วิทยฐานะครู:กระบวนการจับจ้องครูผ่านการประเมินความเชี่ยวชาญในระบบการศึกษาไทย


การศึกษาไทยทั้งประถม มัธยม อุดมศึกษา ต่างหมอบราบคาบแก้วให้กับการจัดชั้นคนผ่านวุฒิบัตร ใบปริญญา พร้อม ๆ กับการยอมรับอย่างเต็มใจของผู้คนในสังคมไทยที่มีต่อใบประกาศเหล่านั้น แต่ทว่าครูและบุคคลากรทางการศึกษาของไทยก็กำลังตกอยู่ในภาวะ “ถูกประเมิน” เพื่อจัดชั้นของความเชี่ยวชาญ “ไม่น่าเชื่อเลยว่าสุดท้ายสิ่งที่ครูได้กระทำต่อผู้เรียนมาโดยตลอดตอนนี้มันถูกนำมาใช้กับครูให้ครูต้องตกอยู่ภายใต้การประเมินเพื่อจัดชั้นเช่นกัน”




เมื่อการศึกษาในยุคสมัยใหม่ทำหน้าที่ในการประเมินเพื่อจำแนกคนออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ความถนัด โดยที่ผู้คนต่างก็ยินยอมพร้อมใจเข้าสู่การจัดลำดับคนด้วยวิธีการของการศึกษา เพราะนั่นย่อมหมายถึงการได้เข้าสู่ตลาดแรงงานที่มั่นคง ชัดเจน หมายถึงความก้าวหน้าและความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพของตน แต่ในขณะเดียวกันการประเมินเพื่อจำแนกคนตามความถนัด ความเชี่ยวชาญนี้ ก็เข้ากันได้พอดีกับ รัฐ นายจ้าง นายทุน ผู้บังคับบัญชาที่ต้องการจะมีอำนาจควบคุมเหนือระบบแรงงานและผู้ใช้แรงงาน กล่าวคือ รัฐ นายจ้าง นายทุนไม่เพียงแต่ไม่สามารถหางานให้แรงงานทุกคนทำได้เพียงพอ แต่งานบางประเภทก็หนักและให้ผลตอบแทนที่ไม่พอต่อการยังชีพ การแบ่งคนออกตามชั้นของความชำนาญย่อมจะทำให้รัฐ นายจ้าง นายทุน (ในฐานะที่คนพวกนี้เป็นพวกเดียวกัน) สามารถควบคุมจัดการตลาดแรงงานไว้ได้ในเงื้อมมือโดยไม่มีใครมาก่อความวุ่นวายให้กวนใจ ผ่านการประเมินความสามารถดังกล่าว
แต่ที่เป็นตลกร้ายของการประเมินดังกล่าวก็คือปัจจุบันทั้ง ๆ ที่การศึกษาไทยทั้งประถม มัธยม อุดมศึกษา ต่างหมอบราบคาบแก้วให้กับการจัดชั้นคนผ่านวุฒิบัตร ใบปริญญา พร้อม ๆ กับการยอมรับอย่างเต็มใจของผู้คนในสังคมไทยที่มีต่อใบประกาศเหล่านั้น แต่ทว่าครูและบุคคลากรทางการศึกษาของไทยก็กำลังตกอยู่ในภาวะ “ถูกประเมิน” เพื่อจัดชั้นของความเชี่ยวชาญ “ไม่น่าเชื่อเลยว่าสุดท้ายสิ่งที่ครูได้กระทำต่อผู้เรียนมาโดยตลอดตอนนี้มันถูกนำมาใช้กับครูให้ครูต้องตกอยู่ภายใต้การประเมินเพื่อจัดชั้นเช่นกัน”
ผลพวงของการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเมื่อปี2542 ทำให้ระบบการศึกษาไทยถูกแบ่งออกเป็นสามระบบใหญ่ ๆ คือการศึกษาในระบบ(โรงเรียน) การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยที่การศึกษาในระบบแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ คือการศึกษาขั้นพื้นฐานสิบสองปี และการอุดมศึกษา โดยที่กฎหมายกำหนดให้บุคคลากรทางการศึกษาที่ทำหน้าที่สอนในสถานศึกษามีตำแหน่งดังต่อไปนี้คือ ครูผู้ช่วย ครู อาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์ ตำแหน่งอาจารย์ถึงศาสตราจารย์นั้นให้ใช้กับผู้ที่ทำหน้าที่สอนในระดับอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนระดับปริญญา ส่วนในสถานศึกษาใด ๆ ที่จัดการเรียนการสอนต่ำกว่าปริญญาให้มีตำแหน่งครูผู้ช่วยและครู โดยครูผู้ช่วยคือตำแหน่งของครูที่เพิ่งได้รับบรรจุเข้ารับราชการเป็นครั้งแรกและต้องได้รับการฝึกปฏิบัติราชการอย่างเข้มเป็นเวลาสองปี ผ่านการประเมินทั้งสิ้นแปดครั้งจึงจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครู
สำหรับครูนั้นยังกำหนดให้มีวิทยะฐานะโดยแบ่งออกเป็นสี่ระดับคือ ครูชำนาญการ ครูชำนาญการพิเศษ ครูเชี่ยวชาญ และครูเชี่ยวชาญพิเศษ แน่นอนว่าในแต่ละระดับล้วนมีแท่งเงินเดือนที่สามารถเลื่อนแท่งไปตามวิทยะฐานะเงินเดือนเลื่อนไหลสูงสุดได้ถึงระดับเดียวกับอธิบดี(ซี10) และค่าตอบแทนในรูปเงินประจำตำแหน่งที่ล่อใจให้ครูแต่ละคนไขว่คว้า โดยตัวของการแบ่งเองก็ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนว่านี่คือรูปแบบของการจัดการสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้กับระบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ทางการศึกษาและตอนนี้ก็กำลังแพร่หลายไปสู่วงการอื่น ๆ
สิ่งที่น่าห่วงไม่ได้อยู่ที่การแบ่งช่วงชั้นของความชำนาญของครู แต่กลับอยู่ที่ระบบของการประเมินเพื่อเข้าสู่วิทยะฐานะในระดับต่าง ๆ ของครูมากกว่า ในกระบวนการประเมินนั้นพบว่าส่วนใหญ่จะเน้นไปที่คุณธรรมจริยธรรม ระเบียบวินัยของความเป็นข้าราชการครู การรักษาจรรยาบรรณอย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นการประเมินที่ต้องอาศัยการประเมินตนเอง การประเมินโดยผู้บังคับบัญชา การประเมินโดยเพื่อร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา อย่างที่การจัดการสมัยใหม่ เรียกว่าการประเมินแบบ 360 องศา นี่จะเรียกได้หรือไม่ว่าเป็นการจับจ้องของอำนาจที่มองไม่เห็นผ่านการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะ ครูที่จะได้เลื่อนวิทยะฐานะต้องเป็นผู้ที่ไม่เคยขัดแย้งกับใคร ไม่ว่าจะถูกหรือผิด อยู่อย่างงอมืองอเท้า ไม่มีความเห็นทางการเมือง ไม่ต่อต้านนโยบายรัฐบาล แม้ว่านั่นจะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ชั่วเพียงใดก็ตาม มิพักต้องกล่าวถึงการเอาอกเอาใจผู้เรียนด้วยการปรนเปรอเกรด คะแนน แบบท่วมท้นเพื่อเป็นที่รักของนักเรียน
ในด้านการจัดการการเรียนการสอน การประเมินเพื่อเข้าสู่วิทยะฐานะต่าง ๆ หาได้สนใจไม่ต่อความรู้ที่ครูมี ไม่สนใจต่อการค้นคว้าหาความรู้หรือความชำนาญในการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ ๆ ของครู แต่นวัตกรรมที่การประเมินต้องการก็คือ การแปลงหลักสูตรไปเป็นเอกสารคำสอน การสร้างสื่อ หรือการทดลองใช้วิธีการสอนแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าสามสี่วิธีเพื่อจัดการห้องเรียนและนักเรียนให้สยบยอมต่อหลักสูตรอย่างอยู่มือ งานวิจัยในชั้นเรียนที่ระบบการประเมินครูต้องการคืองานวิจัยที่บอกให้รู้ว่าจะใช้วิธีการสอน อุปกรณ์ บรรยากาศ แบบไหนที่จะถ่ายทอดเนื้อหาหลักสูตรให้ผู้เรียนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย มันจึงไม่เคยให้อะไรแก่การพัฒนาความคิดของเด็ก หรือแม้กระทั่งพัฒนาความคิดของครู นวัตกรรมของครูจึงถูกตีกรอบไปด้วยโลกแคบ ๆ ในหลักสูตรที่เป็นข้อกำหนดของการประเมินทำให้ครูยิ่งมีวิทยะฐานะสูงเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างออกจากชุมชนมากยิ่งขึ้นทุกวัน ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ยังไม่พูดถึงการพิจารณาการประเมินโดยเอกสารอย่างเดียวจากผู้เชี่ยวชาญในกระทรวง ในกรม จนเกิดธุรกิจ “รับจ้างทำอาจารย์ 3” ติดป้ายประกาศกันอย่างโจ่งแจ้งทั่วบ้านทั่วเมือง เกิดธุรกิจจัดอบรมทางวิชาการเพื่อให้จำนวนชั่วโมงอบรมทางวิชาการครบตามเกณฑ์กค.ศ. ซึ่งครูที่หวังผลตอบแทน ทั้งเงินและหน้าตาจากการเข้าสู่วิทยะฐานะที่สูงขึ้นต้องยอมจ่ายยอมเสียบางรายนับแสนบาท
แน่นอนว่าด้วยวิธีการเช่นนี้หาได้ทำให้เพียงครูติดกับดักของการประเมินเพื่อความเชี่ยวชาญในการสอนเท่านั้น ครูยังได้กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนอหลักสูตรการเรียนแก่ผู้เรียน และมันย่อมทำให้ผู้เรียนเองก็ต้องติดอยู่กับความแน่นอนตายตัวของหลักสูตรอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง และยิ่งเป็นที่มั่นใจได้ว่าถ้าหลักสูตรคือบรรดาประสบการณ์ที่รัฐจัดให้แก่ผู้เรียนเพื่อสร้างให้ผู้เรียนเป็น “พลเมืองดี” “ว่านอนสอนง่าย” กรรมวิธีการประเมินครูอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทย ก็จะได้ทั้งครูที่ว่านอนสอนง่าย และเด็กนักเรียนที่ว่านอนสอนง่ายพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการกดขี่ ปิดกั้น นานาประการที่มนุษย์ชั้นนำในสังคมทุนนิยมสุดขั้วปรารถนาจะขูดรีดเอากับมนุษย์ด้วยกันที่ตกเป็นเหยื่อ เป็นไปตามความปรารถนา เป้าประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาที่ชนชั้นนำเหล่านั้นเป็นผู้กำหนดไว้แต่ต้นทุกประการ
ทางรอด ทางออก สำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ผมเชื่อว่าก็พอจะมี เพราะถ้าเห็นอย่าง ฟูโกต์ ก็พอจะเห็นทางออกว่าที่ใดที่มีอำนาจที่นั่นย่อมมีการต่อต้าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทันทีซึ่งผมเองได้เห็นเกณฑ์การประเมินเพื่อเข้าสู่วิทยะฐานะของครูเมื่อสองปีที่แล้วผมจึงคิดและพูดออกมาทันทีว่า “ตราบใดที่ระบบและกรรมวิธีในการประเมินยังคงเป็นเช่นนี้ผมจะไม่มีวันเข้าสู่กระบวนการประเมินเป็นเด็ดขาด” อย่างน้อยการตั้งปณิธานเช่นนี้มันก็ทำให้ผมไม่ต้องคอยจับจ้องตนเองเพื่อให้มีวินัยอย่างที่ระบบการประเมินต้องการ อิสระพอที่จะชี้แจงเหตุผลในสิ่งที่เห็นควร หรือที่เห็นว่าถูกต้อง ต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน นักเรียน ชาวบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครอง
อีกตัวอย่างของการต้านทานที่พอจะยกมาในที่นี้ได้ก็คือ ในระหว่างที่บรรดาครูทั้งหลายมัวง่วนอยู่กับการทำเอกสารเพื่อประเมินเลื่อนวิทยะฐานะ ได้ทำให้นักเรียนในโรงเรียนมีเวลาพอที่จะว่างจากการเรียนตามหลักสูตรที่ครูสอน ได้ว่างที่จะเรียนรู้การใช้ชีวิตโดยปราศจากวินัย/บทเรียน ที่ครูนำมายัดเยียดให้ ได้เล่นกีฬา ได้เล่นตี่จับ กระโดดยางเป็นที่สนุกสนาน ในขณะที่ผู้บังคับบัญชารอรับรายงานเอกสาร และผลงานของครูตามเอกสาร โดยไม่จับจ้องไปที่การทำงานที่แท้จริง โรงเรียนบางโรงเรียนจึงมีช่องหายใจที่จะปรับวิธีการสอน ปรับเป้าหมายของการเรียนการสอนไปสู่การสร้างความตระหนักในวิถีชุมชนแบบชนเผ่า การเปิดพื้นที่ให้กับวัฒนธรรมประเพณี การพร่ำสอนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร การต้านทานกระแสทุนนิยมบริโภคนิยม โดยที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นไปตามหลักสูตรเลยแม้แต่น้อย

คำสำคัญ (Tags): #วิทยะฐานะครู
หมายเลขบันทึก: 362883เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

อ่านเสร็จก็อิ่มใจ กับบทความที่ดี ที่จริงใจ และมีความจริงสูงเสียด้วย แต่....มีอยู่จุดหนึ่ง  ในเรื่องของ  การจัดทำผลงานจากการเรียนการสอน ที่สะสมมาเป็นเวลานานก่อนที่จะนำมาเรียบเรียงส่งผลงาน เพื่อพัฒนาตนเอง  พัฒนาระบบ  มีน้ำใจกับเพื่อนร่วมงาน  ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง  ไม่มากนัก  แต่ก็ยังมีให้พบ

ระบบ  ยังคงบีบรัดให้เราเป็นอย่างนี้  เราไม่สามารถหลบหลีกได้  แต่เราก็ไม่เห็นด้วย กลับยึดมั่น ปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม ไม่ยอมให้ ระบบมากลบกลืนเราได้  

ไม่ได้เหมารวมนะครับ สำหรับบทความนี้ ผมยังเชื่อในฝีมือและครูดี ๆ อีกจำนวนมาก ที่สอนเด็กและมีผลงานเพื่อเด็กที่ล้ำค่าจริง ๆ แต่ผมไม่ไว้ใจกับความเท่ยงตรงและความเชื่อมั่นของ reader ตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่ขึ้นไปจนถึงกระทรวงล่ะครับ เมื่อเร็ว ๆ นี้ผมแฝงตัวเข้าไปในที่ประชุมนำเสนอผลงาน best practice ของครูสพท.แห่งหนึ่งแถบปริมณฑล ผมยังงงงงงงงงง กับกรรมการที่ประเมินผลงานว่า ทำไมเดี๋ยวนี้เข้าใจว่าจะเป็น best practice ต้องเท่ากับการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมเท่านั้น โครงงานเด็ก ก็ต้องเขียนแบบ ห้าบท นี่มันกลายเป็นการศึกษาที่ศรัทธากระดาษกันมากไปหน่อยแล้วไม๊ครับ คุณครู งง มึน หรือผมกันแน่ที่เพี้ยน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท