มาดผู้บริหาร


ผู้บริหารที่มีบุคลิกดี ดังผญาภาษิตอีสานที่กล่าวว่า “บุญมีแล้วเป็นนายเขาได้เพิ่ง บุญบ่ให้แสนสิดิ้นกะเปล่าดาย” แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เป็นผู้บริหารสมใจแล้ว สิ่งที่พึงระมัดระวังคือ ต้องเป็นผู้ที่มี “มาด” ด้วย.

มาดผู้บริหาร

สว่าง ไชยสงค์

 

ผู้บริหารในที่นี้ หมายถึงผู้นำองค์กร หรือผู้บังคับบัญชาคนในองค์การ บุคคลเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นบุคคลพิเศษที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ทั้งจากผู้ใต้บังคับบัญชา และจากบุคคลภายนอกองค์การ ดังนั้นผู้บริหารจึงต้องเป็นผู้มี “มาด”

“มาด”  เป็นภาษาปาก หมายถึงพฤติกรรม  การแสดงออก  บุคลิกท่าทางในอิริยาบถต่าง ๆที่ดีงาม และควรรวมเอาความคิดจิตใจผนวกเข้าไปด้วย ดังนั้นผู้บริหารที่มีมาด จึงเป็นผู้ที่คิดกว้าง มองไกล ใฝ่ดี ท่าทางต้องตา วาจาต้องใจ ภายในงดงาม บริหารอย่างมีหลักการ ได้คน ได้งาน หลักการไม่เสีย ถูกต้อง ถูกธรรม ถูกทาง เที่ยงตรง กล้าหาญ จริงใจ ไร้อคติ

   ผู้บริหารที่มีบุคลิกดี จะยังความศรัทธาปาสาทะแก่ผู้พบเห็นทันที และเป็นประโยชน์ต่อการบริหารองค์กรเป็นอย่างมาก ในอันที่จะโน้มน้าวจิตใจคนอื่นให้เห็นคล้อยตาม ตลอดจนสามารถใช้คนอื่นให้ทำงานแทนตนได้ โดยที่คนที่ถูกใช้นั้นเต็มใจทำตาม ซึ่งนอกจากจะมี Authrority แล้ว ยังทำให้มี Influence และ Power ตามมาเป็นอำนาจแฝงอีกด้วย

   ดังนั้น ผู้บริหารวันนี้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะสร้างบุคลิกภาพที่ดี ให้เหมาะสมกับฐานานุรูปและภวะแห่งตน เช่น

   1. ต้องเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ ให้ร่างกายแข็งแรง สดชื่นแจ่มใส ร่าเริงเบิกบานอยู่เสมอ

   2. ศึกษางานในหน้าที่ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการปฏิบัติ กล่าวคือต้องเป็นผู้รู้จริง เป็นเพชรแท้ ชนิดตกไม่แตก ไม่ลอกไม่ดำ สามารถเป็นเอตทัคคะได้ทุกเรื่องที่เป็นงานในหน้าที่

   3. บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ภาษาชาวบ้านเรียกว่าต้องรู้จัก “เอาบ้านเอาเมือง” และรู้จัก “คืนกำไรให้สังคมบ้าง” อันจะทำให้กลายเป็นปิยชนของคนทั่วไป

   4. รู้จักถ่อมตัว เพราะการถ่อมตนเป็นคาถามหาเสน่ห์อีกบทหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี ซึ่งจะช่วยเสริมบุคลิกให้สง่างามขึ้น

   5. ต้องเป็นผู้ขยันหมั่นขวนขวยหาความรู้อยู่เสมอ กล่าวคือ ทำตนให้เป็นพหูสูต ซึมซับรับเอาความรู้สรรพวิทยาการใหม่ ๆ ทั้งจากการฟังและการอ่านอยู่เสมอ

   6. ฝึกนิสัยเป็นนักฟังที่ดี อย่าผูกขาดการพูดเพียงคนเดียว

   7. ฝึกตนให้เป็นผู้มีวาทศิลป์ มีคารมที่คมคาย เฉียบแหลม มีหลักการ มีมธุรสวาจา มีอารมณ์ขันที่สร้างสรรค์ สามารถแสดงทัศนะโน้มน้าวจูงใจคนอื่นได้

   8. เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฐิ มีคุณธรรม เห็นธรรม เห็นทาง ตามแบบอย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

   แนวทางทั้ง 8 ประการที่ยกมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในการสร้าง “มาด”  ของผู้บริหาร ความจริงยังมีอีกมาก

   ในส่วนที่เป็นภัยต่อบุคลิกภาพของผู้บริหารก็มีเยอะ และน่ากลัวไม่น้อย เช่น ความอิจฉาริษยา ความหยิ่งทะนงจองหองพองขน ความอวดดีดื้อรั้นมักใหญ่ใฝ่สูง ความลังเลเชื่องช้าไม่มั่นใจ การสร้างความแตกแยก ตลอดจนการมองโลกในแง่ร้าย คุณลักษณะเหล่านี้ผู้บริหารที่อยากมี “มาด” ที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยง

   อย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผู้บริหารถือว่าเป็นคนพิเศษที่เหนือคนอื่นในองค์กรของตน หลายคนอยากเป็นผู้บริหารแต่ไม่มีโอกาส ดังผญาภาษิตอีสานที่กล่าวว่า “บุญมีแล้วเป็นนายเขาได้เพิ่ง บุญบ่ให้แสนสิดิ้นกะเปล่าดาย”  แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เป็นผู้บริหารสมใจแล้ว สิ่งที่พึงระมัดระวังคือ ต้องเป็นผู้ที่มี มาด ด้วย.

 

หมายเลขบันทึก: 359765เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 08:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าสนใจครับ

อ่านมาดผู้บริหาร อย่าลืมมาอ่านคุณลักษณะผู้บริหารที่ดีบ้างนะครับท่าน มหาสว่าง

สว่างชัย มหาเปรียญธรรม

ขอบคุณทุกความคิดเห็น และไมตรีจิต

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท