6 วิธีป้องกันโรคหัวใจ


จดหมายข่าว นิตยสาร 'Health' ออนไลน์ ตีพิมพ์เรื่อง '9 surprising heart attack risks' = "9 ปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ (ที่น่าประหลาดใจ)", ผู้เขียนขอสรุปปัจจัยที่ป้องกันได้มาเล่าสู่กันฟังครับ [ Health ]

...

(1). HDL ต่ำ

HDL เป็นโคเลสเตอรอล (ไขมันในเลือด) ชนิดดี... ทำหน้าที่คล้ายเป็นตัวเก็บขยะ นำคราบไขจากผนังหลอดเลือดกลับมาที่ตับ ขับออกทางน้ำดี และส่วนหนึ่งจะขับออกทางอุจจาระ ทำให้หลอดเลือดสะอาดขึ้น

ชีวิตของ HDL ช่างคล้ายชีวิตของคนดีอีกหลายคน คือ ต้องทำความดีแบบโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีผู้ช่วยฝ่ายดี

ตรงกันข้าม... โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย หรือ LDL คือ มีผู้ช่วยฝ่ายร้าย (triglycerides / ไตรกลีเซอไรด์) ที่ช่วยให้โคเลสเตอรอลฝ่ายร้าย (LDL) ทำงานได้ดีขึ้น และทำให้โคเลสเตอรอลฝ่ายดี (HDL) อายุสั้นลง 

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยอินเดียนา US ทำในกลุ่มตัวอย่างเกือบ 7,000 คนพบว่า ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกที่เพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ คือ ประวัติเป็นโรคหัวใจมาก่อน, อายุมากขึ้น, และการมี HDL ต่ำ

วิธีเพิ่ม HDL ที่ำสำัคัญได้แก่ การไม่สูบบุหรี่, ออกแรง-ออกกำลัง (แบบหนักได้ผลดีกว่าแบบเบา), การไม่กินไขมันทรานส์ (พบมากในเบเกอรี่ เค้ก ขนมกรุบกรอบ เนยขาว อาหารฟาสต์ฟูด)

แนะนำให้อ่าน (ถ้าท่านต้องการเลิกบุหรี่... ขอให้ปรึกษาคลินิกเลิกบุหรี่ที่โรงพยาบาล เนื่องจากมียาช่วยเลิกบุหรี่แล้ว) > [ 6 วิธีเพิ่ม HDL ]; [ 5 วิธีเพิ่ม HDL ]; [ 5 วิธีเพิ่ม HDL ]; [ 8 วิธีเพิ่ม HDL ]

...

(2). โรคติด เชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ เพิ่มเสี่ยงโอกาสเป็นโรคหัวใจ 5 เท่าใน 3 วันแรก 

ข่าวดีคือ การล้างมือด้วยสบู่หรือถูมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ-เข้า บ้าน, หลังเข้าห้องน้ำ-ใช้ของร่วมกับคนอื่น ช่วยลดโอกาสติดหวัด-ไข้หวัด-ไข้หวัดใหญ่ได้

การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ (แต่ไม่ช่วยป้องกันหวัด)

เรื่องที่ลืมไม่ได้ คือ ถ้ามีไข้... ไม่ว่าจะเป็นไข้จากโรคอะไร อย่าออกกำลังหนัก เช่น วิ่งเร็ว ฯลฯ เนื่องจากจะเพิ่มเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ควรรอให้ไข้ลงดีก่อนเสมอ

...

(3). ไตไม่ค่อย ดี

การศึกษาจากเนเธอร์แลนด์พบว่า คนสูงอายุที่มีไตไม่ค่อยดีเพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ, เมืองไทยเรามีโรคไตชนิดป้องกันได้จาก 3 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ นิ่ว ความดันเลือดสูง และเบาหวาน

การดื่มน้ำให้พอ-กินแคลเซียม เช่น นมไขมันต่ำ นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม-วิตามิน D ฯลฯ ช่วยป้องกันนิ่ว (แคลเซียมส่วนหนึ่งช่วยจับกับออกซาเลตประจุลบในอาหาร ขับออกไปทางอุจจาระ ทำให้โอกาสเป็นนิ่วจากออกซาเลตลดลง)

การกินอาหารสุขภาพพอประมาณ เช่น ผัก ผลไม้ทั้งผล ธัญพืชไม่ขัดสี (ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ) นมไขมันต่ำ ฯลฯ, ออกแรง-ออกกำลัง, นอนให้พอ, ระวังอย่าให้น้ำหนักเิกิน ช่วยป้องกันความดันเลือดสูง และเบาหวาน

ถ้าเป็นเบาหวานหรือความดันเลือดสูงไปแล้ว... ควรรักษาให้ต่อเนื่อง ทำตามที่หมอแนะนำ เช่น ถ้าหมอแนะนำให้กินลำไย 2-3 ลูก/มื้อก็ควรทำตามนั้น อย่ากินคราวละ 2-3 กิโลฯ (มีคนไข้หลายคนทำแบบนี้ ไตเสื่อมแล้วไม่โทษตัวเองเลย โทษว่า ไตเสื่อมจากยา ซึ่งไม่จริงด้วย บาปด้วย)

...

(4). อยู่ใน เมืองใหญ่

การศึกษาจากเยอรมนีพบว่า การต้องฝ่าฟันกับการจราจรติดขัดเพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ 2 เท่า, การศึกษาอีกรายงานหนึ่งพบว่า การอยู่ใกล้ถนนใหญ่เพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ 2 เท่า

กลไกที่เป็นไปได้ คือ เสียงรบกวน โดยเฉพาะเสียงความถี่ต่ำ (เบสส์) ทำให้การพักผ่อนนอนหลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ถ้าเลือกที่อยู่ได้... ควรเลือกให้ห่างถนนใหญ่ 200 เมตร และให้ไกลเพื่อนบ้านที่ส่งเสียงดัง เช่น เปิดเพลงดัง ฯลฯ

ถ้าเลือกที่อยู่ไม่ได้ก็อย่าเพิ่งตกใจ... หาอะไรมาปิดกั้น หรือบังเสียง, ติดแอร์, การเสียงดังสม่ำเสมอมาช่วยกลบ เช่น เปิดพัดลม อัดเสียงเพลงคลื่นลม-น้ำไหลมาเปิด ฯลฯ อาจช่วยลดเสียงรบกวนได้

...

(5). หยุดยา

การศึกษาหลายรายงานพบว่า คนไข้โรคหัวใจที่หยุดยาแอสไพรินเอง (โดยหมอไม่ไ้ด้แนะนำ) เพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจนาน 1 สัปดาห์ขึ้นไป

...

(6). หมางเมิน เหินห่าง

การศึกษาจากยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน UK พบว่า ปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนพิเศษเพิ่มเสี่ยงโรคหัวใจ 34%

วิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรค "หมางเมินเหินห่าง" คือ หัดพูดคำ "ขอบคุณ-ขอบใจ-ขอโทษ" กับคนใกล้ๆ ตัวเราบ่อยๆ (อย่างน้อยวันละครั้ง และเพิ่มเป็น 3 ครั้งหลังอาหาร)

การชมการกระทำ (อะไรดีๆ) เช่น ขอบคุณที่คนอื่นทำกับข้าวให้ ฯลฯ บ่อยๆ ช่วยเพิ่มการมองโลกในแง่ดี และถ้าชมอะไรที่ไม่เดิมๆ หรือหาทางชมแบบไม่ซ้ำเรื่องเดิม (เช่น วันนี้ชมเรื่องกับข้าว พรุ่งนี้ชมเรื่องจัดบ้านดี ฯลฯ) ยิ่งดีใหญ่เลย

...

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่ มา                                                         

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 6 มิถุนายน 2553.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 364510เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 16:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท