ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ภาคประชาชน แก่ อบจ.


ดังนั้นแนวร่วมคิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร จึงมีสร้างข้อเสนอภาคประชาชน เพื่อเป็นนโยบายแก่ผู้สมัครและว่าที่นายก อบจ. คนต่อไป ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำได้ และทำได้จริง ใครรับไปมีหวัง โกยคะแนนได้อีกมากโขในปีนี้ และสมัยต่อไป

 

ข้อเสนอนโยบายสาธารณะ ภาคประชาชน แก่ อบจ.

เรื่อง/ภาพ : ปูนา
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 15 ธันวาคม 52 – 15 มกราคม 53
 
        ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ มกราคมนี้ เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปีนี้ลงสมัครรับเลือกตั้งถึง ๕ เบอร์ วาด ลีลา ท่วงท่าการหาเสียงกันอย่างดุเดือด ชูโรงความเป็นคนของประชาชน ความเป็นคนมีความพร้อม แต่ขาดการชูเรื่องนโยบาย ดังนั้น ป้ายทั่วบ้านทั่วเมืองจะเห็นแต่คนกับเบอร์ มีติดนโยบายมาบ้างแต่น้อยมาก  ตามความจริงถือว่าจังหวัดนครศรีธรรมราช มีความพร้อมเรื่องคนและความรู้อย่างมากมาย แต่ขาดนโยบายดีดี หรือการปฏิบัติการผ่านวิสัยทัศน์เมืองนครที่ว่า “นครเมืองแห่งการเรียนรู้ ท่องเที่ยวและเกษตรน่าอยู่ มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”
        ดังนั้นแนวร่วมคิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร จึงมีสร้างข้อเสนอภาคประชาชน เพื่อเป็นนโยบายแก่ผู้สมัครและว่าที่นายก อบจ. คนต่อไป ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำได้ และทำได้จริง ใครรับไปมีหวัง โกยคะแนนได้อีกมากโขในปีนี้ และสมัยต่อไป
         สำหรับข้อเสนอภาคประชาชน โดย โครงการขับเคลื่อนเมืองนครสู่จังหวัดน่าอยู่ (คิดดี ทำดี เพื่อเมืองนคร)  คณะทำงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครศรีธรรมราช  สภาองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ชมรมนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรหมู่บ้าน  (ทสม.)   จัดให้มีการนำเสนอแก่ผู้สมัครทั้ง ๕ เบอร์ในวันที่ ๑๙ มค. ๕๒ ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวิลโลตัส เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. มีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆมาร่วมฟังประมาณ ๒๐๐ คน โดยมีเนื้อหาข้อเสนอที่ผ่านการกลั่นกรอง และทบทวนมาแล้ว ในหลายๆเรื่อง ดังนี้
 
ข้อเสนอนโยบายสาธารณะภาคประชาชน
๑)      แผนพัฒนาที่ยั่งยืน
       ๑.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้การสนับสนุนนักวิชาการในการจัดทำข้อมูลเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านและเป็นกลาง รวมถึงให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารอย่างถูกต้อง เที่ยงตรงและสม่ำเสมอจนสามารถหาทางออกที่ดีที่สุด
       ๒. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นกลไกหลัก  โดยประสานและร่วมมือกับ อบต. หรือเทศบาลในพื้นที่   สส. และ ครม. อย่างใกล้ชิด  ในการสร้างการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ครอบคลุมทุกพื้นที่  
       ๓. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดต้อง ระงับการเข้ามาของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้( Southern Seaboard Development Plan : SSB) ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช เอาไว้ก่อนโดยให้มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
๒)    การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง
         ๑.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเร่งผลักดันและส่งเสริมให้มีการออกประกาศจังหวัด ตาม พรบ.ประมง ๒๔๙๐ เรื่องห้ามทำการประมงเรือคราดหอยลายในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  เพราะมีข้อมูลทางวิชาการว่าทำลายหน้าดินทะเลลึกถึง  ๑ เมตร และทำลายล้างแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน
   ๒.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เร่งผลักดันและส่งเสริมให้มีการปิดอ่าวในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ –เดือนพฤษภาคม  เพราะเป็นช่วงปลาทูวางใข่  ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ได้มีการปิดอ่าวหมดแล้ว ส่งผลให้เรือใหญ่ขนาดมากกว่า ๑๔ เมตร ทะลักเข้ามาในเขตอ่าวจังหวัดนครศรีธรรมราชทั้งหมด ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกับคนในพื้นที่และเกิดการทำลายล้างทรัพยากรประมงอย่างหนัก
         ๓.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ดำเนินการเพิ่มแนวปะการังเทียม ในเขตแนวห้ามเรืออวนลากอวนรุน คือ ๕,๔๐๐  เมตรตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช  ตามที่ประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒  เป็นต้นมา ทั้งนี้เพื่อป้องกันเรืออวนลาก อวนรุน รุกล้ำแนวเขต อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ 
          ๔.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดดำเนินการจัดทำเกาะเทียม (ปะการังภูเขา)  อำเภอละ ๑ ลูก ทั้งนี้โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบ ศึกษา และจัดวางในพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอ่าวเปิดทั้งหมด ไม่มีเกาะแก่งกลางทะเล มีแต่ริมฝั่งในพื้นที่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับจังหวัดสงขลา ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ขนาดใหญ่ และยังสามารถส่งเสริมการตกปลา การท่องเที่ยวไปในตัวอีกด้วย
         ๕. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนให้กับเรือตรวจการ อบต.ที่มีความพร้อม ในการตรวจจับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย
 
๓)     การแก้ปัญหาที่ดินกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
        ๑. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด  ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนเพื่อแต่งตั้งคณะทำงานชะลอการจับกุม แล้วเร่งพิสูจน์สิทธิราษฎรที่อยู่ในพื้นที่มีปัญหา   โดยใช้ มติ ครม. ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑   และหรือกฎหมายที่ดินที่เกี่ยวข้อง
         ๒. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเร่งผลักดันและส่งเสริมให้เกิดมาตรการป้องกันการบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำฯ โดยสนับสนุนให้เกิดป่าชุมชนขึ้นเพื่อการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟู
           ๓.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเร่งผลักดันและส่งเสริมให้เกิด “โฉนดชุมชน” เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดิน และแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชน ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
           ๔.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหาแนวทางในการจัดสรรที่ดินเสื่อมโทรมของรัฐ  หรือที่ดินของรัฐซึ่งหมดสัญญาเช่าจากบริษัทเอกชนเพื่อจัดสรรให้กับผู้ไร้ที่ดินทำกิน
 
๔)     ภูมิปัญญาท้องถิ่น
             ๑.  ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนการอนุรักษ์ รักษา ฟื้นฟู ภูมิปัญญาท้องถิ่น
             ๒. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนการจัดทำหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการถ่ายทอดไปสู่ชุมชน และสถาบันการศึกษาทุกระดับ
             ๓. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนการจัดกิจกรรมฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองนครอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของ 
                                ๓.๑        รวมพลคนภูมิปัญญาท้องถิ่นสัญจร
                                ๓.๒       มหกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเมืองนคร  ปีละ ๑ ครั้ง
                ๔. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนการจัดทำและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาทั้งในลักษณะบุคคล  กลุ่ม  องค์กร  ชมรม ฯ
                ๖.   ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนภูมิปัญญาเป็นอาชีพ (อาชีพจากภูมิปัญญา) 
 
๕)    การเมืองภาคพลเมือง
       ๑.      ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนุนเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตามความพร้อมของแต่ละตำบล
          ๒. ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้วให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
๖)      การจัดการน้ำ
         ๑.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนกระบวนการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนโดยชุมชนร่วมกับท้องถิ่น
        ๒.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนกระบวนการการปิด เปิดประตูระบายน้ำปากพนังโดยให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ
        ๓.ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำภาคประชาชนในพื้นที่ด้านบน และด้านล่างประตูระบายน้ำปากพนัง
 
หมายเลขบันทึก: 354981เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2010 03:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สพม.พัทลุง คุยกันหลายเครือเมื่อ 25 เมย. ผลการพูดคุย ในเรื่องการเมืองภาคพลเมือง นำไปสู่ สภาประชาชน

คุณสุวัฒน์ เข้ามาช่วยเติมเต็ม

ขอบคุณ ท่านผู้เฒ่า วอญ่า มหามิตร

วันหนึ่งคงได้ทักทายและแลกเปลี่ยนครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท