การเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่โครงการหลวง


ชุมชนเข้มแข็งหมายถึง ชุมชนที่ประชาชนในชุมชนรวมตัวกันเป็น “องค์กรชุมชน” โดยมีการเรียนรู้การจัดการและการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชุมชน แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

โครงการหนึ่งที่รับผิดชอบอยู่เมื่อครั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงก็คือโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง  ซึ่งในการทำงานได้ร่วมกันพัฒนากระบวนการทำงานและเกณฑ์วัดความเข้มแข็งของชุมชนไว้ดังนี้

กระบวนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง
                1. สำรวจภาคสนามและรวบรวมข้อมูล บริบทพื้นที่และค้นหาทรัพยากรบุคคลในชุมชน เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น ทุนทางสังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณี และกฏระเบียบชุมชน

    2.จัดเวทีชุมชนเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาแบบบูรณาการของชุมชน ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ตัวแทนกลุ่มในชุมชน องค์กรท้องถิ่นและตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ระดมสมองแสดงความคิดเห็นมุ่งเน้น การส่งเสริมกระบวนการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของชุมชนในลักษณะ “ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้” อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต ตลอดจนการจัดการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงให้เกิดความยั่งยืน

    3.ให้ความรู้ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม องค์กรพึ่งตนเอง การบริการจัดการกลุ่ม กฎระเบียบชุมชน เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการ และขยายฐานความรู้ไปสู่ชุมชนในพื้นที่โครงการหลวง และกระตุ้นให้มีการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาของชุมชนและค้นหาแนวทางแก้ไข ตลอดจนการร่วมกันหาวิธีป้องกันปัญหาหรือผลกระทบด้านลบที่จะเข้ามาในชุมชน

                4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยสนับสนุนการรวมตัวเป็นกลุ่มพึ่งตนเองในด้านต่างๆ หรือรวมกลุ่มเป็นองค์กรสร้างความร่วมมือ แลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลข่าวสาร ทั้งด้านการผลิต การพัฒนาสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มป้องกันไฟป่า กลุ่มอนุรักษ์น้ำ เป็นต้น

                5. ประเมินผลเข้มแข็งของชุมชน ทั้งการให้ชุมชนประเมินตนเองและการประเมินโดยหน่วยงานภายนอก ได้แก่ 

                  5.1 ด้านเศรษฐกิจ

                                 5.1.1 มีการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยฐานความรู้จากโครงการหลวงและภูมิปัญญาท้องถิ่น

                5.2) ด้านสังคม

                                5.2.1 มีกลุ่มกิจกรรมเพื่อการพึ่งตนเอง (Self Help Organization) ในรูปแบบต่าง ๆ

                                5.2.2 มีการดำเนินกิจกรรมด้านศาสนา ศีลธรรมและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน

                                5.2.3 ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและ                    สอดคล้องกับศักยภาพของชุมชน

                5.3) ด้านการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

                                5.3.1 มีการรวมกลุ่มและกิจกรรมของชุมชนในการฟื้นฟูและป้องกันรักษา                    ทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน 

                                5.3.2 การมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน

                6. ติดตามผลและประกาศให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง

 

เกณฑ์วัดชุมชนเข้มแข็ง

             ชุมชนเข้มแข็งหมายถึง ชุมชนที่ประชาชนในชุมชนรวมตัวกันเป็น “องค์กรชุมชน” โดยมีการเรียนรู้การจัดการและการแก้ไขปัญหาร่วมกันของชุมชน แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ตลอดจนมีผลกระทบสู่ภายนอกชุมชนที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยชุมชนเข้มแข็งในพื้นที่โครงการหลวง มีเกณฑ์การประเมินชุมชนเข้มแข็งดังนี้

                1. ครัวเรือนจำนวนร้อยละ 50 ของครัวเรือนในชุมชนที่ประกอบอาชีพ ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ที่ได้รับความรู้จากโครงการหลวงหรือใช้ภูมิปัญญาจากท้องถิ่น

                2. มีกลุ่มกิจกรรมเพื่อการพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น  กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร หรือกลุ่มอื่นๆที่มีในชุมชนอย่างน้อยชุมชนละ1 กลุ่ม โดยมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 20 คน

                3. มีการดำเนินกิจกรรมด้านศาสนา ศีลธรรมและวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน ร่วมกันของคนในชุมชน ตามวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าอย่างสม่ำเสมอ

                4. ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของชุมชน  โดยมีการจัดเวทีชุมชนและทำแผนชุมชน ชุมชนละ 1  แผน  

                5. ชุมชนมีการรวมกลุ่มและจัดกิจกรรมของชุมชนเพื่อการฟื้นฟูและป้องกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน เช่น การจัดทำแนวป้องกันไฟป่า   การจัดทำหรือซ่อมแซมฝายชะลอความชุ่มชื้นหรือฝายดักตะกอน   หรือจัดกิจกรรมการปลูกป่า อย่างน้อยชุมชนละ 1 กิจกรรม 

                6. ชุมชนมีส่วนร่วมในการรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชน  โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการหมู่บ้านสะอาดและการจัดตั้งกฎระเบียบของชุมชน

                7. ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนหรือองค์ความรู้ภายนอกได้

 

หมายเลขบันทึก: 360446เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท