สืบสานประเพณี วัฒนธรรมอันงดงามของชาวไทยทรงดำ "บ้านบังปืน"


“ความงามแห่งวัฒนธรรม”

สืบสานประเพณี  วัฒนธรรมอันงดงามของชาวไทยทรงดำ "บ้านบังปืน"

เรื่องราวของ งานประเพณีและวัฒธรรมอันงดงาม ของชาวไทยทรงดำ ... แต่เดิมผมไม่รู้เลยว่า... งานนี้เข้ามีความเป็นมาอย่างไร เคยขับรถผ่านแถวๆ จังหวัดเพชรบุรี มีป้ายบอกชื่องานก็รู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อผมได้มีโอกาสเข้ามาอยู่อาศัยในเขตพื้นที่นี้ "บ้านบังปืน" ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนริมคลองแม่กลอง และที่นี่มีพี่น้องชาวไทยทรงดำกว่า 200 ครอบครัว อาศัยอยู่ ทำให้ผมรู้ว่าที่นี่มีเอกลักษณ์ ความเชื่อในประเพณีที่ดีงาม สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  

ทุกวันที่  1  พฤษภาคมของทุกปี  ชาวไทยทรงดำจากทั่วประเทศจะมารวมตัวกัน  คล้ายๆงานรวมรุ่นยังไงอย่างนั้นเลย    ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง ที่ผมมีโอกาสมาร่วมเที่ยวงาน “สืบสานประเพณีไทยทรงดำ”  ซึ่งจัดเป็นครั้งที่  8  แล้ว  ณ วัดธรรมาวุธาราม (วัดบังปืน)  ต.นางตะเคียน  อ.เมือง  จ.สมุทรสงคราม

ตามความเชื่อที่ว่า  “ลาวโซ่ง”  หรือคนไทยเรียกว่า  “ไทยทรงดำ”  “ไทยโซ่ง” เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย  เหตุที่เรียกว่า “ไทยทรงดำ” เนื่องจากมีเอกลักษณ์การแต่งตัวใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกันสีดำ  ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม (ผ้าซิ่นสีดำมีลายแถบสีฟ้ายาวลงมา)  และมวยผมเกล้าไว้บนศรีษะ   ในประเทศไทยมีชาวไทยทรงดำตั้งถิ่นฐานอยู่หลายจังหวัด  เช่น  เพรชบุรี   ราชบุรี  นครปฐม  สมุทรสงคราม  สุพรรณบุรี   ฯลฯ เป็นเรื่องที่ผมได้รับฟังมาจาก ผู้ใหญ่ในพื้นที่หลายๆคน ครับ  

ในวันงาน...ในความรู้สึกที่ผมได้สัมผัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างกัน ของชาวไทยทรงดำที่มาร่วมงาน แต่ละจังหวัดจะมีสัญลักษณ์บอกด้วยผ้าแถบหรือผ้าสไบสีต่างๆ  เช่น สีเหลือง  เขียว  แดง  ชมพู ฯ  ยืนเกาะกลุ่มคุยกัน เหมือนญาติ พี่น้อง ต่างชื่นชม ยินดี ที่ได้มาพบปะกัน  ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ ขายของที่ระลึก  ของกิน ของใช้โดยมีชาวบ้านบังปืน เป็นเจ้าภาพในงานนี้ นำอาหารคาว หวาน มากมายมาจัดเลี้ยง แบ่งออกเป็นซุ้มๆ เช่น ก๋วยเตี๋ยว ผัดไทย กระเพาะปลา ลอดช่อง ไอศครีม และอื่นๆ มาแจกให้แก่แขกผู้มาเยือนได้กินกันอย่างอิ่มหน่ำสำราญ 

และที่ผมชื่นชอบสุดๆคือ การแสดง “รำวง” ของวงดนตรีท้องถิ่น ซึ่งชุมชนชาวบ้านแต่ละจังหวัดจะนำมาร่วมงาน (ตามสะดวก) เท่าที่ผมเห็นมี  2-3  วง ในบรรยากาศที่พี่น้องชาวไทยทรงดำล้อมวงรำกันอย่างสนุกสนานนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นได้คือ ความสมัคคี มิได้มีการแบ่งแยก คนต่างกลุ่ม ต่างเพศ ต่างวัย มีสื่อกลาง คือ เสียงดนตรี ทำให้บรรยากาศดูมีความสุขมากครับ  "ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ตามจังหวะของเสียงดนตรี ที่เร่งระดับความมันของเพลง" ผมเฝ้าดูด้วยจิตใจที่อิ่มเอม แล้วจึงเดินไปที่เวทีรำวงหลัก ซึ่งที่นี่จะมีนางรำ "แนวร่วมสมัย" และมีคนมากมายต่างถิ่นมารอรำวง (ตามรอบ) โดยการจะขึ้นเวทีรำวงนั้น ต้องมีส่วนร่วมทำบุญก่อน จึงจะออกรอบเต้นรำได้ เสียงดนตรี แสงสี ของไฟ ปลุกเร้า อารมณ์ ทำให้ผู้มาร่วมงานต่างชื่นชอบ และเพลิดเพลินกับบรรยากาศในงานที่จัดขึ้น ผมว่ามันเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยสานสัมพันธ์ของพี่น้องๆชาวไทยทรงดำได้ดีทีเดียว 

นอกจากนั้นยังมี กิจกรรมก่อกองทราย  และไหว้พระทำบุญ  ซึ่งเห็นหลายๆ ครอบครัว พา พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา หอบลูก จูงหลาน มาร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นภาพที่ประทับใจและหาดูได้ยากในสังคมไทยแล้ว       

ผมเห็นหลายชุมชนพยายามรักษาประเพณี  วัฒนธรรมอันดีงามของตนไว้  เพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่อิทธิพลจากภายนอกมีส่วนอย่างมาก ที่จะครอบงำ "ทำให้สังคมเปลี่ยน คนก็เปลี่ยนไป"

ชาวไทยทรงดำ จึงน่าจะเป็นอีกตัวอย่างหนี่ง ที่พยายามรักษาการดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่าย และประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้อย่างเหนียวแน่น  โดยเฉพาะการแต่งกาย  และการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ให้ถูกกลืนไปตามกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่  ต้องขอบคุณชุมชนแห่งนี้ ที่ทำให้ผมเห็นถึง “ความงามแห่งวัฒนธรรม”  อันเป็นรากเหง้าของชุมชนที่หล่อหล่อมให้สังคมเล็กๆ ได้รักใคร่กลมเกลียว 

 "หากวันนี้สังคมของเราไม่รักษามรดกตกทอดทางประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างนี้เอาไว้ คุณค่าของสังคมก็จะเปลี่ยนไป ความแตกแยกก็จะมากขึ้น ผมมีความเชื่ออย่างนั้นครับ "

หมายเลขบันทึก: 360863เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2010 15:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • เคยรู้จักน้องคนหนึ่ง มาจากชุมชนไทยทรงดำ เวลาคุยโทรศัพท์กับญาติ เสียงจะดังมาก แล้วก็ฟังไม่ออกเลยว่า พูดกันเรื่องอะไร
  • ชื่นชม ชุมชนที่อนุรักษ์ ประเพณีของตนไว้ ด้วยคนค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับ อยากเก็บเรื่องราวดีๆ มาบอกเล่าต่อกันครับ

  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆ
  • เขียนอีกนะค่ะ...จะรออ่าน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท