ระวังเพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลัง


บางพื้นที่ได้เกิดเพลี้ยแป้งสีชมพู ระบาดทำความเสียหายไม่น้อย จึงส่งผลกระทบให้ผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ลดลง

  

 

ในสภาวะโลกร้อนปัจจุบันนี้ มีผลกระทบต่อสภาวะการผลิตพืชของเกษตรกร ซึ่งจะสังเกตได้จากอากาศที่ร้อนอบอ้าว รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกน้อย บางพื้นที่ฝนแล้งเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นพืชและผลผลิตเสียหายตามมา แม้กระทั่งมันสำปะหลังซึ่งในอดีตพูดกันว่าเป็นพืชที่ทนต่อความแห้งแล้ง ณ.ปัจจุบันนี้คงไม่ใช่ เพราะมันสำปะหลังที่เกษตรกรปลูกเกิดแห้งตายไปจำนวนไม่น้อย  บางครั้งเกษตรกรตัดสินใจปลูกมันสำปะหลังไปแล้ว เพื่อหวังฝนจะตกลงมาช่วย แต่กลับไม่มีน้ำฝนตกลงมาช่วยเลย

 

        อีกประการหนึ่งในฤดูการผลิตมันสำปะหลังที่ผ่านมา เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง บางพื้นที่ได้เกิดเพลี้ยแป้งสีชมพู ระบาดทำความเสียหายไม่น้อย จึงส่งผลกระทบให้ผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ลดลง บางแปลงเกษตรกรจึงต้องตัดสินใจไถทิ้ง เพราะว่าไม่คุ้มกับการลงทุนนั่นเอง

   ยิ่งไปกว่านั้นเกษตรกรส่วนหนึ่งที่สภาพพื้นที่เหมาะสมกับการปลูกมันสำปะหลัง แต่ก็ขาดพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ดีที่จะปลูก จึงได้ตัดสินใจแบ่งซื้อจากเพื่อนบ้านโดยไม่คำนึงถึงว่าแปลงนั้นเกิดเพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดมาหรือไม่

 

      โดยความเข้าใจของเกษตรกรในการคัดเลือกแปลงพันธุ์ที่จะซื้อพันธุ์มันมาปลูกนั้น จะต้องมีการควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูมาก่อน  และสิ่งสำคัญและมีความจำเป็น ณ.ปัจจุบันนักส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังและทำงานอย่างจริงจัง โดยตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนขึ้น เพื่อเป็นจุดนัดหมายพบปะของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ต้องมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน มีการจัดทำแปลงทดลอง(แปลงเรียนรู้ร่วมกัน)ในชุมชน

 

         จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่าหากชุมชนใดมีเกษตรกรในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และสภาพการผลิตของชุมชน เกิดการรวมตัวแบบกลุ่มอาชีพขึ้นมาตามสภาพปัญหาของชุมชนนั้นๆ โดยคนในชุมชนเป็นผู้บอก และมีความประสงค์ที่จะรวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือกันทั้งในการผลิตและการตลาด หากในพื้นใดมีลักษณะแบบนี้นักส่งเสริมการเกษตรมักจะทำงานประสบผลสำเร็จขึ้นได้  บางชุมชนเคยมีการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่และเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มส่งเสริมอาชีพต่างๆขึ้นมามีการพัฒนาต่อยอดและพัฒนากระบวนการกลุ่มผู้ผลิตและการตลาดขึ้นมาจนมีการขอจดทะเบียนเป็นกลุ่มตามพรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา กลุ่มลักษณะนี้จะมีการต่อยอดพัฒนาไปเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนได้ง่ายและมีแนวโน้มที่จะประสบผลสำเร็จขึ้นได้โดยไม่ยาก หากเป็นบางพื้นที่เกษตรกรหรือคนที่อยู่ในชุมชนยังไม่เคยมีการร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพื้นที่และวิเคราะห์ชุมชนขึ้นมาก่อนเลย หากมีการจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนขึ้นมาใหม่ นักส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบในเขตพื้นที่และชุมชน จะต้องลงไปประสานงานกับคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการฯและแกนนำกลุ่มอาชีพ ผู้นำชุมชน เกษตรหมู่บ้านรวมไปถึงอปท.ได้ทำเวทีชุมชนเพื่อการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่และชุมชนขึ้นมา เพื่อให้เกิดตัวแทนคนที่อยู่ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของศูนย์ฯ หากปล่อยให้เป็นบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่อย่างเดียวคงจะมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งอาจจะประสบผลได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

 

          จากการที่ผมและทีมงานได้ลงไปเสริมหนุนการทำงานของนักส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2553 โดยไปเยี่ยมและให้กำลังใจคุณประสิทธิ์ อุธทา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ที่รับผิดชอบตำบลท่าไม้  โดยได้ไปร่วมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของกลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตมันสำปะหลังครบวงจร ที่หมู่ 6  บ้านน้ำดิบมะพร้าว ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ตั้งเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ขึ้นมา มีการถ่ายทอดความรู้เรื่องการเลี้ยงแมลงช้างปีกใส เพื่อกินเพลี้ยแป้งสีชมพูเป็นอาหาร โดยฝึกปฏิบัติให้สมาชิกกลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผลิตมันสำปะหลังฯกลุ่มนี้ได้ฝึกทักษะและขยายผลในการนำแมลงช้างปีกใสไปปล่อยเลี้ยงในแปลงปลูกมันสำปะหลังของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันนี้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า50 ครอบครัวที่สมัครใจเข้าร่วม

  

         จากการประเมินในภาพรวม ก็จะเห็นเกิดความร่วมมือของคนที่อยู่ในชุมชนให้ความสำคัญในการที่จะช่วยกันเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังขึ้นในชุมชนน้ำดิบมะพร้าว ได้ไม่ยากซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ผู้นำชุมชนให้ความร่วมมือ  คณะกรรมการกลุ่มเอาใจใส่ สมาชิกกลุ่มให้ความร่วมมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง สำนักงานเกษตรอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าไม้ และผู้ประสานงานคือคณะกรรมการบิหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าไม้ นับว่าเป็นศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน ได้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อเสริมหนุนให้ชุมชนที่ผลิตมันสำปะหลัง ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมีกำไรต่อไร่สูงโดยมีการนำชีววิธีมาใช้ในไร่มันสำปะหลังเพื่อทดแทนการใช้สารเคมีนั่นเองครับ...

 

เขียวมรกต 

5 มิย.53

หมายเลขบันทึก: 364167เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ได้แวะไปอ่านมะนาวพันธ์ตาฮิติ ซึ่งตามไปอ่านจากคุณเพชรน้ำหนึ่ง และที่คุณ

ไม่ทราบว่าที่เกษตรจังหวัดมีพันธ์บ้างไหมคะ

พอดีจะไปราชการที่กำแพงเพชรวันจันทร์ที่ 7 มิย.นี้ค่ะ จะได้แวะไปซื้อกิ่ง

อายเหมือนกันที่จะบอกว่า...ไม่รู้ว่าเกษตรจังหวัดตั้งอยู่ตรงไหน...ทั้งที่ไปกำแพงเพชรทุกเดือน

รู้จักแต่หน่วยงานสาธารณสุข

  • สวัสดีครับอ.nana
  • ดีใจครับที่ แวะมาทักทายกัน
  • หากมีโอกาส ก็แวะมาเยี่ยมเยียนกันบ้างนะครับ
  • สนง.เกษตรจังหวัดฯตั้งอยู่บริเวณ(ตรงข้ามเยื้องๆ)หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร(บริเวรสี่แยกวงเวียนต้นโพธิ์)
  • สำหรับกิ่งพันธุ์ฯมะนาวตาฮิติ จะอยู่ที่สวนลุงกรอม อ.พรานกระต่ายมีบริการ
  • หากติดต่อเพชรน้ำหนึ่งน่าจะได้ครับ เพราะทำงานอยู่สนง.เกษตรอำเภอพรานกระต่าย
  • ภาคบ่ายหากคุณnanaพอมีเวลาก็ไปเยี่ยมดูสวนมะนาวลุงกรอมเลยก็ได้ครับ..ปีนี้ก็ได้ยินข่าวว่าจำหน่ายได้เกือบ 2 ล้านบาทครับ..
  • ขอบคุณครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท