ทำไมไม่เลี้ยง “ควาย”


ควายกินหญ้าไม่กินน้ำมัน, “ควาย” นั้นยังมีประโยชน์และคุณูประการมากมายเพียงใด


ตราบเท่าที่เคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เล็กจนโต แล้วลองคิดเล่นๆ ดูว่า สัตว์อะไรหนา? ที่โง่ที่สุดในโลกใบนี้ ถ้าจะลองเดาเอาเองจากข้อมูลและประสบการณ์อันน้อยนิด ก็คงจะเดาว่ามันต้องเป็น “ควาย” แน่ๆ (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) เพราะเจ้าสัตว์เท้ากีบ สี่ขา มีสองเขา ตัวโต แข็งแรงสีดำสนิทนี้ ชื่อของมันมักจะถูกนำมากล่าวขานในด้านลบเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในแง่ของการตำหนิเตียนเชิงดูถูกเหยียดหยามในเรื่องของสติปัญญาว่า “โง่เหมือน…ควาย” “โง่เป็น…ควาย” บ้าง ไม่พอใจใครก็ด่าว่า “ไอ้…ควาย” หรือรำคาญใครที่รับฟังแล้วไม่ตอบสนอง นิ่งเฉยทำท่าไม่รู้เรื่องก็จะว่า “สีซอให้ควายฟัง” บ้าง ลูกที่เกิดมาแล้วไม่เลี้ยงดูพ่อแม่แถมไถเงินไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็จะ ถูกเรียก ว่า “ไอ้ลูกทรพี” (ทรพี ก็คือลูกควายในตำนานที่เฝ้าวัดรอยเท้าจนสุดท้ายก็ฆ่าพ่อที่เป็นควายของตัว เองที่ชื่อว่า ทรพา นั่นงัย) เพศที่สามที่หน้าตาสยึมกึ๋ย ก็อาจจะโดนเด็กวัยรุ่นปากมันแซวได้ว่าเป็น “กระเทยควาย” อันนี้ไม่แนะนำให้ลอกเลียนแบบถ้าไม่อยากโดนตบนะครับ ส่วนในเรื่องของมุกตลกที่ไม่ขำ ไม่น่าจะนำมาเล่น แต่ยังดึงดันที่จะเล่นเขาก็จะเรียกว่า “มุกควาย” ฮ่า ๆ ขำกันไหมครับ บางครั้งการเรียกขานชื่อควายในบางสถานที่ก็ฟังดูไม่ค่อยสุภาพ แต่จริงๆเป็นคำที่ใช้ในภาษาถิ่นอันนี้ถือว่าเป็นเรื่องปรกติธรรมดาควายที่ นั่นคงจะคุ้นเคยและไม่ว่าอะไร โดยเฉพาะถ้าใครลองได้ไปแถบภาคอีสานก็จะได้ยินบ่อยๆ สามีที่ไม่ชอบอยู่บ้านหรือไปทำงานต่างจังหวัดบ่อยๆ ภรรยาอยู่ทางนี้ก็มักจะมีหนุ่ม ๆ มาจีบ มาแซว ถ้า ไปรับรักหรือร่วมรักกับหนุ่มที่ไม่ใช่สามีตนเองกลับมาชาวบ้านก็จะแอบนินทา ให้ได้ยินว่า “ถูกสวมเขา (ควาย)” ก็เอาควายไปเกี่ยวอีกเหมือนกัน ในแต่ละคำที่ยกตัวอย่างมาให้ฟังนั้น อาจทำให้ควายรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ไม่น้อยทีเดียวถ้ามันรู้ภาษาของมนุษย์ แต่จะว่าไปก็ยังไม่เคยเห็นมันโกรธเคืองสักที แถมไม่เคยปริปากบ่น ไม่เคยว่า ไม่เคยประท้วง ไม่ก่อความวุ่นวาย ไม่ก่อม็อบ ไม่หยุดงาน ไม่เผาเมือง เหมือนสัตว์บางประเภทอีกด้วยฯลฯ

ต่อไปขออนุญาตนำเรื่อง ควาย ๆ มาเล่าสู่กันฟังว่า “ควาย” จะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องอะไรบ้าง

- ในปัจจุบันที่จังหวัดชลบุรีก็จะมีประเพณีวิ่งควายซึ่งได้รับความนิยมเป็น อย่างมาก สามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศให้เข้ามาชมได้มากโขอยู่ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่จังหวัดชลบุรีเป็นอย่างมาก

- วงดนตรีเพื่อชีวิตที่โด่งดังค้างฟ้ามาเนิ่นนานในปัจจุบันก็ใช้เขาควายเป็น สัญลักษณ์แถมยังชื่อวงก็ใช้คำว่า คาราบาว ภาษา ตากาล็อก ประเทศฟิลิปินส์ แปลเป็นไทยก็แปลว่า “ควาย”

- เมื่อหลายปีก่อนก็มีภาพยนตร์ชื่อ บางระจัน และมีตัวละครชื่อนายทองเหม็น ตัวแทนชาวบ้านบางระจันใช้ควายเป็นพาหนะเข้าไปรบและฆ่าพม่าตายหลายคน ควายที่เขาโค้งเป็นวงพระจันทร์ตัวนั้น ยังจำได้ไหมครับว่าเขาชื่อ “พี่บุญเลิศ” ซึ่งสร้างความประทับใจให้ผู้ชมอยู่นานเหมือนกัน

- จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ใช้ควายเป็นจุดขาย มีการนำเสนอรูปแบบการทำนาแบบโบราณย้อนยุคมีควายหลายชนิดให้ดูชม มีทั้งควายเผือก ควายทุย ควายแคระ ควายยิ้ม (ควายที่พิการฟันเหยินออกมานอกปาก) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ควายเป็นตัวเอก ชาวบ้านเขาเรียกว่า “บ้านควาย”

- ใช้เป็นสำนวน “ทรพี” ดังที่ได้เล่าไปแล้วในย่อหน้าแรก ใช้เปรียบเทียบกับลูกอกตัญญู

- ควายธนู คือของขลังชนิดหนึ่งที่หมอผีปลุกเสกขึ้นมา อาจจะทำจากทองแดง หรือขี้ผึ้ง ใช้สำหรับปราบผี หรือในพิธีไสยศาสตร์ต่างๆ

- เป็นชื่อเพลง “เขมรไล่ควาย” บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมเขมรต้องไล่ควาย ถ้าลองมองย้อนกลับไปในวัยมัธยมต้นที่เพื่อนๆบางคนอยู่ในวัยคึกคะนอง สรวญเสเฮฮาและไม่ค่อยตั้งใจเรียนสักเท่าไรไปถามคำถามนี้กับอาจารย์เข้า สงสัยอาจารย์จะต้องตอบกลับมาแน่เลยว่า “ก็ไล่ควายส่งมาเรียนกับชั้นงัยยะ”

- มหิงสา หมายถึง ควายป่า

- ปลิงควาย ตัวดำใหญ่ เหนียวหนืด ยืดระโยงรยางค์ เมื่อดูดเลือกตัวก็จะยิ่งพองใหญ่ขึ้น น่าจะไม่ค่อยถูกกับสุภาพสตรีสักเท่าไร

- สมัยก่อนมีการจดทะเบียนควาย เรียกว่า “ตั๋วรูปพรรณ” สมัยนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว เหลือแต่เพียงในตำราให้นักศึกษากฎหมายท่องเท่านั้น

- สัตว์พาหนะ อันได้แก่ ช้าง ม้า วัว ควาย ลา ฬ่อ แค่นี้เท่านั้น อูฐ แม้จะขี่ได้แต่ก็ไม่ใช่สัตว์พาหนะตามกฎหมายของประเทศไทย

- คดีลักควายเป็นคดีคลาสสิกของการเรียนวิชาความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ของนักศึกษากฎหมายทุกสถาบัน

- นายฮ้อย คือคำเรียกของหัวหน้ากองคาราวานควาย ในภาษาอีสาน เคยถูกทำมาสร้างเป็นละครชื่อว่า นายฮ้อยทมิฬ

- กะลาเขาควาย เป็นชื่อการละเล่นเด็กไทยชนิดหนึ่ง http://www.childthai.org/e-book/play/play01/play007-3.htm

- ควายไม่ได้ไม่ชอบสีแดง เพราะสัตว์มองไม่เห็นสี คนที่บอกว่าเข้าป่าแล้วให้ใส่สีกลมกลืนเพื่อสัตว์ไม่ตื่นจึงไม่ถูกต้อง

- “น้ำหนัง” เป็นอาหารของภาคเหนือที่ทำมาจากหนังควายจริงๆ เป็นที่โปรดปรานของชาวล้านนา การทำน้ำหนังจะเลือกเอาแต่หนังควายดิบเท่านั้น เมื่อได้หนังมาแล้ว จะนำมาตากแดดจนแห้ง ตัดเป็นชิ้น ๆ เผาขนออกนำไปแช่น้ำให้นุ่ม หลังจากนั้นขูดขนออกจนเห็นเนื้อหนังขาว แสดงว่าสิ่งสกปรกหมดแล้ว นำไปต้มจนเปื่อยยกขึ้นมาใส่ครกตำหรือบด จนเหลวเละเป็นน้ำ จึงเรียกว่า “น้ำหนัง”

- กีฬาชนควาย ที่เกาะสมุย สำหรับผู้นิยมซื้อบัตรได้ที่บังกะโลที่ท่านเข้าพัก

- “ขายควายช่วยแม่” เป็นเพลงฮิตของนักร้องลูกทุ่งมนสิทธ์ คำสร้อย ที่แสดงถึงประโยชน์ของควายได้ แม้ฟังแล้วน้ำตาจะไหล

- ขายควายส่งคนเรียน มีประโยชน์กว่า ขายควายส่งควายมาเรียน

- หมีควายเป็นสัตว์ที่ไม่เกี่ยวกับควายเลย แต่เพราะสีดำตัวใหญ่เลยเรียกหมีควาย ถ้าตัวเล็กกว่าเรียกหมีคน ( ห้ามอ่านผิด )


- ค ควาย เป็นอักษรในภาษาไทยที่ใช้สะกดคำว่า คน ทั้งๆที่มีอีกษร ฅ ฅน อยู่แล้ว

- ที่เชียงใหม่ก็มีบ้านควายไทยเหมือนกัน

- กาดงัวกาดควาย เป็นภาษาเหนือ เป็นสถานที่ขายของเก่า เช่น พวกมอไซด์เก่า ของเก่าๆ ในอดีตมีวัวควายขายจริงๆ

- บทอาขยานที่ใช้ท่องในวัยเด็กของบุคคลบางท่าน เคยได้ยินกันไหมครับ

นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า

นกเอ๋ยนกเอี้ยง………………………………คนเข้าใจว่าเจ้า เลี้ยงซึ่งควายเฒ่า

แต่นกเอี้ยงนั้นเลี่ยงทำงานเบา…………..แม้อาหารก็ไปเอาบนหลังควาย

เปรียบเหมือนคนทำตนเป็นกาฝาก…….ร้มากเอาเปรียบคนทั้งหลาย

หนีงานหนักคอยสมัครงานสบาย……….จึงน่าอายเพราะเอาเยี่ยงนกเอี้ยง เอยฯ


แหม! เจ้าควายนี่ช่างดีและมีมากจริงๆ ถ้าอย่างนั้นเรามาทำความรู้จักกับควายให้ลึกกันอีกนิดนึงนะครับ…ความจริง แล้วควายนั้นเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อยู่ในตระกูล Bovidae จัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์ที่เคี้ยวเอื้องมีกีบคู่ โตเต็มวัยเมื่ออายุ 5 – 8 ปี ตัวผู้จะตัวใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย การแบ่งชนิดและสายพันธุ์จะแบ่งตามภูมิศาสตร์และสถานที่ โดยอาศัยลักษณะรูปร่างภายนอกเพียงคร่าว ๆและมักจะเรียกตามภาษาท้องถิ่น โดยไม่มีมาตรฐานแน่นอน จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือควายป่าและควายบ้าน ควายบ้านจะแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆที่ยอมรับกันทั่วไป จะมีอยู่สองชนิด คือ ควายปลัก (Swamp buffalo) และควายน้ำ (River buffalo) ถ้าได้รับการดูแลให้น้ำท่าอาหารอย่างดีจะมีน้ำหนักได้ถึง 300 – 600 กิโลกรัม ควายป่าจะมีน้ำหนักมากกว่าคือ 800 – 1,200 กิโลกรัม ส่วนควายที่ตัวใหญ่ ๆ ขนฟู (ไบซัน) นั้นจะเป็นญาติห่าง ๆ กันกับควายไทยของเรา

เมื่อควายยังเล็กนั้น จะกินนมแม่อยู่ประมาณ ปีครึ่ง ถึงหย่านม โดยเรามักเรียกลูกควายที่ยังติดแม่ว่า ลูกแหง่ จนกลายเป็นสำนวนกระทบกระเทียบคนที่โตแล้วยังติดแม่ว่าเป็น “ลูกแหง่” ควายที่จะถูกนำมาฝึกใช้งานได้จะมีอายุได้ประมาณ สอง ถึง สามปี และจะใช้งานได้จนถึงอายุควายได้ 20 ปี ก็จะปลดระวาง หรือปลดเกษียณควาย โดยเฉลี่ยควายจะมีอายุประมาณ 25 ปี

บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าควายป่าคือกระทิง ความจริงแล้วเป็นสัตว์คนละชนิดกันเลยครับ ควายป่ามีลักษณะเหมือนกับควายบ้านทุกประการเพียงแต่ว่าอาศัยอยู่ในป่าเท่า นั้น ปัจจุบันมีเหลืออยู่น้อยมาก ล่าสุดมีรายงานการค้นพบในป่าห้วยขาแข้งเหลือไม่ถึง 50 ตัวเท่านั้น คาดว่าสาเหตุหลักเกิดจากการถูกล่านำไปเป็นอาหาร

ส่วนใหญ่ควายไทยจะมีนิสัยสงบเสงี่ยม เจียมตัว เรียบร้อย ไม่โหดร้าย ป่าเถื่อน พูดจาให้คำสั่งกับมันก็ฟังรู้เรื่อง ให้ไปซ้าย ไปขวา กระตุกเชือกให้สัญญาณ พูดออกคำสั่ง ไปซ้ายพูด “ทูล” ไปขวาพูด “ถาด” ให้รีบตรงไปข้างหน้าออกเสียง “ฮึ่ย ๆ” บอกให้หยุดก็พูด stop เอ้ย! ไม่ใช่ พูดยอ หรือ หยู้ดดดดด ยาว ๆ เขาก็จะหยุด จะไม่เหมือนกับสัตว์บางจำพวก ที่บางครั้งใช้ภาษาง่ายๆ บอกให้อยู่รวมกันอย่างสงบ สันติ สามัคคีกัน อย่าทะเลาะเบาะแว้งกันก็ยังฟังไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ แปลกมั้ย!

แต่ใครจะรู้บ้างไหมว่าอีกด้านหนึ่งของ “ควาย” นั้นยังมีประโยชน์และคุณูประการมากมายเพียงใด ที่คอยช่วยทำนาให้เรามีข้าวกิน, ในอดีตนั้นในช่วงฤดูทำนา ควาย จะทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวไร่ ชาวนา คราดไถ ทำเทือก ขนย้าย ถ่ายเท ฟ่อน ฟางข้าวจากแปลงนาขึ้นสู่ลานข้าว มิหนำซ้ำยังต้องย่ำ ต้องนวดแยกเมล็ดออกจากตอซังฟางข้าวเพื่อให้ชาวบ้านำไปสีไปหุงกากินกันตาม วิถี ในกระบวนการสีขาวนี้ ก็ยังต้องใช้ควายเข้ามาช่วยอีกด้วยเหมือนกัน การคมนาคมหรือการขนส่ง ควายในอดีตก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยขนย้ายถ่ายเทสินค้าหรือของป่าเทียมเกวียน เข้าไปขายในเมือง จะเห็นว่าควายนั้นมีส่วนช่วยชาวไร่ชาวนาหรือผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ รับความสะดวกสบายมิใช่น้อย

ควายเป็นสัตว์ที่มีความอดทนสูงมากต่างจากวัวซึ่งจะชอบอยู่เฉพาะที่แห้ง ๆ เท่านั้นไม่ชอบน้ำ ทำวัวให้มีบทบาทน้อยกว่าควายมากในการช่วยเหลือมนุษย์ในการทำการเกษตร (แต่ทำไมปัจจุบันควาย จึงค่อยๆถูกลดบทบาทและเหลือจำนวนน้อยกว่าวัวลงไปเรื่อย ๆ)

เมื่อควายสิ้นชีพลง เราก็สามารถนำเนื้อหนังมังสามาทำเป็นอาหารแจกจ่าย แบ่งสันปันส่วนกินกันได้ทั้งหมู่บ้านจะตากแห้งทำเนื้อเค็มก็เก็บไว้ได้เป็น แรมปี หนังของควายก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า ในอดีตก็นำไปทำเป็นแอกคราดไถ (เครื่องมือที่ใช้สำหรับสวมคอควายเพื่อที่จะไถคราดนา มีอยู่ 2 ชนิดคือแอกควายคู่กับแอกควายเดี่ยว) ฯลฯ กระดูกของควายก็สามารถที่จะนำมาหมักเกลือทำน้ำปลา หรือนำไปบดป่นทำเป็นปุ๋ยปรับปรุงดินก็จะให้แร่ธาตุแคลเซียมแก่พืชได้เป็น อย่างดี เราสามารถที่จะใช้ควายช่วยทำงานไปได้ตลอด เมื่อหมดรุ่นพ่อรุ่นแม่ก็สามารถใช้รุ่นลูกได้อีก เพราะควายเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถออกลูกออกหลานเพิ่มสมาชิกใหม่ให้เราได้ ตลอดตามธรรมชาติของมัน และถือว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และมีความสำคัญไม่น้อย ในกรณีที่ควายนั้นกินหญ้าไม่กินน้ำมันทำให้ไม่ต้องไปซื้อหาพลังงานมาเติมให้ เปลืองเงินทอง เมื่อขับถ่ายออกมาเป็นขี้ควายก็นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกช่วยประหยัดเงินใน การซื้อปุ๋ยเคมี ส่วนตัวของควายเองก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สามารถนำไปแปลงเป็นทุนในยามขาด แคลนเงินทอง จากการที่ส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองแล้วขัดสนค่าเทอมในยามที่รัฐเขาไม่มีนโย บายการให้เงินทุนกู้ยืมในบางปี ถึงแม้ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากควายมามากมายเพียงใด แต่ควายก็ถูกลดบทบาทและค่อย ๆ ถูกลืมเลือนจางหายไปจากความทรงจำเรื่อยๆ เมื่อมี “ควายเหล็ก” เข้ามาแทนที่

“ควายเหล็ก” อ้อ! ไอ้เจ้านี่ไม่ใช่ควายพันธุ์ใหม่อะไรหรอกนะครับ แต่เป็นเครื่องจักรที่เข้ามาทำงานแทนควายในยุคปัจจุบัน เจ้าสิ่งนี้คือตัวการสำคัญที่ทำให้ ควายไทยหายไปจากชีวิตชาวนา! (ทำไมเราจึงปล่อยให้มันเข้ามาแย่งอาชีพควายได้ละหนา) ทั้งที่มันก็นำพาความเสื่อมโทรมมาสู่โลกและทำลายสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติ ควายเหล็กนั้นต้องใช้น้ำมันเป็นพลังงานในการขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องมีมลพิษที่ขับออกมาเป็นมลภาวะในชั้นบรรยากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่ ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ราคาก็แพง อีกทั้งในระหว่างที่ทำงานก็มีเสียงดังโหวกเหวกหนวกหูไปทั่วทั้งทุ่ง ถ้ามีอายุการใช้งานนานจนเกินกว่าจะซ่อมแซมก็ต้องขายทิ้งเป็นเศษเหล็ก หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์ประจำหมู่บ้านเป็นขยะเศษเหล็กที่ใช้การ ไม่ได้ซ่อมแซมก็ไม่คุ้มค่า ซากของควายเหล็กก็กินไม่ได้แล้วทำไมเรายังไม่หันกลับมาอนุรักษ์ ทำนุบำรุง รักษาของดี ๆ ที่ยั่งยืนนี้ให้อยู่กับเราไปนานๆ… น่าคิดกันไหมครับ

 

นายมนตรี  บุญจรัส

วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม 2553 

หมายเลขบันทึก: 360666เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Wonderful snippets on ควาย ;-), light-hearted but deeply serious!

Congratulations and thank you for this excellent work.

อ่านแล้วประทับใจนะครับ ช่วยกันส่งเสริมเลี้ยงควายดีกว่า

เขียนดีมาก​ ให้ความรู้สำหรับเด็กๆยุคใหม่ได้ดีมากคะ​เขียนบทความสนุกๆอีกเยอะเลยนะค่ะจะรอติดตามผลงานเรื่อยๆเลยคะ

เขียนดีมาก​ ให้ความรู้สำหรับเด็กๆยุคใหม่ได้ดีมากคะ​เขียนบทความสนุกๆอีกเยอะเลยนะค่ะจะรอติดตามผลงานเรื่อยๆเลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท