khunkruae
ปิยนารถ คุณครูเอ๋ วงศ์กาฬสินธุ์

ตอนที่ 2 ปัญหาที่ไม่อาจมองข้าม


ส่วนประกอบของปัญหาการเรียนรู้

ปัญหาที่เกิดขึ้น  หลังจากที่ดิฉันพยายามมองกลับไปว่า ทำไมสอนแล้วเด็กไม่เข้าใจ ทำไมเด็กทำไม่ได้  แก้ปัญหาไม่ได้

ดิฉันก็เริ่้ม  ย้อนกลับประสบการณ์เดิมที่เคยเป็นเด็กนักเรียนว่า เราเรียนไม่เข้าใจเพราะอะไร  เป็นเพราะไม่ชอบวิชา  ไม่ชอบคุณครู  กลัวถูกทำโทษ  กลัวการออกไปรายงานหน้าชั้น  กลัวถูกเพื่อนๆล้อ  สารพัดเหตุผล...  และก็ สมัยเด็กๆ ก็ไม่เคยได้เรียนพิเศษ เรียนเพิ่มเติมจากไหน นอกจากคุณพ่อคุณแม่ และญาติที่เป็นคุณครูสอน (การบ้าน)

เมื่อทราบดังนี้  ดิฉันก็มาแบ่งส่วนประกอบ  ออกเป็น  4 ส่วนคือ  ธรรมชาติวิชา  ตัวครูผู้สอน  นักเรียน  เพื่อนร่วมชั้น 

ธรรมชาติวิชา  ในความหมายของดิฉันนะคะ  คือ วิชาทุกวิชาจะมีลักษณะการเรียนรู้ กิจกรรมที่แตกต่างกันไป  บางวิชา ดูสนุกสนานน่าเรียนรู้  บางวิชาดูยาก   บางวิชาต้องอ่านหนังสือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วย  บางวิชาต้องท่องจำ  บางวิชาต้องมีการแสดงออก

ตัวครูผู้สอน  ในความหมายของดิฉันนะคะ  คือ  คุณครูในแต่ละวิชาจะมีบุคคลิกเฉพาะวิชานะคะ(คือมองย้อนไปในอดีต คิดถึงคุณครูที่เคยสอนดิฉันนะคะ มิได้ลบหลู่พระคุณของครูบาอาจารย์นะคะ) คุณครูที่จะดูสวย บุคลิกชวนมอง ก็ต้องคุณครูสอนนาฏศิลป์มองเวลาคุณครูสอน สาธิตการรำอะไรประมาณนี้คะ  คุณครูที่ดูเคร่งครึมมีความรู้สามารถเล่าเรื่องราวในอดีต ประวัติศาสตร์ได้อย่างที่เด็กๆเงียบฟัง (แต่ก็จำเรื่องราว ชื่อบุคคล เมืองไม่ได้สักที)  คุณครูภาษาไทย ก็จะเคร่งขรึมและดูเจ้าระเบียบ เพราะจะถูกตำหนิหลายอย่าง เป็นต้นว่า ลายมือ  การเขียน  การอ่าน  การออกเสียง  การจับหนังสือ การเขียนจดหมาย การเขียนเรียงความ ฯลฯ โดดมาหมดคะ (แต่ก็คิดถึงคุณครูนะคะเพราะถ้าไม่ได้คุณครูก็คงมาไม่ถึงทุกวันนี้) แต่ที่สำคัญดิฉันชอบคุณครูอ่านทำนองสะเนาะเสียงคุณครูไพเราะจับใจมากคะ  คุณครูภาษาอังกฤษ ก็จะดูบุคลิกกระฉับกระเฉง ดูทันสมัย การแต่งตัวดูดี เสียงคุณครูเวลาอ่าน หรือพูดบทสนทนาจะมีเสียงเล็กเสียงน้อยน่าฟัง (แต่ตอนนั้นหนูแปลไม่ค่อยออกคะ อิอิ)  แต่น่ากลัวตรงแปลไม่ออกนี้แหละคะ จะถูกคุณครูถามว่าคำนี้แปลว่าอะไร  ประโยคนี้แปลว่าอะไร  ต้องท่องคำศัพท์ ท่องกิริยา 3 ช่อง คล้ายๆกับคุณครูวิชาภาษาไทยนั่นแหละคะ  บรรยายไว้แค่นี้ก่อนนะคะ

ตัวนักเรียน  ในความหมายของดิฉัน คือ  ความพร้อมของเขาการอ่านออก เขียนได้  ทัศนคติในวิชาและตัวครูผู้สอน ลักษณะนิสัย  ความรับผิดชอบ  การเอาใจใส่ในการเรียน ซึ่งเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกันนะคะ บางคนอ่านออกเขียนได้ แต่ไม่ค่อยใส่ใจการเรียน บางคนอ่านเขียนไม่ค่อยคล่องแต่ขยันทำงานส่ง  บางคนก็พร้อมทุกอย่างทั้งเก่งกล้าแสดงออก เขาก็จะเป็นคนที่คุณครูเรียกชื่อ เรียกใช้บ่อยๆเสมอ  แต่ก็มีที่คุณครูเรียกชื่อบ่อยเหมือนกันก็คือ เด็กที่เรียนอ่อน อ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้งานไม่ส่ง อันนี้คงไม่ต้องบอกว่าเรียกเพราะอะไรนะคะ

เพื่อนร่วมห้อง ในความหมายของดิฉันคือ เพื่อนๆที่เรียนร่วมกันมา มีทั้งเพื่อนที่แสนดีให้ความช่วยเหลือ มีน้ำใจ และเพื่อนที่ชอบล้อ ชอบแกล้ง หรือคอยถามว่าเราทำผิดอะไร ถูกทำโทษอะไร เวลาเราออกไปรายงานน่าห้อง ก็เหมือนสายตาของเขาจะคอยจับผิด และคอยซ้ำเติมเรา โห่เราเสมอ

จากลักษณะดังกล่าว เป็นปัญหาที่มีส่วนในการเรียนรู้ของนักเรียนนะคะ เพราะในการเรียนรู้วิชาที่ดูยาก ยิ่งถ้าครูผู้สอน สอนให้มันดูยากเข้าไปอีก บุคลิกก็น่ากลัว น่าเกรง เด็กเลยยิ่งไม่ชอบวิชานั้นเข้าไปใหญ่  ตัวนักเรียนเองถ้าเราไม่ทราบข้อมูลพื้นฐานของเขา ว่าการเรียนเป็นยังไง การอ่านการเขียนเป็นยังไง ลักษณะนิสัยเป็นยังไง ครอบครัวเป็นยังไง (คือสภาพความเป็นอยู่ ปัญหาเกี่ยวกับครอบครัว) บางครั้งก็ทำให้มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น  การทำงานส่ง การแสดงออกทั้งของนักเรียน และเพื่อนร่วมห้องกับนักเรียน

เมื่อดิฉันมองหาสาเหตุ ดิฉันเริ่มคิดหาแนวทางพัฒนาการสอนของดิฉันโดย เริ่มจากนักเรียนก่อน คือ เก็บข้อมูลพื้นฐานนักเรียน ทั้งข้อมูลส่วนตัว ครอบครัว สุขภาพ การเดินทางไป-กลับของนักเรียน ผลการเรียน ความรับผิดชอบที่บ้าน ค่าขนม ความสามาถพิเศษ หมายเลขโทรศัพท์ทั้งของนักเรียนและผู้ปกครอง  แล้วนำมาทำเป็นสมุดโทรศัพท์ประจำห้อง โดยมีหมายเลขโทรศัพท์ของนักเรียนทุกคนในห้อง คุณครูประจำชั้น คุณครูผู้สอนรายวิชา เพื่อสะดวกในการติดต่อ ติดตาม  เพราะนักเรียนเองก็เริ่มโตและจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น (ชั้น ป.6 คะ)  ต้องเอาใจใส่มากหน่อย คุณพ่อคุณแม่เองเวลาที่ลูกๆ บอกว่าไปทำงานบ้านเพื่อนคนนั้นคนนี้ ก็จะได้ติดต่อ ติดตามได้ และสามารถติดต่อปรึกษาคุณครูได้เช่นกัน  เมื่อทราบข้อมูลนักเรียนเบื้องต้น ก็เริ่มต้นพูดคุย ทำความรู้จักกับนักเรียน  แต่ดิฉันก็จำชื่อนักเรียนไม่ค่อยได้นะคะ เพราะเป็นครูประจำชั้น 1 ห้อง และสอนรายวิชาอีก 2 ห้อง นักเรียนก็ร่วมประมาณ 150 คนคะ ทำไงดี... ก็เลยคิดวิธีจะจำชื่อนักเรียนให้ได้ แต่ก็ต้องตรวจสมุดวันละ เกือบ 150 เล่ม ต้องพลิกกลับไป-กลับมา ก็เลย ขอร้องให้เด็ก เมื่อทำงานเสร็จ ให้เขียนชื่อ ชื่อเล่น เลขที่ (เพื่อสะดวกในการบันทึกการส่งงานด้วย)  ดิฉันก็เลยสามารถจำชื่อเด็กได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นชื่อเล่นนะคะ  ยิ่งถ้าเราจำชื่อเล่นเขาได้ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใกล้ชิดกันมากขึ้น  การทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ของดิฉัน  ทุกครั้งที่จะทำแบบฝึกหัด (ในช่วง 2 เดือนแรก) ดิฉันจะให้นักเรียน เขียนตัวเลขไทย ตัวเลขอารบิก พร้อมทั้งท่องสูตรคูณ โดยมีตารางสูตรคูณให้ คือปากท่อง มือเขียนลงในตาราง ท่องเสร็จก็นำตารางมาติดลงสมุด แล้วค่อยทำแบบฝึกหัด บอกเด็กๆว่า "การเรียนคณิตศาสตร์ที่ดี นักเรียนต้องมีหลวงพ่อคูณประจำตัว ไม่งั้นเดี๋ยวจะถูกผีหลอก"  เด็กๆก็จะหัวเราะชอบใจ

สำหรับตัวครูผู้สอน  คือดิฉันเอง  ดิฉันก็เริ่มต้นด้วยการหาหนังสือมาอ่าน จิตวิทยาการปกครองชั้นเรียน  จิตวิทยาการเรียนการสอน เทคนิคการสอน อ่านเพิ่มเติม  เก็บข้อมูลปัญหาในการสอน ที่เราต้องมานั่งสอนซ้ำ ก้าวข้ามไม่ได้เช่น

- เด็กๆอ่านหนังสือไม่ออก  ก็อ่านโจทย์ อ่านคำสั่งไม่ได้

- เด็กๆ ท่องสูตรคูณไม่ได้

- เด็กๆ ท่องสูตรคูณได้ แต่ก็คูณผิด คูณช้า ต้องมานั่งท่องเพื่อให้ได้คำตอบ

- เด็กๆ วิเคราะห์โจทย์ปัญหาไม่ได้

- ในหนังสือแบบเรียน แบบฝึกหัดก็เป็นหมวดหมู่ดีเหลือเกิน  คือ โจทย์ปัญหาการลบ เด็กก็จะรู้ว่า แบบฝึกนี้เป็นการลบหมด โจทย์การหาร เด็กก็รู้ว่าหาร  จะมีปัญหาก็โจทย์ระคนนี้แหละคะ เด็กจะทำไม่ได้ส่วนใหญ่

- เด็กไม่ชอบอ่านโจทย์ให้จบ หรือแม่กระทั้งคำสั่ง ก็ไม่อ่าน ว่าเขาให้ทำอะไร ทุกครั้งที่ให้ทำแบบฝึกหัด เด็กๆ จะต้องถามว่า "ทำยังไงครับ/คะ"

- เด็กๆ ติดรูปแบบการทำแบบฝึกหัดที่เรียนมาตั้งแต่เด็กๆว่า ต้องลอกโจทย์ ประโยคสัญลักษณ์ (ส่วนใหญ่จะเขียนตามโจทย์ปัญหาที่อ่านจากซ้ายไปขวา) แล้วจึงทำวิธีทำ ที่ดิฉันว่าส่วนใหญ่เขียนประโยคสัญลักษณ์จากซ้ายไปขวาคือ เมื่อไรที่โจทย์บอกว่าซื้อส้ม 3 กก. กิโลกรัมละ 35 บาท ซื้อมะม่วง 5 กก. กิโลกรัมละ 25 บาท ให้ธนบัตรฉบับละหนึ่งพันบาทไปจะได้รับเงินทอนเท่าไร นร.ก็จะเขียนประโยคสัญลักษณ์ เป็นวิธีลบถูกต้อง แต่ก็นำ 1000 มาลบที่หลังจากซ้ายไปขวา  เช่น (3X35)+(5X25)-1000=....

อื่นๆอีกมากมายคะสำหรับปัญหา

สำหรับเพื่อนร่วมชั้น ในเวลาที่ดิฉันตรวจสมุดในชั่วโมง ถ้านักเรียนเขาทำผิด ดิฉันเรียกมาเพื่อถาม อธิบาย นักเรียนคนอื่นก็จะพูดแสดงท่าทีกดดันให้นักเรียนที่ดิฉันกำลังอธิบาย มีความรู้สึก กดดัน อาย ไม่กล้า ไม่ตอบ ไม่พูด  บางคนที่เรียนดี เรียนเก่งทำงานเสร็จเร็ว ก็จะคุย จะกวนเพื่อนๆ สร้างความรำคาญให้เพื่อนและครู  บางคนก็ช้า ทำงานไม่เสร็จ ไม่ส่ง เพราะกลัวเพื่อนๆจะล้อเวลาที่ครูเรียก  จึงไม่ทำ หรือไม่กล้าทำเพราะกลัวผิด  ปัญหาอื่นๆอีกมากมาย ทั้งแกล้งกัน ทะเลาะกัน ล้อกัน โดยเฉพาะล้อชื่อคุณพ่อคุณแม่ บางคู่ถึงกับมีการลงไม้ลงมือ มีร้องไห้ฟูมฟาย ต้องมานั่งว่าความอีก ไม่เป็นอันต้องตรวจงาน อธิบายงานเพื่อน  ดิฉันก็ทราบปัญหาเพราะเราเองก็เคยโดนในสมัยเด็กๆ เป็นปัญหาโลกแตก  ดิฉันก็เลยตัดสินใจตามประสาครูแปลกๆไม่เหมือนชาวบ้านนี้แหละคะ ดิฉันก็พูดว่า คนจะเป็นครูได้ในสมัยก่อนเป็นดาวพฤหัส มีวาจาที่เป็นกายสิทธิ์ พูดสิ่งใดจะเป็นจริงเสมอ  เพราะฉะนั้น ครูขอแช่งนักเรียนที่นำชื่อคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนมาล้อโดยตั้งใจ ขอให้อายุของคุณพ่อหรือคุณแม่ที่นักเรียนคนนำมาล้อ อายุสั้นลง  แล้วนำเอาอายุของพ่อแม่ตัวเอง ไปต่ออายุพ่อแม่ของเพื่อนที่ถูกล้อ มีข้อแม้ว่า นักเรียนที่ถูกล้อต้องไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบเขาด้วยอารมณ์รุนแรง  ให้ยิ้มรับเลยตอนที่เพื่อนล้อขอบใจที่เขาเอาอายุพ่อแม่เขามาต่ออายุให้พ่อแม่เรา  แต่ถ้านักเรียนที่ถูกล้อโต้ตอบกลับ พ่อแม่ของตัวเองก็จะอายุสั้นลงเป็น 2 เท่าของเพื่อนที่ล้อ (แต่ยังไงๆ เพื่อนที่ล้อ พ่อแม่ก็จะอายุสั้นอยู่ดี เพราะลูกมีเจตนาไปล้อเพื่อน)   อิอิ...ได้ผลคะ....หลังจากนั้นการล้อชื่อพ่อชื่อแม่ก็ไม่มี ... แต่ดิฉันก็ไม่ได้มีเจตนามาแช่งคุณพ่อคุณแม่หรอกนะคะ คือเป็นกลอุบายที่จะให้เด็กสำนึก สำคัญคือ ที่เด็กๆเขามีปากเสียงกัน ก็เพราะเขารักคุณพ่อคุณแม่มากไม่ยอมที่จะให้เพื่อนมาล้อ มาหลบหลู่ แต่เมื่อมีเงื่อนไขที่ดูเหมือนจะเป็นผลกระทบกับพ่อแม่ตัวเอง ก็เลยต้องคิดหนักสิคะ...

วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ  แล้วจะนำเรื่องการแก้ปัญหาแบบฉบับดิฉันมาเล่าให้ฟังต่อ

หมายเลขบันทึก: 356314เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 23:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท