คุณูปการของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อชาติไทย


หลายวิกฤติการณ์และภาวะคับขันของชนชาติไทย ผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัย ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ ในการนำพสกนิกรของพระองค์ก้าวผ่านความเดือนร้อนลำบากเหล่านั้น ไปสู่ความปลอดภัย ความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรือง

 

 

ในสมัยบรรพกาลนั้น มนุษย์ดำรงอยู่ในสภาวะธรรมชาติเพียงลำพัง มิได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  แต่เพราะความหวาดกลัวสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ รวมถึงความไม่รู้แจ้งตามจริงในสิ่งที่เป็นไปตามสภาวะธรรมชาตินั้น จึงทำให้มนุษย์ละทิ้งอิสระ-เสรีภาพที่มนุษย์มีอยู่แต่เดิมตามสภาวะธรรมชาตินั้น มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน  ซึ่งการมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนของมนุษย์ในสมัยบรรพกาลนี้เอง ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตามลำพังในสภาวะธรรมชาติ  เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นชุมชน นอกจากต้องการสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ อันได้แก่ ศาสนา ลัทธิ และ ความเชื่อต่าง ๆ แล้ว  มนุษย์ยังต้องการ “ผู้นำ” ทั้งในยามปกติสุขและในยามทุกข์เข็ญ ทั้งในยามสงบสุขและในยามถูกรุกราน ทั้งในยามปลอดภัยและในยามมีภัย ทั้งในยามสันติและในยามสงคราม  

ในยุคเริ่มต้นของการเป็นสังคมสิ่งมีชีวิตกระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้นปฐพี  “ผู้นำ” อาจถูกเรียกว่า “นายบ้าน” หรือ “หัวหน้าเผ่า”  ในเวลาต่อมา เมื่อชุมชนมีขนาดใหญ่ขึ้น มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จนกลายเป็นสังคมที่ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่าเมือง  จากผู้นำชุมชนที่ถูกเรียกว่า “นายบ้าน” หรือ “หัวหน้าเผ่า”  กลายเป็น “เจ้าเมือง” “พระยา” หรือ “เจ้าพระยา”  มีทหารเป็นเครื่องมือในการปกครองและป้องกันเมืองจากการถูกรุกราน  ขณะที่เมืองมีความเข้มแข็งในทางการทหารเพิ่มมากขึ้น  เจ้าผู้ครองนครย่อมใช้กำลังอำนาจนี้ในการแสวงหาความมั่งคั่ง นั่นคือการทำสงครามเพื่อขยายเขตอำนาจของตน อีกทั้งชัยชนะจากสงครามก่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากสินสงครามและการกวาดต้อนผู้คนจากเมืองที่พ่ายศึกมาเป็นแรงงานให้แก่ตน  หลาย ๆ เมืองและหลาย ๆ นครที่ถูกรวบรวมไว้ภายใต้การปกครองหนึ่งเดียว อันเกิดจากการทำสงคราม  ผู้นำนักรบที่ชนะสงคราม มีชัยเหนือข้าศึกศัตรู กลายเป็นผู้ปกครอง ซึ่งถูกเรียกว่า “พ่อขุน” “พระราชา” หรือ “พระมหากษัตริย์”  ทั้งนี้ตามระบบวรรณะของอินเดีย วรรณะกษัตริย์คือ ชนชั้นที่เป็นนักรบ  ในภาษาสันสกฤตคำว่า “กษัตริย์” แปลว่า “นักรบ” หรือ “ผู้ป้องกัน”  เพราะฉะนั้นคำว่า “พระมหากษัตริย์” จึงแปลว่า “นักรบ  ผู้ยิ่งใหญ่”  พระมหากษัตริย์มิใช่เพียงอยู่ในสภาพบุคคล แต่ยังเป็นสถาบันที่มีความสำคัญในด้านการป้องกันชนชาติจากการรุกรานข้าศึกศัตรู เป็นผู้นำในการช่วงชิงเอาชัยในสมรภูมิ รวมถึงการทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองประชาชนภายหลังจากชัยชนะ นำมาซึ่งความยุติธรรมและความสงบสุขภายในเขตราชอาณาจักร อันเกิดจากการวางระเบียบทางสังคมและวินัยให้แก่ประชาชน  

พระมหากษัตริย์ไทยดำรงฐานะเป็น “เจ้าชีวิต” และ “เจ้าแผ่นดิน” มาตั้งแต่เมื่อในอดีต  และทรงเป็นองค์รัฐฐาธิปัตย์ ผู้มีและใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครอง เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข  โดยในสมัยกรุงสุโขทัย ประชาชนเรียกพระมหากษัตริย์ว่า “พ่อขุน”  อันเปรียบเสมือนเป็นบิดาของประชาชน ทรงเป็นพระราชาที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ปกครองบ้านเมืองด้วยความเป็นธรรม และคอยปกป้องประชาชนจากการรุกรานและการก่อความวุ่นวายของข้าศึกและอนารยชน ราษฎรในราชอาณาจักรสุโขทัย   มีสิทธิในการร้องทุกข์ต่อพ่อขุน ซึ่งจะได้รับความเป็นธรรมเสมอหน้ากัน ราษฎรมีเสรีภาพในการทำมาค้าขาย  เป็นการปกครองเยี่ยงบิดาปกครองบุตร หรือ “พ่อปกครองลูก”

ในสมัยราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพตามอิทธิพลลัทธิเทวนิยมจากขอม และพุทธศาสนามหายาน ปนกับ ศาสนาพราหมณ์ที่มีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็น พระจักรพรรดิ และได้มีการยกฐานะพระมหากษัตริย์เท่ากับพระอินทร์ ผู้เป็นใหญ่ในเทวภูมิ  แต่การแก่งแย่งอำนาจการเมืองภายในและการแตกความสามัคคี ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้เสียอิสรภาพให้แก่ข้าศึก และในกาลต่อมา ปรากฏพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชผู้กอบกู้อิสรภาพและนำความเป็นเสรีชนกลับคืนมาให้แก่ชนชาติไทย ไม่เพียงเฉพาะสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก็เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์ที่ปรากฏวีรกรรมในการขับไล่ข้าศึกและกอบกู้อิสรภาพให้แก่ชนชาติไทย รวมถึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี และรวบรวมราชอาณาจักรสยามให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่เพียงพระมหากษัตริย์จะดำรงฐานะความเป็นเจ้าชีวิต - เจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ยังปรากฏอีกฐานะหนึ่ง นั่นคือ “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ”  กล่าวคือ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ประชาชนทั้งปวงยอมรับ ด้วยการที่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎรทั้งปวง พร้อมใจกันกราบทูลวิงวอนเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกขึ้นครองราชย์สมบัติ  นอกจากประชาชนจะยอมรับในองค์พระมหากษัตริย์แล้ว ประชาชนยังมีความเชื่ออีกว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์จะทรงตั้งมั่นในหลักธรรมะ คือ ทศพิธราชธรรม สังคหวัตถุ ๔  และ จักรวรรดิวัตร ในอันที่จะทรงใช้พระราชอำนาจไปเพื่อการคุ้มครองประชาชนและทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน  หลายวิกฤติการณ์และภาวะคับขันของชนชาติไทย ผ่านพ้นไปได้อย่างปลอดภัย ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ ในการนำพสกนิกรของพระองค์ก้าวผ่านความเดือนร้อนลำบากเหล่านั้น ไปสู่ความปลอดภัย ความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรือง  อาทิ การผ่านพ้นวิกฤตการณ์สงครามเก้าทัพในสมัย  รัชกาลที่ ๑  การรอดพ้นจากการแผ่อิทธิพลของชาติมหาอำนาจตะวันตกในยุคล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ ๕  รวมถึงการพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญตามแบบตะวันตก  ตลอดจนการประกาศเลิกทาส ให้คนไทยเป็นไทอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นต้น ดังที่กล่าวมานั้นจึงเป็นที่มาของคำถามต่อไปนี้   

  • สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างไรต่อชนชาติไทยในอดีต
  • สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างไรต่อประเทศไทยในฐานะความเป็นรัฐชาติ (Nation-State) 
  • สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างไรต่อประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสโลกยุคใหม่ (Modernization)
  • สถาบันพระมหากษัตริย์มีคุณูปการอย่างไรต่อประเทศไทยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่กระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization)

 

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 

 

หมายเลขบันทึก: 364463เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประเทศไทยของเรามีการปกครองระบอบกษัตริย์มาช้านาน....มีความผูกพันกับสถาบันกษัตริย์คำว่า...พ่อหลวงหรือในหลวง..ยังอยู่ในใจของคนไทยทั้งประเทศ บทความของอาจารย์นับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการศึกษาคุณูปการของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อชาติไทยของเรา...เป็นอย่างมาก

ในปัจจุบันสถานะการณ์บ้านเมืองของเรามีการแบ่งแยกความคิดซึ่งความคิดบางส่วนมีผลกระทบต่อสถาบันกษัตริย์ในหลายเรื่องบางคนที่แสดงความคิดเห็นกลับลืมนึกถึงสิ่งที่สถาบันกษัตริย์ในอดีตมีให้ต่อประเทศไทยของเรา...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท