การเสริมพลังอำนาจกับงานสังคมสงเคราะห์


 

การเสริมพลังอำนาจกับงานสังคมสงเคราะห์

Social Work and Empowerment

โดย

Robert Adams

           

 

          Robert Adams เขียนหนังสือเรื่อง Social Work and Empowerment ครั้งแรกในปี คศ.1990 โดยใช้ชื่อว่า Self Help, Social Work and Empowerment แล้วปรับปรุงมาเป็น Social Work and Empowerment ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 ปีคศ. 2003 หนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 3 ภาคใหญ่ในแต่ละภาคมีบทย่อยๆที่เรียงลำดับความเข้าใจเกี่ยวกับการเสริมพลังอำนาจในงานสังคมสงเคราะห์ดังนี้

       ภาคแรก Adamsได้เกริ่นนำเกี่ยวกับ แนวคิด ทฤษฎี  การปฏิบัติงานเสริมพลังอำนาจโดยเริ่มจุดประเด็นเรื่องความหมายและแนวคิดการเสริมพลังอำนาจว่าเชื่อมโยงมาจากแนวคิดของกลุ่มการพึ่งตนเอง ( Self Help ) ที่บุคคล กลุ่มหรือชุมชนสามารถจัดการหรือควบคุมสถานการณ์ต่างๆในชีวิตมุ่งสู่เป้าหมายที่วางไว้ซึ่งก็คือการพัฒนาศักยภาพในการช่วยเหลือตนเอง ผู้อื่นให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ผู้เขียนสรุปว่าการเสริมพลังอำนาจเป็นแนวคิดด้านการเมืองที่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ หาหนทางการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่กดขี่ เอาเปรียบผู้คนที่ไร้พลังอำนาจ จนสามารถดำเนินการควบคุมสถานการณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่ได้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านความอ่อนแอสู่ความเข้มแข็งและยืนหยัดได้ด้วยตนเอง

       การเสริมพลังอำนาจมีความสำคัญต่อแนวคิดอื่นๆโดยเฉพาะแนวคิดประชาธิปไตยเพราะการเสริมพลังอำนาจเป็นกระบวนการเสริมสร้างใหประชาชนมีการเรียนรู้และมีส่วนร่วมในการดูแลตนเองและสังคมส่วนรวม การเสริมพลังอำนาจก่อให้เกิดการสะท้อนกลับหรือการวิพากษ์วิจารณ์อันนำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม การเสริมพลังอำนาจในงานสังคมสงเคราะห์เป็นการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนแก่บุคคล ครอบครัว และชุมชนAdamsได้ทบทวนงานเขียนของ Judith Lee ( 2001 )ที่เน้นว่าการเสริมพลังอำนาจผู้ด้อยโอกาสเป็นเสาหลักของงานสังคมสงเคราะห์โดยมีมิติที่เกี่ยวพันกัน 3 มิติคือ 1) การพัฒนาแนวคิดเชิงบวก 2) การสร้างความรู้และศักยภาพในการวิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายสังคมและความสัมพันธ์ของการเมืองที่แวดล้อมชีวิตผู้คน 3) การพัฒนาทรัพยากรและกลยุทธ์ที่มุ่งสู่เป้าหมายเพื่อตนเองและส่วนรวมพร้อมๆกัน

      ตอนท้ายของภาคแรกนำเสนอความคิดของผู้เขียนในประเด็นปัญหาของอำนาจและการเสริมพลังอำนาจซึ่งมีอยู่มากเพราะการเสริมพลังร่ำรวยแนวคิดทฤษฎีที่นำมาใช้อธิบาย มีความหลากหลายต่อมุมมองเรื่องอำนาจ ยังไม่มีข้อยุติว่าอำนาจคืออะไรอีกทั้งนักสังคมสงเคราะห์ก็ไม่ใช่ผู้มีตำแหน่งที่จะเอื้ออำนวยให้อำนาจแก่ผู้ใช้บริการเพราะนักสังคมมีอำนาจตากฏหมายและระเบียบปฏิบัติตามหน้าที่และองค์กรที่สังกัดเป็นกรอบการปฏิบัติงาน

     ภาคที่สองมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิบัติการเสริมพลังอำนาจซึ่งผู้เขียนได้เริ่มกล่าวถึงการเสริมพลังอำนาจตนเอง การเสริมพลังอำนาจบุคคลและกลุ่ม กระบวนการทำงานของกลุ่มเสริมพลังอำนาจซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

                1. การใช้อำนาจ (Authoritative) ถือได้ว่าเป็นการเสริมพลังอย่างหนึ่งในแง่ของการจัดการให้ความรู้เพื่อการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งประกอบด้วย

1.1   บทบาทผู้ชี้แนะ เป็นการช่วยเหลือที่เปิดช่องทางให้ผู้ใช้บริการได้ปฏิบัติการด้วยตนเอง กล่าวคือ ผู้ให้บริการตรวจสอบดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหา หรือสิทธิของผู้ใช้บริการที่มีอยู่แล้ว บอกหรือแจ้ง หรือทำความชัดเจนให้เขาเข้าใจ และให้เขาตอบสนอง หรือปฏิบัติการด้วยตนเองต่อสิทธิเหล่านั้น

1.2   การให้ข้อมูล เป็นการช่วยค้นคว้าหาความรู้ ข้อมูล การตีความแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องมั่นใจว่าผู้ใช้บริการ สามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และข้อมูลนั้นเป็นการเสริมสร้างพลังให้เกิดขึ้น เช่น ในกระบวนการวางแผนช่วยเหลือ แทนที่ผู้ให้บริการจะกำหนดแผนการ หรือประเมินทรัพยากรเอง แต่ให้ข้อมูลว่ามีแหล่งทรัพยากรใดบ้าง รายละเอียดข้อเด่น ข้อด้อยของแต่ละบริการ แล้วให้ผู้ใช้บริการประเมินตัวเองว่าแหล่งใดเหมาะสมกับเขา แล้ววางแผนใช้บริการด้วยตนเอง จะทำให้เขารู้สึกมีพลังในการควบคุมตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าผู้ให้บริการจัดการให้

1.3   การเผชิญหน้า เป็นการค้นหาและยกระดับการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดทางทัศนคติ หรือพฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่ผู้ใช้บริการมิได้คาดคิดว่าเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา การให้เขายอมรับด้วยวิธีการเผชิญหน้ากับความจริงอาจทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด หรือท้าทาย แต่เมื่อมีการยอมรับและตระหนักรู้แล้วจะทำให้เกิดความรับผิดชอบและเป็นพลังอันยิ่งใหญ่

             2.  บทบาทเอื้ออำนวย  การใช้บทบาทผู้เอื้ออำนวยเป็นการสร้างเสริมพลังให้แก่ผู้ใช้บริการชัดเจนกว่าบทบาทผู้ชี้แนะ ซึ่งการเอื้ออำนวยนี้อาจดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดได้หลายแนวคิด เช่น Cognitive Work, Radical Therapy, Family Therapy, Brief Therapy, Transactional Analysis, Existential Social Work หรืออีกหลายๆ แนวคิดส่วนมากใช้การให้บริการปรึกษา หรือวิธีการอื่นที่คล้ายคลึงเพื่อ เพิ่มพลังความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการและส่งเสริมให้เขาพิทักษ์สิทธิตนเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง (Thompson) โดยเอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งต่อไปนี้

 2.1  การระบาย เป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการได้ระบายอารมณ์ความรู้สึกที่อึดอัดออกไป เช่น ความโกรธ, การสูญเสีย ว่าความรู้สึกเหล่านี้แสดงออกได้ แต่ต้องทำอย่างเหมาะสม และทำให้เป็นแรงผลักดันที่จะก้าวต่อไปสู่เรื่องที่ต้องแก้ไขอื่นๆ ต่อ ไม่หมกมุ่นกับอารมณ์เหล่านั้น

 2.2   การเร่งปฏิกิริยา เป็นการสนับสนุนให้ผู้ใช้บริการค้นหาตัวตน อยู่ด้วยตนเองให้ได้ เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งในการเร่งปฏิกิริยานนี้ต้องเริ่มต้นบอก/ตกลงกันว่าเริ่มทำอย่างไร ด้วยวิธีการใด เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีการสร้างพลังตนเองมากขึ้น

 2.3   การสนับสนุน เป็นการตอกย้ำ ยืนยัน คุณค่า คุณภาพของบุคคล ส่งเสริมทัศนคติ และการกระทำที่ถูกต้องที่ผู้ใช้บริการได้กระทำแล้วว่ามีผลดี เป็นการเสริมสร้างความรู้สึก และความคิดของการพัฒนาสู่สิ่งที่ดีขึ้นให้คงอยู่และเพิ่มพูน

 2.4   การพิทักษ์สิทธิ เป็นกิจกรรมการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิเสรีภาพโดยผู้ให้บริการ การพิทักษ์คุ้มครองบุคคลที่อ่อนแอให้เขาสามารถเข้มแข็งเป็นอิสระ และไม่พึ่งพิงผู้อื่นด้วยการเสริมพลัง

 

                                 กระบวนการเสริมพลังบุคคล 

                กระบวนการเสริมพลังบุคคลจะต้องใช้ทั้งกระบวนการทางจิตวิทยา และโครงสร้างของสังคมในการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของผู้ปฏิบัติงาน และบุคคลที่ต้องเสริมพลัง กระบวนการทางจิตวิทยาจำเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่น    กระบวนการเสริมพลังของ Paulo Freire (1986) มีแนวคิดว่าการเสริมพลังผู้ที่อ่อนแอ ไร้อำนาจ จะต้องปลุกเร้าสติความรับผิดชอบ (จิตสำนึก) ด้วยการเรียนรู้ที่จะพิจารณาปัญหาในมุมมองความขัดแย้งของสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ และต้องปฏิบัติการโต้ตอบต่อความกดดัน บีบบังคับต่างๆ เหล่านั้น ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การที่จะทำให้คนมีพลังขึ้นมาด้วยการกระทำที่เป็นกิจวัตรประจำวันที่สามารถเอาชนะความอ่อนล้า อ่อนแอที่ถูกกดดัน บีบบังคับด้วยกระบวนการสนทนาโต้ตอบระหว่างประชาชนด้วยกัน การสนทนาจะทำให้เกิดการคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ ถ้าไม่มีการสนทนาก็จะไม่มีการสื่อสาร ถ้าไม่มีการสื่อสารก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ หรือการศึกษาที่แท้จริง กระบวนการศึกษาเป็นการสร้างความตื่นรู้ทางประวัติศาสตร์ของประวัติประชาชนทั่วไป เขารับรู้ความมีอยู่ของตัวตนของพวกเขา มันจึงเกิดความต้องการเข้าไปแทรกแซง เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตัวเขาเอง

                การปฏิบัติเพื่อให้เกิดการเสริมเพิ่มพลังตนเองของบุคคล ต้องการนักวิชาชีพเอื้ออำนวยให้มีการพัฒนาทักษะซึ่งเป็นวิถีของการเพิ่มพลังมีขั้นตอนดังนี้

  1. ผู้ให้บริการตระหนักและรับรู้ถึงความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการที่ต้องการการลงมือปฏิบัติ เพื่อตอบสนองความต้องการจำเป็นนั้นๆ
  2. ผู้ให้บริการต้องแบ่งปันความตระหนัก หรือการรับรู้นี้แก่สมาชิกในกลุ่ม
  3. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่มระบุ/กำหนดอุปสรรคของสมาชิกกลุ่มแต่ละคนจนครบทุกคนในกลุ่ม
  4. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่ม เจรจาต่อรองกันและตกลงกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ ซึ่งจะเป็นการวางกลยุทธ์เพื่อเอาชนะอุปสรรคในการเสริมพลังสมาชิกกลุ่มแต่ละคน
  5. ผู้ให้บริการและสมาชิกกลุ่มช่วยกันคิด และสร้างทักษะ/พัฒนาทักษะที่จำเป็นของสมาชิกกลุ่ม
  6. เมื่อสมาชิกกลุ่มรู้สึกว่าพวกเขาสามารถช่วยเหลือตนเองกันได้แล้ว ผู้ให้บริการถอนตัวเพื่อให้กลุ่มดำเนินไปด้วยตัวของสมาชิกกลุ่มเอง

                กระบวนการกลุ่มดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีการหนึ่งที่เสริมสร้างพลังของบุคคลแต่ละคนในกลุ่ม โดยการช่วยให้บุคคล/กลุ่มได้คิดผ่านสถานการณ์ที่เป็นปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ และการกระทำเช่นนี้เป็นการเชื่อมโยงโลกภายนอกที่เขามีปฏิสัมพันธ์ด้วยเข้าสู่โลกภายในจิตใจที่เขารู้สึก และรับรู้ เพื่อที่ปรับเปลี่ยนอย่างมีพลังที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันของสมาชิกในกลุ่ม

            ภาคที่ 3 กล่าวถึงความสัมพันธ์ของผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการแบบการเสริมพลังอำนาจ   ซึ่งผู้เขียนเน้นย้ำถึงการพัฒนาพลังอำนาจอย่างเท่าเทียมกันของผู้ใช้และผู้ให้บริการ   การสร้างมุมมองแง่บวก   การชี้แจงบทบาทที่ชัดเจน     การใช้ทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่น          การพัฒนาอาสาสมัครที่ใช้ชุมชนเป็นพื้นฐานในการให้บริการ

           กล่าวโดยสรุปหนังสือเล่มนี้ให้ภาพความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎี  รูปแบบและวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการเสริมพลังอำนาจซึ่งมีความหมายและการดำเนินการที่ลึกซึ้งกว่าการให้ความรู้หรือเสริมทักษะแก่กลุ่มเป้าหมายตามที่นักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่เข้าใจกัน หนังสือเล่มนี่เหมาะสำหรับนักสังคมสงเคราะห์ที่สนใจที่จะนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของตนเองเป็นอย่างยิ่ง

 

 

หมายเลขบันทึก: 350887เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2010 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะพี่โสภา

ขวัญแวะมาทักทายและเรียนรู้ด้วยค่ะ..บทบาทการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ในขณะนี้จำเป็นที่จะต้องนึกถึงการเสริมพลังทั้งในระดับบุคคลและชุมชน ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง..ชอบที่มีการแจกแจงหรือขยายบทบาทการทำงานของนักสังคมฯได้ชัดเจนและเป็นงานที่ต้องอาศัยทั้งความรู้และการปฏิบัติที่จริงจังและจริงใจจึงจะประสบผลสำเร็จได้

สวัสสดีจ๊ะขวัญ

การอ่านและการเขียนเป็นการเสริมสร้างพลังให้กับตัวเองอย่างหนึ่ง

บรรดาคนทำงานสังคมสงเคราะห์ก็ต้องสร้างและเก็บเกี่ยวแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันสม่ำเสมอนะ

เรียน อ.เจีัยบที่นับถือ

พี่ดีใจมากๆที่พบงานเขียนการเสริมพลังอำนาจกับงานสังคมสงเคราะห์ พี่กำลังหารายละเอียดเพิ่มเติม การเสริมพลังอำนาจในครอบครัว เพื่อร่วมสอนนศ.แพทย์ที่รพ.(8พย.นี้) ไมทราบว่าอ.เจี้ยบมีข้อมูลหรือเปล่าคะ และพี่เห็นด้วยที่นสค.ควรเอาแนวคิดการเสริมพลังอำนาจไปใช้ด้วย

พี่อายีสาห์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท