โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

หลักธรรม คำคม ข้อคิด ชีวิตรัก จากแดจังกึม5


ความสำเร็จย่อมมีสำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ฝรั่งว่า There is life there is hope.

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม5

โสภณ เปียสนิท

........................................

                “เจ้าไม่มีคุณสมบัติเป็นนางวังต่อไป จึงไม่จำเป็นต้องเรียนต่อไปอีก ต่อไปให้ทำงานกวาดถูแทน”หลังจากเฆี่ยนตรีจนน่องแตกลาย ซังกุงฝึกสอนกล่าวคำราวกับสายฟ้าฟาดลงกลางร่างสำหรับจังกึมแล้ว คำพูดนี้ทำให้เจ็บปวดมากกว่าน่องของตนยิ่งนัก” (แดจังกึม/หน้า188/เล่ม1)

            มีคำกล่าวว่า คนเราอยู่ได้ด้วยความหวัง และต้องการความมั่นคง เพราะพลาดพลั้งทำเครื่องเสวยดึกหกตกหล่น จึงถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี แต่การเฆี่ยนตียังพอทนได้สำหรับจังกึม แต่คำกล่าวข้างต้นนี้ ทำลายความหวัง และความมั่นคงในจิตใจของจังกึม จึงกระทบความรู้สึกอย่างรุนแรง อีกประการหนึ่ง การเรียนเป็นสิ่งที่จังกึมรักอย่างที่สุด การไม่ได้เรียนจึงเป็นสิ่งที่เกินทน

                “น้ำตาที่มิได้ปล่อยออกแม้ในยามเฆี่ยนตี ถึงกลับไหลพรากลงมาอย่างไม่เสียดาย หากมิได้ร่ำเรียนศึกษาภายในครึ่งเดือนนี้ ก็มิใช่แตกต่างอันใดจากการไม่ได้เป็นนางวัง” (แดจังกึม/หน้า189/เล่ม1)

                นิสัยของจังกึมที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ร้องไห้ยามที่ถูกทำโทษทางร่างกาย เช่นยามเด็กถูกแม่ลงโทษ เพราะแอบไปดูเด็กอื่น ๆ เรียนหนังสือ แต่ร้องไห้ยามที่ถูกทำร้ายทางจิตใจ เพราะถูกห้ามไม่ให้เรียนหนังสือ ค่อนข้างแตกต่างจากวิสัยเด็กอื่นไปบ้าง

                “วันรุ่งขึ้น เป็นชั่วโมงเรียนเรื่องสถานที่ฝึกอบรม สถานที่ของซังกุง ที่พักของนางวัง และสถานที่ในวังหลวงทั้งหมด เพียงเพื่อให้สามารถจัดเวลากวาดพื้นให้ตรงกับเวลาเรียนจำต้องเร่งมือมากกว่าเดิม เวลานี้ กระทั่งยืนอยู่ลานหน้าห้องเรียน ยังต้องฝืนประคองร่างมิให้เรี่ยวแรงหมดลง” (แดจังกึม/หน้า189/เล่ม1)

                ความสำเร็จย่อมมีสำหรับผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ฝรั่งว่า There is life there is hope. แม้ต้องทำงาน แต่กลับหาช่องทางทำงานให้ตรงกับเวลาเรียน เพื่อจะได้แอบเรียนร่วมกับคนอื่น ๆ ไปด้วย ระหว่างที่เด็กคนอื่นเรียนอย่างเดียว แต่จังกึมต้อง “เรียนด้วยทำงานด้วย” เพื่อนำพาชีวิตตนเองสู้ความสำเร็จ

                “ข้าน้อย ไม่มีที่ไปอีกแล้ว”ท่ามกลางบรรดาเซ็งกักซิฝึกหัดที่เงี่ยหูฟัง ปรากฏมีเสียงหัวร่อเย้ยหยันดังขึ้น ยองโนหัวร่อจนปากบิดเบี้ยว ส่วนยอนเซ็งที่ไม่อาจทนดูได้ จึงพริ้มตาหลับลง” (แดจังกึม/หน้า191/เล่ม1)

                อ่านความตอนนี้แล้วรู้สึกหลายมุม มุมหนึ่งวิงวอนขอร้องอย่างน่าเวทนาของคนที่กำลังจะสูญเสียความก้าวหน้าของชีวิต มุมหนึ่งกลับเป็นเสียงหัวเราะสะสาใจที่เห็นผู้อื่นมีความวิบัติรออยู่ตรงหน้า เป็นอาการของคนที่จิตใจขาดความเมตตา ซึ่งดูเหมือนว่าปัจจุบันคนที่มีจิตใจเช่นนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกมุมหนึ่ง คือมุมของมิตร มุมแห่งความเมตตาปรานี เป็นมุมของคนที่มีจิตปกติ เพราะ “จิตเหมือนปลา เมตตาเหมือนน้ำ จิตขาดเมตตา เหมือนปลาขาดน้ำ”

            “นี่แบกไหน้ำจนถึงเช้า  แรงดีไม่น้อย อ้อ พวกไพร่แรงดีอยู่แล้ว ถ้าน้ำหกแม้แต่หนึ่งหยด ทราบผลลัพธ์นี่ใช่ไหม?” (แดจังกึม/หน้า193/เล่ม1)

                คนหนึ่งแบกไหน้ำจนถึงเช้าโดยมิได้หลับนอนเหมือนคนอื่นตลอดทั้งคืน ควรได้รับความรู้สึกเช่นใดจากผู้พบเห็น แต่ยังมีผู้ที่จิตขาดเมตตา เติมความโหดร้ายลงในจิตของตนด้วยการเสียดสีเย้ยหยันผู้ที่อยู่ในสภาพที่ควรได้รับความเมตตา นี่เป็นเรื่องปกติของคนจิตไม่ปกติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้แม้กับเราเอง  ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา ที่จักต้องระวังรักษาความเป็นปกติของจิตไว้

            “ไม่ทราบว่าลงโทษเรื่องใด แต่โทษทัณฑ์ปานนี้ ถือว่าเพียงพอให้สำนึก จงให้เด็กผู้นั้นเข้าร่วมสอบได้” (แดจังกึม/หน้า195/เล่ม1)

            ฟ้ายิ่งใกล้มืดยิ่งใกล้สว่าง ระหว่างการเผชิญเคราะห์กรรม จังกึมมักได้รับโชคด้วยเช่นกัน คราวนี้ซังกุงปกครองหยิบยื่นความเมตตาให้อีกครั้ง แง่คิดจากคำกล่าวนี้ ชี้ว่า ในคราวมีทุกข์มากเพียงใด คนเราไม่ควรสิ้นหวัง แต่ควรมองในแง่ดีไว้บ้าง

            “ที่ต้องการเรียนรู้นั้นมีมากราวเขาภูใหญ่ แต่งานที่มอบหมายให้มีเพียงล้างถ้วยชามเท่านั้น เฉพาะงานล้างถ้วยชามแต่ละวัน สิบสองชั่วยามดูจะสั้นเกินไปอย่างไร จังกึม มิได้ย่อท้อกับงานล้างถ้วยชาม ต่อให้เป็นงานเช่นไร สักวัน ซังกุงฮันคงต้องยอมรับตนบ้าง สิ่งที่พอพึ่งพาใจได้ยามนี้มีเพียงความหวังนี้เท่านั้น” (แดจังกึม/หน้า198/เล่ม1)

                แม้ว่าจะยังไม่ทำในสิ่งที่ตนเองปรารถนา คือการได้รับการศึกษา มีงานอันต่ำต้อยเช่นการล้างจานให้ทำ ยังดีกว่าอยู่อย่างไร้ความหวัง จึงกึมอดทนล้างจานเพียงเพื่อรอวันได้เล่าเรียนหนังสือ เด็กวัยเพียงแค่ 8-9 ขวบมีความคิดอย่างนี้ได้ถือว่ามีปัญญาญาณเกินเด็ก

            “ผ่านไปอีกหลายวัน ทุกคนในซูรากันดูหมองหม่น มิต่างไปจากสีของท้องฟ้าแล้ว ดังคำโบราณกล่าวไว้โชคมิเคยมาซ้ำ กรรมมิเคยมาลำพัง ในที่สุด ก็เกิดเหตุขึ้นจนได้” (แดจังกึม/หน้า199/เล่ม1)

                ประสบการณ์ของชีวิตของคน ไม่ว่าคนไทยหรือเกาหลี ก่อเกิดถ้อยคำสำนวนคล้ายกัน “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด” หรือ “ผีซ้ำด้ำพลอย” “ความวัวยังไม่หาย ความควายเข้ามาแทรก” มีความหมายถึงเหตุร้ายเกิดได้ครั้งหนึ่งแล้วยังเกิดตามมาซ้ำเติมอีก

                “อาหารนั้นสำคัญที่จิตใจ ต้องตรวจสอบว่าสภาพร่างกายของผู้กิน ว่าสามารถรับได้หรือไม่ จากนั้นจึงเลือกเครื่องและวิธีการปรุง จึงสามารถปรุงอาหารที่ดีได้ เข้าใจแล้วหรือไม่? (แดจังกึม/หน้า204/เล่ม1)

                ผู้กล่าวคำนี้ มีความคิดอันละเอียดอ่อนพิถีพิถันให้ความสำคัญกับอาหาร เห็นความเชื่อมโยงระหว่างอาหารและจิต ประโยชน์ที่เกิดขึ้นสำหรับผู้กินจึงเป็นเป้าหมายของสุดของอาหาร เมืองไทยเรา อาหารอาจใช้เป็นเครื่องมือให้ผู้ปรุงหรือผู้สั่งให้ปรุงก้าวไปสู่ความร่ำรวย

            “ว่าแต่ นับว่าเราได้รู้จักแม่ของเจ้า ผ่านทางตัวเจ้า นับเป็นแม่ที่ประเสริฐยิ่งนัก” (แดจังกึม/หน้า204/เล่ม1)

                สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล คำโบราณสื่อความหมายคำกล่าวข้างต้นได้ตรงกัน ซังกุงฮันกล่าวคำชมจังกึมโดยใช้แม่ของจังกึมเป็นสะพาน กิริยาท่าทีความมุ่งมั่นของจังกึม ทำให้ซังกุงฮันคาดได้ว่าแม่ของจังกึมนั้นมีนิสัยใจคอเป็นเช่นไร

                “พวกเจ้าได้ฟังมาหรือไม่? คึมยองได้เข้าไปฝึกเรียนคนเดียวอีกแล้ว” (แดจังกึม/หน้า206/เล่ม1)

                หลักธรรมมีอยู่ว่า โลกใบนี้มีของประจำอยู่ด้วย เราเรียกว่า โลกธรรม 8 อย่าง มียศ เสื่อมยศ มีลาภเสื่อมลาภ มีสุข มีทุกข์ มีนินทา มีสรรเสริญ ไม่ว่าจะเป็นคึมยอง หรือใครในโลกนี้ย่อมถูกนินทาเป็นธรรมดา วิธีการที่ดีคือทำการยอมรับการถูกนินทาด้วยจิตใจที่สงบ ไม่เดือดร้อนจนเกินควร

            “เพราะนี่เป็นวังหลวง เป็นสถานที่ซึ่งหากไม่ระวังคำพูดอาจต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ไม่อาจคาดคำนวณได้” (แดจังกึม/หน้า216/เล่ม1)

                อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่ร่วมกับมิตรให้ระวังวาจา อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ต้องระวังวาจาทั้งหมด ยิ่งอยู่ในสถานที่ที่อาจให้คุณให้โทษได้มากเช่นในวังหลวง

                “น้ำที่หกย่อมไม่อาจเก็บขึ้นได้อีก แต่อย่างไร ก็ต้องตักน้ำใส่ใหม่ มิใช่หรือ? ครานี้ จำต้องหาผู้สืบทอดต่อไปเป็นการด่วน” (แดจังกึม/หน้า220/เล่ม1)

                ชีวิตโดยแท้จริงแล้ว โดดเดี่ยวไม่อาจยึดใครเป็นที่พึ่งได้ ระหว่างดำรงตำแหน่งซังกุงสูงสุดมีผู้คนมากมายคบหา แต่เมื่อคราวผิดพลาดถูกซังกุงปกครอง แนะนำให้เร่งจากไป และหาคนอื่นมาทดแทนอย่างไม่เหลือเยื้อใย หรือเรื่องอย่างนี้ห่างไกลจากชีวิตของเรา?

หมายเลขบันทึก: 363579เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

... เห็นด้วยอย่างยิ่งครับอาจารย์ ความสำเร็จย่อมมีเสมอสำหรับผู้มีความพยายาม และไม่ยอมแพ้ครับ ...

ความหวัง อุดมการณ์ ไม่มีวันสูญสิ้น ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดๆขึ้นก็ตาม... ยามอุปสรรคมาถือเป็นโอกาสพัก ยามถูกกระหน่ำ ขอแค่ประคองชีวิตรอด โอกาสมา...เมื่อไร ความหวังยังมีอยู่...อะไรก็เกิดขึ้นได้ค่ะ

  • อ่านติดตามแล้วรู้สึกปิติ บอกไม่ถูก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท