การบริหารจัดการความรู้ของศว.พระนครศรีอยุธยา


การบริหารจัดการความรู้ของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยา

การจัดการความรู้คืออะไร

            การจัดการความรู้เป็นกระบวนการ (Process) ที่ดำเนินการร่วมกันโดยผู้ปฏิบัติงานในองค์กรหรือหน่วยงานย่อยขององค์กร เพื่อสร้างและใช้ความรู้ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ดีขึ้นกว่าเดิม การจัดการความรู้ในความหมายนี้จึงเป็นกิจกรรมของผู้ปฏิบัติงาน ไม่ใช่กิจกรรมของนักวิชาการหรือนักทฤษฎี แต่นักวิชาการหรือนักทฤษฎีอาจเป็นประโยชน์ในฐานะแหล่งความรู้ (Resource Person)

            การจัดการความรู้เป็นกระบวนการที่เป็นวงจรต่อเนื่อง เกิดการพัฒนางานอย่าง  ต่อเนื่องสม่ำเสมอเป้าหมายคือ การพัฒนางานและพัฒนาคน โดยมีความรู้เป็นเครื่องมือ      มีกระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ

                     การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย

หลักการสำคัญ  4  ประการของการจัดการความรู้  คือ

            1. ให้คนหลากหลายทักษะ หลากหลายวิธีคิด ทำงานร่วมกันอย่างสร้างสรรค์  การจัดการความรู้ที่มีพลังต้องทำโดยคนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน มีความเชื่อหรือวิธีคิดแตกต่างกัน (แต่มีจุดรวมพลังคือ มีเป้าหมายอยู่ที่งานด้วยกัน) ถ้ากลุ่มที่ดำเนินการจัดการความรู้ ประกอบด้วยคนที่คิดเหมือน ๆ กัน การจัดการความรู้    จะไม่มีพลัง  ในการจัดการความรู้ ความแตกต่างหลากหลาย (Heterogeneity) มีคุณค่ามากกว่าความเหมือน (homogeneity)

            2. ร่วมกันพัฒนาวิธีทำงานในรูปแบบใหม่ เพื่อบรรลุประสิทธิผลที่กำหนดไว้ หรือฝันว่าจะได้ ในการจัดการสมัยใหม่ ประสิทธิผลประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

            - การตอบสนองความต้องการ (Responsiveness) ซึ่งอาจเป็นความต้องการของลูกค้า ความต้องการของสังคม หรือความต้องการที่กำหนดโดยผู้บริหารองค์กร

            - นวัตกรรม (Innovation) ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือวิธีการใหม่ ๆ ก็ได้

            - ขีดความสามารถ (Competency) ของข้าราชการ และขององค์กร

            - ประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการทำงาน

            3. ทดลองและเรียนรู้  เนื่องจากกิจกรรมการจัดการความรู้เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์  ซึ่งหมายความว่า ต้องคิดแบบ “หลุดโลก” จึงต้องมีวิธีดึงกลับมาสู่ความเป็นจริงในโลก หรือในสังคมโดยการทดลองทำเพียงน้อย ๆ ซึ่งถ้าล้มเหลวก็ก่อผลเสียหายไม่มากนัก ถ้าได้ผลไม่ดีก็ยกเลิกความคิดนั้น   ถ้าได้ผลดีจึงขยายการทดลองเป็นทำมากขึ้น จนใน    ที่สุดขยายเป็นวิธีทำงานแบบใหม่ หรือ ได้ Best Practice ใหม่นั่นเอง

            4. นำเข้าความรู้จากภายนอกอย่างเหมาะสม โดยต้องถือว่าความรู้จากภายนอกยังเป็นความรู้ที่ยัง “ดิบ” อยู่ ต้องเอามาทำให้ “สุก” ให้พร้อมใช้ในบริบทของเรา โดยการเติมความรู้เชิงบริบทลงไป

          วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ได้เข้าร่วมประชุมหาแนวทางการพัฒนาวิชาการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต โดยมี ดร.กล้า สมตระกูล เป็นวิทยากร

          สาระสำคัญของแนวทางการพัฒนาวิชาการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คือสถานศึกษาต้องมีการสำรวจความต้องการ  ความพึงพอใจของนักเรียน  นักศึกษา ครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง  มีการวัดผลและประเมินผลการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรม/โครงการ  โดยมีการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มาวิเคราะห์และทำการวิจัย  รวมทั้งจัดทำสรุปเป็นเอกสารเผยแพร่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อนำมาพัฒนา และปรับปรุงงานวิชาการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์(จัดการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์)ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินการจัดทำแบบสอบถามความความพึงพอใจของผู้รับบริการ (นักเรียน  นักศึกษา  ครู) แบบทดสอบก่อน-หลัง  แบบประเมินผลในการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรม รวมทั้งได้จัดทำสรุปรายงานผลให้ผู้บริหารและ ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบทุกครั้งอยู่แล้ว โดยมีการนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนา ปรับปรุงแก้ไข รวมทั้งแก้ปัญหาในการบริหารจัดการองค์กร และการบริหารจัดการความรู้วิชาการในแต่ละกิจกรรม ทำให้มีผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม และเข้ารับบริการที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาพระนครศรีอยุธยาอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนมากยิ่งขี้น

 http://gotoknow.org/blog/suaroonrat/357914

หมายเลขบันทึก: 357914เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 09:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมาก ๆ ครับผม เยี่ยมเลยครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท