สมาธิ-ผ่อนคลาย-มองความดี


ขอบคุณ Assoc.Prof. Peter Grossenbacher จาก ม. Naropa ที่ถ่ายทอดเรื่อง "Mind is Friend in Time of Need" กับกลุ่มปฏิบัติสมาธิแบบ Shambhala คลิกที่ http://bangkok.shambhala.info/

หากสนใจศึกษาผลของการฝึกสมาธิต่อรูปแบบการสติในการใช้ชีวิต ศึกษาที่ www.naropa.edu/consciousness/ และ http://www.linkedin.com/in/meditationresearch

เมื่อวานผมใช้เวลาเดินทางไปบ้านหลังหนึ่งในซอยนราธิวาส 15 แยก 8 หลังสุดท้ายเลขที่ 29 ประทับใจที่มีกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยในกรุงเทพฯ นานหลายปีและคนไทยที่ปฏิบัติสมาธิเชิงพุทธศาสนาทิเบต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่หารายได้ และสมาชิกร่วมกันบริจาคเชิญอาจารย์สอนฝึกสมาธิหรืออาจารย์ที่เชี่ยวชาญสมาธิตามด้วยการแสดงความคิดเห็นเรื่อง การนำสมาธิไปประยุกต์ใช้ในการฝึกจิตเพื่อความดีในการดำเนินชีวิต

ผมเองก็เพิ่งทราบว่า มีการฝึกสมาธิหลายรูปแบบ และคนที่ฝึกสมาธิบ่อยๆ มีสุขภาพกายและใจที่เบิกบาน มีความสุข ใจเย็น และมีความกัลยาณมิตร

ผมรู้จักวิทยากร Dr. Peter ในงานวิสาขบูชาโลก อาจารย์ศึกษาผลทางจิตตปัญญาของการฝึกสมาธิที่น่าสนใจ และนำเพื่อนสมาชิกราว 12 คน ซึ่งนัดกันฝึกสมาธิทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ เวลา 19.00-21.00 น.

การฝึกสมาธิที่วิทยากรนำนั้น คือ การนั่งในท่าที่สบายแบบขัดสมาธิบนเบาะเล็กๆรองให้ก้นสูงจากพื้นพอให้สะโพกงอโดยไม่เมื้อย มือวางกุมหัวเข่าอย่างผ่อนคลาย ลืมตาหรือหลับตาก็ตามสะดวก แต่ถ้าลืมตาก็จะสร้างความรู้สึกควบคุมสมาธิได้มากขึ้นกว่าหลับตา (ผมลองเปรียบเทียบดู) ท่านวิทยากรนำให้หายใจออกเพื่อปล่อยให้ความรู้สึกออกจากร่างกายและคลายกังวลสู่ความดีที่กำลังเรียนรู้ในแต่ละวัน จากนั้นหายใจเข้าเพื่อให้นำความดีเข้ามาทบทวนความคิดดีๆ ของตนเอง ค่อยๆ ควบคุมชีวิตแห่งความดีผ่านลมหายใจไปเรื่อยๆ จนได้ยินเสียงฆ้องดัง นาน 45 นาที

ผมเคยฝึกสมาธิแบบมือประสานกัน หลับตา และนั่งขัดสมาธิตรงๆ แต่ปรับมาฝึกในท่าสบายก็ทำได้นานขึ้น อยู่กับความรู้สึกของตนเองได้อย่างตั้งใจมากขึ้น แม้ว่าจะรู้สึกเมื้อยๆ บ้าง

จากนั้นวิทยากรได้แนะนำว่า สมาธิมีหลายรูปแบบ มีหลายระดับของการฝึก แต่ใช่ว่าเราจะต้องฝึกสมาธิอย่างเดียว มันคือวิธีหนึ่งของการผ่อนคลาย และใคร่ครวญฝึกจิตให้เข้าใจความแตกต่างของ Attention (ความสนใจทำ) กับ Intention (ความตั้งใจทำ) และค่อยๆ ปรับจิตให้มีความสนใจและความตั้งใจทำความดีอย่างเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน จากนั้นผมและเพื่อนๆ ในกลุ่มได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมวิทยากรว่า เราสามารถระลึกถึงประสบการณ์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขที่จะระลึกถึงประสบการณ์นั้นๆ เพื่อเรียนรู้ที่จะบ่มเพาะความดีในการกระทำสิ่งต่างๆ ในปัจจุบันด้วยการควบคุมอารมณ์ สติปัญญา และสมาธิ ในเหตุการณ์ใดๆ ที่มุ่งมั่นหรือปล่อยวาง แต่บางครั้งถ้าพบเหตุการณ์ที่เลวร้าย ไม่สามารถทำสมาธิได้ ก็ให้ถือว่า "กำลังเรียนรู้และเฝ้ามองประสบการณ์ความรู้สึก ณ เวลาที่เลวร้ายนั้น"

  

 

หมายเลขบันทึก: 362840เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ปิติมา ศิริวัฒนาสุนทร

เรียนถามลูกสาวอายุ 12 ปีมีภาวะวิตกกังวลร่วมกับซึมเศร้าวินิจฉัยโดยแพทย์รับประทานยาอยู่มีหลักสูตรอะไรที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตบ้างคะ

ขอบคุณสำหรับคำถามครับคุณปิติมา

ผมแนะนำให้พบนักกิจกรรมบำบัดเชี่ยวชาญทางจิตเพื่อประเมินความสามารถ/ทักษะในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตของลูกสาวของคุณปิติมาก่อน เพื่อวิเคราะห์ต่อว่าโปรแกรมหรือหลักสูตรเฉพาะบุคคลที่เหมาะสม เช่น ทักษะการจัดการความเครียด ทักษะการจัดการอารมณ์ ทักษะการจัดการบทบาทชีวิต และทักษะการเข้าร่วมสังคม เป็นต้น

หากคุณปิติมาสนใจรายละเอียด รบกวนอีเมล์หรือโทรมาที่ 08-522-40707 เพื่อจะได้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมในการคัดกรองปัญหาและส่งต่อนักกิจกรรมบำบัด คลินิกคณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล เชิงสะพานปิ่นเกล้า ต่อไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท