ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>กฎหมายชุมนุมต้องรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน


กฎหมาย

อ.สิทธิโชค ศรีเจริญ กฎหมายชุมนุมต้องรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน  Date : 10/05/2010

 

พลันที่ร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฉบับของรัฐบาล ที่ยกร่างโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มเป็นที่รับรู้ของผู้คนในสังคม ก็เริ่มมีกระแสตอบรับในทางที่ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากมีการให้ดุลพินิจในการใช้อำนาจจัดการม็อบต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างมาก กอปรกับมีความรีบเร่งในการร่างโดยขาดการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม
 
ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งมีหน้าที่ในการศึกษาและเสนอแนะจัดทำกฎหมายที่จำเป็นต้องตราขึ้นเพื่ออนุวัติการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการเฉพาะ เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้เป็นกลไกที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และเหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยอย่างแท้จริง พร้อมเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป
 
ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมในที่สาธารณะ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้กล่าวถึงเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ไว้ในเวทีสาธารณะเรื่อง การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” ว่า 
 
กฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญซึ่งมีผลกระทบกับประชาชนในภาพรวม ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม ท่าน ศ. ดร. คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงให้รีบเปิดเวทีเพื่อให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น เพราะว่าการชุมนุมในที่สาธารณะมีความหลากหลาย ไม่ใช่เป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ มากมาย การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งจำเป็น
 
สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเสรีภาพที่ต่อยอดมาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ เป็นเสรีภาพที่ถือว่าเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐและมีสมองที่ดี เมื่อคิดแล้วปากก็อยากพูด พูดคนเดียวไม่สนุก ก็อยากพูดกับเพื่อนว่าสิ่งที่ตนคิดถูกหรือเปล่า พอเพื่อนเห็นด้วยก็เริ่มขยายผล และเริ่มเป็นกลุ่ม
 
เมื่อความคิดอันนั้นไม่ตรงกับผู้ปกครอง หรือไม่ตรงกับสภาวะแวดล้อม หรือไม่ตรงกับอะไรบางสิ่งบางอย่างที่เรารู้สึกว่ารับไม่ค่อยได้ ก็เกิดเป็นความคิดที่กระจายออกไป และเกิดการรวมกลุ่มของผู้ที่มีความคิดเดียวกัน อันนั้นเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าจะให้เกิดพลังต้องชุมนุม
 
การชุมนุมจึงเป็นสิ่งที่พัฒนาการมาจากเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีหลักอยู่ว่า มีพลังจากมวลชนที่รวมกลุ่มในความคิดอันเดียวกัน แต่เมื่อมีพลังขึ้นมาแล้วควรต้องอยู่ในกรอบ ถ้าพลังตัวนี้ไม่อยู่ในกรอบอาจเกิดอันตรายได้ เพราะฉะนั้นกรอบส่วนหนึ่งมาจากกรอบของกฎหมาย อีกส่วนหนึ่งจะมาจากกรอบของวัฒนธรรมของชุมชนด้วย
 
การชุมนุมสาธารณะนั้นไม่ได้หมายความว่าจะเกิดในกรุงเทพฯ เสมอไป อาจเกิดขึ้นในจังหวัดหรืออำเภอต่างๆ ซึ่งบางทีเขาอาจจะชุมนุมเรื่องราคาพืชผลตกต่ำ เป็นการชุมนุมที่ผู้ชุมนุมเขาเดือดร้อนจริงๆ และเขาต้องทำเพื่อความอยู่รอด หรือเพื่อประโยชน์ของชุมชน อันนั้นผมคิดว่าเป็นการชุมนุมในเชิงบวก นั่นคือ Concept ที่เราต้องจี้ไปในตัวกฎหมาย และบางครั้งเราต้องอาศัยวัฒนธรรมของชุมชนในเรื่องของการแสดงความคิดเห็นด้วย
 
ผมเห็นด้วยที่แบ่งประเภทของการชุมนุมเป็น 2 ประเภท การชุมนุมธรรมดา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 วรรค 1 อันนี้กฎหมายไปวางกรอบไม่ได้เลย เป็นสิทธิในการชุมนุมของทุกคน ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตรงนี้ชัดเจน
 
แต่ถ้าหากเป็นการชุมนุมสาธารณะ หรือเป็นการชุมนุมในที่สาธารณะไปกระทบเสรีภาพของคนอื่น ในเรื่องที่เขาจะใช้ที่สาธารณะหรือทางสาธารณะนั้นด้วย ตรงนี้ควรจะจัดแบ่งหรือวางกรอบอย่างไรให้การชุมนุมสาธารณะกับคนที่จะใช้ที่ใช้ทางสาธารณะนั้นอยู่ร่วมกันได้ ไม่ทะเลาะกัน ไม่เสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้น ตรงนี้คือกฎหมายที่จะวางกรอบในการอำนวยความสะดวกทั้งผู้ชุมนุมสาธารณะ และผู้ใช้ที่สาธารณะ
 
ซึ่งเป็นกรอบที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้กลไกทางด้านกฎหมายเป็นเครื่องมือเข้ามาปฏิบัติการกับกรอบอันนั้น ให้เกิดกลไกทางกฎหมายขึ้นมาว่าสถานที่ใดบ้าง หรือพื้นที่ใดบ้าง ที่ห้ามการชุมนุม เป็นพื้นที่ห้ามเด็ดขาด เข้าไม่ได้ ซึ่งทุกคนยอมรับว่า ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือองค์ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตรงนี้ต้องเว้น
 
สถานที่ที่เป็นที่ตั้งของอำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล หรือ ศาล อันนี้ต้องยกเว้นและสร้างให้เป็นจารีตประเพณี
 
อีกสถานที่หนึ่งที่เราคิดว่าเกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองมาก คือ สนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่ง เพราะสถานที่เหล่านั้นมีคนเข้าไปใช้ในเชิงสาธารณะมาก หากมีการปิดล้อมจะกระทบกับเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จึงเป็นสถานที่ที่ควรจำกัดไม่ให้ไปชุมนุมปิดล้อม
 
การชุมนุมยังให้ความหมายเรื่องเดินขบวนด้วย กฎหมายต้องขยายความไปถึงเดินขบวนและการเคลื่อนย้ายกลุ่มชุมนุมจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งการเคลื่อนย้ายต้องมีการเดินขบวนในทางสาธารณะ ซึ่งกระทบกับการใช้ทางหลวง
 
กฎหมายอันนี้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาเป็นกลางๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปอำนวยความสะดวก เข้าไปแบ่งปันพื้นที่ให้คู่กรณีสามารถชุมนุมได้โดยไม่ให้คนที่ใช้ทางสาธารณะเดือดร้อน คนที่ใช้ที่ใช้ทางสาธารณะต้องแบ่งปันบ้าง ตอนนี้เขามีความจำเป็นจะต้องชุมนุม เราเคยใช้ 3 เลน ใช้มันแค่เลนเดียวก็พอได้ นี่คือสิ่งที่เราสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้โดยที่ไม่มีใครเสียหาย
 
กฎหมายฉบับนี้จะมีแนวคิดไปในทางกลางๆ ที่สร้างกลไกเพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุมสาธารณะ แต่ก็ต้องมีกรอบในการจัดการกับการชุมนุมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
 
สิ่งสำคัญ คือ กฎหมายอันนี้ต้องส่งเสริมให้เกิดกลไกหรือเกิดเครื่องมือของรัฐที่เป็นสากล ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปช่วยดูแลอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ชุมนุมหรือคนที่จะใช้ที่สาธารณะ โดยที่เขาไม่ได้ร่วมชุมนุม ให้เขาไม่เสียหาย และมีความปลอดภัยจากการชุมนุม และสามารถใช้ที่ใช้ทางสาธารณะได้ตามสมควร
 
เจ้าหน้าที่จะต้องได้รับการฝึกฝนอบรมในเรื่องนั้น ๆ มาอย่างดี ต้องมีความเข้าใจจิตวิทยาชุมชน ต้องฝึกอบรมในเรื่องการอดทนอดกลั้นในบางสิ่งบางอย่าง แล้วต้องไม่พกอาวุธ การพกอาวุธไปทำหน้าที่มีความอันตราย และอาจจะถูกกล่าวหาหรือพูดไปในทางที่จริงบ้างไม่จริงบ้าง
 
แต่ถ้าไม่มีก็จะปลอดภัย เพราะผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธเจ้าหน้าที่ต้องไม่มีอาวุธด้วย หลักสากล คือ มีไม้พลองกับโล่ ระดับที่สูงขึ้นไปหากการชุมนุมมีความรุนแรงหรือมีความจำเป็น เปลี่ยนลักษณะการชุมนุมออกไปเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย จะต้องให้ยุติการชุมนุม
 
ในเรื่องของแผนปฏิบัติการในการดูแลรักษากลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ชุมนุมก็ดี ต้องมีแผนเป็นขั้นเป็นตอนและต้องฝึกอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติตามแผนมาอย่างเป็นสากล ตรงนี้รัฐจะต้องฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการชุมนุมโดยเฉพาะ
 
ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับการฝึกฝน อบรมเรียนศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อแก้ไขและจัดการการชุมนุมที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นให้สามารถสงบได้ โดยที่ไม่ไปบังคับข่มขืนใจหรือไม่ปฏิบัติในเชิงอำนาจ นั่นคือแผนการที่จะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ได้ตามแผน ประชาชนก็รู้ว่านี่คือแผนหนึ่ง แผนสอง แผนสาม และแผนสี่คือแผนสุดท้ายแล้ว ถ้าแผนสี่เอาไม่อยู่จะมีการประกาศกฎหมายอื่นที่แรงขึ้น อันนั้นเป็นเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช่พระราชบัญญัติว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ
 
ต่อไปก็เป็นเรื่องของอุปกรณ์ที่จะใช้ในการยุติการชุมนุม ต้องเป็นมาตรฐานสากล ยกตัวอย่างการใช้แก๊สน้ำตา จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ใช้กันทั่วไป อย่าเอาแก๊สน้ำตาของจีน เพราะมีการสร้างแก๊สน้ำตาที่ไม่เหมือนกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ เพราะฉะนั้นเขาจะมีการระเบิดในเชิงอาวุธด้วย
 
เราต้องศึกษาด้วยว่าเราจะซื้อแก๊สน้ำตา หรือจะทำแก๊สน้ำตาลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ เพียงก่อให้เกิดความรำคาญและไม่สามารถทนการชุมนุมนั้นได้ สิ่งเหล่านี้เราต้องพัฒนาไปในทางสากลและถ้าทำอย่างนี้ได้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะไม่ถูกมองว่าเป็นคนที่จะมาขัดขวางการชุมนุม แต่เป็นคนที่เข้ามาช่วยให้การชุมนุมนั้นเป็นไปตามกรอบกติกาที่เราต้องการจริงๆ
คำสำคัญ (Tags): #ทุกภาคส่วน
หมายเลขบันทึก: 359314เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 12:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 10:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท