เรื่องเล่าของนักทรัพฯ # เรื่องที่ 1


เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์มาสำหรับชุมชุนไซเบอร์ทั้งหลาย กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนแบบร่วมมือเปิดกว้างอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด...บนโลกออนไลน์ ซึ่งลักษณะบางอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนปกติได้…

            ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2551 ตอนนั้น ผู้เขียนได้เสนอโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเป็นการฝึกอบรมออนไลน์ที่เน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากร “ฟรี” บนอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ โครงการได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้เรียกกันเป็นการภายในว่า Web for share Project และมีโอกาสนำข้อมูลจากการทำโครงการนี้ไปนำเสนอในงานประชุมวิชาการนานาชาติ ที่มหาวิทยาลัยบูรพาจัดขึ้นเมื่อปลายเดือน พฤศจิกายน 2552 ซึ่งผู้เขียนตั้งใจว่าหลังจากนั้นจะดำเนินการใน 2 เรื่อง คือ
1) จะขออนุมัติโครงการใน Phase 2 เพื่อขยายผลอย่างต่อเนื่อง และ
2) จะเขียนบทความจากประสบการณ์ในโครงการ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนอื่น ๆ

ต้นปีงบประมาณ 2553 ผลปรากฏว่า

...........................เรื่อง 1) ไม่อนุมัติ

และด้วยความผิดหวังเล็ก ๆ ทำให้

...........................เรื่อง 2) มีอันต้องผัดผ่อนเลื่อนไหลไปเรื่อย ๆ จนถึงวันนี้
 

สิ่งที่ผู้เขียนได้บันทึกไว้ต่อไปนี้ เป็นการนำเสนอเรื่องราวการทำงานในครั้งนั้น... และเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมา

 …...........................

             ภายหลังโครงการอนุมัติ ผู้เขียนใช้เวลาในการเตรียมงานมากพอสมควร เริ่มจากการสร้างฐานข้อมูลที่จะใช้เป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ โดยรวบรวมองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาจากหลายหน่วยงาน โดยมีสำนักคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยบูรพา (ขณะนั้น อ. เสรี ชิโนดม เป็นผู้อำนวยการสำนักฯ) ให้ความช่วยเหลือในการนำโปรแกรม Moodle มาสร้างระบบฐานข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการใช้งานครั้งนี้ รวมถึงการเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในกิจกรรมการฝึกอบรม จำได้ว่าใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้ฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ “Web for Share” ซึ่งรวบรวมองค์ความรู้ในหมวดหมู่ต่าง ๆ นับรวมได้ประมาณเกือบ 200 เรื่อง

             ขั้นตอนต่อไปคือการเฟ้นหาผู้เข้ารับการอบรม ที่เรียกว่า “เฟ้นหา” เพราะจำเป็นต้องให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่มี
”คุณสมบัติ” เฉพาะตัวที่ (ผู้เขียน) เชื่อว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการฝึกอบรมออนไลน์ที่มีระยะเวลายาวนานเกือบ 2 เดือน ผู้เขียนใช้ทุกกระบวนท่าที่ได้ร่ำเรียนมาผนวกกับประสบการณ์ในด้านการฝึกอบรมกว่า 10 ปี เริ่มจากสำรวจ... สอบถาม... สัมภาษณ์... ทดสอบ.. และแสดงวิสัยทัศน์ จนกระทั่งได้ผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาเข้าร่วมโครงการ 20 คน (และลดเหลือ 19 คน ภายหลังจากการฝึกอบรมเริ่มไปได้เพียง 1 สัปดาห์!!!)

             และนี่คือปัญหาโลกแตกของการฝึกอบรมพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการฟรี เพราะผู้อบรมจะรู้สึกว่าไม่ต้องเสียอะไร (แถมได้ตังค์ค่ารถกลับบ้านด้วย) จึงไม่ค่อยเห็นคุณค่าและความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่กว่าจะเป็นตัวโครงการขึ้นมาได้ซักโครงการ ผู้รับผิดชอบต้องวิ่งวุ่น หัวฟู หัวเสีย หัวฟัดหัวเหวี่ยง ...

            ขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับกิจกรรมการอบรมของ web for share ก่อน

            ขั้นแรก เป็นการสร้างทีมและฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น

ผู้เขียนใช้หลักการง่าย ๆ ที่ได้แนวคิดจาก Collaborative Learning ที่เน้นสร้างความรู้สึกที่เป็น “สมาชิกใน
กลุ่ม” ให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ และที่สำคัญคือความรู้สึกมีส่วนร่วมทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของกลุ่ม เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่สำคัญและต้องสร้างให้เกิดขึ้นกับผู้เข้ารับการอบรม คือ “ทีมเรียนรู้” ซึ่งใช้วิธีการที่หลากหลายมาก เช่น ทำกิจกรรมร่วมกัน เล่นเกม สร้างความคุ้นเคย แบ่งปันวิสัยทัศน์ และ... กระทั่งได้ทีมเรียนรู้…

            ขั้นตอนต่อมาคือการฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการฝึกอบรมออนไลน์ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจผู้อบรมมาก ทั้งการพูดคุยกันผ่านโปรแกรม Skype การ chat ด้วย MSN การใช้ web board เป็นต้น ซึ่งถ้าเป็นคนอายุไม่เกิน 30 ปี เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก ๆ ชนิดที่เรียกว่าใครใช้ไม่เป็นก็เป็นคนประหลาดในสายตาเพื่อนกันไปเลย แต่กับผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาที่อายุ 45 ปีขึ้นไป เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก

            ที่น่าดีใจคือ เทคโนโลยีพื้นฐานเหล่านี้ถูกนำไปใช้งานต่อเนื่องในสถานศึกษาบางแห่งของผู้อบรมในโครงการนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ conference ผ่านโปรแกรม Skype

            เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์มาสำหรับชุมชุนไซเบอร์ทั้งหลาย กลับกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การเรียนแบบร่วมมือเปิดกว้างอย่างไม่มีขอบเขตจำกัด...บนโลกออนไลน์  ซึ่งลักษณะบางอย่างไม่สามารถเกิดขึ้นในห้องเรียนปกติได้…

           ขั้นที่ 2 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนเครือข่าย

            การจัดการฝึกอบรมบนเครือข่ายนั้น การกระตุ้นความสนใจ หรือ Motivation เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ยิ่งระยะเวลาการอบรมยาวนานเท่าไร ก็จำเป็นต้องมีการกระตุ้นกันให้มากขึ้นเท่านั้น วิธีการที่ผู้เขียนใช้คือการมีผู้เชี่ยวชาญบนเครือข่าย คอยขึ้น conference ในแต่ละวัน เพื่อพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตรวจสอบพิจารณาผลงานพร้อมให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ วิธีการนี้ทำให้ผู้อบรมมีความกระตือรือร้นที่จะอ่าน (โดยการค้นหาและศึกษาองค์ความรู้ที่แต่ละคนสนใจ คิด (วิเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้ศึกษาบวกกับประสบการณ์ของตนเอง) เขียน (เรียบเรียงข้อมูลและนำเสนองานที่แต่ละคนได้ศึกษาบนบล็อกของกลุ่ม) พูด (เสนอไอเดียที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในงานเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในกลุ่มและผู้เชี่ยวชาญผ่านการ conference ในแต่ละวัน) อย่างไรก็ตามความสำเร็จของการมีผู้เชี่ยวชาญบนเครือข่ายนั้น ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกบุคคลที่เป็นที่ยอมรับ และมีผลงานเชิงประจักษ์ จะช่วยกระตุ้นความสนใจได้มากขึ้น

            ขั้นที่ 3 เป็นการประเมินการเรียนรู้ของตนเองและของกลุ่ม
            ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะผู้อบรมแต่ละคนจะต้องพิจารณาตนเอง (โดยไม่ลำเอียง) ว่าตนเองได้พัฒนาหรือเรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนเรียน  หลังจากนั้นก็ร่วมกันประเมินกลุ่มว่ามีการพัฒนาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกในกลุ่มมากน้อยเพียงใด  และเมื่อนำผลการประเมินของผู้เรียนมาเทียบเคียงกับการประเมินของผู้เชี่ยวชาญบนเครือข่ายที่ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อประเมินการเรียนรู้จากงานที่สมาชิกแต่ละคนและกลุ่มได้นำเสนองานบนบล็อกอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์แล้ว สอดคล้องกันหรือไม่ ประกอบกับการประเมินโดยผู้เขียนเองซึ่งทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนและผู้เชี่ยวชาญตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์เช่นกัน  การประเมินในลักษณะ 3 มิติหรือ 3 เส้า เช่นนี้ทำให้ได้ข้อมูลการประเมินในมิติที่ลึกมากขึ้น ไม่ใช่เป็นการประเมินเพียงผิวเผินจากผลงานที่ผู้เรียนได้จัดทำไว้บนบล็อกเท่านั้น หากแต่การได้พูดคุยสนทนา และการสังเกตการณ์พฤติกรรมในการประชุมกลุ่มบนเครือข่ายผ่านโปรแกรม Skype ของสมาชิกทุกกลุ่ม ทุก ๆ วัน ทำให้มองเห็นมิติที่ลึกลงไปถึงความคิดเห็น ประสบการณ์ และความร่วมแรงร่วมใจในการทำงานในฐานะสมาชิกของกลุ่ม

            .............................

            หลังจากจบโครงการไปได้ประมาณปีกว่า ๆ ปลายปี 2552 ผู้เขียนมีโอกาสเข้ารับการพัฒนาในหลักสูตร ICeXCELS THAILAND รุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างประเทศไทยกับ SEAMEO INNOTECH ประเทศ Philippines และเป็นการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ที่น่าสนใจคือ กระบวนการที่ทาง INNOTECH เค้าเรียกว่า A flexible learning course นั้น มีขั้นตอนคล้าย ๆ กับ Web for Share Project (จนผู้เขียนรู้สึกว่ามันเป็นปรากฏการณ์ “แดจาวู”) กล่าวคือ ขั้นแรก มีการปฐมนิเทศ ซึ่งเรียกว่า Orientation เพื่อบอกเล่าถึงกระบวนการและกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทำตลอดระยะเวลาในหลักสูตร (ตลอดหลักสูตรใช้เวลาประมาณ 2เดือน) นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยใช้เวลา 2 วัน ซึ่งแน่นอนว่ามีเรื่องของฐานข้อมูลองค์ความรู้ต่าง ๆ บนเว็บไซต์ที่เจ้าของหลักสูตรได้พัฒนาขึ้น  จบขั้นตอนนี้แล้ว ขั้นที่สอง ผู้เรียนก็จะทำการอ่านเนื้อหา ที่ผู้สอน (Tutor) ได้ request มา แล้วร่วมตอบกระทู้บนเว็บไซต์ที่จะมีวิทยากรผู้ช่วย ที่เค้าเรียกว่า Shadow  Tutor กำหนดไว้เป็นช่วง ๆ ระหว่างนี้ก็จะมีการ chat ในเวลาเดียวกัน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ๆ ละ 3 ชั่วโมง โดย Tutor และ Shadow Tutor จะขึ้นมาตั้งกระทู้สดและให้ผู้เรียนตอบสดเช่นกัน!! ในขณะเดียวกันทุก ๆ 2 สัปดาห์ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องทำงานเดี่ยว (ซึ่งกำหนดลักษณะงานไว้ชัดเจนในคู่มือ) และส่งเป็นกิจกรรม (ภาคบังคับ) ผ่านช่องทางบนเว็บไซต์ ให้ผู้สอนได้ตรวจสอบพิจารณา ถ้าเห็นว่าควรแก้ไขก็จะส่งคืนมาให้ผู้เรียนแต่ละคนแก้ไขแล้วส่งกลับไปใหม่ กิจกรรมทุกอย่างนอกจากจะมีกำหนดเวลาที่จะต้องเสร็จอย่างชัดเจนแล้ว ยังมีเกณฑ์คะแนนของแต่ละกิจกรรมด้วย เช่น การ chat  ผู้เรียนแต่ละคนต้องมีการโต้ตอบกับผู้สอนและผู้เรียนคนอื่นไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งต่อการ chat 1 ครั้ง เป็นต้น และขั้นตอนสุดท้าย คือการสอบที่เรียกว่าRelalida ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องสอบปากเปล่า (Oral) เกี่ยวกับผลงานรายบุคคลที่ได้มีการส่งให้กับ Tutor ผ่านเว็บไซต์ และมีการให้คะแนนไปแล้ว การสอบปากเปล่านี้จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนมากขึ้นหรือน้อยลง ที่เรียกว่า Re-grade ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผลงานที่เป็น paper เขียนได้ดีมาก Tutor ให้เกรด A แต่พอถึงเวลาสอบปากเปล่าปรากฏว่าตอบคำถามได้ไม่ดี หรือไม่ถูกต้อง (อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะทำ paper ด้วยตัวเอง) ผู้สอบเค้าก็จะลดเกรดลงมาจาก A อาจเหลือแค่ B เป็นต้น ซึ่งการสอบ Oral นี้ทาง INNOTECH เค้าจะยกทีม Tutor ทั้งหมดมาแล้วก็จะมี Shadow Tutor เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสอบด้วย ตอนที่ผู้เขียนสอบนอกจาก Tutor, Shadow Tutor แล้ว ยังมี ผอ. ของ INNOTECH ด้วย ใช้เวลาสอบประมาณ 20-30 นาทีต่อคน

             ผู้เขียนสรุปได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนได้คิดและทำโครงการ  web for share ในวันนั้น เกิดจากประสบการณ์ด้านการฝึกอบรม หลอมรวมกับความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีทำให้เกิดผสมผสานของเนื้อหาและกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนที่มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับหลักสูตร ICeXCELS ที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการสอนและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการจัดกิจกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีการวางแผนและเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี

            ทว่า... ความสำเร็จที่แตกต่างกันระหว่าง 2 หลักสูตรนี้คือ “การวางแผนการตลาด” ซึ่งต้องยอมรับว่า INNOTECH ทำได้ดีมาก และส่งผลให้หลักสูตรนี้แพร่กระจายไปสู่หลาย ๆ ประเทศ ทำรายได้ให้แก่องค์กรชนิดที่เรียกว่ายิ่งกว่าคุ้มทุน!!!

            และนี่คือความสำเร็จที่มาจากการวางแผนการตลาดของหลักสูตร ICeXCELS ...

           …จากมุมมองของผู้ปฏิบัติงานด้านการฝึกอบรมมากว่า 10 ปี ผู้เขียนค่อนข้างเชื่อในศักยภาพของผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการพัฒนา “คน” ว่า บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ล้วนสามารถสร้างสรรค์เทคนิค วิธีการ รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาบุคคลได้เทียบเท่านานาประเทศ หากแต่ข้อจำกัดบางประการทำให้งานด้านการพัฒนา “คน” (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานภาครัฐ) ยังล้มลุกคลุกคลาน   อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทั้งหลายนี้ผู้เขียนเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้ ถ้าเพียงแต่ผู้บริหาร (ระดับสูง) มีวิสัยทัศน์ที่จะมองไปข้างหน้าเพื่อดูเส้นทางของการพัฒนาว่าควรจะมุ่งไปในทิศทางใด และควรใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ใดในการเดินทางสู่เส้นทางนั้น หากผู้บริหารไม่มีเวลาพอที่จะพินิจพิเคราะห์รอบด้านเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ ก็สามารถใช้ตัวช่วยต่าง ๆ  เช่น การตั้งเป็นคณะทำงานเพื่อกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ซึ่งคณะทำงานเหล่านี้สามารถทำการวิจัยเชิงอนาคตเพื่อศึกษาแนวโน้มความเจริญเติบโตด้านต่าง ๆ ของประเทศ และนำผลงานวิจัยนั้นมาวางแผนและพัฒนาคนให้เหมาะสม เป็นต้น... แล้วถ่ายทอดเป็นนโยบาย... สู่การปฏิบัติ... และที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำอย่างต่อเนื่องจริงจัง แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารเมื่อถึงวาระ หากแต่นโยบายเหล่านี้ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป อาจมีการปรับปรุงเพิ่มเติมได้บ้างหากมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน แต่ไม่ควบยุบเลิก หรือเริ่มต้นใหม่

            เพราะจะทำให้เสียทั้งเวลา... ทั้งงบประมาณ... และความรู้สึก...ของคนที่เค้าตั้งใจทำงานกันจริง ๆ...

 

           

 

คำสำคัญ (Tags): #project#web for share#web4share#hrd#training
หมายเลขบันทึก: 354225เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2010 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท