หลักสูตรใหม่


เปิดเทอมมาก็ใช้หลักสูตรใหม่

หลักสูตรใหม่

                                                             ยืนยง  ราชวงษ์

         ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สพฐ. ๒๙๓/๒๕๕๑  เรื่อง ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๑ กำหนดให้สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ ป.๑ ถึง ม.๖ ต้องนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑(หลักสูตรแกนกลาง) ไปใช้ คือ ๑) โรงเรียนต้นแบบการใช้หลักสูตรและโรงเรียนที่มีความพร้อมตามรายชื่อที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศ ใช้หลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ในชั้นป.๑-๖ และชั้นม. ๑ และ ๔  ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ในชั้นป. ๑-๖ และชั้นม. ๑ และ ๒ และชั้นม. ๔ และ ๕ และ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ เป็นต้นไป ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ทุกชั้นเรียน ๒) โรงเรียนทั่วไป ให้ใช้หลักสูตรใหม่ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ในชั้นป. ๑-๖ และชั้นม. ๑ และ ๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ในชั้นป. ๑-๖ และชั้นม. ๑ และ ๒ และชั้นม. ๔ และ ๕ และปีการศึกษา ๒๕๕๕ ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ ทุกชั้นเรียน

                นั่นหมายความว่าในปีการศึกษา ๒๕๕๓ สถานศึกษาทุกแห่งต้องใช้หลักสูตรใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาต้องใช้ทุกชั้นปี ระดับมัธยมศึกษาใช้ปีละชั้นปี แต่ปัญหาคือ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นเพียงกรอบของหลักสูตรเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ได้เลย สถานศึกษาจึงต้องมีหน้าที่ต้องไปจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเองให้แล้วเสร็จก่อนเปิดภาคเรียนในปีการศึกษา ๒๕๕๓ และการจัดทำให้คำนึงถึง ๓ ส่วน ส่วนที่ ๑ หลักสูตรแกนกลางที่กำหนด ส่วนที่ ๒ กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่นที่เขตพื้นที่กำหนดและส่วนที่ ๓ จุดเน้น ปัญหาและความต้องการของสถานศึกษาเป็นสำคัญ นอกจากนั้นโรงเรียนจะต้องไปจัดทำเอกสารประกอบหลักสูตร เช่น รายวิชาที่เปิดสอน ประกอบด้วยรายวิชาพื้นฐาน และรายวิชาเพิ่มเติม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ๓ กิจกรรม คือ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน(ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ นักศึกษาวิชาทหาร ชุมนุม ชมรม) และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์  ระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ รวมทั้งเอกสารหลักฐานที่แสดงผลการเรียนรู้รายบุคคล รายชั้นเรียน และที่สำคัญหลักสูตรสถานศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษาเพื่อประกาศใช้

บทบาทของสถานศึกษา

                ๑. แต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน เป็นคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการสถานศึกษา มีหน้าที่ยกร่างหลักสูตรสถานศึกษา(จัดทำ) ควรประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เช่น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนชุมชน เป็นต้น

                ๒. ศึกษา วิเคราะห์ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑(มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้) กรอบหลักสูตรระดับท้องถิ่น (หน่วยงานต้นสังกัด/เขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้กำหนด) ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ สภาพปัญหา จุดเน้น ความต้องการของผู้เรียนและของสถานศึกษาแต่ละแห่ง

                ๓. จัดทำหลักสูตรสถานศึกษา โดยนำข้อมูลดังกล่าว พิจารณา จัดทำตามองค์ประกอบที่สำคัญและจัดทำระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้เพื่อใช้ควบคู่กับหลักสูตรสถานศึกษา

                ๔. เสนอร่างหลักสูตรสถานศึกษาและระเบียบว่าด้วยการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบ อนุมัติใช้หลักสูตร

                ๕. ใช้หลักสูตรสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้/กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทำเอกสารประกอบหลักสูตรแต่ละรายวิชา(รายวิชาพื้นฐาน/รายวิชาเพิ่มเติม)  รวมทั้งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

๖. ครูผู้สอนนำโครงสร้างหลักสูตรชั้นปี เอกสารประกอบหลักสูตรแต่ละรายวิชา พร้อมทั้งโครงสร้างแต่ละรายวิชา ไปออกแบบหน่วยการเรียนรู้ เพื่อไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดหรือผลการเรียนรู้ในกรณีที่เป็นรายวิชาเพิ่มเติม หรือวัตถุประสงค์ในกรณีที่เป็นกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

๗. ดำเนินการนิเทศ ติดตาม ประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการนิเทศ ติดตามผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษา เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง และนำผลการนิเทศ ติดตาม มาพิจารณาปรับปรุงให้หลักสูตรสถานศึกษา มีคุณภาพและมีความเหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาให้มากที่สุด

๘. สถานศึกษา ตรวจสอบจำนวนชั่วโมง/หน่วยกิต ที่ผู้เรียนเรียนกับเกณฑ์การจบตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา

๙. สถานศึกษาเอกสาร หลักฐานการศึกษาที่สำคัญ ให้กับผู้เรียนในกรณีที่จบ ย้ายหรือเลื่อนชั้น

บทบาทของครู

๑. ครูผู้สอนจัดทำรายวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติม ซึ่งต้องจัดทำอธิบายรายวิชาพื้นฐานและเพิ่มเติมตามโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา

๒. ครูผู้สอนจัดทำโครงสร้างรายวิชาและจัดทำหน่วยการเรียนรู้

๓. ครูผู้สอนออกแบบหน่วยการเรียนรู้

๔. ครูผู้สอนจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

๕. ครูผู้สอนออกแบบสื่อ นวัตกรรมเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้

๖. ครูผู้สอนสร้างเครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่สอดคล้องมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด

๗. ครูผู้สอน สอนตามหน่วยการเรียนรู้ และแผนการจัดการเรียนรู้

๘. ครูผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดชั้นปี (ป.๑-ม.๓)/ช่วงชั้น (ม.๔-๖)

๙. ครูผู้สอนช่วยเหลือผู้เรียนเมื่อมีปัญหาหรือไม่ผ่านมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด นั่นคือออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่มีความบกพร่อง นำไปใช้แก้ปัญหาแล้วบันทึกผลการแก้ปัญหา

๑๐. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รูปแบบ วิธีสอน เทคนิคการสอน เมื่อสามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาผู้เรียนได้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด เพื่อให้คนอื่นได้นำไปปรับใช้ขยายผลต่อไป

หมายเลขบันทึก: 361535เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท