พ่อแม่ระวังถูกหลอก เพราะหลงเชื่อฝากสายสะดือ "ธนาคารสเต็มเซลล์"


พ่อแม่ระวังถูกหลอก เพราะหลงเชื่อฝากสายสะดือ "ธนาคารสเต็มเซลล์"

นักวิทย์สหรัฐฯ ออกโรงเตือนพ่อแม่ที่หวังดีต่อลูก ยอมจ่ายแพงให้ธนาคารสเต็มเซลล์ เพื่อฝากสเต็มเซลล์จากสายสะดือเด็กแรกเกิด หวังเป็นหลักประกันสุขภาพลูกน้อยในวันข้างหน้า ดีไม่ดีอาจตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้สูญเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะยังไม่มีงานวิจัยในปัจจุบัน ยืนยันชัดว่ารักษาโรคด้วยสเต็มเซลล์ได้ผลดีจริง
       
       สถานพยาบาลหลายๆ แห่งในหลายประเทศ มีการดำเนินกิจการธนาคารสเต็มเซลล์ เพื่อให้บริการรับฝากเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ (stem cell) จากสายสะดือของทารกแรกเกิด สำหรับใช้รักษาโรคร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคตข้างหน้า ทว่ายังไม่มีข้อมูลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุแน่ชัดว่าสเต็มเซลล์สามารถรักษาโรคเหล่านั้นได้ดีจริงโดยไม่มีผลข้างเคียง
       
       เอเอฟพีเปิดเผยว่า
ประเทศไทยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กทารกแรกเกิดจำนวนมาก ยอมจ่ายเงินประมาณ 120,000 บาท เพื่อฝากสเต็มเซลล์ไว้ให้ลูกหลานของตัวเอง โดยคิดว่าเป็นการซื้อหลักประกันสุขภาพไว้ให้พวกเขา
       

       ทว่า ไอร์วิง ไวสส์แมน (Irving Weissman) ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาเซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเลื่อม (
Institute of Stem Cell Biology and Regenerative Medicine) มหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford University) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า ความหวังดีของพ่อแม่ที่มีต่อลูก อาจทำให้ต้องถูกหลอกจากผู้ดำเนินธุรกิจธนาคารสเต็มเซลล์ได้โดยง่าย
       

       "สายสะดือของเด็กทารกแรกเกิด เป็นแหล่งของสเต็มเซลล์เม็ดเลือดที่มีอยู่ในระดับที่จะช่วยรักษาปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดในเด็กทารกให้เหมาะสม" เวสส์แมน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในงานประชุมวิชาการประจำปีของสมาคมเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา (American Association for the Advancement of Science: AAAS)
       
       "นอกจากนั้นยังจะได้มีเซนไคมอลเซลล์ (mesenchymal cells) ด้วย ซึ่งเซลล์ดังกล่าวมีความสามารถที่จำกัดมาก ในการทำให้เกิดแผลเป็น กระดูก และไขมัน แต่มันจะไม่สร้างสมอง ไม่ผลิตเม็ดเลือด ไม่ก่อให้เกิดเนื้อเยื่อหัวใจ ไม่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อโครงร่าง หรือแม้อะไรก็ตามที่มีการกล่าวอ้าง" เวสส์แมน กล่าว
       
       นักวิทยาศาสตร์ด้านชีววิทยาเซลล์ต้นกำเนิดกล่าวอีกว่า แพทย์ที่ดำเนินการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการกันในประเทศที่มีกฎระเบียบทางด้านการแพทย์ไม่ดีพอ ทว่าเอเอฟพีกลับพบเว็บไซต์ของธนาคารสเต็มเซลล์ในประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปและในสหรัฐฯ
       
       "พวกเขาทำการรักษาคนไข้ ต่อจากนั้นก็เปิดโอกาสให้คนไข้ได้ดำเนินการรักษาต่อไปโดยที่พวกเขาเป็นเจ้าของไข้ เว้นแต่ว่าทางครอบครัวผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้อาจต้องเสียค่าใช้จ่าย 50-150,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,650-5,000,000 บาท) สำหรับการรักษาที่ไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าผิด" เวสส์แมน กล่าว
       
       ทั้งนี้ ในเดือน เม.ย. นี้ สมาคมสเต็มเซลล์นานาชาติ (International Stem Cell Society) จะตีพิมพ์ต้นฉบับรายงานเกี่ยวกับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ เช่น ธนาคารรับฝากสเต็มเซลล์จากสายสะดือทารกแรกเกิดเพื่อใช้รักษาโรคในอนาคต
       
       อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทย ได้มี "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมวิชาชีพเวชกรรม เรื่องการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดสเต็มเซลล์ เพื่อการรักษา พ.ศ. 2552" ซึ่งโรงพยาบาลทุกแห่งต้องหยุดใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาทุกโรค ยกเว้นโรคเลือด เนื่องจากสเต็มเซลล์ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งการโฆษณาว่าสามารถรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในทุกโรค รวมถึงการรักษาผิวหนังเพื่อความอ่อนวัย ถือว่ามีความผิด.
อ้างอิงจาก http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=17513&Key=news_research

คำสำคัญ (Tags): #สเต็มเซลล์
หมายเลขบันทึก: 352347เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2010 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท