จุดยืนแห่งชีวิต


มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี มีคุณค่าน่านับถึอมาตั้งแต่เกิด

TRANSACTIONAL ANALYSIS/ 2

                                               ประชุม โพธิกุล

 

จุดยืนแห่งชีวิต (Life position)ความมีอยู่หรือเป็นอยู่ในชีวิต ในขณะที่บุคคลเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆนั้นเขาก็สร้างการรับรู้เกี่ยวกับความมีคุณค่าแห่งชีวิตของตนเอง และของผู้อื่นที่อยู่รอบข้างซึ่งการรับรู้มีคุณค่าแห่งชีวิตของตนรู้ว่าตนมีลักษณะเป็นอย่างไรนั้นอาจจะหรืออาจจะไม่ส่งผลไปถึงผู้อื่นที่ตนเกี่ยวข้องด้วย การผสมผสานเรื่องการรับรู้ตนเองของผู้อื่น หรือผู้อื่นนี้เรียกว่า “ จุดยืนแห่งชีวิต” และจุดยืนแห่งชีวิตนี้มีแนวโน้มที่จะติดเป็นลักษณะถาวรของบุคคลมากกว่าสภาวจิตเสียอีก

           เหตุทื่คนส่วนใหญ่แสดงพฤติกรรมเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมส่วนหนึ่งเกิดจากฐานเดิมของชีวิตที่หล่อหลอมโลกทัศน์ตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้มีจุดยืนแห่งชีวิตต่างๆกัน จุดยืนแห่งชีวิตแบ่งออกเป็น4 จุดยืน

        1.ตัวเราแน่ คนอื่นก็แน่(  I’m O. K. You’ re O.K.)

        2.ตัวเราแน่  คนอื่นแย่ (   I’m O.K. You’re not O.K.)

        3.ตัวเราแย่  คนอื่นแน่ (   I’m not O.K.You ‘re O.K.)

        4.ตัวเราก็แย่ คนอื่นก็แย่( I’m not O.K. You ’re not O.K.)

1.ตัวเราแน่ คนอื่นก็แน่(  I’m O. K. You’ re O.K.) การพูดการแสดงท่าทีที่กระทำออกมาครั้งใด ก็ไม่ทำให้ใครเสีย มีแต่ทำให้คนอื่นสบายใจ เป็นลักษณะของความมีสุขภาพจิตดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความเป็นมิตร มนุษย์สัมพันธ์สูง บุคลิกหน้าเชื่อถือ กว้างขวาง ผ่อนคลาย ถ้าเป็นนักบริหารก็แก้ปัญหาเก่ง จัดอยู่ในประเภทผู้ชนะ การสื่อสารมักจะเป็นลักษณะแบบสอดคล้องต้องกัน เป็นผู้ที่ให้และรับความใส่ใจทางบวก ตัวอย่างการสื่อสารที่แสดงถึงจุดยืนแบบนี้เช่น

       นาย: คุณทำงานได้เยี่ยมมาก

       ลูกน้อง: ครับขอบคุณ ผมมีสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันเกื้อหนุนด้วย

   _คุณออกรถใหม่หรือ สวยจังเลย คุณโชคดีนะ

     _เดี๋ยวนี้เขาออกแบบรถสวยๆดีนะ

2.ตัวเราแน่  คนอื่นแย่ (   I’m O.K. You’re not O.K.)การพูดหรือการแสดงออกมาครั้งใดผู้พูดหรือผู้แสดงออกจะอยู่ในตำแหน่งที่เหนือกว่า ดีกว่า แต่คู่สนทนาขาดทุนหรือมีความรู้สึกไม่สบายใจทันที เป็นจุดยืนที่ไม่ค่อยไว้เนื้อเชื่อใจใคร มีสภาวะจิตแบบเด็กที่ชอบสงสัย มีความเชื่อมั่นในตนเองมากเกินไป ไม่ค่อยเป็นมิตร หยิ่งยะโส อหังการ กร่าง ไม่เปิดเผยจริงใจ ประเมินค่าตนเองสูง ชอบให้ความใส่ใจทางลบ มีความขุ่นเคืองใจ ตัวอย่างการสื่อสารที่แสดงออกถึงจุดยืนแบบนี้ เช่น

      _คุณทำงานไม่ได้มาตรฐานที่ผมกำหนดเลย

      _ ทำไมเธอไม่ทำตามที่ครูบอกเลย

      _คุณซื้อรถมาใหม่หรือผ่อนส่งมาซีท่า ระวังนะรถผ่อนส่งเปิดแอร์เท่าไรก็ยังร้อน

3.ตัวเราแย่  คนอื่นแน่ (   I’m not O.K.You ‘re O.K.)การพูดหรือการแสดงออกมาครั้งใด ผู้้พูดหรือผู้แสดงออกจะเป็นฝ่ายขาดทุนหรือเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที แต่คู่สนทนาจะได้รับการยอมรับ หรือการได้รับการยกย่อง ได้รับเกียรติ เป็นจุุดยืนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองตำ่ ปรับตัวแบบถอยหนี ขาดความมั่นใจ ความคิดริเริ่มน้อย แนวโน้มมีความเครียดสูง ให้ความใส่ใจทางบวก 

           ตัวอย่างการสื่อสารที่แสดงออกถึงจุดยืนแบบนี้

            _ผมอยากเป็นคุณจังเลย แต่ผมไม่สามารถทำได้

            _เธอซื้อรถใหม่หรือ โชคดีจังเลย ฉันสามีจนนะ ชาตินี้ทั้งชาติไม่มีโอกาสซื้อรถได้แน่

 4.ตัวเราก็แย่ คนอื่นก็แย่( I’m not O.K. You ’re not O.K.) การพูดหรือการแสดงออกมาบางครั้ง หาคนโชคดีไม่ได้เลย เสียความรู้สึกทั้งผู้ฟังและผู้พูด มีสภาวะจิตบกพร่องเป็นผู้แพ้ หมดหนทางจนมุม ขาดพลังใจ มีภาวะกดดัน ไม่กล้าแสดงออก ยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต ขาดความคิดริเริ่ม คนขวางโลก รั้น ให้และรับความใส่ใจทางลบ ตัวอย่างการสื่อสารที่แสดงออกถึงจุดยืนแบบนี้ เช่น

            _ตายจริง ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร คุณก็ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ทำไมถึงยุ่งยากเช่นนี้นะ

            _ซื้อรถใหม่หรือผ่อนส่งมาใช่ไหม ชาตินี้ทั้งชาติ ฉันคงไม่มีโอกาส

           ผู้บริหารแบบ “ตัวเราก็แน่ คนอื่นก็แน่” จัดเป็นผู้บริหารแบบ winner  Abe Wagnerนักจิตวิทยาการบริหารได้ประมวลลักษณะของผู้บริหารแบบนี้ไว้ในหนังสือ The transactional manager ไว้ดังนี้ 

      1.สร้างภาพลักษณ์ที่ดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง

      2.มีเจตนาที่ดีต่อผู้อื่น เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรี

      3.มีความรับผิดชอบที่จะทำงานให้สำเร็จได้

      4.เป็นผู้ที่ทำงานเป็นระบบ มีการวางแผนงาน

      5.ผู้บริหารคือผู้สอนงาน และสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      6. กล้าแสดงออกได้อย่างเหมาะสมต่างสถานะการณ์ สิ่งใดที่ต้องใช้เวลาก็จะอดทนได้

      7. มีความคาดหวังเกี่ยวกับคนและงานอย่างสมเหตุสมผลและคงเส้นคงวา สามารถยืดหยุ่นได้เมื่อจำเป็น

      8.เมื่อต้องปะทะสังสรรค์กับผู้อื่น จะระมัดระวังและไวต่อความรู้สึกของคนอื่น

      9.กล้าแสดง “ความไม่ชอบใจ” และความชื่นชมให้คนในหน่วยงานได้ทราบ 

      10.เห็นอกเห็นใจ เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ตลอดจนเป็นที่พึ่งผู้อื่นได้

      11.ให้คำชมเชยแสดงพฤติกรรมที่ชื่นชมแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา

      12.ยอมรับพฤติกรรมของตนเอง บางทีอาจแสดงออกไม่เหมาะสม ยอมรับว่าบางครั้งก็ทำผิดพลาดได้พร้อมที่จะเอ่ยปากขอโทษหรือเสียใจ

      13.กล้ารับว่า บางเรื่องตนเองก็ไม่รู้คำตอบ

 

     14.สามารถใช้รูปแบบภาวะผู้นำได้หลายรูปแบบ ตามความกล้าและความชำนาญของผู้ใต้บังค้บบัญชาคือสามารถกำกับก็ได้ มอบสิทธิอำนาจให้โดยเด็ดขาดก็ได้ตามความเหมาะสม

     15.ให้เกียรติผู้ร่วมงาน และผู้บังคับบัญชาในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและความรับผิดชอบในงาน 

    เราสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้บริหารที่มีคุณลักษณะครบดังกล่าวได้ ถ้าเราหมั่นฝึกฝนตนเอง

      TA :ข้อเสนอแนะสำหรับชีวิตที่มีความสุข

    1.มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีมีคุณค่าน่านับถือมาตั้งแต่เกิด ดังนั้นการเกี่ยงข้องสัมพันธ์กับบุคคลต้องใช้วิธีการที่นิ่มนวล อารมณ์มั่นคง ให้การยอมรับนับถืออย่างจริงใจว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่า

    2.การมองเห็นข้อบกพร่องของผู้อื่นนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ขณะเดียวกันมักจะมองข้ามข้อบกพร่องของตนเอง ต้องถามตัวท่านเองว่า  ฉันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้ฉันได้รับการตอบสนองอย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้นกว่าเดิม

     3. ถ้าสมควรจะต้องแสดงความโกรธ ความกลัว ความเศร้าและความอบอุ่น ถ้าเหมาะสมกับกาลเทศะก็เป็นเรื่ิองที่ทำได้

     4.ท่านต้องรับผิดชอบ ความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมของท่าน แต่มิใช่จะไปรับผิดชอบต่อความคิด ความรู้สึกของผู้อื่น จำไว้ว่า ไม่มีบุคคลใดที่จะบันดาลให้ใครมีความสุขหรือความทุกข์ได้ จงรับผิดชอบต่อการตอบสนองที่ท่านแสดงต่อผู้อื่นหรือเหตุการณ์ ท่านเพียงแต่สามารถเชื้อเชิญให้ผู้อื่นมีความสุข

      5.การมีชีวิตแบบ “ ที่นี่และเดี๋ยวนี้” เรียนรู้จากอดีตและมีความรู้สึกที่ดีเกี่ยวกับอดีตแต่ก็ไม่โทษตนเองในการกระทำความผิดพลาดในอดีต  ความมั่นคงในอนาคตนั้นเกิดจากมั่นคงในปัจจุบัน

      6.แทนที่ท่านจะคาดเดาใจผู้อื่น จงถามความต้องการเขาตรงๆดีกว่าพยายามที่จะเดาว่าเขาต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้และต้องการให้การตัดสินของท่านอยู่บนพื้นฐานของตนเองว่าท่านต้องการอะไร ต้องการทำอะไร

       7.ถ้าท่านสามารถทำอะไรได้ และเป็นที่รักของผู้อื่นได้ ท่านก็สามารถจูงใจผู้อื่นที่มีความสามารถและมีความน่ารักมาทำงานร่วมกับท่านได้

         มนุษย์แสวงหาความใส่ใจทุกรูปแบบ แต่จะเกิดแรงจูงใจเฉพาะความใส่ใจที่เขาต้องการเท่านั้น ความใส่ใจที่มีแรงจูงใจ ต้องมีเหตุผล เมื่อผลการปฏิบัติงานได้มาตรฐานตามที่สมาชิกได้ร่วมกันกำหนดไว้ วัดผลตามวัตถุประสงค์  ผู้บริหารที่มีประสิทธิผลจะกำหนดวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนและวินิจฉัยรูปแบบการให้ความใส่ใจอย่างเหมาะสมกับงานและองค์การตลอดจนมีส่วนร่วมของบุคลากร

    1.Abe Wagner,Transactional manager (Englewood Clift:prentice Hall,1987,pp.167_168.     

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 353309เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2010 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

  • มาอ่านแล้วได้รับความรู้มากมายเลยค่ะ
  • ครูอ้อย จะนำไปใช้ ในการจัดการเรียนรู้นะคะ

I'am O.K. You're O.K too.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท