นปส.55 (4): เสกสรรปั้นแต่ง


ปรัชญาของหลักสูตรคือ "มุ่งพัฒนานักปกครองหรือนักบริหารให้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีทั้งภาวะผู้นำและขีดสมรรถนะพร้อมในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์และเชิงบูรณาการในภูมิภาค สามารถพัฒนาพื้นที่และบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล"

๔.เสกสรรปั้นแต่ง

อาจารย์ชาติชาย ได้ชี้แจงรายละเอียดเนื้อหาหลักสูตรทั้งหมดให้แก่ผู้เข้ารับการอบรมได้ทราบ เพื่อจะได้เห็นภารวมทั้งหมดก่อน แล้วจึงเจาะลึกเข้าไปรับการฝึกอบรมเรียนรู้ในแต่ละส่วนย่อยอีกทีหนึ่ง

ปรัชญาของหลักสูตรได้กำหนดให้เป็นหลักสูตรที่มุ่ง "พัฒนานักปกครองหรือนักบริหารให้เป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีทั้งภาวะผู้นำและขีดสมรรถนะพร้อมในการบริหารเชิงยุทธศาสตร์และเชิงบูรณาการในภูมิภาค สามารถพัฒนาพื้นที่และบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล"

มีแนวคิดสำคัญของหลักสูตร 4 ประการ คือ

1. เป็นหลักสูตรที่เสริมสร้างและพัฒนานักบริหารให้เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ (Visionary leadership) และมีขีดสมรรถนะ สามารถวางยุทธศาสตร์ในการตอบสนองและรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2. เป็นหลักสูตรที่เน้นให้มีทักษะในการบูรณาการเชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนขององค์การเข้าด้วยกัน

3. เป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดพัมนาการที่ดีขึ้นต่อผู้เข้ารับการศึกษาอบรมทั้งด้านความคิดและพฤติกรรมที่เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการมืออาชีพและนักบริหารระดับสูง

4. เป็นหลักสูตรที่สามารถก่อให้เกิดการเรียนรู้ได้ครบกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอน ได้แก่ รู้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร และนำไปขยายผลและถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้

มีการวางกลยุทธ์หลักของหลักสูตรไว้ 4 ข้อคือ

1. การเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีประสบการณ์ (Experiential learning)

2. การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงและพัฒนาทักษะการตัดสินใจเชิงนโยบาย (Action learning)

3. การแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในประเทศและต่างประเทศ (Best practice learning)

4. การนำความรู้ที่ได้รับประยุกต์ใช้ในการจัดทำผลงาน (Individual study project)

 เนื้อหาวิชาของหลักสูตร แบ่งออกเป็น 9 หมวดวิชาหรือModules ใช้เวลาทั้งสิ้น 671 ชั่วโมง ดังนี้

หมวดวิชาที่ 1 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการพัฒนากระบวนการทางความคิด

หมวดวิชาที่ 2 การพัฒนามุมมองในระดับสากล

หมวดวิชาที่ 3 การพัฒนามุมมองในระดับประเทศ

หมวดวิชาที่ 4 การเสริมสร้างภาวะผู้นำ

หมวดวิชาที่ 5 การบริหารภาครัฐแนวใหม่

หมวดวิชาที่ 6 บทบาทกระทรวงมหาดไทย การบำบัดทุกข์บำรุงสุข

หมวดวิชาที่ 7 การเสริมสร้างประสบการณ์เชิงการปกครองและการบริหาร

หมวดวิชาที่ 8 การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการสร้างสุนทรียภาพ

หมวดวิชาที่ 9 การนำความรู้และประสบการณ์สู่การปฏิบัติ

เป็นที่น่าเสียดายว่าคณะรัฐมนตรี มีมติขอความร่วมมือไม่ให้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ซึ่งทำให้ขาดมุมมองสากลไป ตอนผมเข้าอบรม ผบก. ก็เจอกับมตินี้เช่นกัน พอมาเข้า นปส. ก็เจออีก เป็นนายกฯจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองครั้ง ผมคิดว่า บางอย่างก็ควรจะมีข้อยกเว้นบ้าง หากวางระบบให้การศึกษาดูงานต่างประเทศนั้นได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แต่ถ้าเป็นการไปเที่ยวอย่างเดียวก็คงไม่ได้ประโยชน์มากนัก

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ผมก็คิดว่าไม่ได้ทำให้คุณค่าของหลักสูตรอ่อนด้อยลงไป และก็คิดไปอีกว่า เพื่อนๆในรุ่นก็อาจจะร่วมกันขอไปศึกษาดูงานด้วยเงินส่วนตัวของแต่ละบุคคลเอง หากพวกเราเห็นความสำคัญ

การวัดและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วนๆละ 50%คือ การวัดผลด้านวิชาการ 50% (การสอบประมวลความรู้รวม 25% การจัดทำรายงานกลุ่ม 10% การจัดทำรายงานส่วนบุคคล 15%) และการวัดผลด้านพฤติกรรม 50% (คณะอาจารย์ 10% วิทยาลัยมหาดไทย 20% เพื่อนร่วมรุ่น 20%) ดังนั้นจึงไม่ได้วัความเก่งอย่างเดียว วัดความดีด้วย และผู้ที่ได้คะแนนเป็นที่ 1 จะได้รับการบันทึกชื่อไว้ในป้ายที่วิทยาลัยด้วย

การบริหารจัดการการฝึกอบรมดำเนินการร่วมกันโดยกระทรวงมหาดไทย ในด้านการบริหารจัดการทั่วไป มีคุณศุภโชค เลาหะพันธุ์ ผอ.สถาบันดำรงราชานุภาพ เป็นผู้อำนวยการโครงการ คุณกิตติพันธุ์ โรจนชีวะ ผอ.วิทยาลัยมหาดไทย เป็นผู้บริหารโครงการ คุณบำรุง รื่นบรรเทิง เป็นหัวหน้าโครงการ และมีทีมงานทั้งที่ประจำอยู่ที่วิทยาลัยมหาดไทยบางละมุงและที่อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย มีฝ่ายปฏิบัติการที่อยู่ประจำตลอดหลักสูตรที่บางละมุงคือคุณณัฐพงศ์ สงวนจิตรกับคุณวีระ แสงจันทร์ ที่คอยดูแลติดตามพวกเราในการปฏิบัติกิจกรรมออกกำลังกายในตอนเช้า

ในส่วนการบริหารหลักสูตรเชิงวิชาการ โดยสถาบันส่งเสริมกิจการบ้านเมืองที่ดี ดังที่ผทนำเรียนแล้วในตอนก่อนๆ มีที่ปรึกษาคือนายพินัย อนันตพงศ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดหลายแห่ง และมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่บางละมุง 2 คนคือน้องเจน (นส.อิสราภรณ์ แซ่ลิ้ม)กับน้องเอช (นายไพรัช ธาระรูป) คอยดูแลประสานงานกับพวกเราและอาจารย์ผู้สอน มีอาจารย์ที่ปรึกษาIS 7 ท่านคือ ศ.ดร.จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ (นิด้า) รศ.ดร. สุรสิทธิ์ วชิรขจร(นิด้า) ผศ.ดร.สมศักดิ์ ดำริชอบ(ธุรกิจบัณฑิต) อ.สุดจิต นิมิตกุล อ.ปรีชา วุฒิการณ์ ผศ.ดร. จรัญญา ปานเจริญ ทั้งสามท่านจากธุรกิจบัณฑิตและอ.วิจิตร วิชัยสาร ที่ปรึกษาฝ่ายอบรมจากสถาบันส่งเสริมกิจการฯ

สองสัปดาห์ก่อน คุณณัฐพงศ์ ได้เข้ามาคุยกับผมและถามว่า ทำไมผมคุ้นหน้าคุณหมอจังเลย คุณหมอเคยมาบรรยายให้ใช่ไหม ผมก็ตอบว่าใช่ คุณณัฐพงศ์ก็บอกว่า ก็ถือว่ามารู้จักเพื่อนก็แล้วกันนะครับ ผมก็ยิ้มๆแต่ก็บอกว่า "ผมไม่ได้ตั้งใจมาแค่รู้จักเพื่อน แต่ผมตั้งใจมาเรียนรู้จากอาจารย์ในหลักสูตรและจากเพื่อนๆในรุ่นด้วย แม้ผมจะเคยมาบรรยายผมก็ไม่ได้เก่งกาจอะไรมากมาย ยังต้องเรียนรู้อีกเยอะ" 

หมายเลขบันทึก: 362244เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2010 15:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท