"ยิ้มสดใส ผู้สูงวัยฟันดี" ที่เมืองคอนฯ (3) ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ


 

ชั่วโมงนี้ ท่านผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข มาเล่าให้ที่ประชุมฟังในเรื่อง "ยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ" ... เพื่อทราบทิศทางการพัฒนาในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุกัน ว่า

"... การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน ทำให้เรามีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ไม่ต้องไปรักษาให้เสียค่าใช้จ่าย เสียเวลา และทนทุกข์ทรมาน เรื่องฟันเทียมพระราชทานก็เป็นเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตดี

โครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติที่กรมอนามัยจัดทำขึ้น ริเริ่มเมื่อปี 2547 เนื่องมาจากมีจดหมาย ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอทำฟันปลอมเพื่อใช้เคี้ยวอาหาร และจากกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช นำมาเป็นหลัก ให้บุคลากรได้รวมตัวกัน ช่วยทำให้ผู้สูงอายุได้ใส่ฟันเทียมมากขึ้น ... การดำเนินงานจึงเริ่มต้นจากการระดมทุน จากการทอดผ้าป่ามหากุศล การสร้างพระพุทธชินสีห์ ร่วมกับงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สป.สช.)

กรมอนามัยให้ความสำคัญตั้งแต่ แม่และเด็ก วัยเรียนวัยรุ่น คนคนไทยไร้พุง และผู้สูงอายุ ... เรามองว่า เราทำงานเองคนเดียวไม่ได้ การที่จะทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี ต้องร่วมมือกับท้องถิ่น ตอนนี้มีแรงสนับสนุนมากขึ้น มีภาคเอกชนให้การช่วยเหลือ รวมทั้งภาคประชาชน คือ อาสาสมัคร ผู้สูงอายุ เมื่อครบวงเมื่อไร ก็มีโอกาสที่จะทำให้ทุกๆ คนมีสุขภาพดีได้

เรื่องผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีนั้น มีเรื่องฟันอยู่ด้วย ... ที่ญี่ปุ่น มีผู้สูงวัยเขากำหนดอายุ 65 ปีขึ้นไป ตอนนี้เขามีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 25 และมีผู้สูงอายุที่อายุเกิน 100 ปี 30,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมี 3,000 คน (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากร) ในนครศรีธรรมราชก็มีผู้สูงอายุประมาณร้อยละ 18 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยประเทศไทย

ที่ญี่ปุ่น คนที่อายุ 100 ปีขึ้นไป เขามีตัวชี้วัดหนึ่งคือ มีฟันใช้งานครบมากกว่า 20 ซี่ขึ้นไป ... การมีฟันฟัน 20 ซี่จึงเป็นตัววัดการมีสุขภาพที่ดี

ผู้สูงอายุจะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามประเด็นเรื่องของสุขภาพ กลุ่มที่หนึ่งคือ กลุ่มติดสังคม เป็นผู้ที่สามารถมาร่วมกิจกรรมชมรม เสวนา ไปวัดกันเป็นประจำ มีประมาณ 80% กลุ่มติดบ้าน ก็ถือว่ายังช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ออกไปข้างนอกอาจลำบาก ต้องมีคนช่วยดูแล มีประมาณ 10 % และกลุ่มติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนช่วยดูแล มีประมาณ 2% ... เพราะฉะนั้น เราจะทำกันอย่างไรให้กลุ่มติดสังคมมีมากขึ้นเรื่อยๆ และลดคนที่ติดเตียงลงไปให้น้อยลงไป

ในช่องปาก เราอยากให้ฟันที่เคี้ยวได้ ไม่มีโรค ถึงแม้ว่าจะคลอน โยกเล็กน้อย แต่ว่าเคี้ยวได้ ก็ยัง OK ... เราอยากให้มีพฤติกรรมที่ดี ดูแลช่องปากได้ดี ตรวจฟันทุกปี และลดปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ฟันผุ ฟันโยกคลอน มาจาก "2D" ก็คือ "D แรก" เกี่ยวกับอาหาร "D ตัวที่สอง" เกี่ยวกับความสกปรก คือ ต้องทำช่องปากให้สะอาด ... 2 D จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เหงือกและฟันแข็งแรง

การสำรวจสภาวะทันตสุขภาพ พบว่า

  • ตัวชี้วัดประชาชนที่มีฟัน 20 ซี่ขึ้นไป มีร้อยละ 55 หรือครึ่งหนึ่ง สูญเสียฟันไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง ไม่มีฟันอยู่เลยร้อยละ 10 หมายความว่า 10 คน เดินเข้ามา มี 1 คน ที่ไม่มีฟันเลย และมีโรคเยอะแยะ ซึ่งเป็นผลจากตั้งแต่เล็ก
  • เรื่องพฤติกรรม พบว่า มีการใช้แปรงสีฟันแปรงฟันประมาณร้อยละ 74 แสดงว่า ประมาณ 1 ใน 3 ที่ไม่แปรงฟัน
  • พบการสูบบุหรี่ร้อยละ 18
  • เคี้ยวหมากร้อยละ 17 และ
  • ไม่เคยไปหาหมอฟันเลยร้อยละ 67%

เราพยายามให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะว่า ชุมชนมีศักยภาพ มีพลัง สามารถร่วมดำเนินการได้ เราพยายามระดมภาครัฐ เอกชน ประชาชน มาช่วยกันดูแลทั้งเรื่องของส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ตลอด นี่คือ สิ่งที่มีในชุมชน ทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช และประเทศ มีเครือข่ายมากมาย ... ทำอย่างไรที่จะดึงศักยภาพเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น ชมรมผู้สูงอายุ อสม. วัด ชุมชน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน ท้องถิ่น มาร่วมกันดำเนินการเรื่อง การดูแลสุขภาพช่องปาก ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้สูงอายุ แต่รวมถึงเด็กวัยเรียน และกลุ่มอื่นๆ ด้วย

การทำฟันเทียมพระราชทานให้กับผู้สูงอายุ เราทำไปแล้ว 160,000 ราย เรื่องของชมรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ปัจจุบันมี 54 จังหวัด 234 ชมรม และการป้องกันโรคในช่องปาก ดำเนินการแล้ว 28 จังหวัด 273 หน่วยบริการ เราตั้งใจร่วมกันว่า จะทำเรื่องส่งเสริมให้ดีขึ้น มุ่งไปที่ชมรมผู้สูงอายุ เพราะว่า ผู้สูงอายุมีภูมิปัญญา มีประสบการณ์ มีความรู้ มีทุนทางสังคม มีความพร้อม มีเวลา มีสุขภาพดี มีการร่วมกลุ่ม และมีทรัพยากรต่างๆ สนับสนุน จึงสามารถเป็นแกนหลักของหมู่บ้านได้ โดยดำเนินการร่วมไปกับชุมชนต่อไป

กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่มีการดำเนินการในชมรมผู้สูงอายุ ที่ผ่านมาแล้ว อาทิเช่น การแปรงฟัน การฝึกทักษะการแปรงฟัน สอนแปรงฟัน ตรวจฟันให้เด็ก จิตอาสา เพื่อนช่วยเพื่อน ดูแลชุมชน  การย้อมคราบจุลินทรีย์ให้เห็นว่าแปรงฟันไม่สะอาดตรงไหนก็ฝึกแปรงฟันกันใหม่ การรณรงค์แปรงฟันก่อนการละหมาด ตรวจฟันกันเอง ให้ความรู้โดยเจ้าหน้าที่ ตลอดจน การผลิตสื่อกันเอง

อนาคตอันใกล้ ในปี 2554 ปี 84 พรรษา เราคงจะได้มาทำกิจกรรม "คืนรอยยิ้มที่สดใสให้ผู้สูงวัย" เป็นมหกรรมเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติร่วมกัน ด้วยเป้าหมาย การใส่ฟันเทียมพระราชทานในผู้สูงอายุ 30,000 รายต่อปี และสร้างชมรมส่งเสริมสุขภาพช่องปาก 1 อำเภอ 1 ชมรม

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากให้ผู้สูงอายุฟันดี คงไม่ได้ทำแต่ที่ตรงนี้ เมื่อเป็นผู้สูงอายุแล้ว ... ต้องไปทำตั้งแต่เด็กในครรภ์ ด้วยการส่งเสริมสุขภาพแม่ จนกระทั่งเป็นเด็กเล็ก วัยเรียน วัยรุ่น วัยทำงาน และก็จะเป็นผู้สูงอายุที่มีฟันดี ฝากโจทย์ไว้ให้ชมรมผู้สูงอายุทุกท่าน ว่าผู้สูงอายุคงจะมีการดำเนินกิจกรรมในหลายๆ อย่าง ที่จะทำให้ชุมชนของเรามีฟันดีครับ ..."

รวมเรื่อง "ยิ้มสดใส ผู้สูงวัยฟันดี" ที่เมืองคอนฯ

 

หมายเลขบันทึก: 362666เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 15:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท