การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนเพื่อพัฒนาทันตสุขภาพในสถานรับเลี้ยงเด็ก:กรณีศึกษา สถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชนด้อยโอกาส กรุงเทพมหานคร


กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม นั้นเป็นกระบวนการซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีความรู้และศักยภาพในการเรียนรู้อยู่ในตนเอง ทีมวิจัยเพียงทำหน้าที่หลักเพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน การคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมผ่านประสบการณ์ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง ตั้งคำถามอย่างลงลึก จับประเด็นและเชื่อมโยงประเด็น เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ ตระหนัก ร่วมหาสาเหตุ แนวทางการแก้ไขและสามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ด้วยชุมชนเอง
ชื่อโครงการวิจัย : การวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนเพื่อพัฒนาทันตสุขภาพในสถานรับเลี้ยงเด็ก:กรณีศึกษา  สถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชนด้อยโอกาส กรุงเทพมหานคร

Participatory Action Research on Community Involvement in the Development of oral healthy  preschool in Bangkok       

เสรีนา สิรรัตน์ สกุลณะมรรคา ณัฐวุธ แก้วสุทธา กิตติธัช มงคลศิวะ

Serena siraratna Sakoolnamarka, Nathawut Kaewsutha, Kittithach Mongkolsiwa

ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็กและทันตกรรมป้องกัน  คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

บทนำ

กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม นั้นเป็นกระบวนการซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่เชื่อมั่นว่าแต่ละคนมีความรู้และศักยภาพในการเรียนรู้อยู่ในตนเอง   ทีมวิจัยเพียงทำหน้าที่หลักเพื่อเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยน การคิดวิเคราะห์ ผ่านกิจกรรมผ่านประสบการณ์ การรับฟังอย่างลึกซึ้ง ตั้งคำถามอย่างลงลึก  จับประเด็นและเชื่อมโยงประเด็น   เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจ ตระหนัก ร่วมหาสาเหตุ แนวทางการแก้ไขและสามารถประเมินผลการดำเนินงานได้ด้วยชุมชนเอง

          ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชนด้อยโอกาสในเขตเมืองนั้น เป็นสถานที่สำหรับการเรียนรู้ในระดับปฐมวัยในชุมชน    เกิดขึ้นเพราะครอบครัวที่มีเด็กเล็กส่วนใหญ่ขาดคนเลี้ยงดูช่วงเวลากลางวัน   ผู้ปกครองไม่มีเวลา ประกอบกับต้องออกไปทำงานนอกบ้าน  

          อย่างไรก็ตามสถานรับเลี้ยงเด็กจำนวนมากไม่ได้ผ่านการประเมินศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และในสถานรับเลี้ยงเด็กเองยังพบพฤติกรรมทันตสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นดูดขวดนม ทานอาหารกรุบกรอบ ซึ่งการพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีความจำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนในชุมชน และความตั้งใจที่จะดำเนินการต่อเนื่องของชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเกี่ยวข้องโดยตรงมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและกระบวนการพัฒนาเป็นรูปธรรม

งานวิจัยนี้จะเป็นการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาทันตสุขภาพและ ปัญหาที่เกี่ยวข้องทางสังคมในชุมชนมีการวิเคราะห์กระบวนการจัดประชุมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้เป็นรูปแบบในการจัดการเรียนการสอน  และการปรับปรุงหลักสูตร  

นอกจากนี้ยังศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการมีส่วนร่วม และพึ่งตนเองของสมาชิกชุมชน เพื่อพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ ได้กระบวนการต้นแบบเพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนด้อยโอกาสอื่นๆต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาทันตสุขภาพและ ปัญหาที่เกี่ยวข้องทางสังคมในชุมชน
  2. ศึกษาและวิเคราะห์กระบวนการ จัดประชุมปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผนแม่บท สถานรับเลี้ยงเด็กพึ่งตนเอง เพื่อเป็นแผนพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ของชุมชน
  3. ศึกษาผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการมีส่วนร่วม และพึ่งตนเองของสมาชิกชุมชน เพื่อพัฒนาสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ ได้กระบวนการต้นแบบเพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชนด้อยโอกาสอื่นๆต่อไป

 

 

อุปกรณ์และวิธีดำเนินงาน

การศึกษานี้เป็นการวิจัยอย่างเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม ในสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพ ถนนทางรถไฟริมทางรถไฟสายเก่า  เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร โดยกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ครูในสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพจำนวน 6 คน และผู้ปกครองของนักเรียน จำนวน 6 คน  ดำเนินงานในชุมชนตามกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ( Participatory learning development) และใช้การกระบวนการะดมมความคิดด้วยการใช้ภาพ (Visaul Synnectic)  กระบวนการระดมความคิด (Brainstorm)  ของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ด้านสุขภาพของชุมชน ประมวลข้อมูล เชื่อมโยงวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาที่ระบุโดยชุมชนเอง กับปัญหาที่ผู้วิจัยพบตามเกณฑ์วิชาการ และ การสรุปประเด็นความคิดของกลุ่มโดยใช้วิธีการทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  ศึกษาชุมชนโดยทีมวิจัย

1.1        ระบุสถานการณ์ทั่วไปของชุมชน

1.2        ข้อมูลที่เกี่ยวกับทันตสาธารณสุขในเชิงระบาดวิทยา  ข้อมูลพฤติกรรมทันตสุขภาพ

1.3        ระบุปัญหาที่ผู้วิจัยพบตามเกณฑ์วิชาการ

ขั้นตอนที่ 2  กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

2.1   สร้างจินตนาการถึงอนาคตที่พึงปรารถนาของสถานรับเลี้ยง

2.2    กำหนดวิสัยทัศน์โดยผ่านทางการสร้างคำขวัญ

2.3 นำองค์ประกอบหลักของปัญหาที่ชุมชนพร้อมจะแก้ไขมาระบุตัวชี้วัด และกำหนดกิจกรรมกาดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์        โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เป็นจริงของชุมชนกับสภาพชุมชนที่พึงปรารถนา  เพื่อหาช่องว่างที่เป็นปัญหา โดยร่วมกันพิจารณาเพื่อลำดับความสำคัญก่อนหลังของปัญหาที่พบ และมีเกณฑ์ด้านขนาดของปัญหา  (Magnitude)  ความรุนแรงของปัญหา  (Seriousness  of  problem)  ความยากง่ายหรือความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา  (Feasibility)  ในแง่ของความเป็นไปได้เชิงเทคนิค  (Technical  Feasibility)   ความเป็นไปได้ในเชิงบริหาร  (Administrative  Feasibility)  ในด้านกำลังคน  วัสดุ  อุปกรณ์และงบประมาณ  และไม่ขัดแย้งกับวิถีชุมชน  โดยแปลงองค์ประกอบจัดทำเป็นรายการไว้ในขั้นตอนที่ผ่านมา  ให้เป็นประเด็นที่สามารถวัดได้  (Quantifiable) 

ขั้นตอนที่ 3 จัดทำแผนงานแม่บทสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ร่วมกับชุมชน และเสนอต่อที่ประชุมในชุมชน เพื่อปรับแก้ให้เหมาะสม

การเก็บรวบรวมข้อมูล  เป็นการรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพ

  1. ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่  ข้อมูลทันตสุขภาพ ได้จากการสำรวจโดยใช้ดัชนี : dmft, dmfs, OHI-S

ข้อมูลพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับทันตอนามัยได้จากแบบสอบถามแบบตอบด้วยตนเอง โดยแจกให้ครู ทุกคน จำนวน 6 ฉบับ(ตอบกลับ ร้อยละ 100)    และผู้ปกครองทุกคน จำนวน 85     ฉบับ  ตอบกลับ 72  ฉบับ  คิดเป็น ร้อยละ 84.7

  1. ข้อมูลเชิงคุณภาพ  ในการสำรวจชุมชน  สำรวจในโรงเรียนและบริเวณใกล้เคียง  และ การสังเกตพฤติกรรมทันตอนามัย โดยใช้แบบสังเกต กับ นักเรียน ครู และผู้ปกครอง ที่มารับเด็กที่สถานรับเลี้ยงเด็ก  และรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพจากกิจกรรมกลุ่ม  โดยการจัดประชุมตามขั้นตอนของวิธีวิจัย

ผลการวิจัย

จากการดำเนินงานตามวิธีการที่กำหนด  ปรากฎผลดังนี้

ขั้นตอนที่ 1  ศึกษาชุมชนโดยทีมวิจัย

1.1 ระบุสถานการณ์ทั่วไปของชุมชน

จากการสำรวจ สัมภาษณ์ พบว่า ชุมชนสวนอ้อย   มีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ 2 เป็นชุมชนที่ตั้งมาเป็นเวลานาน มีความเป็นเครือญาติสูง อยู่อาศัยกันแบบพึ่งพาซึ่งกันและกัน       มีหลังคาเรือนทั้งหมด  294  หลังคาเรือน  และมีประชากรทั้งสิ้น จำนวน  1,022      คน เป็นเพศชาย 495 คนเพศหญิง 527 คนมีประชากรทุกกลุ่มอายุในชุมชน  บ้านเรือนในชุมชนตั้งอยู่แออัดติดกัน คนในชุมชนบางส่วนไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตน ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน หาเช้ากินค่ำ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง

ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพ  เดิมเป็นที่พักของบาทหลวงบอแนง นักบวชคาเทอลิก เมื่อคณะซิสเตอร์คณะอุสลินเข้ามาในชุมชนเพื่อช่วยสอนวิชาชีพให้เยาวชนในชุมชน ได้เข้ามาจัดตั้งเป็น สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพและในปัจจุบันมูลนิธิมาแตร์เดอี เป็นผู้อนุเคราะห์  สถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพ เป็นสถานรับเลี้ยงเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีที่เดียวในชุมชนสวนอ้อยโดยมีครูผู้สอนเป็นครูคนไทย โดยจำนวน 6 คน โดยรับดูแลเด็กตั้งแต่อายุ 2 ขวบ ถึง 6 ขวบ ลักษณะเป็นบ้านไม้สองชั้น แคบและลึกจากถนนใหญ่ ที่มีรถบรรทุกวิ่งผ่าน มีพื้นที่ประมาณ 50 ตารางเมตร  มีจำนวนนักเรียน 106 คน : ชาย 53 คน หญิง 53 คน แบ่งเป็น อนุบาล1 -3 จำนวนทั้งหมด 4 ห้อง โดยงบประมาณ ได้จากการเก็บค่าเล่าเรียน ในอัตรา เดือนล่ะหนึ่งร้อยบาทต่อนักเรียน หนึ่งคน และรับการสนับสนุนงบประมาณส่วนใหญ่จากกองทุนจาก มูลนิธิโรงเรียนมาแตร์เดอี  วิทยาลัย มากกว่าร้อยละ 30 ของผู้ปกครองมีรายได้ต่ำกว่า 5000 บาท ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง (ร้อยละ 56.3)

1.2    ข้อมูลที่เกี่ยวกับทันตสาธารณสุขในเชิงระบาดวิทยา  ข้อมูลพฤติกรรมทันตสุขภาพ

ข้อมูลปัญหาที่เกี่ยวกับทันตสาธารณสุขในเชิงระบาดวิทยา  จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพโดย  ใช้ดัชนี : dmft, dmfs, OHI-S  ตรวจฟันเด็กทั้งหมด ในศุนย์รับเลี้ยงเด็ก จำนวน 85 คน ตั้งแต่อายุ 31-81 เดือน  พบว่า สภาวะฟันผุที่ตรวจพบ มีค่าเฉลี่ยฟัน ผุ อุด ถอน  (dmft) เท่ากับ 9.3 ซี่/คน  โดยมีฟันที่มีความถี่ของการผุมากที่สุดคือ ฟันตัดซี่กลาง-ซี่ข้างบน  (ร้อยละ 93.2) รองลงมาคือ ฟันกรามบน-ล่าง  (ร้อยละ 87.7)   ค่าเฉลี่ยฟัน ผุ อุด ถอน (dmfs) เท่ากับ 23.3 ด้าน/คน Debris Index   ค่าเฉลี่ยคิดเป็น 2.03 คิดเป็นคราบจุลินทรีย์คลุมพื้นผิวฟันร้อยละ 67.67 ของตัวฟัน  Calculus Index   ค่าเฉลี่ยคิดเป็น 0.21 คิดเป็นหินปูนคลุมพื้นผิวฟันร้อยละ 7.00 ของตัวฟัน OHI-S  ค่าเฉลี่ย OHI-S พบว่ามีค่าเท่ากับ 2.24 คิดเป็นร้อยละ 74.67 ของตัวฟัน

ข้อมูลพฤติกรรมทันตสุขภาพ  ผลจากแบบสอบถามของผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับทันตสุขภาพโดยรวมดี  (มากกว่าร้อยละ 60)  แต่ไม่นำมาปฏิบัติ (ร้อยละ 24.6 – 54) โดยเฉพาะเรื่องที่ ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการไปพบทันตแพทย์ต่ำ (ร้อยละ 51.5)   และมีเพียงร้อยละ 25.1 ของผู้ปกครองที่เคยพาเด็กไปพบทันตแพทย์

ผลจากแบบสอบถามของครู พบว่าครูส่วนใหญ่มีความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตัวเกี่ยวกับทันตสุขภาพโดยรวมดี  (มากกว่าร้อยละ 60)    

1.3        ระบุปัญหาที่ผู้วิจัยพบตามเกณฑ์วิชาการ

จากการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า สถานที่เรียนมีความคับแคบ มีเสียงรบกวนจากรถบรรทุกที่วิ่งผ่านตลอดเวลา แม้ว่าครูมีทัศนคติดีในการทำงานและมีความกระตือรือล้น แต่สัดส่วนครูต่อเด็กมีจำนวนน้อย ทำให้การดูแลเป็นไปไม่ได้อย่างทั่วถึง เด็กมีสภาวะฟันผุสูง (dmft เท่ากับ 9.3 ซี่/คน) มีความถี่ของการผุมากที่สุดคือ ฟันตัดซี่กลาง-ซี่ข้างบนฟันผุ เกิดจากสาเหตุการหลับคาขวดนม หรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะ พวกแป้งและน้ำตาลสูง   ส่วนสภาวะปริทันต์ที่ตรวจพบ พบว่ามี ค่า DI-S สูง(2.03)   แต่ ค่า CI-S ต่ำ(0.21) เกิดจากปัญหาการทำความสะอาดช่องปากไม่ดี  ผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับทันตสุขภาพโดยรวมดี  (มากกว่าร้อยละ 60)  แต่ไม่นำมาปฏิบัติ และจากการสัมภาษณ์ พบว่าเหตุที่ทำให้ส่วนใหญ่ผู้ปกครองไม่นำมาปฏิบัติ เพราะ ไม่มีเวลาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และไม่สามารถรับภาระเรื่องค่าใช้จ่ายในการที่จะพาเด็กไปพบทันตแพทย์ เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง เมื่อขาดงานจะขาดรายได้หลัก ประกอบกับไม่มีคลินิกทันตกรรมในละแวกใกล้เคียงชุมชน  จึงไม่สามารถขาดงานทั้งวันเพื่อพาเด็กไปพบทันตแพทย์ได้  

ขั้นตอนที่ 2  กระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม

2.1 สร้างจินตนาการถึงอนาคตที่พึงปรารถนาของสถานรับเลี้ยง

ที่ประชุมตกลงให้แบ่งผู้เข้าร่วมประชุมเป็น 2 กลุ่มย่อย แต่ละกลุ่มจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลซึ่งกันและกันผ่านวิธีใช้กระบวนการระดมแนวความคิดโดยใช้ภาพ (Visaul Synectic)   โดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้นำกลุ่ม  รวบรวมความคิดเห็นจากการดูภาพที่พึงปรารถนาของกลุ่มทั้ง 2 กลุ่ม ดึงส่วนที่เหมือนกันรวม และสิ่งที่แตกต่างกัน  จัดเป็นหมวดหมู่  สรุปภาพสถานรับเลี้ยงเด็กที่พึงปรารถนาให้เป็นภาพรวมภาพเดียว บันทึกความคิดโดยวิธีทำภาพแผนที่ความคิด (Mind Mapping)     ภาพแผนที่ความคิดแสดงสถานรับเลี้ยงเด็กที่พึงปรารถนาของชุมชนแสดงในรูปที่ 1

2.2 กำหนดวิสัยทัศน์โดยผ่านทางการสร้างคำขวัญ

ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันสร้างคำขวัญโดยการสกัดคำหลัก  (Key word)  ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในคำขวัญที่สะท้อนชุมชนที่พึงปรารถนาออกมา  จัดทำเป็นรายการองค์ประกอบหลักที่สกัดออกมาได้ทั้งหมด  และได้คำขวัญที่เหมาะสมที่สุด ดังนี้ ”โรงเรียนน่าอยู่ คุณครูใจดี เด็กดีมีวินัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”  โดยมีเป้าประสงค์ในแต่ละองค์ประกอบ ดังนี้

 1. โรงเรียนน่าอยู่       มีเป้าประสงค์เพื่อ

1.1  ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมทางกายภาพของโรงเรียนให้น่าอยู่  มีมุมที่สดชื่น สบายตา

1.2  มีระบบรักษาความปลอดภัยในสถานรับเลี้ยงเด็ก

1.3  สิ่งแวดล้อมในห้องเรียนเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก มีมุมหนังสือสำหรับให้เด็กร่วมกันอ่าน

2. คุณครูใจดี                  มีเป้าประสงค์เพื่อ 

2.1 ส่งเสริมบุคลากรในการพัฒนาศักยภาพของตนในการดูแลเด็กเล็กให้เหมาะสมกับพัฒนาการ

3. เด็กดีมีวินัย                                มีเป้าประสงค์เพื่อ 

3.1  ส่งเสริมเด็กในเรื่องระเบียบวินัย โดยเน้นในเรื่องการเข้าเรียนตรงเวลา เวลา 8.30 นาฬิกา

3.2 ส่งเสริมเด็กให้มีมารยาทเบื้องต้น เช่น การไหว้ การขอบคุณ และการขอโทษ

3.3 ส่งเสริมเด็กให้รักษาสุขอนามัยที่ดี ดูแลความสะอาดตนเอง เน้นเรื่องการแปรงฟัน และการล้างมือ

3.4 ส่งเสริมกิจกรรมกีฬา เพื่อให้เด็กมีร่ายกายแข็งแรง และเรียนรู้เรื่องการมีน้ำใจนักกีฬา

3.5 ส่งเสริมให้เด็กมีคุณธรรมในชีวิตประจำวัน โดยเน้นเรื่องการประหยัด และอดออม

3.6 ส่งเสริมให้เด็กมีการปฏิบัติตัวตามศาสนาประเพณี

4. ใส่ใจสิ่งแวดล้อม       มีเป้าประสงค์เพื่อ

4.1 ให้ความรู้แก่เด็กในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม

4.2 ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมต่อโรงเรียน และต่อชุมชน

2.3 นำองค์ประกอบหลักของปัญหาที่ชุมชนพร้อมจะแก้ไขมาระบุตัวชี้วัด และกำหนดกิจกรรมการดำเนินงานให้บรรลุตามวิสัยทัศน์    หลังจากที่ผู้เข้าร่วมประชุมพิจารณารวมกันทั้ง 4  องค์ประกอบหลัก ข้างต้น พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาทุกองค์ประกอบ จึงร่วมกันระบุตัวชี้วัด และกำหนดกิจกรรมการดำเนินงาน   รายละเอียดองค์ประกอบหลักของปัญหาที่ชุมชนพร้อมจะแก้ไข  ตัวชี้วัด และ กิจกรรมการดำเนินงาน  แสดงในแผนงานแม่บทสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ ในตารางที่ 1

 ขั้นตอนที่ 3 จัดทำแผนงานแม่บทสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่

หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้จัดแผนงานแม่บทสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ร่วมกับชุมชน และเสนอต่อที่ประชุมในชุมชน อีกครั้ง  ร่วมกันปรับแก้ให้เหมาะสมกับความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมในพื้นที่  เพื่อเตรียมหางบประมาณในการดำเนินงานต่อไป  รายละเอียดแผนงานแม่บทสถานรับเลี้ยงเด็กน่าอยู่ดังตาราง 1

คำสำคัญ (Tags): #วิจัย
หมายเลขบันทึก: 353434เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
วิวรรณ สารกิจปรีชา

ดิฉันเป็นประธานโครงการบ้านเทพของมูลนิธิมาแตร์เดอีค่ะ ต้องขอขอบพระคุณที่ได้นำโครงการวิจัยดีๆนี้เข้าไปในสถานรับเลี้ยงเด็กบ้านเทพ และยังได้เข้าไปช่วยเหลืออีกมากมาย ดิฉันได้แต่รับรายงานจากทางอาจารย์วิจิตรา ยังไม่มีโอกาสได้พบและขอบพระคุณด้วยตนเองเลย เป็นไปได้ไหมคะที่จะขอพบ หรือโทรศัพท์พูดคุยปรึกษาหารือกันบ้าง ดิฉันเองขณะนี้ก็เป็นนิสิตปริญญาโท บริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ค่ะ อยากจะได้รับฟังข้อคิดเห็นเสนอแนะ และเรียนรู้รายละเอียดและผลการวิจัยนี้บ้างน่ะค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ยินดีครับ อาจารย์ วิวรรณ สารกิจปรีชา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท