ฝึกทำสมาธิ..อย่างไร


"นี่แหละ ทางรอดของชีวิต" ขณะหายใจเข้า ให้กำหนดว่า “พุท” ขณะหายใจออก ให้กำหนดว่า “โธ”

สังคม วุ่นวายสับสน ไม่ว่าจะเป็นสังคมชนบท

หรือสังคมเมืองก็ตาม

เราจะทำตัว ทำจิตอย่างไร  ถึงจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ ชีวิตไปได้เล่า....

วันหนึ่ง ได้อ่านวิธีการทำสมาธิ เกิดความคิดที่ว่า "นี่แหละ ทางรอดของชีวิต" มาลองอ่านวิธีนี้ดู

วิธีนั่งทำสมาธิ
              ผู้บำเพ็ญสมาธิพึงนั่งขัดสมาธิราบ คือ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย วางมือหงายไว้บนหน้าตัก ตั้งตัวตรงมองทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 2 ศอก แล้วหลับตา มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ กำหนดลมหายใจเข้า – ออก พร้อมกับระลึกถึงพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ขณะหายใจเข้า ให้กำหนดว่า “พุท” ขณะหายใจออก ให้กำหนดว่า “โธ” กำหนดลมหายใจเข้าออกพร้อมกับกำหนดพระพุทธคุณควบคู่กันไปอย่างนี้ตลอดการนั่ง ในระยะเริ่มแรกของการฝึกนั่งสมาธินั้น ผู้ที่เริ่มบำเพ็ญสมาธิ ควรนั่งบำเพ็ญสมาธิด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10 – 15 นาทีต่อครั้งก่อน เมื่อภายหลังร่างกายเกิดความเคยชินต่อการนั่งแล้ว พึงเพิ่มเวลาให้มากขึ้นโดยลำดับ (กำหนดระยะเวลาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล) สำหรับเวลาที่เหมาะสมกับการฝึกสมาธิที่สุดนั้น ได้แก่ เวลากลางคืน ก่อนนอน ซึ่งเป็นเวลาที่เงียบสงบเหมาะแก่การบำเพ็ญสมาธิ หลังจากนั่งบำเพ็ญสมาธิแล้วก่อนที่จะเลิกนั่งสมาธิ ควรกราบพระรัตนตรัยอีก 3 ครั้งก่อน แล้วจึงจะเลิก ให้ทุกท่านปฏิบัติเช่นนี้ไปตลอด จักเป็นการดีสำหรับการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ 

 

แค่นี้ยังไม่พอ หาก ต้องการแบบ 24 ช.ม. ก็สามารถใช้วิธีนี้ได้

ภาพจากเว็บไซด์ www.google.com

 สรุปหลักการฝึกสมาธิและการเจริญสติ

หลักการและแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นฝึกปฏิบัติใหม่ เพื่อทดลองฝึกปฏิบัติ

(หลังจากที่ได้อ่านแนวทางปฏิบัติทุกแนวแล้วยังงงๆ อยู่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ตรงไหน อย่างไรดี) พอจะรวบรวมได้ ๑๖ ข้อ ดังนี้ คือ


     ๑. เริ่มจากตื่นนอนในแต่ละวัน ให้ฝึกทำสมาธิอย่างน้อยประมาณ๑๕-๓๐ นาที
แล้วจึงค่อยเพิ่มจนถึง ๑ ชั่วโมงเป็นประจำ (อาจมีการสวดมนต์ไหว้พระด้วยหรือไม่ก็ได้)
การทำสมาธิจะอยู่ในอิริยาบถใดก็ได้ และคำบริกรรมที่ใช้แล้วแต่ถนัด เพื่อเริ่มฝึกจิตให้มีคุณภาพ 

     ๒. ต่อด้วยการเจริญสติ คือระลึกรู้ในการทำกิจส่วนตัว เช่น อาบน้ำแปรงฟัน รับประทานอาหาร หรือพบปะพูดจา ฯลฯ ทำกิจได้ก็ให้มีสติระลึกรู้และตื่นตัวอยู่เสมอทุกๆ อิริยาบถ
“เดินนับเท้า นอนนับท้อง จับจ้องลมหายใจ เคลื่อนไหวด้วยสติ” หัดรู้สึกตัวบ่อยๆ 

      ๓. ให้ฝึกทำสมาธิ สลับกับการเจริญสติเช่นนี้ ทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง(ระยะเวลาอาจปรับสั้นยาวได้ตามความเหมาะสม) ทั้งนี้ต้องแน่ใจว่า เป็นการปฏิบัติในแนวทางที่ถูก เป็นสัมมาทิฐิ
เมื่อเจริญสติได้คล่องขึ้น ให้เพิ่มการเจริญสติให้มากกว่าการทำสมาธิ

     ๔. ศีลห้าและกุศลกรรมบถสิบอย่าให้ขาด และให้งดเว้นอบายมุขทุกชนิดตลอดชีวิต
หากศีลข้อใดขาด  ให้สมาทานศีลห้าใหม่ทันทีโดยวิธีสมาทานวิรัติด้วยตนเอง
เอาเจตนางดเว้นเป็นที่ตั้ง เพราะศีลเป็นบาทฐานของการปฏิบัติ

     ๕. ท่านที่มีภารกิจมากและต้องทำกิจการงานต่างๆ ที่จะต้องพบปะติดต่อกับบุคคลอื่นๆ
ให้หมั่นสำรวม กาย วาจา ใจ อยู่เป็นนิจ ให้มีสติระลึกรู้ อยู่กับงานนั้นๆ
ขณะพูดเจรจาก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่กับการพูดเจรจานั้นๆ ตลอดเวลา
เมื่ออยู่ตามลำพังก็ให้เริ่มสมาธิหรือเจริญสติต่อไป

     ๖. เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ จะมีอาการเผลอสติบ่อยมาก และบางทีเจริญสติไม่ถูก
หลงไปทำสมถะเข้า เรื่องนี้ในหนังสือวิมุตติปฏิปทาของท่านปราโมทย์สันตยากร
ท่านกล่าวว่า “ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณภาพเสียก่อน
ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตถธรรมไม่ได้
เมื่อไปเจริญสติเข้าก็จะกลายเป็นสมถะทุกคราวไป ฯลฯ”
ดังนั้น จึงต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น และเมื่อใดที่เผลอหรือคิด ใจลอยฟุ้งซ่านไป
ก็ให้กลับมามีสติระลึกรู้อยู่กับสภาวะปัจจุบัน
ขณะที่รู้ว่าเผลอหรือรู้ว่าคิดฟุ้งซ่าน ขณะนั้นก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว
แต่ต้องไม่ใช่การกำหนดหรือน้อมและไม่ใช่ตั้งท่าหรือจ้องหรือเพ่ง
     หากจิตมีอาการเกิดกามราคะ หรือโทสะที่รุนแรง
ให้หันกลับมาอยู่กับการทำสมาธิแทนจนกว่าอาการจะหายไป แล้วเริ่มเจริญสติต่อไปใหม่
ถ้าอาการยังไม่หายแสดงว่า ท่านไม่ได้อยู่กับสมาธิ
ให้ตั้งใจปฏิบัติสมาธิให้มั่นใหม่อีกครั้ง จนกว่าจะสงบ
ความสงบอยู่ที่การปล่อยวางจิตให้พอดี ตึงไปก็เลย หย่อนไปก็ไม่ถึง ต้องวางจิตให้พอดีๆ

     ๗. ขณะที่เข้าห้องน้ำถ่ายทุกข์หนัก-เบา หนาว-ร้อน หิว-กระหาย
ก็ให้เจริญสติระลึกรู้ทุกครั้งไป

     ๘. ตอนกลางวัน ควรหาหนังสือธรรมะมาอ่าน
หรือฟังเทปธรรมะสลับการปฏิบัติ
ถ้าเห็นว่ามีอาการเบื่อหรืออ่อนล้า อาการดังกล่าวอาจเกิดจากการตั้งใจเกินไป
หรืออาจปฏิบัติไม่ถูกทางก็เป็นได้ ให้เฝ้าสังเกตและพิจารณาด้วย

     ๙. ให้มองโลกแง่ดีเสมอๆ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสตลอดทั้งวัน
ไม่คิด พูด หรือทำในสิ่งอกุศล ไม่กล่าวร้ายผู้อื่น
ให้พูด คิด แต่ส่วนที่ดีของเขา การพูด การคิดและทำ ก็ให้เป็นไปในกุศล
คือ ทาน ศีล สมาธิ และภาวนาเท่านั้น (ไม่พูดดิรัจฉานกถา)
พยายามประคับประคองรักษากุศลธรรมให้เกิดและให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยๆ
บางทีบางโอกาสอาจเห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ และเห็นการดับไปของความโกรธ
ซึ่งความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมาก
แต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ
เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมาก แล้วจึงค่อยๆมอดดับลงไป
นั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา
และต่อไปจะทำให้กลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง
จนการแสดงออกทางกายน้อยลงๆ จะเห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่แต่ในจิตเท่านั้น

     ๑๐. ให้ประเมินผลทุกๆ ๑-๓ ชั่วโมง หรือวันละ ๓-๔ ครั้ง
และให้ทำทุกวัน ให้สังเกตดูตัวเองว่า เบากายเบาใจกว่าแต่ก่อนหรือไม่เพราะเหตุใด

     ๑๑. ก่อนนอนทุกคืน ให้อยู่กับสมาธิในอิริยาบถนอนตะแคงขวา(สีหไสยาสน์)
หรือเจริญสติจนกว่าจะหลับทุกครั้งไป
ถ้าไม่หลับให้นอนดู“รูปนอน” จนกว่าจะหลับ

     ๑๒. เมื่อประเมินผลแล้วให้สำรวจตรวจสอบ
เป้าหมายคือ การเพียรให้มีสติระลึกรู้อยู่อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ให้สังเกตดูว่ามีความก้าวหน้าอย่างไรบ้างหรือไม่
หากยังไม่ก้าวหน้า ต้องค้นหาสาเหตุแท้จริงแล้วรีบแก้ไข
ให้ตรวจสอบดูว่าท่านได้ปฏิบัติถูกทางหรือไม่
หาสัตบุรุษผู้รู้หรือกัลยาณมิตรเพื่อขอคำแนะนำ
ไม่ควรขอคำแนะนำจากเพื่อนนักปฏิบัติด้วยกัน เพราะอาจหลงทางได้

     ๑๓. ให้พยายามฝึกทำความเพียร
เฝ้าใส่ใจในความรู้สึกให้แยบคาย(โยนิโสมนสิการ) พยายามแล้วพยายามอีก
ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คิดว่ายากมากๆ จนกลายเป็นง่าย
และเกิดเป็นนิสัยประจำตัว

     ๑๔. จงอย่าพยายามสงสัย
ให้เพียงแต่พยายามเฝ้าระลึกรู้ในปัจจุบันธรรมอยู่ในกายในจิต (รูป-นาม)
กลุ่มปัญหาข้อสงสัยก็จะหมดความหมายไปเอง
(หลวงปู่เทียน จิตฺตสุโภ ท่านว่า “คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว”)
อย่าพยายามอยากได้ญาณ หรือมรรคผลนิพพานใดๆ ทั้งสิ้น
ตัวของเราเองมีหน้าที่เพียงแต่สร้างเหตุที่ดีเท่านั้น
     นักปฏิบัติที่คิดมาก มีปัญหามาก เพราะไม่พยายามรู้ตัว และยังรู้ตัวไม่เป็น
ไม่มีสติพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตนเอง เอาแต่หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้
หรือไม่ก็ไปพยายามแก้อาการของจิต
ดังนั้นจึงให้พยายามรู้ตัวให้เป็น
ถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้
และให้พยายามมีสติพิจารณาอยู่แต่ภายในจิตของตนก็พอ
ประการที่สำคัญอีกประการหนึ่ง
โปรดจำไว้ว่าให้รู้อารมณ์เท่านั้น
อย่าพยายามไปแก้อารมณ์ที่เกิดขึ้น (วิมุตติปฏิปทา)

     ๑๕. จงอย่าคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อย
ขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ของตัวยังอ่อนเกินไป
คิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง จงอย่าดูหมิ่นตัวเอง
เมื่อเริ่มฝึกปฏิบัติหรือเจริญสติใหม่ๆ จะเกิดการเผลอสติบ่อยๆ
จะเป็นอยู่หลายเดือน หรือบางทีอาจหลายปี
แต่ฝึกบ่อยๆ เข้าก็จะค่อยๆระลึกรู้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ
ขอให้พยายามทำความเพียรต่อไป ถ้าผิดก็เริ่มใหม่
เพราะขณะใดที่รู้ว่าผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว
     ประการที่สำคัญ คือ ต้องเลิกเชื่อมงคลตื่นข่าว
และต้องไม่แสวงบุญนอกศาสนา
จงอยู่แต่ใน ทาน ศีล สมาธิและภาวนา (บุญกิริยาวัตถุสิบ) ก็พอ

     ๑๖. จงพยายามทำตนให้หนักแน่น
และกว้างใหญ่ดุจแผ่นดินและผืนน้ำที่สามารถรองรับได้ทั้งสิ่งของที่สะอาดและโสโครก
ซึ่งแผ่นดินและผืนน้ำ  รักชังใครไม่เป็น
คือ ทั้งไม่ยินดี (สิ่งของที่สะอาด) และไม่ยินร้าย (ของโสโครก) ใดๆ
วางใจให้เป็นกลางๆ ให้ได้ ความสำเร็จก็อยู่ที่ตรงนี้

     ท่านที่รู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว การเจริญสตินั่นแหละ
จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะหาอารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์
มาเป็นเครื่องมืออยู่ที่ถนัด (วิหารธรรม) ให้จิตมีสติเฝ้ารู้อย่างต่อเนื่อง

     หลวงพ่อชา สุภัทโท ท่านเคยกล่าวไว้ว่า
“ท่อนซุงที่ลอยล่องไประหว่างสองฝั่ง
ถ้าไม่ติดอยู่ข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
ไม่ช้าก็จะไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอน”

     แต่ถ้าลอยไปติดอยู่กับฝั่งใด (กามสุขัลลิกานุโยค หรือความยินดี)
ฝั่งหนึ่ง (อัตตกิลมถานุโยค หรือความยินร้าย) 
ไม่ช้าก็คงกลายเป็นซุงผุใช้การไม่ได้เป็นแน่
 

ที่มาจาก:

http://blog.spu.ac.th/tom-tamka/2008/06/29/entry-3

http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1150.php

 

ลองปฏิบัติกันได้  หากถูกทาง หรือถูกจริต จะไปได้ดี สมาธิจะนิ่ง

ชีวิตจะมีความสุข  สามารถแก้ไขปัญหา.. ต่อสู้กับชีวิต ..อยู่ร่วมกับสังคมต่อไปได้ อย่างแน่นอน

 

ทรงศักดิ์  เนียมเปีย: รวบรวม /เรียบเรียง

หมายเลขบันทึก: 356588เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ยินดี ร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

ท่านใด ฝึกวิธีอื่น ก้อพูดคุยได้

นำธรรมะจากพระอาจารย์ประสงค์มาฝากครับ

พุทโธ...

อยากได้ความรู้

ก็จงดูภายใน

อยากได้ปัญญา

ก็จงเปิดตาใจ

เอาพุทโธนอก

ไปล่อพุทโธใน

เมื่อพุทโธเกิดแล้ว

จงทิ้งพุทโธไป

- * - * - * - * - * - * - * - * - * - * - * - * - * - * -

Buddho

If you desire knowledge

You must look within.

If you desire wisdom

Open your mind's eye.

Bring the spoken word, " Buddho, " inside of you.

Let its meaning become a part of your being

And your need for the spoken word will disappear.

ธรรมะจัดสรรชวนกันสู่ปัจจุบันขณะครับ

http://pobbuddha.com

ขอบคุณครับ

ขอบคุณ ท่าน ผศ. วัชรชัย วิริยะสุทธิวงศ์

ได้ธรรมะ เป็นคำภีร์ นำชีวิตให้

สมสิ่ง ทุกประการด้วย ธรรมะ เอย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท