัดสินใจยุติการชุมนุมของแกนนำได้พยายามสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินและเผาทำลายสถานประกอบการของประชาชน ตลอดรวมถึงบรรดาศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ธนาคาร ร้านค้าและที่อยู่อาศัย ทั้งในบริเวณที่มีการชุมนุมและนอกพื้นที่การชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดซึ่งได้สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงได้ผ่านไปสู่สภาวะเริ่มต้นของความสงบ ซึ่งช่วงนี้ถือเป็นช่วงของการสรุปความเสียหายเพราะมีผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เกิดจากเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเป็นจำนวนมาก และธุรกิจประกันภัยต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไปเต็มๆ โดยเฉพาะประกันวินาศภัย ที่รับประกันสถานประกอบการต่างๆ ในย่านราชประสงค์ ทั้งศูนย์การค้า ธนาคาร ฯลฯ ซึ่งตามเงื่อนไขแล้วสถานประกอบการเหล่านั้น หากซื้อความคุ้มครองภัยก่อการร้ายไว้ด้วย ก็จะได้รับการชดเชย สินไหมตามเงื่อนไข นอกจากนี้ยังมีประกันชีวิตที่ต้องรับผิดชอบการจ่ายสินไหมให้แก่ผู้เอาประกันที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้อีกด้วย โดย คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.).ได้ประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทยและสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อวางกรอบและหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเริ่มจาก

 

1.การประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น

2.เจรจากันว่าความเสียหายเกิดจากอะไรบ้าง

3.ดูเงื่อนไขกรมธรรม์เป็นอย่างไร

 

จากการรวบรวมข้อมูลและประมาณการจำนวนเงินความเสียหายของทรัพย์สินที่มีการเอาประกันภัยไว้ในพื้นที่ราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ส่งผลให้สถานประกอบการ อาคาร ศูนย์การค้า และธนาคารได้รับความเสียหายรวม 35 แห่ง พบว่าทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายและมีการทำประกันภัยคุ้มครองทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยจำนวน 30 บริษัท แต่มีการซื้อประกันภัยคุ้มครองภัยก่อการร้ายไว้เพียง 6 บริษัท อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ได้รับความเสียหาย ได้มีการทำประกันอัคคีภัยและประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrai All Risk, IAR) ไว้ แต่ไม่ได้ซื้อความคุ้มครองสำหรับภัยก่อการร้าย จลาจล ซึ่งการทำประกันอัคคีภัยและประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR)จะไม่ครอบคลุมภัยที่เกิดจากสงคราม ก่อการร้าย และภัยที่เกิดจากการก่อความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อตีความตามเงื่อนไขของกรมธรรม์แล้วจะไม่ได้รรับความคุ้มครองจากเหตุการณ์ เพราะรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าเป็นการก่อการร้าย จลาจล ซึ่งปกติภัยก่อการร้าย จลาจลถูกระบุเป็นข้อยกเว้นในการจ่ายเงินสินไหม ดังนั้น คปภ.จึงขอความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยและบริษัทประกันวินาศภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยพิจารณาเป็นรายๆ ไป บริษัทผู้เอาประกันรายใหญ่ๆ นั้นไม่น่าห่วงเพราะได้ทำประกันก่อการร้ายอยู่แล้ว แต่ที่น่าห่วงคือบริษัทรายย่อยที่ไม่ได้ทำโดย คปภ. จะมีการขอร้องให้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย โดยขอให้บริษัทประกันภัยยืดหยุ่นการจ่ายสินไหม แม้สัญญาประกันภัย จะระบุว่า ไม่คุ้มครองหรือบริษัทประกันไม่ต้องจ่ายสินไหมก็ตาม การช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านี้ทางบริษัทประกันภัยต่างๆ จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือในแง่การเงิน เรียกว่าการช่วยเหลือพิเศษทางด้านสังคมโดยตกลงให้วงเงินช่วยเหลือจ่ายสินไหมบ้างส่วน เพื่อเป็นการแสดงความเห็นใจ โดยการจ่ายเงินในรูปแบบ 'สินไหมกรุณา' หลายคนอาจคุ้นเคยและเคยได้ยินคำว่าสินไหมทดแทน สินไหมสุขภาพหรือสินไหมประกันชีวิตประกันชีวิตมาบ้าง แต่อาจไม่ค่อยได้ยินหรือไม่เคยได้ยินคำว่า สินไหมกรุณา มาก่อน จริงๆแล้วคำว่า สินไหมกรุณา หรือบางครั้งอาจเรียกว่า สินไหมการุณ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการประกันภัยและประกันชีวิตเพราะคำๆน้ำถูกนำใช้หลายครั้งจากเหตุการณ์อุบัติภัยหลายเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ เช่น เหตุการณ์ภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก ซึ่ง คปภ.ได้ร่วมกับสมาคมธุรกิจประกันชีวิตและสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อหารือถึงการรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงครั้งนี้ เพื่อให้การจ่ายเงินผลประโยชน์และค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมมากที่สุด กรณีภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเป็นจำนวนมากนั้น บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายค่าสินไหมโดยใช้หลัก Ex - Gratia Payment ซึ่งเป็นการจ่ายโดยไม่ต้องรับผิดคล้ายเงินสงเคราะห์ หรือเรียกกันว่า สินไหมกรุณา ซึ่งสามารถจ่ายได้ในองค์ประกอบ 4 ข้อ คือ

 

1. เป็นผู้เอาประกันภัยที่สุจริต

 

2. ผู้เอาประกันได้รับความเสียหายที่รุนแรงต้องได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องขึ้นมาอีก

 

3. ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer) แล้ว

 

4. เป็นการจ่ายที่ไม่ต้องจ่ายเต็มตามจำนวน และไม่ใช่เหตุที่จะไปฟ้องร้องเอาได้ เพราะถือว่าเป็นสินไหมกรุณา หรือเป็นการให้เปล่า

 

ดังนั้นในการจ่ายสินไหมกรุณาเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองนั้น ก็ต้องอยู่ภายใต้องค์ประกอบทั้ง 4 ข้อข้างต้น เพราะผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนมิได้เจตนาให้เกิดการเผาทำลายทรัพย์สินของตนให้เสียหาย แต่เกิดจาก การก่อเหตุโดยกลุ่มของผู้ชุมนุม นปช. บางส่วนที่ไม่พอใจการยุติการชุมนุมของแกนนำ ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวบริษัทรับประกันภัยจะต้องเจรจากับบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือให้กับผู้เอาประกันที่เดือดร้อนในกรณีที่มิได้ซื้อความคุ้มครองภัยก่อการร้าย โดยไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวนเอาประกัน หลัก Ex - Gratia Payment ไม่เพียงแต่ใช้ได้กับการทำสัญญาประกันวินาศภัยเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับการทำสัญญาประกันชีวิตอีกด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อได้มีพิจารณาจ่ายค่าสินไหมในสัญญาประกันชีวิตในกรณีเสียชีวิตแต่ไม่พบศพ และเชื่อว่าจะเกิดการสูญหายหรือตายโดยไม่พบศพ ในกรณีที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามินั้นถือว่าทำได้เพราะเมื่อมีคนเสียชีวิตจากการเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ตามกฎหมายแล้วต้องรอ 2 ปี ศาลจึงจะสั่งให้เป็นคนสาบสูญ และเป็นการตายทางกฎหมาย เมื่อตายทางกฎหมายจึงจะเอาหลักฐานของศาลนั้นไปเคลมประกันชีวิตได้ แต่ว่ากระบวนการทางภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันสามารถจ่ายเงินให้กับผู้ที่ยังไม่พบศพได้เร็วขึ้น สำหรับสินไหมกรุณาหรือค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันภัยให้การช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองนั้น จะมีการขอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับบริษัทประกันภัยในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว โดยสามารถนำสินไหมกรุณาหรือค่าใช้จ่ายที่ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาจากเหตุการณ์ดังกล่าวไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณเงินได้ เพื่อเสียภาษีประจำปี

 

 

หมายเลขบันทึก: 365020เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท