เรื่องเล่าระหว่างวันที่ ๑๒ - ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓


 

๑๘  เมษายน  ๒๕๕๓

เรียน  เพื่อนครูและผู้บริหารที่รักทุกท่าน

วันจันทร์ที่ ๑๒  เมษายน  ๒๕๕๓   เป็นวันเปิดทำการเพียงวันเดียวของสัปดาห์นี้ เพราะเป็นช่วงสงกรานต์ที่หยุดติดต่อกันตั้งแต่พรุ่งนี้ไปจนถึงวันอาทิตย์  สำหรับผู้ที่จะเดินทางไกลไปต่างจังหวัดเริ่มเดินทางตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา  วันนี้จึงดูเงียบเหงา ขึ้นทำงานเอกสารเพียงไม่นานก็เสร็จสิ้น มีผู้ปกครองมาติดตามเรื่องที่เรียนของลูก บอกเขาไปตามตรงว่ายังไม่ทราบผล เพราะผู้อำนวยการโรงเรียนไปต่างประเทศ  และเมื่อกลับมาแล้วก็ไม่แน่ใจว่าผลจะออกมาอย่างไร สำหรับโรงเรียนที่เขตจัดสรรให้คงไม่ใช่เป้าหมายของผู้ปกครองเหล่านี้  บ่ายเดินทางไปศูนย์การค้ามาบุญครอง ปทุมวัน การเดินทางสะดวกกว่าวันอื่นในรอบปี  สาเหตุอาจเนื่องมาจากใกล้ราชประสงค์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงมาชุมนุมกันอยู่ ประกอบกับคนออกต่างจังหวัดกันมาก ถนนจึงโล่ง ที่จอดรถว่าง อยากให้เป็นอย่างนี้ตลอดปี ใช้เวลาทำภารกิจจนเย็นจะกลับเข้าสำนักงานคงไม่ทัน จึงเลยไปหาหนังสืออ่านที่ร้านซีเอ็ด เดอะมอลล์งามวงศ์วาน ที่นี่ก็ทำนองเดียวกัน  อ่านหนังสือเขาฟรีไปหลายเล่มได้ศัพท์ที่ใช้บนเครื่องบินมาหลายคำ ที่เคยพบเห็นเวลาเดินทางโดยเครื่องบิน หากรู้ความหมายก็พอเอาตัวรอดได้ เพราะช่วงปิดภาคเรียนครูเราหลายท่านเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือท่องเที่ยวในต่างแดน จึงนำศัพท์ใกล้ตัวมาเสนอเป็นการทบทวนความจำ หรือประเภทรู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม เช่น Airline terminal อาคารสายการบิน Airline representative ตัวแทนสายการบิน Check-in counter ที่เช็คตั๋ว Arrival and departure monitors จอแสดงตารางบินขาเข้าและขาออก Gate ประตูขึ้นเครื่อง  Boarding area บริเวณที่จะขึ้นเครื่อง  Control tower หอควบคุม  Cockpit ห้องนักบิน Seat number เลขที่นั่ง Aisle seat ที่นั่งติดทางเดิน   Window seat   ที่นั่งติดหน้าต่าง  Pilot นักบิน  Co-pilot ผู้ช่วยนักบิน Flight attendant พนักงานเครื่องบิน Oxygen mask หน้ากากออกซิเจน  Airsickness bag ถุงใส่อาเจียน   Overhead bin  ช่องเก็บของเหนือศีรษะ   Landing  ลงจอด    Take-off  บินขึ้น Tray table โต๊ะถาดสำหรับวางของ  Aisle  ทางเดิน  Row แถว   Exit row แถวติดทางออกฉุกเฉิน  Domestic flight  เที่ยวบินภายในประเทศ  International flight     เที่ยวบินระหว่างประเทศ  Passenger  ผู้โดยสาร   Airline ticket     ตั๋วเครื่องบิน  Carry-on  กระเป๋าถือติดตัว   Head phones  หูฟัง Economic class  ชั้นประหยัด  First class  ชั้นหนึ่ง  Baggage claim area ที่รับกระเป๋า  Luggage carrier รถเข็นกระเป๋า  Customs ด่านศุลกากร  Customs officer เจ้าหน้าที่ศุลกากร declaration form แบบฟอร์มแสดงรายการที่ต้องเสียภาษี  buy your ticket ซื้อตั๋ว check your bags ตรวจกระเป๋า go  through security ผ่านเครื่องตรวจความปลอดภัย นอกจากจะมีตัวหนังสือแสดงไว้ยังมีเครื่องหมายให้พอสังเกตได้ว่าหมายถึงอะไร คนส่วนใหญ่ก็จะเดินไปตามลูกศรชี้ทาง  การเดินทางโดยเครื่องบินควรถึงสนามบินก่อนเวลา ๒ ชั่วโมงเพื่อความไม่ประมาท ไม่ว่าจะเดินทางเดี่ยวหรือเป็นหมู่คณะ สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอ “เราจะตกเที่ยวบิน” ไม่ได้เด็ดขาด

วันอังคารที่ ๑๓  เมษายน ๒๕๕๓  วันนี้เป็นหยุดสงกรานต์วันแรก หากไม่พูดถึงวันสงกรานต์ก็ดูจะไม่ทันสมัย  สมัยเด็ก ๆ ปักษ์ใต้จะเรียกวันสงกรานต์ว่า “วันว่าง” ย่าเคยอธิบายว่าช่วงสงกรานต์เป็นการเปลี่ยนราศี หากพูดภาษาการเมืองคงหมายถึงคณะรัฐมนตรีของเทวดากำลังเปลี่ยนชุดใหม่ ชุดเก่าก็หยุดปฏิบัติหน้าที่ ชุดใหม่ก็ยังไม่เริ่มงาน จึงว่างเทวดา หากใครไปทำงานทำการที่เสี่ยงอันตรายทั้งหลายก็ไม่มีเทวดาคุ้มครองในช่วงนี้  คนส่วนใหญ่จึงงดทำงาน ไปวัดทำบุญ หรือชมการละเล่น ซึ่งก็มักจัดกันที่วัดประจำตำบล  ขนมหลักในช่วงเทศกาลสงกรานต์สมัยนั้นมีข้าวต้มใบกะพ้อ หรือข้าวต้มหาง และข้าวหลาม ก่อนสงกรานต์ ๑ วัน เกือบทุกบ้านก็เผาข้าวหลามกัน หรือทำข้าวต้มหางอย่างใดอย่างหนึ่ง  ไม่นิยมทำพร้อมกัน ๒ ชนิด เพราะจะยุ่งยากมาก  ที่วัดบางปีก็มีมโนราห์มาแสดงให้ชม พวกเราเด็ก ๆ ก็ไม่ค่อยชอบดูมากนัก อยากซื้อปืนฉีดน้ำที่แม่ค้ามาวางขาย ราคาตั้งแต่ ๑ บาทจนถึง ๑๐ บาท ตามคุณภาพ  ในป่าช้าหลังวัดก็จะมีวงไฮโล กุ้งหอยปูปลา ให้นักการพนันทั้งหลายไปเสี่ยงโชคกันแบบเปิดเผย จนชาวบ้านเหมาว่าเป็นเรื่องของประเพณี ขาดไม่ได้ มาเลิกไปเมื่อไม่นาน เพราะฝ่ายบ้านเมืองไม่ยอมและจับกุมทั้งเจ้ามือและนักการพนัน  การรดน้ำมักจะไปรดคนเฒ่าคนแก่จริง ๆ แต่ไม่ได้เน้นมากนัก นิยมนำข้าวหลามข้าวต้มหางไปมอบไปฝากเสียมากกว่า หากนับถือกันถึงขนาด ก็ซื้อผ้านุ่งผ้าห่มไปมอบกันในวันนี้   ตอนที่เรียนระดับมัธยมศึกษา มาเป็นเด็กวัด จำได้ว่าในช่วงสงกรานต์ที่วัดต้องเปิดห้องในกุฏิสำหรับเก็บข้าวหลามและข้าวต้มหางที่ชาวบ้านนำมาถวายพระ พวกเราก็ได้อาศัยกินไปหลายวัน  เมื่อเรียนจบทำงานทำการกันแล้ว พวกเราได้อาศัยช่วงสงกรานต์นัดพบปะสังสรรค์เพื่อนร่วมรุ่น ในโรงเรียนที่เคยเรียนกันมา หรือร้านอาหารหารเฉลี่ยค่าอาหารกัน จนเดี๋ยวนี้มีกรรมการรุ่นผลัดเปลี่ยนกันไป  ในหมู่ญาติที่ร่วมนามสกุลก็นัดหมายรวมญาติกัน หมุนเวียนกันไป เคยไปร่วมได้ครั้งเดียว ทำให้รู้สึกว่า ญาติเยอะมาก ๆ ไหว้กันไม่จบไม่สิ้นและก็จำกันไม่หวาดไหว เพราะมาจากหลายจังหวัด ชื่อสกุลเหมือนกันแต่ไล่กันไม่จนว่าต้นขั้วอยู่ตรงไหน เอาเป็นว่าเราเป็นญาติกันต้องรักสามัคคีกัน  การเดินทางไปร่วมงานสงกรานต์ในช่วง ๔ – ๕ ปีที่ผ่าน เป็นความลำบากและอันตราย เพราะถนนเต็มไปด้วยยวดยาน และมักพบเห็นอุบัติเหตุเป็นระยะ ๆ เจ็บบ้างตายบ้างทุกปี  แรงบันดาลใจที่จะเดินทางในเทศกาลนี้จึงถอยลงตามลำดับ  อาศัยวันหยุดยาวดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ และเที่ยวดูสรรพสินค้าตามห้างต่าง ๆ ให้ปลอดโปร่งสมอง เพราะเป็นช่วงเวลาที่กรุงเทพฯโล่งที่สุด

วันพุธที่ ๑๔  เมษายน ๒๕๕๓   วันนี้เป็นวันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันพุธ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 เวลา 07 นาฬิกา 19 นาที 19 วินาทีนางสงกรานต์ทรงนามว่า มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนม เนย พระหัตถ์ขวาทรงเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จยืนมาเหนือหลังคัสพะ (ลา) เป็นพาหนะ โบราณทำนายว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ผลไม้จะแพง พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก นางสงกรานต์ยืนมา จะทำให้เกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้  ตำราทางล้านนาทำนายว่าถ้ามหาสงกรานต์ตรงกับวันพุธ ปีนั้นฝนบ่ตกทั่วเมือง หัวปีมีมาก กลางปีน้อยข้าวในนาจะได้ครึ่งเสียครึ่ง ของบริโภคจะแพง ขุนนางขุนเมืองจะตกต่ำ คนเกิดวันศุกร์มีเคราะห์ คนเกิดวันจันทร์และวันเสาร์มีโชค  นี่ว่ากันตามคำโบราณประโยชน์สูงสุดของคำทำนายจะช่วยให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เป็นกุศโลบายที่แยบยลเกิดจากวิสัยทัศน์ของบรรพบุรุษ หากใครคิดเถรตรงเอาตามหลักวิทยาศาสตร์ก็จะหาประโยชน์อันใดมิได้จากคำพยากรณ์นี้

วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๓  เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ – ๒๕๓๔ ผมรับราชการที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ยุคนั้นหลวงพ่ออุตตมะจำพรรษาอยู่ที่วัดวังก์วิเวการาม พวกเรามีโอกาสปรนนิบัติพัดวีและนวดแขนนวดขาให้ท่านเสมอ ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงาม ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อขาว จากวัดวังก์วิเวการามแยกไปอีก 1 กิโลเมตร จะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แบบพุทธคยา มีลักษณะฐานเป็น รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้ว หัวแม่มือขวาขนาดเท่าเมล็ดข้าวสาร บริเวณใกล้เจดีย์มีร้านจำหน่าย สินค้าจากพม่าหลายร้าน จำพวกผ้า แป้งพม่า เครื่องไม้ ราคา ย่อมเยา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมีการจัดงานคล้าย วันเกิดหลวงพ่ออุตตมะ ในงานมีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วย พิธีกรรมทางศาสนา การแข่งขันชกมวยคาดเชือก การแสดงของ ชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่น การรำแบบมอญ การรำตงของชาว กะเหรี่ยง และในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบ วัฒนธรรมของชาวไทยรามัญและจัดเตรียมสำรับอาหาร ทูนบนศีรษะไปถวายพระสงฆ์ที่วัดส่วนในวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปีวัดวังก์วิเวการาม หรือวัดหลวงพ่ออุตตมะที่ชาวบ้านเรียกชื่อ ตามผู้ก่อตั้งแห่งนี้จะกลาย เป็นศูนย์กลางของประเพณีสงกรานต์ของชาวมอญ ในตอนเช้า เราจะเห็นภาพพุทธศาสนิกชนชาวมอญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่งกายแบบชาวมอญ บนศีรษะของแต่ละคนมีถาดภัตตาหารหรือ ของใช้ต่างๆที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปทำบุญถวายวัด เดินเรียงราย กันเป็นริ้วขบวนสวยงามยาวสุดลูกหูลูกตา การก่อเจดีย์ทราย ที่นี่นั่นจะมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากที่อื่นคือองค์ใหญ่ และจะก่อเป็นชั้นๆบนยอดจะนิมนต์พระ มาปักธงประดับในช่วงเวลากลางวัน มีการละเล่นสะบ้าและการแสดงรื่นเริง เช่น การฟ้อนรำต่าง ๆในวันสุดท้ายของสงกรานต์ ชาวบ้านจะออกไปร่วมกันสรงน้ำ พระโดยเริ่มจากการสรงน้ำพระพุทธรูป และเจดีย์ก่อน จากนั้น จึงมาสรงน้ำพระภิกษุและสามเณรทั้งวัด การสรงน้ำนี้จะสรงแบบ อาบทั่วทั้งตัวเลย ทั้งลูกเล็กเด็กแดงหนุ่มสาวเฒ่าแก่จะเทน้ำ ลงไปในรางไม้ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อการนี้ โดยเฉพาะรางไม้นี้ทำจาก ไม้ไผ่ผ่าครึ่งตามยาว มีความยาวเพื่อให้เกิดเป็นทางน้ำ วางเรียงราย ลักษณะคล้ายพัด ซึ่งแต่ละรางอาจจะมีสาขาแตกออกไป เพื่อให้ การสรงน้ำเป็นไปอย่างทั่วถึง รางน้ำเหล่านี้จะไหลลงที่จุดเดียวกัน พระสงฆ์ก็จะไปสรงน้ำอยู่บริเวณนั้น เมื่อสรงน้ำพระเสร็จ ชาวบ้านจึงนำน้ำที่เหลือจากการสรงน้ำพระมาเล่นสาดน้ำสนุกสนานโดย ไม่ถือสาหาความกันปัจจุบันคนมอญจากสองฝั่งประเทศยังคงหลั่งไหลมาร่วม งานสงกรานต์ประจำปีที่วัดวังก์วิเวการามกันคับคั่ง สะท้อนให้เห็น ว่าสายสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ของชนชาติมอญยังคงดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าพวกเขาและเธอจะเกิดในฝั่งไทยหรือฝั่งพม่า แต่ทุกคน ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น“คนมอญ”ที่ยังพูดคุยและสืบทอดวัฒนธรรมเดียวกัน นี่ก็เป็นประเพณีสงกรานต์แบบมอญที่เคยสัมผัสมา

วันที่ ๑๖ เมษายน  ๒๕๕๓  วันนี้ได้รับบัตรเชิญจากเพื่อนร่วมรุ่นปริญญาตรี มศว ประสานมิตร ให้ไปเป็นเกียรติงานมงคลสมรสของลูกสาว บัตรเชิญระบุว่าเป็นการจัดเลี้ยงแบบค็อกเทล  (  The  Cocktail  Party)  เคยไปงานลักษณะนี้มาหลายครั้ง จึงขอนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาเล่าสู่กันฟัง การจัดเลี้ยงแบบค็อกเทลเหมาะที่จะใช้จัดเลี้ยงกับแขกจำนวนมาก ๆ  เหมาะกับแขกในสังคมอีกระดับหนึ่งที่นิยมพบปะพูดคุยได้สะดวก  ในระหว่างรับประทานอาหาร  และไม่มีโต๊ะสำหรับนั่งรับประทานอาหารโดยเฉพาะ  จะมีเพียงโต๊ะจัดวางอาหาร  เวลาที่นิยมจัดเลี้ยงจะเริ่มระหว่างเวลา  ๕ โมงเย็นถึง  ๓  ทุ่ม  เหมาะสำหรับโอกาสพิเศษ  เช่น  งานเปิดบริษัท  ร้านค้า  งานแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ  งานมงคลสมรส  แนะนำสิ้นค้าใหม่  ต้อนรับผู้บริหารคนใหม่  อำลาผู้บริหาร  หรือฉลองความสำเร็จในโอกาสต่าง ๆ  งานเลี้ยงค็อกเทลส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ  2  ชั่วโมง เนื่องจากมีเวลาสั้นและแขกหมุนเวียนเข้าออกมาก  อาหารที่ใช้จะเลือกอาหารประเภทคานาเป้และออร์เดิฟ  และการจัดโต๊ะจะจัดแบบบุฟเฟ่ต์  การจัดเลี้ยงแบบนี้เพื่อพบปะพูดคุยกัน  ไม่มีเก้าอี้ให้แขก  แขกจะจับกลุ่มคุยกัน  เดินไปมาเพื่อคุยกัน  อาหารที่ใช้ควรเลือกอาหารที่รับประทานง่ายเป็นชิ้น ๆ หรือเป็นคำ ๆสะดวกในการรับประ ทานใช้มือหยิบจัดได้สะดวก  สะอาดไม่ต้องใช้ช้อนหรือส้อม  เลือกอาหารที่คล้าย ๆ  กัน  เช่น  คานาเป้ แซนวิชเปิดหน้า  อาหารทะเล  เช่น  กุ้งบาบีคิว เนื้อปั้นก้อน  ฯลฯ  อาหารประเภทเนื้อสัตว์ควรจิ้มด้วยไม้จิ้มเพื่อให้แขกจับได้สะดวกไม่เปื้อนมือ  จัดจำนวนให้เพียงพอ  โดยคิดคำนวณมาว่า  1  คนจะเสิร์ฟกี่อัน  สำหรับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์  อย่างน้อยควรมี  3  อย่าง  เช่น  ยิน  หรือ วอด ก้า  สก๊อตเบอร์เมิ้น  และควรมีรัมสำหรับผสม  นอกจากมีเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์แล้วควรจะมีเครื่องดื่มสำหรับผู้หญิง  เช่น  พั้นซ์   (Punch)  เหล้าเวอร์มูธ  (Vermouth)  น้ำมะนาวเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องดื่มผสมกับเหล้าอื่น ๆ  ได้ดี   ตัวอย่างอาหารแบบค็อกเทลสำหรับงานเลี้ยง  แห้วพันเบคอน  หมูกับขิง  ไส้กรอกกับมัสตาร์ด  เนื้อปั้นก้อนปรุงรส  หมูย่างแบบจีน  เนื้อย่างแบบเกาหลี  ฮังกาเลียนค็อกเทล  กุ้งกับเครื่องเทศ  กุนเชียงกับผัก  ลูกชิ้นปลาปรุงรส  สับปะรดเนยแข็ง  ขนมปังเนยแข็ง  พิซซ่าหน้าเนยแข็งและแฮม  แซนด์วิชหน้าแฮม  แซนด์วิชหน้าไก่อบ  แซนด์วิชเนยแข็ง แซนด์วิชไข่ต้ม  แซนด์วิชม้วนไส้ปลาซาร์ดีน  คานาเป้หน้าไข่ปลาคาร์เวีย  คานาเป้หน้ามะพร้าว คานาเป้หน้ากุ้ง  คานาเป้หน้าปู  ฯลฯ  เลือกอาหารได้ตามความเหมาะสมกับผู้รับประทาน  แต่ถ้าเป็นค็อกเทลก่อนอาหารกลางวัน  อาหารที่ใช้ควรเป็นพวกคานาเป้  และเครื่องดื่มอ่อน ๆ  ที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์  เช่น  น้ำผลไม้  พั้นซ์  คานาเป้จัดเพียง  2-3  อย่าง เล่ามาดูว่าจะยุ่งยาก ความจริงโรงแรมหรือร้านบริการจัดเลี้ยงเขาจะดำเนินการให้เราได้ทุกรูปแบบ เจ้าภาพเตรียมตัว เตรียมแขกและเตรียมสตางค์ไปจ่าย รับรองว่างานเลี้ยงจะประทับใจและสมเกียรติอย่างง่ายดาย

วันเสาร์ที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๓  ในฐานะสมาชิกเมืองปทุมธานีได้อ่านตำนานตุ่มสามโคก ทำให้ทราบที่มาที่ไปตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ในตำบลสามโคก ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ...... " นานมาแล้วมีมอญสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ แมะกะลอย คนน้องชื่อ แมะกะเล็ด ทั้งสองคนเคยมีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาสืบมาแต่รามัญประเทศ ได้อพยพหลบภัยมาอยู่ยังแผ่นดินสยามประเทศ อยู่ที่บ้านสามโคก ทั้งสองคนได้ช่วยกัน ขุดดินเป็นเนินถมเป็นโคกให้สูงขึ้นพ้นฤดูน้ำหลากสองโคก และได้ก่อเตาเผา หม้อ ไห เตา ตุ่มโคกหนึ่งเป็นของผู้พี่แมะกะลอย โคกสองเป็นของน้องชื่อแมะกะเล็ด กิจการของทั้งสองพี่น้องเจริญรุ่งเรืองมีเรือมารับซื้อรับขายกันมากมาย เพื่อนำไปขายยังหัวเมืองต่างๆ ครอบครัวและหมู่บ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ต่อมาแมะกะเล็ดได้ทำตัวเสเพล ไม่ขยันประกอบกิจการ คบคนพาลเป็นมิตร ไม่สนใจประดิษฐ์คิดปั้น และควบคุมการผลิต จนเป็นผลให้ลูกค้าต่างหลีกหนี ไม่นิยมซื้อเครื่องปั้นดินเผา จึงเกิดจิตใจริษยากิจการของพี่ชายที่นับวันแต่จะเจริญยิ่งขึ้น คืนหนึ่งแมะกะเล็ดได้รวบรวมสมัครพรรคพวกอันธพาลของตนกลุ่มหนึ่งแล้วลอบเข้าไปเผาทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายแมะกะลอยพินาศวอดวายสิ้น ผู้เป็นพี่นั้นสุดจะแค้น และเสียใจที่น้องมาทำกับตนดั่งโจรเข้าปล้นทำลายล้าง แต่ก็ตัดใจได้มิได้คิดอาฆาตร้ายหรือตอบโต้แต่อย่างไร กลับคิดมีมานะรวบรวมกำลังขุดแต่งโคกขึ้นใหม่ให้อยู่ใกล้บ้านตน เพื่อสะดวกในการดูแลและก่อตั้งเตาเผาขึ้นใหม่ เอาใจใส่ประดิษฐ์คิดปั้น มิช้ามินานกิจการก็เจริญรุ่งเรืองกว่าเดิม แมะกะเล็ดผู้น้องผู้มีจิตริษยาและหลงผิดคิดว่าทำลายเตาเผาตุ่มของพี่ชายเสียแล้วกิจการของตนคงเจริญ กลับตรงกันข้ามฐานะกลับตกต่ำลง ลูกค้าต่างหลีกหนี ได้รับความยากลำบาก ขาดมิตรคบค้าสมาคมด้วยก็สำนึกผิด คิดขึ้นมาก็ละอายแก่ใจ ในวาระสุดท้ายก็ต้องย้ายถิ่นไปอยู่ที่อื่น "  ตุ่มสามโคก นั้นรู้จักกันทั่วไปมีใช้กันทุกครัวเรือน ใช้เป็นตุ่มน้ำดื่มน้ำใช้ ล้างชาม ล้างเท้า ใส่ข้าวสาร มีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความต้องการ ขนาดใหญ่ปากกว้าง ๓๓-๓๖ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๒๙-๓๑ ซ.ม. สูง ๕๕-๖๕ ซ.ม. ขนาดเล็กปากกว้าง ๒๖-๒๙ ซ.ม. เส้นผ่าศูนย์กลางคืน ๓๔-๓๗ ซ.ม. ก้นโอ่ง ๑๘-๒๑ ซ.ม. สูง ๒๖-๓๐ ซ.ม. ตุ่มสามโคกนี้ชาวรามัญเรียกว่า " อีเลิ้ง " มีลักษณะเนื้อดินสีแดงเหมือนอิฐหรือสีมันปู เนื้อภาชนะตุ่มค่อนข้างหนารูปทรงปากโอ่งแคบ คอโอ่งจะติดกับไหล่ มีลายยืดเป็นเส้นคู่ตรงไหล่ กลางป่องกลม รูปทรงเตี้ยป้อม ปากและก้นโอ่งมีขนาดใกล้เคียงกัน ดังมีสำนวนเปรียบเทียบคนที่มีร่างกายอ้วนท้วมสมบูรณ์ว่า อ้วนเหมือนตุ่มสามโคก ลักษณะพิเศษของตุ่มสามโคกคือเมื่อใส่น้ำไว้ดื่ม จะเก็บรักษาความเย็นของน้ำได้ดี เนื่องจากเนื้อดินเผาไม่เคลือบน้ำยา น้ำจึงซึมซับจับเนื้อดินไว้ดีเก็บความเย็นไว้ได้ดีเหมือนมีตู้เย็นไว้ใช้ในบ้าน ในสมัยกรุงธนบุรี (พ.ศ. ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ชาวมอญเมืองสามโคกได้นำอ่าง กระทะ เตา อีเลิ้ง ตุ่มสามโคก ล่องเรือไปขายยังเมืองบางกอก ตามคูคลองต่างๆ ส่งผลให้กลายเป็นหมู่บ้าน ตลาดและคูคลองตามสินค้าที่นำไปขาย เช่น คลองโอ่งอ่าง ตลาดนางเลิ้ง ตั้งแต่สืบนั้นมา ต่อมาภายหลังชาวรามัญเมืองสามโคกได้เลิกร้างการผลิตไปโดยย้ายไปผลิตที่เกาะเกร็ด เมืองนนทบุรี ชาวรามัญที่เกาะเกร็ดได้ขยายการผลิตตุ่มสามโคกขึ้นเป็นจำนวนมาก และได้นำไปขายขึ้นล่องตามลำน้ำไปทั่วทุกภาค ลักษณะตุ่มสามโคกที่เกาะเกร็ดนั้นมีการตกแต่งปากและไหล่ของตุ่มเป็นเกลียวเชือก ลายกลีบบัว ลายเครือเถา ลายกนก รูปทรงของตุ่มเพียงสูงขึ้น ป่องกลางน้อยลง เทคนิคการผลิตดีขึ้น สามารถผลิตตุ่มขนาดใหญ่ๆ ได้ ปัจจุบันนี้หาดูตุ่มสามโคกของเก่าได้ที่วัดสิงห์ วัดสามโคก และตุ่มสามโคกขนาดใหญ่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ตามบ้านเรือนนั้นหาอยู่ได้น้อยมาก คงเหลือตุ่มสามโคก เตาปากเกร็ด และจะหมดไปในที่สุดด้วยวิวัฒนาการทางเทคนิคของโอ่งดินเผาเคลือบผิวน้ำหนักเบาของช่างปั้นชาวจีน ซึ่งได้รับความนิยมจนติดตลาดการค้าแทนตุ่มสามโคก "โอ่งมังกร " เมืองราชบุรี ซึ่งชาวมอญเมืองสามโคกรับมาขายสืบต่อแทนตุ่มสามโคกจนถึงปัจจุบัน

 วันอาทิตย์ที่ ๑๘  เมษายน  ๒๕๕๓ ถือเป็นวันทำงานวันแรกหลังจากหยุดมาหลายวัน เริ่มจากเดินทางไปโรงเรียนคลองบ้านพร้าว เพื่อเปิดอบรมครูการใช้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ และการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา เครือข่ายที่ ๓ อำเภอเมืองปทุมธานี เป็นเจ้าของโครงการ ท่าน ผอ.นันทนิจ เที่ยงพูนโภค โรงเรียนวัดเปรมประชากร เป็นแม่งาน ได้บรรยายพิเศษประมาณ ๓๐ นาที ลาเจ้าภาพเดินทางไปอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อร่วมพิธีเปิดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ปีการศึกษา ๒๕๕๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นประธานพิธีเปิดในช่วงบ่าย ผมไปถึงก่อนเที่ยงจึงเดินชมการออกร้านของโรงเรียนต่าง ๆ อย่างทั่วถึงมีโรงเรียนในสังกัดมาออกร้านขายอาหารหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนคลองหนึ่ง(แก้วนิมิต) ทำข้าวหมกไก่ฮาลาน โรงเรียนวัดเทียนถวาย ทำข้าวไข่เจียวทรงเครื่อง  โรงเรียนวัดโพธิ์เลื่อน ขายข้าวแช่ โรงเรียนผลาหาร ก็จำหน่ายของกินเหมือนกัน โรงเรียนปทุมวิไล ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพรับผิดชอบการประกวดเพลงลูกทุ่ง ใช้เวทีหลางประกวด  พิธีเปิดเริ่มประมาณ ๑๕ นาฬิกา เป็นการเปิดงานที่เรียบง่ายกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่บรรยากาศก็ดูคึกคักมีชีวิตชีวา ผลงานนักเรียนที่นำมาแสดงและจำหน่าย ล้วนน่าสนใจและน่าภูมิใจในผลผลิตของครูเรา

 

 กำจัด  คงหนู

ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑

หมายเลขบันทึก: 352613เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2010 18:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ได้ความรู้ในหลาย ๆ เรื่อง ขอบคุณครับ

ขอขอบคุณท่านเขตที่ให้ขวัญและกำลังใจในการทำงานที่ตั้งใจทุ่มเทเสียสละ

ขอขอบพระคุณที่ท่านมองเห็นคุณค่าในการทำงานของผม ไม่นึกว่าจะมีผอ.เขตฯ

อย่างท่านหลงเหลืออยู่ในวงการศึกษา ขวัญและกำลังใจที่ท่านให้ผมสัญญาจะไม่ทำ

ให้ท่านและหน่วยงานทางการศึกษาผิดหวัง ในตัวผมของกระผมครับ

เชื่อแล้วครับ ว่าฟ้ามีตา

ดิฉันเป็นบุคคลที่สอบผ่านการคัดเลือกบรรจุครูผู้ช่วยเขต1เอกวิทย์ฯ อยากขอความอนุเคราะห์ท่านผอ.เขตให้เรียกบรรจุเอกวิทย์ช่วงเปิดเทอมนี้เยอะๆนะคะ ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้บรรจุและได้ไปทำงานร่วมกับท่าน หวังเช่นกันว่าฟ้าจะต้องมีตาคะ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าคะ

สวัสดีคะ ท่านกำจัด ดูกิจกรรมในวันหยุดของท่านแล้วดูท่านสบาย ๆ ดี ก็ขอให้สุภาพท่านแข็งแรงตลอดไปเพื่อพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยต่อไป ดิฉันเป็นบุคคลหนึ่งที่สอบติดไว้ เอกประถมศึกษา ในเลขที่ 20 กว่า ๆ แต่ไม่มีการบรรจุเลย อยู่เลขที่ 7 มาปีกว่าแล้ว ขอบอกว่าเอกประถมสามารถสอนได้เกือบทุกวิชาในระดับประถม ขอรับรอง และส่วนใหญ่จะมีประสบการณ์จากครูเอกชนเกือบทั้งสิ้น ถ้าท่านจะพิจารณาดูก็ขอขอบคุณมากค่ะ

จากผู้รอคอย... 24/4/53

ขอบคุณที่แบ่งปันกำลังใจมาให้โรงเรียนเล็กได้ ๑ ขั้นค่ะ

น่าจะแบ่งปันกำลังใจให้กับโรงเรียนใหญ่ที่ขาดแคลนครูบ้าง ???? สอนห้องละ 5-10 คน น่าจะต่างกับห้องละ 35-40นะ

ตรวจงานนักเรียน ก็ใช้เวลามาก แล้วต้องทำให้นักเรียนทุกคนอ่านออกเขียนได้ คิดเลขได้ ทำผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยให้สูง

ปัจจุบันต้องมีผลสัมฤทธิ์เฉลี่ยดี 8 สาระ

โรงเรียนไหนทำได้ น่าจะพิจารณาเป็นพิเศษนะ.....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท