ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

หนังสือตอบข้อซักถามของ ดร. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ เรื่องความสัมพันธ์ของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน ในทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตคริ่ง พ.ศ. ...


ภาคผนวกอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ

ภาคผนวกอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย

1.United Nations Convention on the Assignment of Receivables in International Trade

และ

2 หนังสือตอบข้อซักถามดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ เรื่อง ตอบข้อซักถามความสัมพันธ์ของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน   ในทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตคริ่ง พ.ศ. ...

สำหรับส่วนนี้ผู้เขียนขอเสนอหนังสือตอบข้อซักถามท่าน ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ที่ทำให้วิทยานิพนธ์สำเร็จและเนื้อหาสมบูรณ์มากขึ้นมาให้อ่านเพราะท่านเป็นคนเก่งและผู้เขียนถือโอกาสขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่เมตตาผู้เขียนในฐานะหลานลุงเพราะขณะนั้นท่านงานเยอะมาก สำหรับที่นำมาลงนี้ไม่มีลายเซ็นของท่านเพราะไม่มีเครื่องสแกนลงแต่ในเล่มจริงลายเซ็นของท่านปรากฎชัด

    สำหรับตัวบทสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.untritral.org

                                                                                 6 พฤศจิกายน 2548

เรื่อง  ตอบข้อซักถามความสัมพันธ์ของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตคริ่ง พ.ศ. ...

เรียน    นางสาวอรอนงค์  ซังปาน

อ้างถึง  หนังสือซักถามข้อกฎหมายของนางสาวอรอนงค์ ซังปาน

 

            ตามหนังสือซักถามข้อกฎหมายของนางสาวอรอนงค์ ซังปาน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่ง พ.ศ. ... นั้น

            ได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ดังนี้

            1.  ประเด็นการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่ง เป็นการเฉพาะจากบทบัญญัติทั่วไปเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เห็นว่า ปัจจุบันเนื่องจากยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่งเป็นการเฉพาะ จึงทำให้มีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายที่สำคัญหลายประการที่ทำให้การประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่งยังไม่ขยายตัวได้เท่าที่ควร ได้แก่

1.1  การไม่สามารถกำหนดได้ว่าสัญญาแฟคเตอริ่งเป็นสัญญาประเภทใด ระหว่างสัญญากู้ยืม สัญญาซื้อขาย หรือสัญาโอนสิทธิเรียกร้อง ซึ่งสัญญาดังกล่าวมีอายุความที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องระยะเวลาที่สามารถจะฟ้องคดีต่อศาลได้

1.2  การมีข้อกำหนดเรื่องการห้ามโอนไว้ในสัญญาที่จะนำมาทำสัญญาแฟคเตอริ่งของหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชนทั่วไป ซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ของหน่วยงานดังกล่าวไม่สามารถที่จะนำสิทธิเรียกร้องนั้นมาทำสัญญาแฟคเตอริ่งกับบริษัทแฟคเตอร์ เมื่อตนเองขาดสภาพคล่องทางการเงินได้

1.3  การแจ้งโอนสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ มิฉะนั้นไม่สามารถฟ้องคดีได้ ส่วนการทำแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศนิยมการโอนสิทธิเรียกร้องโดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือให้ใช้สติกเกอร์แทนหนังสือบอกกล่าว จึงไม่สอดคล้องกัน

1.4  ธุรกิจแฟคเตอริ่งเป็นการรับโอนหนี้ทางการค้า ซึ่งเป็นการเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ามีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดหาหรือผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่งสามารถเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small Medium Enterprise--SME) ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาและอุปสรรคสำคัญคือการขาดสภาพคล่องหรือขาดแคลนแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับ SME เป็นธุรกิจที่ขาดแคลนทรัพย์สิน จึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อโดยเน้นความสำคัญของการมีทรัพย์สินเป็นประกัน

2.  ประเด็นที่ท่านมีความเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่งมีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่งกับอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ โดยร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่ง ค่อนข้างคุ้มครองเจ้าหนี้มากกว่า แต่อนุสัญญาฯ มีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองลูกหนี้เป็นการเฉพาะนั้น

เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟคเตอริ่งมิได้มุ่งเน้นเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้แต่หากเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจแฟคเตอริ่งดำเนินไปได้โดยไม่มีอุปสรรค และให้ธุรกิจเป็นกลไกเสริมระบบเครดิตของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังได้กล่าวมาแล้ว และเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคจากการที่กฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนและมีปัญหาในการตีความกรณีมีการฟ้องคดี โดยห้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจแฟคเตอริ่งซึ่งปัจจุบันดำเนินการได้อยู่แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยสะดวก โดยมีแนวทางการกำกับดูแล อาทิ

2.1  กำหนดให้ผู้ประกอบการมาจดทะเบียนกับนายทะเบียน ภายใต้พระราช-บัญญัตินี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการ (ลูกค้า) เกิดความชัดเจนว่าได้ติดต่อขอใช้บริการกับบริษัทแฟคเตอร์ที่เป็นที่ยอมรับ

2.2  กำหนดคุณสมบัติผู้จดทะเบียน ต้องมีทุนจดทะเบียนอันชำระเต็มที่แล้วไม่น้อยกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่า สามสิบล้านบาท ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจให้มีขนาดทุนขั้นต่ำในระดับที่สามารถดำเนินกิจการโดยไม่เกิดผลกระทบต่อธุรกิจแฟคเตอริ่งโดยรวม

ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการศึกษาวิทยานิพนธ์ต่อไป

 

                                                                   (ดร. สถิตย์  ลิ่มพงศ์พันธ์)

                                                                        อธิบดีกรมศุลกากร



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท