รักษ์ชีวิต รักษ์ตังเอง ปฏิบัติตัวอย่างมีคุณค่า ตอนที่1


การใช้ชีวิตอย่างรู้จักคิด คือ การกินอาหาร และดูแลตัวเองอย่างมีสติ

หลายเดือนก่อน ได้ไปเดินห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นแห่งหนึ่ง ในขอนแก่น คือ เซ็นโทซ่า มะลิวัลย์ เพราะอยู่ใกล้กับที่พัก ได้ไปเห็นข้าวหอมมะลิงอก ที่บรรจุถุงขาย จริงๆ แล้วผมเห็นมาหลายยี่ห้อ แต่ยังไม่เคยลองเลย ซึ่งมีหลายยี่ห้อในประเทศไทย และแหล่งผลิตส่วนใหญ่ที่ผลิตข้าวหอมมะลิได้ส่วนใหญ่ก็อยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของไทย เพราะเคยได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นของนักวิชาการ และบุคลากรที่เคยศึกษาเกี่ยวกับ Value Chain ของข้าวหอมมะลิมาเมื่อปี 2550 นั้น อาจารย์ท่านหนึ่งที่มีความรู้เกี่ยวกับข้าวหอมมะลิว่า พื้นที่ที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุด คือ พื้นที่ที่มีอากาศร้อน แห้งแล้งในช่วงหลังหน้าฝน ในระหว่างที่ต้นข้าวกำลังออกรวง ซึ่งจะทำให้ข้าวมีการถูกบีบให้เจริญเติบโตในสภาวะแร้นแค้น (ตามที่ได้รับฟังจากอาจารย์) ดังนั้นพื้นที่ที่ดีมากสำหรับปลูกข้าวหอมมะลิคือ ภาคอีสาน  และพื้นที่ที่ดีที่สุด คือ ทุ่งกุลาหอมมะลิ ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่หลายจังหวัด เช่น กาฬิสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ เป็นต้น

ดังนั้น ข้าวหอมมะลิ ที่ปลูกด้วยกรรมวิธีเกษตรอินทรีย์ แล้วหล่ะก็น่าสนใจ ถึงแม้ราคาจะแพง แต่ผมว่าก็คุ้มที่น่าจะลอง เมื่อผมเห็นผลผลิตข้าวหอมมะลิที่เป็นเกษตร ก็เคยลองซื้อมาหลายเจ้าแล้ว แต่ยังไม่เคยมีเวลาลองทานดูเลย พอมาเมื่อวานนี้ หาโอกาสเองได้ และลองทานดูจาก ผู้ผลิตของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งใช้ชื่อว่า "ข้าวฮาง (ข้าวกล้องหอมมะลิงอก)" บรรจุอยู่ในถุงสุญญากาศสีเขียว น้ำหนักสุทธิ 1.5 กก. และมีเรื่องราว พร้อมวิธีหุงในถุงอย่างน่าสนใจมาก ราคาผมก็คิดว่าสมเหตุสมผล คือ 99 บาท แต่เค้าตั้งราคาไว้ปกติ 139 บาท(ซึ่งถ้าเป็นราคานี้ ผมอาจจะไม่ซื้อก็ได้ เพราะทรัพย์น้อย)

เรื่องราวที่มีถุงข้าวใบนี้ เริ่มด้วย วลี "ใบไม้สีเขียวแม้ใบเล็ก แต่เมื่อรวมกันหลายๆ ใบย่อมเป็นต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่หลายๆ ต้นรวมกันย่อมเป็นป่า และเมื่อป่ามีมากขึ้น...โลกของเราย่อมเป็นสีเขียว Green Leaf Together, We Grow the World For the Green Life"

ข้าวฮาง คือ อะไร?

ข้าวฮางเป็นข้าวที่ผลิตขึ้น ตามกรรมวิธีซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าภูไทในภาคอีสานโดยการนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอก จากนั้นจึงนำข้าวเปลืกที่แช่น้ำไว้มานึ่งเพื่อหยุดกระบวนการงอกแล้วจึงนำข้าวเปลือกไปตากให้แห้งและสีเป็นข้าวกล้องต่อไป

ดังนี้ การนำข้าวเปลือกมาแช่น้ำไว้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการงอก จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในเมล็ดข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มขึ้นของปริมาณสาร GABA ในเมล็ดข้าว ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน

ทำไมต้องกินข้าวฮาง?

เพราะข้าวฮางมีสารอาหารต่างๆ สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้าวฮาง มีปริมาณสาร GABA (Gamma Amino Butyric Acid) สูงกว่าข้าวสารขาว และข้าวกล้องที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการงอก ซึ่งสาร GABA เป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ที่มีสรรพคุณในการช่วยลดความดันโลหิต และปริมาณคลอเรสเตอรอล รวมถึงช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และลดความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ ข้าวฮางยังมีวิตามินอี และธาตุแมงกานีสในปริมาณมากซึ่งจะช่วยในการต่อต้านอนุมูลอิสระอันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและข้าวฮางมีค่าการเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดต่ำ (Low Glycemic Index) จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

นอกจากนี้ จากกรรมวิธีในการผลิตข้าวฮาง ทำให้ได้ข้าวเต็มเมล็ดที่มีจมูกข้าว และรำข้าวซึ่งเป็นส่นที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ และวิตามินต่างๆ รวมกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน B1 และ B2 ที่ช่วยบำรุงสายตาและป้องกันโรคเหน็บชา ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และไนอะซิน เป็นต้น นอกจากนี้ ข้าวฮางยังมีเส้นใยอาหารในปริมาณที่สูง ซึ่งจะช่วยการทำงานของระบบขับถ่าย

วิธีการหุงข้าวสาร

สามารถหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าธรรมได้ (หรือผมใช้หุงผ่านไมโครเวฟครับ) โดยการซาวและล้างข้าว 1 ครั้ง จากนั้นเทน้ำทิ้งแล้วนำข้าวฮางไปหุงเหมือนการหุงข้าวหอมมะลิทั่วไป โดยใช้ข้าวตวง 1 ส่วนต่อน้ำประมาณ 1.5-2 ส่วน ข้าวฮางที่หุงได้จะมีลักษณะและความนุ่มใกล้เคียงกับข้าวจ้าวปกติ นอกจากนี้ในการซาว และล้างข้าวฮางนั้นควรซาวและล้างอย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้แร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ละลายไปกับน้ำ

ที่มา: โรงสีรุ่งชัยกิจ 43 ถนนกุดยางสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 ผู้ผลิตและจำหน่าย

หมายเลขบันทึก: 355494เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท