เสริมสร้างการเรียนรู้ในเวที DW


ไปศึกษาจากการปฏิบัติจริงที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยกับนักส่งเสริมการเกษตร

เสริมสร้างการเรียนรู้ในเวที DWระหว่างนักวิจัยกับนักส่งเสริมการเกษตร

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2553 สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดเวทีDW(การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับอำเภอ) ครั้งที่ 2/2553 ณ.ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้ในเชิงวิชาการแก่นักส่งเสริมการเกษตรผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดกับเกษตรกร ทั้งปฏิบัติงานอยู่ในระดับจังหวัดและระดับอำเภอรวมทั้งสิ้น 90 คน  โดยไปศึกษาจากการปฏิบัติจริงที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยกับนักส่งเสริมการเกษตร

 

 

       ณ.วันนี้ต้องยอมรับว่าการเกิดศัตรูพืชระบาดในนาข้าวของเกษตรกรที่สำคัญและทำความเสียหายในฤดูการผลิตที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มที่จะระบาดมากยิ่งขึ้นก็คือ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล นั่นเอง หากเกษตรกรละเลยในการดูแลรักษาต้นข้าว รวมไปถึงการป้องกันและกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่ไม่ถูกวิธี ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการผลิตข้าวอย่างแน่นอน

 

 

       เมื่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเกิดระบาดในแปลงข้าวเมื่อไหร่  เกิดความเสียหาย เกษตรกรก็มักจะต้องเรียกร้องหานักส่งเสริมการเกษตรที่อยู่ในเขตพื้นที่นั้นฯเพื่อขอความช่วยเหลืออย่างแน่นอนและหลีกเลี่ยงไม่ได้  จึงมีความจำเป็นที่ยังจะต้องยกระดับความรู้ให้แก่นักส่งเสริมการเกษตรผู้ปฏิบัติงานอยู่ใกล้ชิดเกษตรกร ซึ่งนักส่งเสริมการเกษตรจะต้องรู้ในวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดดสี้น้ำตาล ซึ่งจะเริ่มจากตัวเต็มวัยหลังจากเกิดการผสมพันธุ์ในช่วงระยะก่อนการวางไข่ 3-4 วัน จึงจะเริ่มวางไข่เป็นกลุ่มเรียงเป็นแถวในเนื้อเยื่อกาบใบข้าวหรือเส้นกลางใบ ทำให้เกิดรอยช้ำตรงที่วางไข่ เมื่อระยะไข่ 7-10 วันจึงฟักออกเป็นตัวอ่อน วัยแรกมีสีขาว หลังจากลอกคราบเข้าสู่วัยที่สอง จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ระยะตัวอ่อน11-20 วัน ตัวอ่อนลอกคราบ 5 ครั้ง จึงออกเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ 10-15 วัน วางไข่ได้ 40-300 ฟอง หนึ่งช่วงอายุขัยใช้เวลา 28-35 วัน ซึ่งความยาวของอายุขัยขึ้นอยู่กับอาหารและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ

 

 

       สำหรับการทำลายข้าวและความเสียหาย โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวบริเวณเหนือระดับน้ำ เข้าทำลายข้าวตั้งแต่ข้าวต้นเล็ก จนกระทั่งข้าวออกรวง ทำให้ใบข้าวเหลืองและเหี่ยวแห้งตายทั้งกอคล้ายถูกน้ำร้อนลวก นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำโรควิสามาสู่ต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวแคระแกรน และไม่ออกรวงหรือถ้าออกรวง รวงจะหดสั้น ในธงจะบิดม้วนงอ รวงข้าวลีบ เรียกว่า โรคใบหงิก หรือชาวนา เรียกว่าโรคจู๋  และโรคเขียวเตี้ย  นั่นเอง

 

        จากการปฏิบัติงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกษตรกรจะมองเห็นต้นข้าวได้แสดงอาการใบเหลือง และเหี่ยวแห้งตายเป็นหย่อมๆ  จนแก้ไขไม่ได้แล้วก็จะมาแจ้งที่นักส่งเสริมการเกษตรนั่นเอง การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจะมีความรุนแรงและกว้างขวางมากขึ้นเนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวมากกว่าหนึ่งครั้งต่อปี และปลูกซ้ำพื้นที่เดิม ซึ่งไม่มีการพักดินเลย ส่งผลให้เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมีอาหารกินตลอดปี อีกทั้งสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว

 

 

 

        การป้องกันกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จากคำแนะนำของผอ.สุรเดช ปาละวิสุทธ์ ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง เนินพลับ และอาจารย์ นลินี เจียงวรรธนะ ประจำศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ที่ได้ให้คำแนะนำแก่นักส่งเสริมการเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ในเวที DW ครั้งนี้มีดังนี้

 

      1.ใช้พันธุ์ข้าวต้านทาน เช่น พิษณุโลก2 กข29 กข31 และกข41

      2.ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวตามคำแนะนำ ในอัตรา 15-20 กก./ไร่

     3.ปลูกพืชหมุนเวียนหรือปล่อยให้นาว่าง เพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ย    กระโดดสีน้ำตาล

     4.ใช้กับดักแสงไฟ จับตัวเต็มวัยมาทำลาย

     5.ถ้าพบเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากกว่า 10 ตัวต่อกอหรือ 10 ตัวต่อ 10 ต้นให้พ่นสารฆ่าแมลงเพื่อป้องกันกำจัดโดยใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามคำแนะนำ

 

       การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีDW ในครั้งนี้ มีประเด็นข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล มีทั้งตัวห้ำ แตนเบียน ประกอบด้วย

 

  ตัวห้ำ ได้แก่ มวนเขียวดูดไข่  แมงมุม ด้วงดิน ด้วงกันกระดก ด้วงเต่า มวนจิงโจ้น้ำ และตัวเบียนตัวห้ำไดอินิค เป็นต้น

 

   แมลงเบียน ส่วนใหญ่เป็นแตนเบียนทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เช่น แตนเบียนอะนากรัส แตนเบียนโอลิโกสิต้า เป็นต้น

 

 

 

       จากองค์ความรู้ดังกล่าวล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว  โดยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องทุมเท  ให้ความจริงใจต่อกันที่จะผนึกกำลังเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในอนาคต หากมองว่าเป็นภารกิจของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคงจะสำเร็จยากครับ

 

เขียวมรกต 

1 พค.53

 

 

หมายเลขบันทึก: 355402เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 20:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายในวันหยุดนักขัตฤกษ์  สบายดีนะค่ะ
  • วันนี้บุษราได้นำภาพสายน้ำเย็น ๆ มาฝากกันค่ะ         

                                                                              

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท