ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

รักบ้าน รักเมือง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ไม่ท้อแท้ สู้ด้วยน้ำใจ (โดยอาจารย์ยุวรัตน์ กมลเวชช)


การเมืองไทยไม่ตันสู้ด้วยน้ำใจ

ห่างหายกันไปนานกลับมาอีกครั้งพอดีวันนี้เข้าไปอ่านสยามรัฐผลัดใบพบบทความหนึ่งเขียนโดยอาจารย์ ยุวรัตน์ กมลเวชช อดีต กกต ชุดแรกี่เรียกว่าไม่เกรงหน้าหนัยทำหน้าที่อย่างไม่เกรงความผิดแต่รักษาความถูกต้อง ผู้สร้างวลีว่า ถ้าเป็น กกต ต้องรู้จักเนรคุณ ไม่รักเพื่อน อย่าเกลียดศัตรู ธรรมดาผู้เขียนไม่ค่อยได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามรัฐสักเท่าไรเพราะเป็นคนรุ่นใหม่แต่วันนี้เข้าไปดูสถานการณ์สังคม

   อ่านไปอ่านมามีตอนหนึ่งทำให้ทำให้ข้าพเจ้าสะดุดและประทับใจมากในย่อหน้าสุดท้าย ที่ท่านอาจารย์ยุวรัตน์ กมลเวชชได้เขียนว่า "สถานการณ์การเมืองไทยตลอดมายังเป็นวังวน เริ่มจากยึดอำนาจ มีรัฐธรรมนูญชั่วคราวร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล ข่าวคราวการทุจริต ยุบสภาหรือยึดอำนาจ แล้วเริ่มต้นใหม่ แต่ที่ประหลาดไม่เปลี่ยนแปลง คือท่านนักการเมืองเก่าที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยน แทรกเป็นยาดำอยู่ตลอด ตรงนี้น่าศึกษา ว่าอาจจะมีผลทำให้การเมือง การเลือกตั้ง หรือกิจการในสภาผู้แทนราษฎรก็เหมือนเดิม ไม่แตกต่างอะไรมากนักจาก 78 ปีที่แล้วมา"

                รักบ้าน รักเมือง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ อย่าท้อแท้ สู้ด้วยน้ำใจ

วันนี้จะไม่ขอเป็นผู้เขียนแต่ขอเป็นผู้รักบ้าน รักเมือง ผู้ช่วยคิด ช่วยทำ ผู้ไม่ท้อแท้ ผู้สู้ด้วยน้ำใจจึงขออนุญาตนำบทความของท่านยุวรัตน์ กมลเวชช เรื่องอย่างไรก็ตาม เมืองไทยมีการเลือกตั้ง มาให้เพื่อนสมาชิกอ่านเผื่อได้ข้อคิดบางประการในสถานการณ์ทางการเมือง สังคมมาช่วยกันมีน้ำใจร่วมกันคิดกันทำเพื่อบ้านเมือง เป็นบทความที่ท่านเสนอไว้ในหนังสืพิมพ์สยามรัฐ คอลัมม์สยามรัฐผลัดใบฉบับวันที่ 23 เมษายน 2553ที่ท่านนำเสนอไว้ดังนี้

อย่างไรก็ตาม เมืองไทยมีการเลือกตั้ง / สยามรัฐผลัดใบ

ยุวรัตน์ กมลเวชช23/4/2553

 
 

 

                สถานการณ์การเมืองไทยไม่ว่าสมัยใด ต้องใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการชี้ขาดการเข้าสู่อำนาจรัฐ ด้วยสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระครบหรือยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญยุบสภาคงทำได้ยาก เนื่องจากความกดดันของการเมืองระหว่างประเทศ และความรู้สึกที่สะสมจากการมีวิถีชีวิตตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีทางเป็นได้น้อยมาก เพราะเกือบทุกครั้ง (ถ้ามี) ก็ต้องรีบเร่งดำเนินการให้มีสภาที่เป็นตัวแทนของประชาชนเข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติ จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรง หรือโดยทางอ้อม เช่นที่เคยจัดให้มีการลงคะแนนของตัวแทนอาชีพที่สนามม้านางเลิ้ง เลยถูกชาวบ้านขนานนามเรียกกันว่า “สภาสนามม้า” และช่วงที่ต้องรอคอยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรงของประชาชน ก็มักจะเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับอ้างว่าต้องใช้เวลาในการร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งใช้เวลาร่างนานเท่าใด ก็ทำให้ความเสียหายมากขึ้นทั้งเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต  แต่อย่างไร คนไทยส่วนมากมีความเชื่อว่า ปัญหาและความเดือดร้อนทุกเรื่องทุกราวในโลกสามารถแก้ไขได้ หรือลดความเสียหายให้ลดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้  ต้องมีความพยายาม ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดทั้งสิ้น ไม่ยอมคิดว่าอะไรจะเกิด ก็ให้เกิด มันน่ากลัวครับ

                การเมืองของเมืองไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2475 ห่างกว่าอายุผู้เขียน 7 วัน ได้มีความพยายามตลอดมาที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้ใช้อำนาจ ไม่ใช่ให้การใช้อำนาจเป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็ยังไม่มีความสำเร็จ เพราะนักการเมืองส่วนมากที่เข้าสู่อำนาจรัฐถือว่า การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือประกอบให้มองว่าชอบธรรม ดูขึงขังเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ใช้ในการอ้างอิงจำนวนผู้เลือกตั้งที่จะใช้อำนาจรัฐ การเลือกตั้งจึงวนว่ายอยู่กับการไม่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะนักการเมืองชอบทำให้การเลือกตั้งเป็นการเลือกคนที่ชอบมากกว่าคนที่ดี

                ความไม่สำเร็จของการเลือกตั้งจะได้ตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐ เพื่อประชาชนในระบอบประชาธิปไตยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงไม่สอดคล้องกับคำขวัญที่ว่า การใช้อำนาจประชาธิปไตยโดยประชาชน และเพื่อประชาชน นั้นห่างจากความเป็นจริงของการเมืองไทย และที่น่ากลัวที่สุดของการเมืองไทยคือการคืบคลานเริ่มการเชื่อมโยงเครือข่ายรวมตัวของคนทุกอาชีพทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ นักเลง โจรผู้ร้าย และผู้ทำการค้าผิดกฎหมายตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่น จนยากที่จะแยกว่าคนไหนดีคนไหนชั่วทำให้มีการกระทำที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตต่อกันอยู่เนืองๆ ทำให้ผู้คนมีความสงสัยว่าร่วมกันเป็นขบวนการหาผลประโยชน์ โดยที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกลิดรอนสิทธิและอำนาจในการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญและผ่านองค์กรอิสระ จึงทำให้การเลือกตั้งที่มีมา ไม่สามารถทำให้คนไทยหายจากการสงสัยว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรม เพราะ “เงินและอำนาจยังเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง” เงินและอำนาจนี้ ไม่ใช่ซื้อและใช้ได้แต่ราษฎร แต่ยังมีโอกาสซื้อผู้เกี่ยวข้องได้อีกด้วย เพราะถ้าไม่ใช่เงิน ก็ใช้อิทธิพลและอำนาจบังคับขู่เข็ญให้สนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง บางครั้งอาจใช้เป็นเงื่อนไขของการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆในวงราชการ ก็น่าจะคิดให้ข้าราชการสับเปลี่ยนตามรัฐบาลเสียเลย เพราะปล่อยไว้ก็มีการกระทำเหล่านี้ แต่ไม่มีหลักฐานโดยปราศจากการสงสัยที่จะลงโทษอย่างแจ่มแจ้งได้ กลายเป็นเรื่องราวให้ชาวบ้านพูดกันมันปาก ไม่เป็นศรีแก่ตัวเอง

                ดีแต่นั่งบ่น จนบางครั้งเขียนๆไปก็รำคาญตัวเอง เลยหาเหตุผลทางออกขอโทษให้ตัวเองว่า แก่แล้วให้เจียมตัวเสียบ้าง อย่าพูดมาก แต่ก็อดใจไว้ไม่อยู่ มีโอกาสเมื่อไรก็ระบายเมื่อนั้น อาจทำให้อายุยืนยาว พูดกันบ่อยๆเหมือนรับศีลห้าที่นับได้เป็นพันๆครั้งมาแล้ว ว่าการเลือกตั้งที่ไม่ได้คนดีเข้าสภานั้น เพราะตัวของเราเอง ที่ลงคะแนนให้พวกให้พ้อง คำนึงถึงแต่ความชอบพอและรักใคร่ หาได้คิดถึงการกระทำอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงอยากอายุยืนจะได้แก้ตัวไปเลือกคนดีเข้าสภาอีก อาจจะมีสักครั้งในชีวิตที่จะได้รัฐบาลที่ไม่มีข่าวลือการทุจริตสักครั้ง

                จะพึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งสกัดกั้นให้ได้คนดีเข้าสภาคงยาก เพราะการกระทำผิดการเลือกตั้ง เดิมให้ลงมติเป็นเอกฉันท์เอาเพียงแต่พอเชื่อได้ว่า ก็สามารถลงโทษในเวลาสั้นๆได้ ต่อมาก็มีการแก้กฎหมายเรื่องนี้มาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่มีคำวินิจฉัยว่าสภาจะเปิดประชุมได้ต้องมีสมาชิกครบจำนวนทั้งหมด จึงจะเปิดประชมครั้งแรกได้ ตามมาด้วยการให้ ใช้เสียงข้างมากแล้ว นำคดีสู่ศาล เลยต้องใช้เวลาทำสำนวนมาก อ้างพยานนับร้อยคนก็ต้องพยายามสอบทุกคน จึงเป็นเหตุให้ทำไม่ทันเวลา เพราะมีการแก้กฎหมายให้ดำเนินการสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ภายในสามสิบวัน มีผลทำนองขอเป็นผู้แทนเสียก่อน แล้วไปสอยออกทีหลัง เพื่อไปลงมติแต่งตั้งรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเสียก่อน ตรงนี้แหละเป็นที่มาของการยุบพรรคตามมาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญปี 2550

สถานการณ์การเมืองไทยตลอดมายังเป็นวังวน เริ่มจากยึดอำนาจ มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล ข่าวคราวการทุจริต ยุบสภาหรือยึดอำนาจ แล้วเริ่มต้นใหม่ แต่ที่ประหลาดไม่เปลี่ยนแปลง คือท่านนักการเมืองเก่าที่ไม่ค่อยจะเปลี่ยน แทรกเป็นยาดำอยู่ตลอด ตรงนี้น่าศึกษา ว่าอาจจะมีผลทำให้การเมือง การเลือกตั้ง หรือกิจการในสภาผู้แทนราษฎรก็เหมือนเดิม ไม่แตกต่างอะไรมากนักจาก 78 ปีที่แล้วมา

                รักบ้าน รักเมือง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ อย่าท้อแท้ สู้ด้วยน้ำใจ

 

ลองอ่านกันดูไว้คราวหน้าว่างจะกลับมานำเสนอปัญหากฎหมายระหว่างประเทศซึ่งตอนนี้ความตกลง FTAเรื่องภาษีอากรค่อนข้างมีปัญหามาก

 

หมายเลขบันทึก: 353591เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2010 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท