เงินตรา : สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


เงินตราสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



         พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๔  เป็นพระมหากษัตริย์ที่ชาวต่างประเทศรู้จักในพระนาม  “King  Mongkut”  รัชสมัยของพระองค์นับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกกำลังขยายอิทธิพลและอำนาจในการล่าอาณานิคมไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก  อันเป็นผลให้ต้องทรงเปิดรับอารยธรรมตะวันตก  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในเวลานั้น  ซึ่งได้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทย  การพัฒนาเศรษฐกิจ  การค้า  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงระบบการผลิตเงินตราของประเทศ

         ในช่วงต้นรัชกาล  เงินตราหลักที่ใช้ในการค้าขายของประเทศยังคงเป็นเงินพดด้วง  โดยใน  พ.ศ. ๒๓๙๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ  ให้ผลิตพดด้วงชนิดราคาบาท  กึ่งบาท  สลึง  และเฟื้อง  ทำด้วยเงินประทับตราพระแสงจักรเป็นตราประจำแผ่นดินและเปลี่ยนตราประจำรัชกาลเป็นตรามงกุฎ  มีความหมายสืบเนื่องถึงพระนามเดิมของพระองค์คือ  “เจ้าฟ้ามงกุฏ”  

(พดด้วงชนิดทองคำ  ตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ)

         และในปีเดียวกันนี้  ยังโปรดฯ  ให้ผลิตพดด้วงชนิดทองคำ  ตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ   ชนิดราคาตำลึง  กึ่งตำลึง  บาท  กึ่งบาท  สลึง  เฟื้อง  กึ่งเฟื้อง  และไพ  เฉพาะราคาไพ  ประทับตราพระมหามงกุฎตราเดียว


(พดด้วงทองคำและพดด้วงเงินประทับตราพระเต้าเพียงตราเดียว)

         ใน พ.ศ. ๒๓๙๙  โปรดฯ  ให้ผลิตพดด้วงทองคำและพดด้วงเงินประทับตราพระเต้าเพียงตราเดียว  ชนิดราคา  สลึง  เฟื้อง และกึ่งเฟื้อง  เฉพาะพดด้วงเงิน  เพิ่มชนิดราคาไพและกึ่งไพ

         จากนั้น  ใน พ.ศ. ๒๔๐๒  โปรดฯ  ให้ผลิตพดด้วงเงิน  ตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ  ชนิดราคา  ชั่ง  ตำลึง  และกึ่งตำลึง  เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสฉลองพระมหามณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม  ในพระบรมมหาราชวัง

(พดด้วงทองเม็ดขนุน)

         นอกจากนี้  ยังมีการผลิตเงินตราก้อนกลม  ทำด้วยทองคำ ประทับตราพระแสงจักร – พระมหามงกุฎ  มีชนิดราคาเดียวคือ  บาทกึ่ง (หกสลึง)  และเนื่องจากมีลักษณะเป็นก้อนกลมคล้ายเม็ดขนุน  จึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า  “ทองเม็ดขนุน

         เนื่องจากมีปัญหาการผลิตพดด้วงไม่ทันต่อความต้องการและมีผู้ทำปลอมกันมาก  ใน  พ.ศ. ๒๓๙๖  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงทรงแก้ไขโดยให้ผลิตเงินกระดาษ  เรียกว่า “หมาย”  โดยใช้วิธีการพิมพ์กระดาษอย่างง่ายๆ  ออกใช้ควบคู่กับเงินพดด้วง  มี ๓ ชนิด  คือ  หมายราคาต่ำ  หมายราคาตำลึง  และหมายราคาสูง  มีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งเฟื้องจนถึงหนึ่งชั่ง  ประทับตราประจำรัชกาลและตราประจำแผ่นดิน  หมายราคาต่ำมีตราดุนนูนจำนวนเท่ากับมูลค่าของหมายประทับไว้ที่ขอบเพื่อป้องกันการปลอมแปลงและเพื่อให้คนตาบอดสัมผัสเพื่อทราบมูลค่าของหมาย เงินกระดาษรุ่นนี้  ราษฎรไม่นิยมใช้  เมื่อได้รับก็รีบนำไปขึ้นเงินที่พระคลังมหาสมบัติ

         ใน  พ.ศ. ๒๓๙๘  เมื่อไทยลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง  ซึ่งเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการทูตและการค้ากับประเทศอังกฤษ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่  ซึ่งกำหนดข้อจำกัดในการเก็บภาษีขาเข้า –  ขาออก  และให้ยกเลิกการผูกขาดการจัดเก็บภาษีโดยพระคลังสินค้า  รวมทั้งระบบการปกครองและระบบการตัดสินคดีความระหว่างประเทศ  ต่อมา  ไทยได้ลงนามในสนธิสัญญาแบบเดียวกันนี้กับชาติตะวันตกอื่นๆ  เช่น  สหรัฐอเมริกา  ฝรั่งเศส  โปรตุเกส  เดนมาร์ก  เนเธอร์แลนด์  ปรัสเซีย  ฯลฯ  ทั้งนี้ นับเป็นพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีพระราชประสงค์มิให้ประเทศตะวันตกชาติใดเข้ามามีความสำคัญที่สุดในดินแดนไทย  มิฉะนั้นอาจถือโอกาสตั้งตัวเป็นใหญ่เหนือชาติไทย  นับเป็นการดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจท่ามกลางการคุกคามของจักรวรรดินิยมตะวันตก

         เครื่องจักรผลิตเหรียญชนิดแรงดันไอน้ำที่สั่งซื้อมาถึงในปลาย พ.ศ. ๒๔๐๑  แต่เกิดปัญหาการติดตั้งเป็นเวลานาน  เนื่องจากช่างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ถูกส่งเข้ามาดำเนินการติดตั้งได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอาการป่วยก่อนที่จะติดตั้งเสร็จถึง ๓ คน  จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๐๓  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ  ให้นายโหมด  อมาตยกุล  ดำเนินการติดตั้งจนเป็นผลสำเร็จ  และให้สร้าง  “โรงกระสาปน์สิทธิการ”  ขึ้นที่โรงทำเงินพดด้วงเดิม  ทางด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ  บริเวณมุมถนนนอกประตูสุวรรณบริบาลข้างตะวันออก

         เงินเหรียญชุดแรกที่ผลิตจากเครื่องจักรนี้มีลักษณะคล้ายกับเหรียญชุดบรรณาการ  มี ๕ ชนิดราคาคือ  บาท  กึ่งบาท  สลึง  เฟื้อง  และกึ่งเฟื้อง  ออกใช้เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๐๓  โดยให้ใช้ควบคู่ไปกับพดด้วง  และไม่โปรดฯ  ให้ผลิตพดด้วงเพิ่มขึ้นอีกพร้อมทั้งได้ทรงออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแปด้วย

         สืบเนื่องมาจากระหว่าง  พ.ศ. ๒๓๙๐ – ๒๓๙๑  มีการพบแหล่งแร่ทองคำในรัฐแคลิฟอร์เนีย  ประเทศสหรัฐอเมริกา  และประเทศออสเตรเลีย  ทำให้มีทองคำในตลาดเพิ่มขึ้น ๖ – ๗ เท่า  แล้วกระจายเข้ามาในตลาดเอเชียราว  พ.ศ. ๒๔๐๐  เมื่อประเทศไทยเปิดตลาดการค้าเสรีทำให้ทองคำหลั่งไหลเข้ามามาก  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ  ให้ผลิตเหรียญทองคำขึ้นใช้ควบคู่ไปกับเหรียญเงิน  โดยกำหนดให้เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเพื่อความสะดวกในการค้าขายกับต่างประเทศที่ต้องจ่ายเงินคราวละมากๆ

 

(เหรียญทองคำในรัชกาลที่ ๔)

         เหรียญทองคำที่โปรดฯ  ให้ผลิตมี ๓ ชนิดราคา  เรียกว่า  เหรียญทองทศ  มีมูลค่าเท่ากับ ๘ บาท  เหรียญทองพิศ  มีมูลค่าเท่ากับ ๔ บาท  และ  เหรียญทองพัดดึงส์  มีมูลค่าเท่ากับสิบสลึง  เหรียญเหล่านี้ออกใช้เมื่อวันที่  ๒๙  ตุลาคม  ๒๔๐๖  และเป็นประโยชน์ต่อการค้าขายกับต่างประเทศมาก

 

(เหรียญกะแปะหรืออีแปะอัฐ)

         ในส่วนของเงินปลีกนั้น  ยังคงใช้เบี้ยหอยเช่นเดียวกับรัชกาลก่อนๆ  แต่เนื่องจากราคาเบี้ยไม่แน่นอน  ขึ้นลงมากน้อยตามจำนวนที่มีอยู่ในตลาด  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ  ให้ผลิตเหรียญดีบุกผสมทองแดง  เรียกว่า  เหรียญกะแปะหรืออีแปะอัฐและโสฬสและทรงออกประกาศให้ใช้แทนเบี้ยเมื่อวันที่  ๒๕ สิงหาคม ๒๔๐๕  โดยกำหนดอัตรา ๘ อัฐ  เป็น ๑ เฟื้อง  และ ๑๖ โสฬส  เป็น ๑ เฟื้อง

         ลักษณะเด่นของเหรียญอีแปะอัฐและโสฬสนี้คือมีข้อความบอกราคาด้วยอักษรไทย  จีน  โรมัน  และเลขอารบิค  ทั้งนี้เพื่อสื่อสารให้ทั้งชาวไทย  ชาวจีน  และชาวตะวันตก  ที่ค้าขายอยู่ในประเทศไทยได้เข้าใจทั่วกัน

         เบี้ยหอยที่เคยใช้กันมาแต่เดิมนั้น  ราษฎรคนใดสมัครใจจะใช้ต่อไปก็ไม่ทรงห้าม  แต่ไม่ทรงประกันราคาให้  ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุ  รัชกาลที่ ๔  เลขที่  ๑๐๔  เรื่องเงินเหรียญบาท  ลงวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๔๐๗  ตอนหนึ่ง  ความว่า

          “.....ก็เบี้ยหอยซึ่งราษฎรใช้สอยซื้อขายอยู่แต่ก่อนนั้น  พระราชบัญญัติก็ไม่ห้ามแต่จะเอามาขึ้นเงินแก่คลังก็ดี  จะส่งแทนภาษีอากรก็ดีไม่เคยรับ  เพราะหอยเบี้ยราษฎรหามาใช้กันเอง  ในหลวงไม่ได้ประกันเหมือนเบี้ยแปะ  อัฐ  โสฬส” 

         ราษฎรจึงยังคงใช้เบี้ยหอยกันต่อมาเพื่อชำระค่าสินค้าที่ต่ำกว่า ๕๐ เบี้ย  เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นจนกระทั่งโสฬสเป็นหน่วยเงินขึ้นต่ำสุดที่จะใช้ซื้อสินค้าได้  จึงเลิกใช้เบี้ยหอยไปในที่สุด

(ซีกทองเหลือง)       

         ต่อมา  มีผู้ทำเหรียญอีแปะปลอมออกใช้กันมาก  และมีผู้ลักลอบสั่งทำมาจากฮ่องกงด้วยเพราะการปลอมเหรียญดีบุกทำได้ง่ายและใช้ต้นทุนต่ำ  จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหาทางแก้ไขโดยโปรดฯ  ให้ทำเงินปลีกขึ้นใหม่ด้วยทองเหลืองและทองแดงอีก ๒ ชนิดราคาคือ  “ซีก”  และ  “เสี้ยว”  โดยเหรียญซีกมีค่าเท่ากับ ๑/๒ เฟื้อง  และเหรียญเสี้ยวมีค่าเท่ากับ ๑/๔ เฟื้อง  ออกใช้เมื่อวันที่  ๑๓ ธันวาคม ๒๔๐๘  แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้โปรยทานในคราวบำเพ็ญพระราชกุศล  ทรงได้รับฎีกาจากราษฎรว่าเหรียญดังกล่าวถูกศีรษะผู้รับแตกและฟกช้ำ  จึงมีพระราชดำริให้จัดทำเหรียญราคาซีก – เสี้ยวแบบใหม่โดยให้ลดความหนาของเหรียญลงครึ่งหนึ่ง  และมีน้ำหนักโลหะน้อยกว่าราคาหน้าเหรียญ  ออกใช้เมื่อวันที่  ๒๙ มีนาคม ๒๔๐๙  นับเป็นครั้งแรกที่มีการหย่อนค่าเงินในระบบเงินตราไทย            

                                              
         กล่าวได้ว่า  รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเงินตราของไทยครั้งใหญ่  จากเงินพดด้วงที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เปลี่ยนเป็นเหรียญกลมแบน  รวมทั้งมีการจัดทำหมายซึ่งเป็นจุดกำเนิดของเงินตราในรูปแบบธนบัตรขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย  นับเป็นต้นแบบในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบเงินตราไทยให้เป็นสากล

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง

ที่มา

ธนาคารแห่งประเทศไทย โดย เพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

หมายเลขบันทึก: 354002เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2010 19:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายในวันหยุดนักขัตฤกษ์  สบายดีนะค่ะ
  • วันนี้บุษราได้นำภาพสายน้ำเย็น ๆ มาฝากกันค่ะ         

                                                                              

ข้อมูลถูกใจมากเลยคะ

พี่สันติครับ มีประวัติศาสตรืไรที่พี่ยังไม่เขียนอีกครับ ผมมีเรื่องถามพี่นะครับ ผมอยากเรียนปอโทนะครับรบแวนพี่สันติแนะนำมหาลัยที่พอจะเรียนได้นะครับ แบบสามารถสู้รบกับมหาลัยที่บ้าอำนาจ(จุฬา)ได้นะครับ

รบกวนพี่สันติช่วยตอบที่นะครับ จากพญามังกรตะวันออก

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายด้วยความระลึกถึง สบายดีนะคะ
  • วันนี้บุษราได้นำภาพดอกไม้สวย ๆ มาฝากกันค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                         

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท