ดูหนัง Wit รอบสอง - Death be not proud


หลังจากทดลองการเรียนการสอน Palliative care in community ในปี 6 ผ่านไปสองกลุ่ม อาจารย์รัตนา ผู้เป็นอินทรีย์ (หมายถึง วิสัยทัศน์กว้างไกล แต่ขี้เบื่อ) เต็มตัว ก็เสนอว่า การ introduction เข้าสู่เนื้อหา น่าจะมีรูปแบบอื่นๆ นอกจากการบรรยาย
ทำให้ฉันนึกถึงหนังที่เคยดูสมัยเรียนหลักสูตร APHN ที่ชื่อ WIT


ซึ่งเมื่อสืบค้นดูใน gotoknow นี้ก็พบว่า เป็นสื่อการสอนที่อาจารย์เต็มและอาจารย์สกลใช้ในการปฐมนิเทศแพทย์ประจำบ้าน และอาจารย์มัทนาก็ได้บันทึกไว้ และยังมี review จากมุมมองคุณหมอนภดล Onco med ตัวจริงเสียงจริง    ต่อจากนี้จึงเป็น review จากมุมมองอาจารย์หมอธรรมดาๆ..ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น แพทย์ละอ่อน.. คนหนึ่งว่ามีอะไรที่ Touch บ้าง...

WIT (2001)  นำแสดงโดย Emma Thompson

ลองเข้าไปดูตัวอย่างใน youtube ได้ที่นี่คะ

ฺBackground: เรื่องราวของ Dr.Barring ( Emma thompson) อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ ตั้งแต่ได้รับวินิจฉัยเป็นผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ระยะแพร่กระจาย การเข้ารับการรักษา ด้วยยาเคมีบำบัดตัวใหม่ ที่เป็น clinical trial ไปจนถึงการเสียชีวิต
Method: หนังแนว Drama วิธีการเล่าเรื่อง ผ่านมุมมอง (ความคิด คำพูด) ของผู้ป่วย
Results : จากการดูหนังเรื่องนี้ มีหลายตอนที่น่าประทับใจ แต่ที่กระทบถึงความคิด และพฤติกรรมให้เปลี่ยนไปสำหรับฉันคือ

1. ตัวตน กับวิชาชีพ : Dr.Bearing เป็นตัวอย่างของคนที่ "แต่งกับงาน" ตัวตนของเธอคือความเป็น professional..ตั้งแต่เป็นนักศึกษา เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาบอกให้เธออย่ากลับเข้าไปห้องสมุดแต่ให้"ไปใช้ชีวิต"..เธอทำไม่ได้ เพราะชีวิตเธอหล่อหลอมอยู่ในวิชาที่เธอทุ่มเทเสียแล้ว
    การเป็นมะเร็งเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่การอยู่คนเดียวในห้องผู้ป่วยอย่างอ้างว้างอาจเจ็บปวดยิ่งกว่า..เมื่อ อาจารย์ที่ปรึกษาคนเดิมนั้น มาเยี่ยมในวันสุดท้ายของเธอ  อาจารย์ที่ปรึกษาในวัยชรากล่าว "ฉันมาเยี่ยม great grandson.." contrast ยิ่งชัดเจน ระหว่าง professioner สองคน
    ในช่วงชีวิตหนึ่ง ที่เราทุ่มเทให้กับงาน ให้กับความฝันที่จะประสบความสำเร็จในวิชาชีพ จะฉุกคิดไหมว่า หากวันหนึ่งที่โรคร้ายมาพราก งาน พรากความฝันของเราไป เราจะยังเหลือตัวตนอะไร?
    ฉันคิดได้ว่า ไม่มีอะไรที่จะจับยึดไว้เป็นของเราจริงๆ..ผลงาน,อาชีพ,สถานะ,ลูกศิษย์ หรือแม้แต่ ค่านิยม..แล้วจะไปเหนื่อยใจกับการเอาทิฎฐิไปตัดสินตัวเอง ตัดสินผู้อื่นอยู่ทำไม..สิ่งใดหากมันจะคงอยู่ ก็คงอยู่เพราะนั่นคือสิ่งที่เพื่อนมนุษย์พึงกระทำต่อกัน (นึกถึงที่อาจารย์สกลว่า การดำรงอยู่ของอาชีพแพทย์ เป็นหลักฐานของสิ่งที่มนุษย์พึงปฎิบัติต่อกัน)

2. In grand round they read me as a book : นี่เป็นคำพูดของ Dr.Bearing ก่อนที่อาจารย์และนักศึกษาแพทย์มายืนล้อมวง ก่อนที่จะ Discuss และลงมือตรวจร่างกาย ภาพมือของนักศึกษา 5 คนรุมจับท้องที่มี ascites ของเธอ, การมีบลัฟกันระหว่างนักศึกษา..ดูเป็นเรื่องปกติมากสำหรับ Bedside teaching
    แต่เมื่อมีเสียงรำพึง " คล้ายกับ graduate seminar แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ ใน grand round เขาใช้ฉันแทนหนังสือ"  ทำให้ฉันฉุกคิด..ใช่แล้ว หรือเรารู้สึกว่าผู้ป่วย เป็น "สื่อการสอน"จริงๆ..ในขณะที่ ผู้ป่วยนอนฟัง พวกเราใช้ศัพท์ต่างดาว ในสมองคิดหาคำตอบให้อาจารย์ ให้เรารุมกันตรวจร่างกาย..ใครจะรู้ว่าในใจเขาคิดอะไรอยู๋?
    ดังนั้น ในการสอนที่ OPD หรือ ที่บ้าน..คงได้คำตอบว่า เราควรคำนึงถึง knowledge หรือ well being ของผู้ป่วย อันไหนมากกว่ากัน

3. Death be not proud? : คำนี้ได้ยินบ่อยมากในหนังเรื่องนี้ ฉันเดาๆ เอาเองว่าคงหมายถึง "การตายไม่ใช่เรื่องน่าภูมิใจ (ฉันไม่อยากตาย)"...แต่รอบสอง ได้ค้นคว้าอีกนิด ความหมายกลับกลายเป็น " ความตายเจ้าอย่าภูมิใจไป (ฉันไม่กลัวหรอกความตาย) " ไป บทกวีนี้แต่งโดยนักบวชประมาณ 400 กว่าปีก่อน จึงทำให้ภาษามีความเฉพาะ

Death be not proud, though some have called thee
Mighty and dreadfull, for, thou art not soe,
For, those, whom thou think'st, thou dost overthrow,
Die not, poore death, nor yet canst thou kill mee.
From rest and sleepe, which but thy pictures bee,
Much pleasure, then from thee, much more must flow,
And soonest our best men with thee doe goe,
Rest of their bones, and soules deliverie.
Thou art slave to Fate, Chance, kings, and desperate men,
And dost with poyson, warre, and sicknesse dwell,
And poppie, or charmes can make us sleepe as well,
And better then thy stroake; why swell'st thou then?
One short sleepe past, wee wake eternally,
And death shall be no more; death, thou shalt die.

Death Be Not Proud
by John Donne,1601-1610?


มีผู้แปลโคลงฉบับนี้เป็นไทยดังนี้

มฤตยู เอ็งอย่า ทะนง แม้คนพูดว่า 
เอ็งมีพลัง น่ากลัว แต่เอ็งไม่แน่จริง 
คนที่เอ็งคิดว่าเอ็งชนะ เอาให้ตายได้ 
ที่แท้ไม่ตายหรอก เอ็งก็ฆ่าข้าไม่ได้ 
การพักการหลับ ไม่ต่างกับการตาย 
ตายแล้วเป็นสุข เอ็งต้องทำให้น่ากลัวกว่านั้น 
พรรคพวกข้าจากไปกับเอ็ง 
โครงร่างวิญญาณส่งไปแล้ว 
เอ็งซะอีกเป็นทาสของชะตา โอกาส กษัตริย์ กับคนหมดหวัง 
ใช้ยาพิษ สงคราม การเจ็บป่วยเป็นผู้ช่วย 
แต่ยาฝิ่น เวทมนตร์ ก็ทำให้หลับได้ 
ดีกว่าวิธีของเอ็งด้วย อย่าทำเป็นแน่ 
หลับนิดเดียว แล้วตื่นชั่วนิรันดร์ 
ตายอีกไม่ได้ อ้ายมฤคยู เอ็งตายแน่

โดย คุณศานติ

ทำให้ฉันคิดถึง มุมมองเกี่ยวกับความตาย ..เราไม่อยากพูดถึง ไม่อยากคิด ไม่อยากรู้ เกี่ยวกับความตาย เพราะภาพของความเจ็บปวด เศร้าโศก - แล้วถ้าคิดในทางบวก ว่าการตายคือการข้ามภพ เหมือนเปลี่ยนเสื้อ..เสื้อที่ขาดแล้ว ไม่ว่าด้วยอายุขัย หรือโรคร้ายก็ตาม..มีความงามอยู่ในความหดหู่ให้เห็นได้เสมอ

คำสำคัญ (Tags): #palliative care#wit#death be no proud
หมายเลขบันทึก: 355881เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 21:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยถามร้านขาย DVD ในเชียงใหม่ ไม่มีใครขายเลยคะ

สงสัยต้องขึ้นไปแม่สาย หรือลงไปหาดใหญ่ :>

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท