จริยธรรมในพระคัมภีร์ใหม่


จริยธรรมในพระคัมภีร์ใหม่

จริยธรรมในพระคัมภีร์ใหม่แบ่งเป็น 2 ยุค คือ จริยธรรมยุคพระเยซูคริสต์ และจริยธรรมยุคอัครทูต

จริยธรรมยุคของพระเยซู มีลักษณะเป็นจริยธรรมแห่งความรัก จริยธรรมแห่งพระบัญญัติขั้นสมบูรณ์ และการเอาชนะตนเอง

เนื้อหาหลักจะปรากฏอยู่ในคำเทศนาบนภูเขา(มธ.6-7) อย่างชัดเจนที่สุด

1.พระเจ้าทรงสอนถึงอุปนิสัยของคริสเตียน (มธ.5:3-12)

- รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณ(มธ.5:3) เป็นความรู้สึกว่าตนเองยังไม่สมบูรณ์ ในฝ่ายจิตวิญญาณ ยังต้องพึ่งพระเจ้า

- รู้สึกโศกเศร้า(มธ.5:4) หมายถึง ความโศกเศร้าต่อความผิดบาปของตน และโศกเศร้าจากการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (กท.6:2-5)

- ใจอ่อนโยน (มธ.5:5)

- หิวกระหายความชอบธรรม (มธ.5:6) กระหายที่จะมีชีวิตที่พระเจ้าพอพระทัย

- มีใจกรุณา (มธ.5:7) มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น

- มีใจบริสุทธิ์ (มธ.5:8) ไม่มีบาปในความคิด ไม่ใช่แค่ไม่ทำบาปด้วยการกระทำ และคำพูดเท่านั้น

- สร้างสันติ (มธ.5:9) สร้างสันติภาพ และสันติสุขในหมู่มนุษย์ด้วยกัน

- ถูกข่มเหงเพราะเหตุความชอบธรรม (มธ.5:10) ยืนหยัดที่จะทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบาก

2.ทรงเสนอจริยธรรมที่สมบูรณ์ของพระบัญญัติในพระคัมภีร์เดิม

พระเยซูยืนยันว่าพระองค์ไม่ได้มาเลิกล้างธรรมบัญญัติ แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ  (มธ.5:17-20) ตัวอย่างเช่น

-พระบัญญัติบอกว่าอย่าฆ่าคน(อพย.20:13) แต่พระเยซูตรัสว่าอย่าโกรธรวมทั้งอย่าสบประมาทผู้อื่น(มธ.5:21-26)

-พระบัญญัติบอกว่าอย่าล่วงประเวณี(อพย.20:14) แต่พระเยซูตรัสว่าอย่ามองดูหญิงอื่นด้วยใจกำหนัด(มธ.27-30)

-พระบัญญัติบอกว่าสามีหย่าภรรยาได้เพียงเมื่อพบว่าภรรยามีสิ่งที่น่าอาย โดยให้ทำหนังสือหย่าใส่มือให้นาง แล้วก็ไล่นางออกจากบ้านไปได้ (ฉธบ.24:1)  แต่พระเยซูตรัสว่าห้ามหย่านอกเสียจากการเล่นชู้ (มธ.5:31-32)

-พระบัญญัติบอกว่าอย่าสาบานเท็จ หรือสาบานโดยไม่รับผิดชอบ (ลนต.19:12) พระเยซูตรัสว่าไม่ต้องสาบานเลย ให้พูดแต่ความจริงตลอดเวลา (มธ.5:33-37)

-พระบัญญัติบอกว่าแก้แค้นได้ตามขนาดที่เท่าเทียมกัน คือ ตาแทนตา ฟันแทนฟัน (อพย.21:23-25) แต่พระเยซูตรัสว่าอย่าแก้แค้นเลย (มธ.5:43-48) จงทำดีต่อศัตรู ช่วยเหลือศัตรูเมื่อเขาลำบาก ผู้ใดตบแก้วขวาให้ยื่นแก้มซ้ายให้ด้วย(มธ.5:38-47)

-พระบัญญัติบอกว่าจงรักคนสนิท และเกลียดชังศัตรู(ลนต.19:16-18) แต่พระเยซูตรัสว่าจงรักศัตรู (มธ.5:43-48)

-พระบัญญัติบอกว่าวันสะบาโตต้องหยุดพัก แต่พระเยซูตรัสว่าให้ทำดีในวันสะบาโตได้(มธ.12:1 , มก.2:23-28, ลก.6:1-5)

3. ไม่ปฏิบัติกิจเพื่อโอ้อวด

ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน(มธ.6:2-4) การอธิษฐาน (มธ.6:5-15) และการอดอาหาร(มธ.6:16-18) ต้องทำไม่ใช่เพื่อโอ้อวด แต่ปฎิบัติด้วยความจริงใจจากพระเจ้า

4.เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สมบัติ

-ให้ใช้ทรัพย์สมบัติในการช่วยเหลือคนขัดสน (มธ.6:19-21,24 , มก.10:21 , ลก.12:33-34)

-อย่าให้เงินเป็นเจ้านายในชีวิตให้พระเจ้าเป็นเจ้านายแต่เพียงผู้เดียว(มธ.6:22-24)

-ให้ความสำคัญกับการมีชีวิตที่พอพระทัยพระเจ้ามากกว่าการแสวงหาเงินทอง(มธ.6:33)

5.การปฎิบัติต่อผู้อื่น

-ไม่กล่าวโทษผู้อื่นในเรื่องหยุมหยิม หรือกล่าวโทษผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม(มธ.7:1-12)

-ปฎิบัติต่อผู้อื่นอย่างที่อยากให้ผู้อื่นปฎิบัติต่อเรา (มธ.7:12, ลก.6:31)

จริยธรรมยุคอัครทูต ใช้จริยธรรมของพระเยซูขยายไปสู่จริยธรรมแห่งเสรีภาพที่จะรักษาพระบัญญัติ และใช้จิตสำนึกผิดชอบ ภายใต้พระวิญญาณบริสุทธิ์

จริยธรรมในยุคอัครทูตปรากฎในจดหมายฝาก โดยเฉพาะในจดหมายฝากของเปาโลมีลักษณะเป็นการใช้จริยธรรมของพระเยซูขยายไปสู้จริยธรรมแห่งเสรีภาพที่จะรักษาพระบัญญัติ และใช้จิตสำนึกผิดชอบภายใต้พระวิญญาณบริสุทธิ์ ดังนี้

-เป็นจริยธรรมแห่งความรักเช่นเดียวกับพระเยซูคริสต์ เปาโลให้คริสเตียนกระทำทุกสิ่งด้วยความรัก (1คร.16:14) ชีวิตคริสเตียนถือหลักปฎิบัติสามสิ่งคือ ความเชื่อ ความรัก และความหวังใจ และความรักใหญ่ที่สุด (1คร.13:13) ความรักเป็นสิ่งที่พิสูจน์การบังเกิดใหม่(1ยน.4:8,20) และความรักของคริสเตียนมีลักษณะพิเศษคือ "ความรักนั้นก็อดทนนาน และกระทำคุณให้ ความรักไม่อิจฉา ไม่อวดตัว ไม่หยิ่งผยอง ไม่หยาบคาย ไม่คิดเห็นแก่ตนฝ่ายเดียว ไม่ฉุนเฉียว ไม่ช่างจดจำความผิด ไม่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติผิด แต่ชื่นชมยินดีเมื่อมีการประพฤติชอบ ความรักทนได้ทุกอย่างแม้ความผิดของคนอื่น และเชื่อในส่วนดีของเขาอยู่เสมอ และมีความหวังอยู่เสมอ และทนต่อทุกอย่าง" (1คร.13:4-7)

-เป็นจริยธรรมแห่งการเอาชนะตนเองเช่นเดียวกับพระเยซู เปาโลบอกว่าในตัวของผู้เชื่อจะมีสองธรรมชาติอยู่ในตัวเอง คือธรรมชาติของเนื้อหนังซึ่งเป็นตัวเก่า กับธรรมชาติของพระวิญญาณซึ่งเป็นชีวิตใหม่ และสองธรรมชาตินี้จะต่อสู้กัน และต้องพยายามเอาชนะตัวเก่าภายในตัวเราเพื่อจะเชื่อฟังพระวิญญาณบริสุทธิ์

-เป็นจริยธรรมที่มีเสรีภาพที่จะรักษาพระบัญญัติ และใช้จิตสำนึกภายใต้พระวิญญาณบริสุทธิ์ตัดสิน เปาโลย้ำหลายครั้งว่าคริสเตียนต้องมีเสรีภาพ ไม่ตกอยู่ใต้พระบัญญัติอีกต่อไปแล้ว ความรอดของคริสเตียนไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระบัญญัติเนื่องจากถูกไถ่โดยพระคริสต์แล้ว (1คร.6:12,10:23,9:19,กท.5:1 , 13:1 , 1ปต.2:16) แต่ต้องไม่ใช้เสรีภาพในการทำชั่ว (1ปต.2:16) ปล่อยตัวไปตามเนื้อหนัง (กท.5:13) หรือทำให้พี่น้องคริสเตียนมีความเชื่อน้อยสะดุด หรือ ท้อถอยในความเชื่อ (1คร.8:9) เปาโลเรียกพระบัญญัติว่าเป็นพระบัญญัติแห่งเสรีภาพ(ยก.1:25)

ฉะนั้นเราต้องไม่เข้าใจผิดว่าจริยธรรมยุคอัครทูตให้คริสเตียนทิ้งพระบัญญัติแล้ว  เพราะแม้แต่พระเยซูก็ไม่ได้บอกว่าทรงมาเลิกล้างธรรมบัญญัติแต่ทรงมาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ(มธ.5:17-20)

 

  

หมายเลขบันทึก: 361695เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีคะ

ได้รับความรู้มากคะ

ขอบคุณมากๆคะ

สวัสดีค่ะ แม่ต้อย ขอบคุณค่ะที่เข้ามาเยี่ยมชม แล้วจะขอเข้าไปเยี่ยมเยียนแม่ต้อยบ้างนะค๊ะ

ใช่แล้วค่ะคุณราชิต คนเราไม่มีใครสมบูรณ์ แต่เราก็ควรศึกษาข้อดีของคนอื่นมาเสริมข้อด้อยของเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท