ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

บทวิเคระห์อนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ประธานกรรมการสอบ ดร. วิลาวรรณ ลาภวงศ์วัฒนา กก. สอบ ดร.สมชัย ศริสมบูรณ์เวช (ตอน4)


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

บทที่ 4

บทวิเคราะห์อนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ

ตอน 5

2. ผลกระทบของอนุสัญญากับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. …

    ในการยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … ตามที่กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 4 สิงหาคม 2543 ได้นำแนวทางในหลักการของ UNIDROIT Convention on International Factoring มาเป็นแนวทางในการยกร่าง ซึ่งหลักการสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ก็เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวกับการรับซื้อบัญชีลูกหนี้การค้าหรือบัญชีลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งขาดความคล่องตัวเท่าที่ควร กล่าวคือ การทำสัญญาแฟ็คเตอริ่งในประเทศไทยนั้นต้องเป็นไปตามหลักนิติกรรมสัญญาแล้ว นอกจากนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการโอนขายบัญชีลูกหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้น ก็ต้องเป็นไปตามหลักการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งหากนำมาปรับใช้กับการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่งจะมีปัญหาในทางปฏิบัติพอสมควร

   ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว จึงมีความสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาฯ อยู่พอสมควร เพราะอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องในทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศนี้ได้มีการล้อหลักการสำคัญในส่วนของการโอนสิทธิเรียกร้องมาจาก UNIDROIT

    จึงเห็นได้ว่า อนุสัญญาฯ และพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … มีวัตถุประสงค์ประการหนึ่งที่ร่วมกันนั้นก็คือ เพื่อลดอุปสรรคทางกฎหมายเพื่อให้เอื้อต่อธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องโดยการทำธุรกรรมแฟ็คเตอริ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน

    ผู้ศึกษาจึงขอวิเคราะห์เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องมาเปรียบเทียบดังนี้

 2.1  ประเด็นที่หลักกฎหมายในอนุสัญญาฯ มีความสอดคล้องกับร่างพระราช-บัญญัติแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. …

จากการศึกษาพบว่า หลักกฎหมายของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … มีความสอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ในหลักการ ดังต่อไปนี้

1)  เรื่องข้อกำหนดห้ามโอน ดังเห็นได้จากมาตรา 17 วรรคแรก ของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … บัญญัติว่า หนี้ทางการค้าที่ลูกค้าโอนให้แก่บริษัทแฟ็คเตอร์ให้เป็นอันสมบูรณ์ แม้จะมีข้อกำหนดห้ามโอนหนี้ทางการค้านั้นระหว่างลูกค้ากับลูกหนี้ก็ตาม นั้นก็ย่อมหมายความว่า การโอนสิทธิเรียกร้องมีผล  ผูกพันบังคับกันได้ แม้สัญญาจะมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ก็ตาม ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ มีหลักการที่สอดคล้องกับข้อบัญญัติของอนุสัญญาฯ

2)  การลงลายมือชื่อ ในการบอกกล่าวการโอน โดยมาตรา 14 แห่ง พระราช-บัญญัติ.การประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … บัญญัติว่า ลูกค้ามีหน้าที่ต้องทำหนังสือบอกกล่าวการโอนหนี้ทางการค้าแก่ลูกหนี้ทราบแต่อาจมอบหมายให้บริษัทแฟ็คเตอร์เป็นผู้กระทำการแทนได้ หนังสือบอกกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่จำต้องมีการลงลายมือชื่อตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แต่ประการใด

เพื่อประโยชน์ตามมาตรานี้ หนังสือบอกกล่าวดังกล่าวให้รวมถึง โทรเลข โทรพิมพ์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่ออื่นทางเทคโนโลยีสารสนเทศใดที่สามารถ แปลงเสนอเป็นเอกสาร

จากบทบัญญัติ เห็นได้ว่า การโอนสิทธิเรียกร้องโดยวิธีการพิมพ์หรือประทับตราข้อความหรือติดแผ่นข้อความ (สติกเกอร์) ไปกับใบส่งสินค้าหรือใบเรียก เก็บเงิน เพื่อเป็นการแจ้งให้ลูกหนี้ทราบถึงการโอนหนี้ดังกล่าวไปยังผู้รับซื้อบัญชีแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีการลงลายมือชื่อไว้ วิธีการดังกล่าวให้ถือว่าเป็นการบอกกล่าวการโอนโดยถูกต้อง ซึ่งหลักกฎหมายนี้มีหลักการที่สอดคล้องรองรับกันกับอนุสัญญาฯ เพราะธุรกรรมแฟ็คเตอริ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งของธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องฯ ในอนุสัญญาฯ 

3)  การโอนสิทธิเรียกร้องในอนาคต ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … มาตรา 10 บัญญัติว่า “ข้อกำหนดในสัญญาแฟ็คเตอริ่งเกี่ยวกับการโอนหนี้ทางการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสามารถทำได้ โดยให้ถือว่า หนี้ทางการค้าในอนาคตสามารถทำได้ โดยให้ถือว่าหนี้ทางการค้านั้นได้โอนเป็นของบริษัทแฟคเตอร์ เมื่อหนี้ทางการค้าได้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องทำสัญญาเพื่อโอนหนี้ทางการค้านั้นให้แก่บริษัทแฟคเตอร์อีก และมาตรา 11 แม้ว่าข้อกำหนดในสัญญาแฟ็คเตอริ่งเกี่ยวกับการ โอนหนี้ทางการค้าที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรือจะมีขึ้นในอนาคตจะเป็นการกำหนดไว้โดยทั่วไปโดยมิได้จำแนกแจกแจงเป็นรายการก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวให้ถือว่ามีผลสมบูรณ์ หากสามารถระบุได้แน่ชัดในขณะทำสัญญาหรือเมื่อหนี้ทางการค้านั้นได้เกิดขึ้นว่าเป็นหนี้ทางการค้าที่โอนตามสัญญาแฟ็คเตอริ่ง

    โดยหลักในธุรกิจแฟ็คเตอริ่งมักจะมีการทำสัญญาข้อตกลงหลัก (Master Agreement) ไว้ว่า จะมีการซื้อขายลูกหนี้การค้าเป็นงวด ๆ ในอนาคต และเมื่อมีการส่งมอบสินค้าในแต่ละงวดก็จะทำสัญญาขายประกอบ ซึ่งสัญญาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามสัญญาหลักถือเป็นหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง แต่เป็นการบัญญัติกฎหมายเผื่อไว้ในอนาคต ดังนั้นหลักกฎหมายทั้งสอง ดังกล่าวจึงมีความสอดคล้องรองรับกันในประเด็นเหล่านี้

2.2  ประเด็นที่อนุสัญญาฯ วางหลักการของกฎหมายได้ครอบคลุมกว่า

จากการศึกษาพบว่า แม้ว่าอนุสัญญาฯ กับหลักการร่างพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … จะมีความสอดคล้องกันในบางประเด็น แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลักการบางอย่างที่ร่างพระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … มี แต่ไม่ครอบคลุมถึง เช่น อนุสัญญา โดยที่อนุสัญญาฯ มีฐานะเป็นกฎหมายระหว่างประเทศและครอบคลุมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินเกือบทุกประเภท ซึ่งรวมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย จึงมีประเด็นที่อนุสัญญาฯ แตกต่างกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่งพ.ศ. … ในหลายประการด้วยกัน ดังนี้

  1)  หลักการคุ้มครองลูกหนี้ หลักนี้ถือเป็นหลักที่สำคัญมากทีเดียว ผู้ศึกษา จึงจำเป็นต้องหยิบยกมากล่าวเป็นประเด็นก่อน โดยจากการศึกษา พบว่า อนุสัญญาฯ มีข้อบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองลูกหนี้เป็นเฉพาะ ที่ให้ความคุ้มครองลูกหนี้อย่างเพียงพอที่จะไม่ได้รับผลกระทบอย่างไม่จำเป็นจากการโอนสิทธิเรียกร้อง เช่น หากลูกหนี้ไม่ยินยอม ผู้รับโอนและผู้โอนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้ลูกหนี้ต้องปฏิบัติในเรื่องที่สำคัญ ๆ เช่น สกุลเงินหรือประเทศที่ลูกหนี้จะต้องชำระเป็นต้น ขณะที่ร่างพระราช-บัญญัติ การประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … อาจจะไม่ได้บัญญัติในเรื่องดังกล่าวไว้อย่างเพียงพอ เมื่อเทียบกับอนุสัญญา (เช่นเดียวกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหลักกฎหมายแพ่งว่าด้วยการคุ้มครองลูกหนี้ (โปรดดูรายละเอียดในบทวิเคราะห์ข้อ 1.3 เพราะหลักการเดียวกัน)

2)  หลักความเป็นระหว่างประเทศ ความแตกต่างอีกประการหนึ่ง คือ ความเป็นระหว่างประเทศของอนุสัญญาฯ โดยเจตนามุ่งเน้นในหลักการสร้างมาตรฐานของหลักปฏิบัติและการอ้างหลักกฎหมายที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อความเข้าใจตรงกัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่า หลักสำคัญของการโอนสิทธิเรียกร้องภายใต้อนุสัญญา   จะต้องมีความเป็นระหว่างประเทศ กล่าวคือ ต้องเป็นสิทธิเรียกร้องระหว่างประเทศ (International Receivable) หรือเป็นการโอนระหว่างประเทศซึ่งสิทธิเรียกร้อง (International Assignment)

  โดยขณะที่ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … นั้น หากมีการออกมาเป็นพระราชบัญญัติและมีผลใช้บังคับแล้วก็จะมีฐานะเป็นกฎหมาย  ภายในที่บังคับใช้ภายในรัฐเท่านั้น นั้นหมายความว่า จะเกี่ยวข้องเฉพาะธุรกรรมการโอนสิทธิภายในประเทศเท่านั้น 

3)  ประเภทของธุรกรรม อนุสัญญาฯ มีความครอบคลุมของประเภทธุรกรรม การโอนสิทธิเรียกร้องมากกว่า ร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … กล่าวคือ อนุสัญญาทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ นั้นมิได้ครอบคลุมถึงการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากการค้าสินค้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่ไม่ได้เกิดจากการค้าสินค้าด้วย เช่น ธุรกรรม การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization, Project Financing) สิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากสัญญาในระบบการชำระหนี้บริสุทธิ์ (Netting Agreement) ที่สถานะของสัญญาในระบบนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

สำหรับในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … กับอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศนี้ ผู้ศึกษาได้เรียนขอความเห็นจาก อาจารย์สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์[1] โดยเป็นการซักถาม ในเรื่องนี้อาจารย์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องกันดังนี้

การแจ้งโอนสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถฟ้องคดีได้ ส่วนการทำแฟ็คเตอริ่งระหว่างประเทศนิยมการโอนสิทธิเรียกร้องโดยใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (e-mail) หรือใช้สติ๊กเกอร์แทนหนังสือบอกกล่าวจึงไม่สอดคล้องกัน

     ธุรกิจแฟ็คเตอริ่งเป็นการรับโอนหนี้ทางการค้า ซึ่งเป็นการเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้ามีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อจัดหาหรือผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด กล่าวอีกนัยหนึ่งสามารถเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาและอุปสรรคสำคัญ คือ การขาดสภาพคล่องหรือขาดแคลนแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับ SME เป็นธุรกิจที่ขาดแคลนทรัพย์สิน จึงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อโดยเน้นความสำคัญของการมีทรัพย์สินเป็นประกัน

   ประเด็นที่ว่าร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่งมีความใกล้เคียงกันอย่างยิ่งกับอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศโดยร่างพระราช-บัญญัติแฟ็คเตอริ่งค่อนข้างคุ้มครองเจ้าหนี้มากกว่า แต่อนุสัญญาฯ มีบทบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองลูกหนี้เป็นการเฉพาะนั้น  เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่ง มิได้มุ่งเน้นเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ แต่หากเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจแฟ็คเตอริ่งดำเนินไปได้โดยไม่มีอุปสรรคและให้ธุรกิจเป็นกลไกเสริมระบบเครดิตของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมดังได้กล่าวมาแล้ว และเพื่อขจัดปัญหาและอุปสรรคจากการที่กฎหมายในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนและมีปัญหาในการตีความกรณีมีการฟ้องคดี โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการได้อยู่แล้ว ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยสะดวก ในประเด็นทั้งหลายเหล่านี้

    สำหรับผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับอาจารย์ แต่ผู้เขียนเห็นต่างกับอาจารย์  เล็กน้อยว่า ในหลักการโอนสิทธิเรียกร้องในร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … นั้น หากเปรียบเทียบกับหลักการในอนุสัญญาฯ แล้วอนุสัญญาจะให้ความคุ้มครองลูกหนี้มากกว่าหลักการในร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … ซึ่งหลักการในอนุสัญญา    น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการโอนสิทธิเรียกร้องในทางการค้าระหว่างประเทศในกรณีที่เป็นธุรกรรมในเชิงรุกซึ่งไม่ใช่ธุรกิจแฟ็คเตอริ่งเพียงอย่างเดียวมากกว่า

 


[1]ผู้เป็นประธานในการยกร่างพระราชบัญญัติแฟ็คเตอริ่ง พ.ศ. … ซึ่งในขณะนั้นอาจารย์ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2542 ปัจจุบัน อาจารย์ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท