พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 4 งานบวชที่ขาดบิดามารดา แต่ความเชื่อถือศรัทธามิได้ขาดหายไป


ถึงแม้ว่างานบวชจะขาดบิดามารดา แต่ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มิได้ขาดหายไปเลย

พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 4 งานบวชที่ขาดบิดามารดา

แต่ความเชื่อถือศรัทธามิได้ขาดหายไป

ชำเลือง มณีวงษ์ (เล่าเรื่อง) 

        งานอุปสมบท หรืองานบวชพระทุกงานจะต้องมีบิดา มารดา ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ แต่หากว่ามีบางงานที่คนใดคนหนึ่งขาดหายไป เช่น มีแต่บิดา ขาดผู้ที่เป็นมารดาไป บางนาคก็ขาดบิดา เหลืออยู่แต่มารดา เขาเรียกว่า นาคกำพร้า กำพร้าพ่อ กำพร้าแม่ แต่ที่หนักไปกว่านั้น คือ ในงานบวชนาค ตั้งแต่วันทำขวัญนาค ไม่มีทั้งพ่อและแม่ เพาะท่านทั้งสองได้จากลูกชายผู้ที่เป็นนาคไปตั้งแต่นาคยังเด็ก ๆ เพียงแค่จำความได้เท่านั้น

        เป็นยิ่งกว่านาคกำพร้า ชีวิตที่ผ่านมาได้คุณตา คุณยาย และน้าสาว (น้องของแม่) เลี้ยงดูมาจนเติบโตได้บวชเรียน พ่อกับแม่ต้องเสียชีวิตเพราะประสบอุบัติเหตุ น้าสาวของเจ้านาคเล่าให้ผมฟังอย่างละเอียด ในวันที่มาติดต่อผมไปประกอบพิธีทำขวัญนาค ท่านบอกว่า มาหาอาจารย์ไปทำขวัญนาคให้หลานชาย แต่ขอบอกอาจารย์เอาไว้ก่อนว่า สงสารหลาน ไม่อยากเห็นเขาต้องร้องไห้ เพราะว่าเห็นหลานร้องเรียกหาพ่อแม่มานาน ตั้งแต่สมัยที่เขาเด็ก ๆ

        พูดถึงการดำรงชีวิต น้าสาวเล่าว่า หนูก็ให้การดูแลเขาอย่างดีที่สุด เต็มที่เพราะเป็นหลานในไส้ เขาก็ให้ความเคารพนับถือหนูเหมือนกับว่าคือ แม่ของเขานั่นเอง ปีนี้เขาตั้งใจที่จะบวชเพื่อสืบต่อศาสนาตามประเพณี และเพื่อทดแทนบุญคุณให้กับพ่อแม่ หนูตั้งใจที่จะจัดงานให้เหมาะสมกับฐานะ แต่ก็ไม่อยากที่จะให้น้อยหน้า และจะไม่ให้ต้องเดือดร้อน ต้องการให้มีหมอทำขวัญ มีแตรวงชาวบ้าน มีเครื่องไฟขยายเสียง มีรับการประทานอาหารหลังจากเสร็จพิธีทำขวัญนาค กะเอาไว้ว่าสัก 25-30 โต๊ะก็พอ เฉพาะในวงญาติพี่น้องและเพื่อนสนิทเท่านั้น

        ผมได้รับฟังคำบอกเล่าจากน้าสาวของนาคแล้ว รู้สึกประทับใจ ขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งอนุโมทนากับการบวชพระในครั้งนี้ด้วย ผมจึงถามว่า “ต้องการให้ครูช่วยเหลืออะไรบ้างก็บอกมา อะไรที่พอจะช่วยกันได้ครูยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ช่วยเหลืออย่างเต็มที่” น้าสาวของนาค ตอบกลับมาว่า “ไม่มีอะไรหรอก แค่ได้อาจารย์ไปเป็นหมอทำขวัญให้หลานชายในงานนี้ก็ดีที่สุดแล้ว”

        เมื่อถึงวันงาน ผมเดินทางไปถึงบ้านงานซึ่งก็อยู่ในละแวกใกล้ ๆ กันนั่นเอง แต่ว่าวันนี้ผมต้องวิ่ง 2 งาน ในตอนเช้าไปเล่นเพลงพื้นบ้านที่หนึ่งห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร พอไปถึงผมขับรถลงไปจอดที่หน้าบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ไม่กว้างมากนักหากจะจัดโต๊ะอาหารคงได้ 25 โต๊ะเบียด ๆ กันหน่อย และก็เป็นจริงที่ตรงหน้าบ้าน มีเวทีเล็ก ๆ สำหรับแสดงดนตรี มีการจัดตั้งโต๊ะอาหาร 20 กว่าโต๊ะ เสียงแตรวงกำลังบรรเลงเพลงเกี่ยวกับงานบวช ไพเราะเสนาะหู น่าฟังจริง ๆ เพราะเป็นช่วงที่จะมีการอาบน้ำนาค บรรดาญาติกามาร่วมกัน ณ สถานที่ที่เตรียมเอาไว้จำนวนมาก เพื่ออาบน้ำนาค

        ผมเดินขึ้นไปบนเรือนที่จัดพิธีทำขวัญนาค น้าสาวของนาคและญาติ ๆ มาให้การต้อนรับ อดไม่ได้ที่น้าสาวจะย้ำว่า อาจารย์ค่ะ “หนูไม่อยากให้หลานต้องร้องไห้ สงสารเขามาก” ผมส่งยิ้มไปให้และบอกว่า “ครูรับทราบจะไม่ลืมสิ่งที่ขอ” ผมจัดเตรียมเครื่องประกอบพิธีไม่นานก็เรียบร้อย แล้วเข้าไปเปลี่ยนชุดเป็นชุดสุภาพสีขาว เตรียมตัวทำหน้าที่โหรา (หมอทำขวัญนาค) ต่อไป

        ทำไมน้าสาวของนาคจึงต้องย้ำ เพาะในความเป็นจริง บทบาทของหมอทำขวัญสามารถที่จะส่งคำสอน ร้องเพลง แหล่ให้นาคได้รับรู้รับทราบและสร้างอารมณ์ที่สนุกสนาน โศกเศร้ามากน้อยเพียงใดก็ได้ น้าสาวของนาคเกรงว่าผมจะร้องส่ง หรือแหล่ในทำนองเพลและเนื้อหาที่เป็นชีวิตจริง เมื่อตรงมาก ๆ มนชีวิตที่เศร้าอยู่แล้วก็ยิ่งทีจะไปกันใหญ่ งานนี้จึงใช้เวลาทำขวัญนาคเพียง 2 ชั่วโมงเต็ม ว่ากันแต่เนื้อ ๆ ไม่มีแยกเล่น ออกนอกเลยแม้แต่น้อย หาฟังได้ในเว็บไซต์ youtube.com

                             

        ผมและทีมงานทำตามใจท่านเจ้าภาพ แต่ก็ต้องพอเหมาะพอสม มิใช่ไม่ได้อะไรเลย เพราะพิธีการทำขวัญนาคจะต้องสอนให้ผู้ที่จะบวชได้รู้คุณของบิดา มารดา ได้รับรู้ในเรื่องกิจของสงฆ์ สิ่งใดควรไม่ควร และความประทับใจที่ได้รับในการรับฟังหมอทำขวัญ เมื่อถึงตอนสำคัญ คือ ตอนเชิญขวัญ คุณตาและน้าของนาคเข้ามาอยู่ใกล้คอยลูบหลังให้ทุกครั้งที่หมอร้องคำว่า “ขวัญเจ้าเอ๋ย”

       

       

       

         

        ตลอดเวลา ประมาณ 2 ชั่วโมง ผมสังเกตว่า นาคให้ความสนใจ ตั้งใจรับฟังโดยตลอด เพียงแต่สุขภาพของนาคไม่เอื้ออำนวยนัก (น้ำหนักมาก) นั่งก้มหลังไม่ลงตึงไปหมด อันนี้ก็ต้องอนุโลมไปตามคามจำเป็น แต่ในส่วนของพิธีกรรมก็เรียบร้อยดีโดยตลอด ในเมื่อผู้ที่จะบวชมีความตั้งใจสูงมาก อะไร ๆ ก็ไม่เป็นปัญหา ญาติพี่น้องจำนวนมากมาให้ความอบอุ่น ถึงแม้ว่างานบวชจะขาดบิดามารดา แต่ความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มิได้ขาดหายไปเลย ขออนุโมทนาบุญด้วยคน.

ชำเลือง มณีวงษ์  ศิลปินดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาเพลงพื้นบ้าน (รางวัลพุ่มพนมมาลา ปี 2547)

หมายเลขบันทึก: 363891เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 08:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท