แนวทางการจัดกิจกรรมจิตสาธารณะในสถานศึกษาตามหลักสูตรใหม่


การสร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้นกับนักเรียนของเราทำได้ถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน

การ จัดกิจกรรมจิตสาธารณะในสถานศึกษา

            หลักสูตร การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551  ซึ่งจะเริ่มใช้ในทุกโรงเรียน ในปี การศึกษา 2553 นี้  ตามหลักสูตรนอกจากการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระแล้ว ในส่วนของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนก็ถือเป็นส่งสำคัญยิ่ง ซึ่งหลักสูตร ได้จำแนกกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็น 3 ลักษณะ คือ 1) กิจกรรมแนะแนว  2) กิจกรรมนักเรียนและ  3) กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์  ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาทุกแห่งจะต้องเน้นการสร้างเยาวชนที่มีความสม ดุลย์ ลูกศิษย์ต้อง “เป็นคนเก่ง เป็นคนดี  มีคุณลักษณะและมีสมรรถนะตามที่หลักสูตรกำหนด”

         การให้นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เป็นความมุ่งหวังที่จะสร้าง “จิตสาธารณะ” และคุณลักษณะแฝงอื่น ๆ อีกมากมาย ผ่านกิจกรรมนี้

         ในการสร้างจิตสาธารณะ คงมีหลายแนวทาง “สถานศึกษาจะต้องคิดกิจกรรม ที่มีความเป็นไปได้ ง่าย และสะดวกในการปฏิบัติ แต่ให้ผลดี”  ต่อไปนี้ อาจเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งเพื่อการสร้างจิตสาธารณะแก่นักเรียน

1) ส่งเสริมให้เด็กมีความสามารถในการดูแลรักษาบ้าน และรับผิดชอบงานบ้าน ถือเป็นงานสาธารณะที่ใกล้ตัว
ที่สุด โดยมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น  ตื่นนอนแต่เช้า  กวาดบ้าน-ถูบ้าน จัดระเบียบ/กวาดบริเวณบ้าน

2) ส่งเสริมให้เด็กร่วมรับผิดชอบในการดูแลรักษาซอย/หมู่บ้านที่อยู่อาศัย  โดยมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรม เช่น  ปลูกต้นไม้ (ไม้ดอก ไม้ประดับ) หน้าบ้านพร้อมดูแลรักษา กวาด/ทำความสะอาดถนนหรือที่สาธารณะรอบบ้านในรัศมี 5 เมตร  เป็น กรรมการฝ่ายเยาวชนเพื่อการดูแลรักษาซอย/หมู่บ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น (หากสถานศึกษากำหนดคุณสมบัติของเยาวชนที่เป็นรูปธรรม ดังตัวอย่างข้างต้น พร้อมผลักดัน หรือส่งเสริมให้เกิดคุณลักษณะต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างจริงจัง ท่านเชื่อหรือไม่ว่า “ชุมชนจะเป็นแหล่งที่น่าอยู่ในชั่วพริบตา”  อีกทั้งเยาวชนจะเกิดคุณลักษณะอื่น ๆ ตามมา เช่น ความเสียสละเพื่อส่วนรวม  ทักษะการจัดการ ฯลฯ)

3) จัดกิจกรรมเพื่อชี้นำทิศทางการพัฒนาหรือแก้ปัญหาให้แก่ชุมชน  อาทิ  ในช่วงฤดูกาลของการเสียภาษีเงินได้ประจำปี  ครูคณิตศาสตร์มอบหมายให้นักเรียนสอบถามเงินได้ของพ่อแม่และนำใบคำนวณภาษี (ภ.ง.ด.91) มาคำนวณที่โรงเรียนแล้วมอบหมายให้นักเรียนนำกลับไปบ้านเพื่อหารือกับคุณ พ่อ-คุณแม่เพื่อชำระภาษีต่อไป  ครูวิทยาศาสตร์/ครูสังคมศึกษาให้นักเรียนร่วมปฏิบัติการรณรงค์การลดการใช้ พลังงานไฟฟ้าในบ้าน  ครูสุขศึกษาร่วมกับชุมนุมสุขภาพในโรงเรียนจัดทำจดหมายเตือนหรือปฏิบัติ กิจกรรมรณรงค์ทำลายแหล่งยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก  โรคหวัดสายพันธุ์ใหม่ หรือโรคอื่น ๆ เป็นต้น

4) สถานศึกษาเป็นแกนนำในการพัฒนาชุมชนในรัศมีที่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา เช่น รับผิดชอบดูแลในรัศมี 1 กิโลเมตร รอบสถานศึกษา โดยร่วมกับชุมชนอย่างจริงจังในการพัฒนาบรรยากาศ/สิ่งแวดล้อมของชุมชน ทั้งนี้ อาจปฏิบัติการผ่านกิจกรรมชุมนุมที่มีอยู่ในโรงเรียน  และเน้นให้นักเรียนมีบทบาทหลักในการร่วมวางแผนพัฒนา  การปฏิบัติการเช่นนี้ เสมือน “การใช้ชุมชนที่เป็นที่ตั้งของสถานศึกษา เป็นห้องปฏิบัติการทดลองประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ แก่ผู้เรียน”  ทั้งนี้เชื่อว่า หากนักเรียนมองเห็นแนวทางการพัฒนาชุมชนที่เป็นรูปธรรม 1 ชุมชน   นักเรียนเหล่านั้นจะสามารถนำประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนที่อยู่อาศัยของ ตนเองได้ในอนาคต  อีกทั้ง โรงเรียนเองก็จะเป็นที่รักใคร่/เป็นที่พอใจของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของ โรงเรียน เป็นโรงเรียนของชุมชนอย่างแท้จริง(อนึ่งชุมชนอาจให้การสนับสนุนงบประมาณ เพื่อการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในส่วนนี้)

5) ประสานงานกับผู้ปกครอง หรือเครือข่ายผู้ปกครอง ให้ร่วมกันวางแผนเพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ร่วมกันเป็นวงศ์ตระกูล  โดย วางแผนเป็นรายปี พร้อมแจ้งแผนงานให้โรงเรียนทราบตั้งแต่ต้นปี การกระทำเช่นนี้ นอกจากจะเป็นการแบ่งเบาภาระของโรงเรียนในการส่งเสริมให้นักเรียนจัดทำ กิจกรรมสาธารณประโยชน์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งเสริมให้ครอบครัวไทย “มีจิตสาธารณะไปในตัวด้วย”

       แนวทางการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีจิต สาธารณะคงทำได้หลายแนวทาง ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมส่วนหนึ่งเท่านั้น ...ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะทำกันอย่างจริงจังเพียงใด เราเห็นคุณค่าของเรื่องนี้มากน้อยเพียงใด...ถ้าทุกคนคิดว่า จิตสาธารณะเป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศ เป็น 1 คุณลักษณะที่จะช่วยให้สังคมอยู่รอดได้....ถ้าคิดเช่นนี้  เราลองมาช่วยกัน โดยการร่วมแรงร่วมใจ ร่วมมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย  นอกจากหลักสูตรจะประสบความสำเร็จแล้ว  ประเทศไทยก็คงประสบความสำเร็จไปด้วย ...อย่างแน่นอน


 
  [ ขอขอบคุณที่มา : บทความโดย ดร.สุพักตร์  พิบูลย์  http://www.thaievaluator.com ]

หมายเลขบันทึก: 359488เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 22:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
นางอนุรักษ์ สุวรรณ์

ดีมากค้ะและจะได้นำความรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมที่โรงเรียน

ขอบคุณค่ะ  ขออนุญาตนำไปประกอบการทำรายงาน

ขอบคุณค่ะ ขออนุญาตนำไปประกอบการทำสอนนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท