ผลเบื้องต้นของการทำนาอินทรีย์ ไม่ไถ ไม่ดำ (แต่ต้องหว่านเพราะเปลี่ยนพันธุ์ข้าว) ในปีที่ฝนแล้ง


เลยได้ความรู้ว่าฝนแล้งจนดินแห้งก็ดีเหมือนกัน ทำให้หญ้าไม่งอก

ปีนี้เป็นปีที่มีฝนค่อนข้างน้อยตั้งแต่ต้นฤดู ตลอดเดือนเมษายน ที่ปกติจะมีฝนต้นฤดูบ้าง กลับตกประปรายบางพื้นที่ แต่ที่นาผมนั้น ฝนไม่มีเลย อย่างมากก็ระดับนับเม็ดฝนบนพื้นดินที่แห้งอยู่เท่านั้น

เพิ่งมีลมพายุพัดต้นไม้ผมหักไปหลายต้น และมีฝนตกบริเวณต้นน้ำเหนือพื้นที่นาผมเล็กน้อย แล้วไหลมาผ่านร่องน้ำข้างนาที่พอจะเก็บกักน้ำได้เล็กน้อย เพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมาทำให้ได้น้ำฝนมาช่วยเล็กน้อย

ผมเลยจำเป็นต้องปรับกระบวนการทำนาและจัดการน้ำเกือบไม่ทัน แต่ก็ได้ความรู้ใหม่ในการทำนา

ปีนี้ผมก็ยังหว่านข้าวตามวันมหาฤกษ์ “พืชมงคล” ในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม บนดินที่เตรียมกำจัดหญ้าไว้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งตัด และถอนหญ้ารอไว้แล้ว

หลังหว่านข้าวพันธุ์ใหม่ “กุหลาบแดง”  ๔๐ กก. ต่อ ๑๐ ไร่ และ “หอมนิล” ๒๐ กก. ต่อ ๕ ไร่ ใช้เวลาหว่านทั้งสิ้น ๕ ชั่วโมง โดยเทคนิคการหว่าน “สามนิ้ว”

หลังจากนั้นก็เผชิญความแล้งมาตลอด และสงสัยว่าข้าวที่พอมีแรงงอกจากความชื้นที่มีในดินจะรอดไหม

แต่ผมพบว่าข้าวก็ทนน่าดู บนนาที่มีเยื่อดินจากการไม่ไถ ทำให้ข้าวทนแล้งได้จนมีฝนลงมาช่วยในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ที่ผมทดน้ำเข้านา หลังจากปล่อยน้ำอ่อยปลาไปครึ่งคืน ทำให้เสียน้ำไปบ้าง แต่ก็ได้ปลาตื่นน้ำมาเพียบ

วันนี้นาสามแปลงของผมมีน้ำเกือบพอที่จะกันไม่ให้หญ้างอก เพราะมีแปลงหนึ่งที่น้ำเจาะแจะไม่ท่วมผิวดินทั้งแปลง แต่อีกสองแปลงทดน้ำได้พอดีๆ

ก็เลยได้ความรู้ว่าฝนแล้งจนดินแห้งก็ดีเหมือนกัน ทำให้หญ้าไม่งอก

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่า หลังจากพยายามลดโอกาสไม่ให้มีการขยายพันธุ์ของหญ้าในนามาหลายปีแล้ว ยังจะมีหญ้างอกอีกสักเท่าไหร่

ถ้าฝนแล้งหลังจากฝนตกคราวนี้อีกสักเดือน คงจะรู้ผลกันคราวนี้แหละ

วันนี้ เลยได้บทเรียนเพิ่มว่า ฝนแล้งก็ดี หญ้าจะได้ไม่งอก แต่ถ้าฝนมาก็พยายามเก็บน้ำให้ท่วมนาทันที หญ้าก็จะไม่มีโอกาสงอก หรืองอกน้อยจนแข่งกับข้าวเราไม่ได้

หวังว่าจะเป็นเช่นนั้นจริงๆ

สรุปเบื้องต้นในวันนี้ว่า การหว่านข้าวตามวันมหาฤกษ์ ก็ยังเป็นวันมหามงคลเช่นเดิม ลงตัวมาทุกปี ไม่ว่าสภาพฝนจะเป็นอย่างไร ข้าวก็ยังดูดีอยู่ครับ

เป็นความแตกต่าง แต่ก็ลงตัวอย่างน่าทึ่งจริงๆ ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ว่าเป็นเช่นนี้ แล

 

หมายเลขบันทึก: 361945เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 00:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 เมษายน 2012 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Thanks you for sharing your knowledge of 'when', 'what' and 'how' to plant, how to control weeds (optimize nutrients supply to crops?), and how to include 'fish' (and other lifeforms?) into the production arena. Once again our forefathers' observations and wisdom are proven useful today.

This short blog is worth more than a lot of thick text books on the fields. May we follow as you progress?

ขอบคุณมากครับคุณครูแสวงสำหรับข้อมูลการทำนาของปีนี้

เราคงต้องเรียนรู้จากธรรมชาติจวบจนวันสุดท้ายของชีวิตแน่นอนครับ เพราะดูเหมือนว่าจะมีอะไรแตกต่างกันเกิดขึ้นในแต่ละปีทำให้คุณครูของผมได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆอยู่เสมอ และก็ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวซึ่งได้จากการบ่มเพาะประสบการณ์มาแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ

ขอบคุณอีกครั้งครับและจะมาติดตามตอนต่อไปครับ

อาจารย์ดร. แสวง ครับ ผมดูวิดีโอของอาจารย์ผมจำได้ครับ แต่ผมพอจะงงตอนที่ หว่านข้าวแบบไม่ไถกลบแล้วจะมีวิธีป้องกันเมล็ดหรือหนู มากินยังไงครับ สำหรับผมเคยหว่านปอเทืองแบบไม่กลบเช่นกันแต่กลับไม่เกิดเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท