ชีวิตที่พอเพียง : 52. เที่ยวพิพิธภัณฑ์ในบอสตัน


ความรู้จากกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เป็นความรู้บูรณาการ ไม่แยกสาขาวิชา แต่เชื่อมโยงอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นการเข้าชมพิพิธภัณฑ์และเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์จะช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์และสังคมมนุษย์มากขึ้น

           ทั้งลูกสาว ลูกชาย และภรรยา รู้ใจ ว่าผมชอบดูพิพิธภัณฑ์ และถ้ามีเวลาก็จะชมพิพิธภัณฑ์ได้นานเป็นวันๆ โดยไม่เบื่อ วันศุกร์ที่ ๙ มิย. ๔๙ ลูกสาวจึงขับรถพาไปส่งที่ Museum of Fine Arts, www.fa.org, ตั้งอยู่ที่ 465 Hunngton Ave, Boston MA 02115 เป็นส่วนหนึ่งของ Institute of Museum and Library, massculturalcouncil.org,

           เราไปชมกัน 3 คน คือลูกชาย ภรรยา และผม ค่าเข้าชมคนละ US$ 15  เข้าดูได้อีก 1 ครั้ง ภายใน 10 วัน  มีศิลปะทุกยุค ทุกส่วนของโลก นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการพิเศษอีกหลายรายการ    ลูกชายเคยมาดูแล้ว เขาจึงคล่องแคล่วว่ามีอะไรอยู่ที่ไหน เขากำลังสนใจเรื่องราวของทิเบต จึงไปถ่ายรูปศิลปวัตถุของทิเบตไว้ด้วยความพอใจ    ผมดูไปถ่ายรูปไป และบันทึกเสียงคำบรรยายภาพหรือวัตถุไว้ ที่จริงเขามีระบบเสียง (audio) อธิบายรายละเอียดของแต่ละจุด ให้เช่า   แปลกใจว่าเดี๋ยวนี้เขาไม่ห้ามถ่ายรูปจากศิลปวัตถุที่ตั้งแสดง อาจเป็นว่าเขาเห็นผมถ่ายรูปโดยไม่ใช้แฟลช หรืออาจบวกกับความเป็นผู้สูงอายุ เขาจึงไม่ห้ามปราม   การดูศิลปะต้องใจเย็นๆ ค่อยๆ ดู ค่อยๆ อ่าน ทำความเข้าใจทั้งเชิงเหตุผล และแรงขับดันเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ศิลปะนั้น    ผมฝึกเรียนรู้ทั้งสาระเชิงศิลปะ  วิธีชมพิพิธภัณฑ์  วิธีจัดพิพิธภัณฑ์  และความคิดเบื้องหลังของการมีพิพิธภัณฑ์

           ระหว่างเข้าชมอยู่นั้น มีครูพาเด็กเล็กบ้าง เด็กโตบ้าง มาชม และครูจะบอกเด็กว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่แน่ใจว่ามีการมอบหมายสาระการเรียนรู้มาก่อนหรือไม่   ผมเดาว่าน่าจะมี   

           ชิ้นงานศิลปะเป็น part of the whole คือมองเฉพาะชิ้นที่เอามาตั้งแสดงเราจะไม่ค่อยเข้าใจ    พออ่านคำอธิบายและภาพวาดกระท่อมหัวหน้าเผ่าในนิวกินี ผมจึงเข้าใจว่าชิ้นงานไม้แกะสลักขนาดสูงเกือบเท่าคนนั้นเป็นเครื่องประดับสองข้างประตูกระท่อม แสดงฐานะความเป็นหัวหน้าของเจ้าของ     มองในมุมหนึ่งศิลปะจึงเป็นการสร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ เพื่อจัดระเบียบสังคม    เพื่อทั้งปลดปล่อยพลังของความเป็นมนุษย์ และเพื่อใช้ศิลปะนั้นเองเป็นสัญลักษณ์ควบคุมพฤติกรรมของคน

                         

ศิลปะของอินเดียนแดง 1800 ปีก่อนคริสตกาล   ทำด้วยทอง   สะท้อนความเจริญของเทคโนโลยีด้านโลหะของชนเผ่านี้

                         

ถังน้ำดื่มของอินเดียนแดงเผ่ามายา ระหว่างปี คศ. 593 - 830  แสดงความเจริญด้านวัสดุศาสตร์ และด้านศิลปะ

            ผมมองว่าศิลปะก็คล้ายเทคโนโลยี คือมี ๒ ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายสร้าง และฝ่ายเสพ    ฝ่ายสร้างมักเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข หรือผู้นำ  ฝ่ายเสพเป็นผู้ตาม หรือผู้ถูกกระทำ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว    พิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้แบบเรียนรู้หลายชั้น เรียนรู้แบบองค์รวม หรือเรียนรู้แบบมีชีวิต เห็นความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

            น่าเสียดายที่คนไทยเรามองหรือเข้าใจพิพิธภัณฑ์ผิด เรามองพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บของเก่า มองเป็นเรื่องของอดีต มองเห็นแค่กิจกรรมเก็บรวบรวม มองเห็นแต่อาคาร และวัตถุ ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของพิพิธภัณฑ์    จริงๆ แล้วพิพิธภัณฑ์คือแหล่งเรียนรู้ มีกิจกรรมที่หลากหลายของฝ่ายสร้างสรรค์กิจกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรม    เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของระบบการศึกษา ที่ทั้งฝ่ายผู้จัด และฝ่ายผู้มารับบริการ คือผู้เรียนรู้ ที่หาทางทำความเข้าใจอดีตจากสิ่งของและหลักฐานต่างๆ

             ความรู้จากกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เป็นความรู้บูรณาการ ไม่แยกสาขาวิชา แต่เชื่อมโยงอยู่กับกิจกรรมของมนุษย์ ดังนั้นการเข้าชมพิพิธภัณฑ์และเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์จะช่วยให้เราเข้าใจมนุษย์และสังคมมนุษย์มากขึ้น

            ผมเป็นคนที่เรียนมาน้อย ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องราวของมนุษยชาติ ผมจึงกระหายที่จะเรียนรู้จากพิพิธภัณฑ์    ผมสังเกตว่ายิ่งอายุมากขึ้นผมก็ยิ่งเข้าชมพิพิธภัณฑ์สนุกขึ้น    อาจเป็นเพราะได้สั่งสมทุนเดิมไว้มากขึ้น เอามาปะติดปะต่อเรื่องราวได้ซับซ้อนขึ้น และบางครั้งก็ "เถียง" คำอธิบาย หรือคนจัดได้บ้าง   คือเราคิดในใจ ว่าถ้าจัดอีกแบบหนึ่ง จะเข้าใจได้ลึกกว่า หรือง่ายกว่า เป็นต้น   คือผมหัดชมพิพิธภัณฑ์ทั้งจากมุมมองของผู้เสพ และผู้สร้าง

            ศิลปะเป็นสิ่งที่คู่กับความเป็นมนุษย์ เป็นทั้งสุนทรีย์ และเป็นเครื่องมือให้ความั่นคงทางใจโดยใช้ศิลปะสื่อสารกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือความเชื่อ รวมทั้งใช้สื่อเชิงอำนาจ เรียกว่าศิลปะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ได้ทุกด้าน

                   

เครื่องประดับศีรษะเวลาเต้นรำฉลองความเป็นชายหนุ่ม  หมู่เกาะทะเลใต้

                  

เศียรพระพุทธรูปจากสยาม  และเศียรพระโพธิสัตว์ นครธม

                  

เศียรพระพุทธรูป คริสตศตวรรษที่ 2, NW Pakistan

                  

แผนที่เดินเรือบอกตำแหน่งเกาะ, Maeshall Island

                  

ไม้แกะสลักขนาบประตูบ้านแสดงว่าเป็นหัวหน้า, New Calidonia

                   

                              จีน รูปหล่อขงจื๊อ

                         

                          ศิลปะกับความตาย อียิปต์โบราณ

                        

   ภาพ Fisherman cottage on the cliff, วาดโดย Monet

     วิจารณ์ พานิช

๑๐ มิย. ๔๙

บอสตัน

แก้ไขเพิ่มเติม ๑๒ มิย. ๔๙

สนามบิน JFK นิวยอร์ก

 

หมายเลขบันทึก: 36006เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 19:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
อ่านเรื่องพิพิธภัณฑ์ ของท่านอาจารย์ แล้ว เห็นว่าต่างประเทศเขาให้ความสนใจในเรื่องของแหล่งการเรียนรู้ของเยาวชนและประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่ได้มีไว้เก็บหรืออนุรักษ์อย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสมิธโซเนียน หรือที่อื่น ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้อย่างดี เข้าไปชมทั้งวันก็ไม่จบ ประเทศไทยเราก็มีหลายแห่งที่น่าสนับสนุนนะครับ เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือ พิพิธภัณฑ์เด็กที่กรุงเทพฯ เป็นต้น ผมมีโอกาสไปเยี่ยม บอสตัน และ MIT โดยส่วนตัวเมื่อเดือน ต.ค. 2548 เพียงแค่ 1 วัน 1 คืน ครับ ไม่ได้ ไปไหนมากนัก นั่งรถฟรีของ MIT ทัวร์รอบรั้วของ MIT 2 รอบ นั่งรถไฟใต้ดินไปเที่ยว ฮาวารด์ และ ฮาวาร์ดสแควร์ นิดหน่อยเท่านั้น เพราะช่วงนั้นฝนตกมาก ก็เป็นการเปิดหูเปิดตาสำหรับคนบ้านนอกอย่างผม ค่าโรงแรมก็สุดโหด คืนละ 201 ดอลลาร์พร้อมภาษี ที่ Kendall Hotel ติดกับ MIT ครับ ก็จำเป็นต้องพักเพราะหาประสบการณ์เล่น ๆ ส่วนตัว ตื่นเต้นดีครับ ยังไม่ลืมเลยจนวันนี้ ไปได้ยังไง ? ยังสงสัยตัวเองอยู่เหมือนกัน พูดภาษาอังกฤษก็พอปานนั้น นั่งรถไฟใต้ดินไปกลับเฉย ไม่คิดกลัวว่าจะหลงหรือย่างไง?

อ่านบันทึกของอาจารย์แล้ว รู้สึกอิจฉานิด ๆ ตามประสาปุถุชน อาจารย์มีโอกาสมากในการเปิดหูเปิดตาตนเองและยังเอื้อเฟื้อความรู้ต่อคนอื่น หากเป็นไปได้อาจให้อาจารย์เล่าเรื่องพิพิธภัณฑ์บ่อย ๆ หากมีโอกาสไปเยี่ยมชมที่ไหน อันไหนดีพอจะปรับใช้กับเมืองไทย ภัณฑารักษ์น่าจะลองนำไปใช้บ้าง

ที่อีสานมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านหลายแห่ง แต่ยังขาดการจัดการที่ดี หมายถึงคนในชุมชนยังใช้ประโยชน์จากพิพิธภัณฑ์ไม่มากพอ โดยเฉพาะการศึกษา หากเป็นไปได้อาจให้อาจารย์เล่าเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เคยพบเห็นมาบ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท