การเปลี่ยนแปลงองค์กรเชิงกลยุทธ์


การพัฒนาองค์กรที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย โครงสร้าง และวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างชัดเจน

           การเปลี่ยนแปลงองค์กรเชิงกลยุทธ์

           (Strategic Organization Change Interventions)

           การพัฒนาองค์กร (Organization Development) เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบมุ่งเน้นให้ความสำคัญในด้านนโยบาย โครงสร้าง และวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งมีรูปแบบการพัฒนาหลายลักษณะ การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ (Strategic Change Interventions) เป็นการพัฒนาองค์กรอีกรูปแบบหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย การออกแบบหรือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างชัดเจน โดย Cummings & Worley (2009) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ไว้ ดังนี้

           1. Transformational Change

           เป็นการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงองค์กร โดยการกำหนดโครงสร้างและการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีพื้นฐานมาจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ การเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์เชิงบูรณาการ (Integrated Strategic Change) การออกแบบองค์กร (Organization Design) และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร (Organization’s Culture Change)

          2. Continuous Change

          หมายถึงการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อทำให้องค์กรสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง Continuous Change เป็นการพัฒนาต่อยอด Transformational Change ไปสู่กระบวนการที่ไม่หยุดนิ่งในด้านการกำหนดกลยุทธ์ การออกแบบองค์กร และการนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อสร้างความได้เปรียบของการแข่งขันในรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น กระบวนการเพื่อความต่อเนื่องของ Continuous Change จึงให้ความสนใจในด้านการเรียนรู้ (Learning) การเปลี่ยนแปลง (Changing) และการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม (Adapting)

           3. Transorganizational Change

           Transorganizational Change มีความแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงในสองลักษณะแรก เพราะทั้งสองลักษณะที่กล่าวมาเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรแต่ละองค์กร ขณะที่ Transorganizational Change เป็นการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของสององค์กรหรือมากกว่า เพื่อร่วมมือกันบริหารโครงการหรือแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ซึ่งลำพังเพียงศักยภาพขององค์กรเดียวไม่อาจดำเนินการได้หรือไม่อาจบรรลุผลสำเร็จได้ดีเท่าที่ควร รูปแบบของความร่วมมือในการจัดองค์กรลักษณะดังกล่าว คือ

            Mergers and Acquisitions (M&As) เป็นกิจกรรมที่ร่วมมือกันระหว่าง 2 องค์กร ซึ่งในความหมายของคำว่า “Merger” จะหมายถึงการควบกิจการของ 2 องค์กรที่เคยเป็นอิสระต่อกันกลายเป็นองค์กรใหม่ตามข้อตกลง ส่วน “Acquisitions” จะเป็นลักษณะที่องค์กรหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการของอีกองค์กรหนึ่ง ซึ่งทั้งสองรูปแบบจะทำให้กระบวนการ โครงสร้างเทคโนโลยี และการจัดการทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป

             Strategic Alliance เป็นข้อตกลงที่เป็นทางการระหว่าง 2 องค์กรหรือมากกว่า ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรมนุษย์ เงินทุน เทคโนโลยี ตลอดจนทรัพยากรด้านอื่นๆ หลักการทั่วไปของ Strategic Alliance จะอยู่ที่ความร่วมมือขององค์กรที่ทำข้อตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ Strategic Alliance ยังหมายถึงความร่วมมือระหว่างองค์กรในลักษณะ Licensing Agreements, Franchises, Long-term Contracts และ Joint Venture อีกด้วย

หมายเลขบันทึก: 364663เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท