เรื่องดีที่ มวล. : การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ ๗


สอนนักเรียนให้เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสอนให้เป็นคนดีด้วย

วันนี้ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐-๑๒.๐๐ น. มีพิธีเปิดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติครั้งที่ ๗ ที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี ศาสตราจารย์ ศักดา ศิริพันธุ์ เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.) เป็นประธานในพิธี

ปีนี้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับเกียรติจากมูลนิธิ สอวน. ให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยทักษิณ การแข่งขันมีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๔-๓๐ เมษายน ๒๕๕๓ รายละเอียดดูได้ที่นี่

ดิฉันไปถึงห้องประชุมก่อนพิธีเปิดเล็กน้อย ทีมงานกำลังซักซ้อมการเชิญธงของศูนย์ สอวน. ๑๓ ศูนย์ สังเกตเห็นได้ว่านักเรียนตัวแทนแต่ละศูนย์ตั้งใจซ้อมกันอย่างดี ทำผิดบ้างถูกบ้างอาจารย์ก็ไม่ว่าอะไร บางคนยังเป็นเด็กหญิงเด็กชายตัวเล็กๆ อยู่เลย

เมื่อได้เวลาประมาณ ๑๐.๑๐ น. จึงเริ่มงานด้วยการฉายวีดิทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ต่อด้วยการบอกให้รู้ว่าการแข่งขันมีลักษณะอย่างไร ได้จัดการแข่งขัน ณ ที่ใดมาแล้วบ้าง (เริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๗) แล้วตามด้วยพิธีเชิญธงของทั้ง ๑๓ ศูนย์

ขณะกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ศักดา ประธานในพิธีได้เล่าให้ฟังถึงพระดำริของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ที่ว่า...การส่งครูและนักเรียนไปแข่งขันโอลิมปิก ณ ต่างประเทศ ความรู้ไปตกอยู่ที่ครูและนักเรียนเหล่านั้น ทำอย่างไรให้มีการเผยแพร่ ถ่ายทอด...ท่านให้เงินมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้ไปตั้งมูลนิธิฯ

มูลนิธิฯ ได้ทำหน้าที่นำความรู้ไปเผยแพร่ในหลายทาง อาทิ จัดการแข่งขัน พัฒนาครูโดยใช้อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ผลิตตำราทางวิทยาศาสตร์ (เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ) แจกให้แก่โรงเรียนต่างๆ ฟรี ตอนนี้เริ่มผลิตตำราสำหรับ ม.ต้น

ดูจากวีดิทัศน์ ดีใจที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นเสาหลักของชุมชน...การเรียนการสอนต้องเอาทั้งโลกาภิวัตน์และบริบทของชุมชนใส่เข้ามาด้วย...ปัญหาใหญ่ปัจจุบันคืออาหารไม่พอ เช่นที่แอฟริกา จำเป็นต้องใช้พืช GMO แต่บางประเทศไม่มีปัญหาขาดอาหาร ก็ถกเถียงกันเรื่องพืช GMO...อีกปัญหาคือขาดน้ำ...แม่น้ำโขงมีน้ำน้อย...มีนักวิทยาศาสตร์คำนวณว่าการผลิตข้าว ๑ กก. ต้องใช้น้ำไปเท่าไหร่ เลี้ยงวัวให้ได้เนื้อเท่านั้นเท่านี้ต้องใช้น้ำเท่าไหร่...อนาคตต้องหาวิธีปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย...การผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีการแบบไหน เกิดคาร์บอนมากน้อยเท่าใด...

การเอาวิทยาศาสตร์ไปใช้ในชุมชนพอเพียง ทำอย่างไร ไม่ใช่ไปเรียนรู้จากชุมชนอย่างเดียว มีตัวอย่างเรื่องส้มแขก นักเรียนเอาไปเลี้ยงไก่แล้วได้ไก่ที่ไม่มีไขมัน นักวิทยาศาสตร์สกัดสารลดความอ้วนออกมา ส่งขายได้มากมาย...เมื่อไม่นานมานี้มีพระไปหา ดร.คนหนึ่ง บอกว่ามีเปลือกพืชชนิดหนึ่งที่รักษามะเร็งได้ ...เอาไปสกัด พบว่าฆ่าเชื้อเอดส์ได้ แต่ยังไม่ได้ทดลองในคน…โชคดีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่ท่ามกลางชุมชนที่เข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ...อย่าลืมพานักเรียนไปดู

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ มีพระราชดำรัสทุกครั้งที่พานักเรียนเข้าเฝ้าว่า...สอนนักเรียนให้เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องสอนให้เป็นคนดีด้วย

ก่อนจะมีการถ่ายภาพร่วมกัน ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งนักเรียนและครูอาจารย์มีการกล่าวปฏิญาณตน นักเรียนกล่าวว่า “...จะแข่งขันด้วยความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์สุจริต” ครูอาจารย์กล่าวว่า “...จะตัดสินผลการแข่งขันตามกฎกติกา...ด้วยความเคร่งครัดและความซื่อสัตย์สุจริต...”

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 354254เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2010 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 00:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คนที่สอนต้องเป็นแบบอย่าง ครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท