มรดกทางความรู้ : รากเหง้าของความรู้


การจัดเก็บความรู้เพื่อเป็นมรดกของประเทศนั้น ผู้จัดเก็บจะต้องเป็นผู้ที่ให้เกียรติความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องให้เกียรติผู้รู้

หลาย ๆ ครั้งที่นักวิชาการจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อเข้าไปถอดความรู้กับปราชญ์หรือผู้รู้นั้น ก็มักจะแบกหัวโขนที่ได้มาจากใบปริญญาในระดับต่าง ๆ แล้วไปวางทับบนความรู้ของปราชญ์หรือผู้รู้เหล่านั้น

เมื่อนักวิชาการไม่ให้เกียรติผู้รู้ก็เท่ากับเป็นการ "ดูถูกความรู้" ดังนั้นเมื่อนำความรู้มาสรุป ในจิตในใจของนักวิชาการคนนั้นก็ยังกังขา สบประมาท และสามารถเกิดการพลั้งพลาดด้วยการแต่งเติม เสริมแต่ง เหยาะน้ำจิ้ม ทิ้งชูรสลงไปทำให้เสน่ห์แห่งความรู้ไทยขาดหาย มีมลทิน

การวางใจไว้ให้เป็นกลางเมื่อเราจะต้องลงไปเก็บ ไปเกี่ยวมรดกทางความรู้นั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งของนักวิชาการทุกคน

และถ้าเกิดจะพูดให้เหมาะสมในการวางคน (Put the right man in the right job on the right time) นั้น นักเรียน นักศึกษา หรือเด็ก ๆ จะเป็นบุคคลที่เหมาะสมมากที่สุดในการเข้าไปเก็บเกี่ยวมรดกทางความรู้เหล่านั้น

อาจารย์ นักวิชาการ มีกรอบ มีแนวคิดเยอะ บางครั้งไม่ได้ไปเก็บ แต่กลับกลายเป็นสอนผู้รู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้

ดังนั้น นักเรียน นักศึกษา วัยใส ๆ แววตาซื่อ ๆ รู้อย่างไรเขียนอย่างนั้น ฟังมาอย่างไร จดอย่างนั้น จึงจะเป็นผู้ที่เข้าไปนำความรู้ที่เปรียบได้ดั่งขุมพลังของชุมชนออกมาได้อย่างดีที่สุด

การกำหนดรายละเอียดของงานให้กับเด็กลงไปเก็บนั้นถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเรายิ่งกำหนดขอบเขตแคบและลึก เด็กก็จะยิ่งถอดได้ลึกแบบถึงใจมากเท่านั้น

เพราะนอกจากเราจะกำหนดให้ไปถามและฟังในสิ่งที่ผู้รู้พูดแล้ว เราสามารถแบ่งกลุ่มเด็ก ๆ ไปเก็บบริบทชุมชน สิ่งแวดล้อม ประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถบ่งบอกถึงเหตุและปัจจัยของที่มาแห่งความรู้นั้นได้

ครั้นเมื่อเราได้รู้ถึงตัวความรู้และเหตุที่มาแห่งที่มาแห่งความรู้นั้นเราจะสามารถ "เข้าใจ" ที่มาและที่ไปหรือรากเหง้าที่แท้จริงแห่งความรู้นั้น

มรดกทางความรู้ที่แท้จริง (Digital Heritage) คือ ตัวรากเหง้าแห่งความรู้ เพราะถ้าหากว่าเราจะตามไล่เก็บความรู้ทั้งโลกนี้ก็คงจะใช้เวลานับร้อย นับพันปี รวมถึงต้องใช้ Server ขนาดไหน ผู้คนอีกจำนวนมากมายมาคัดกรอง แยกประเภท และบรรจุลงในสถานที่ใด สถานที่หนึ่ง

แต่ถ้าหากเราเข้าใจรากเหง้าของความรู้ ซึ่งเปรียบเสมือนรู้ใบไม้ในกำมือหนึ่งอย่างท่องแท้และแน่จริงแล้วไซร้ ไม้ว่าใบไม้จะอยู่ในป่าใด ๆ เราก็จะสามารถล่วงรู้ได้อย่างแท้จริง...

 

หมายเลขบันทึก: 351749เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2010 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดี ครับ อาจารย์

ผมเข้ามา รดน้ำ ขอพร อาจารย์ในเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ของคนไทย นะครับ

ด้วยความเคารพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท