Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

อ.พิชัย สุขวุ่น


เมื่อจรรยาบรรณสำคัญกว่าความรู้
เมื่อจรรยาบรรณสำคัญกว่าความรู้อาจารย์พิชัย  สุขวุ่น******************************************************************************                ในโอกาสที่มหาวิทยาลัย  ได้มีหนังสือเวียนถึงอาจารย์ทุกท่านในฐานะเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้ช่วยเสนอแนะในข้อบังคับของสภามหาวิทยาลัยว่าด้วย เรื่องของจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน  ผมได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในข้อ 4 ที่ว่าด้วยจรรยาบรรณต่อตนเอง  โดยเพิ่มเติมข้อความว่า(4)    ข้าราชการพลเรือน ต้องไม่ประพฤติตนจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนวุ่นวาย ต่อตนเองและผู้อื่นในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ(5)    ข้าราชการพลเรือน  ต้องรักษาความมั่นคงทางอารมณ์ และปฏิบัติราชการด้วยความสงบเยือกเย็น(6)    ข้าราชการพลเรือน  ต้องเห็นแก่ประโยชน์ของราชการและประชาชนเป็นเบื้องต้น(7)    ข้าราชการพลเรือน  ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางวัฒนธรรมมนุษย์ผมได้เสนอเพิ่มเติมไปจำนวน 4 ข้อแต่จะได้รับการบรรจุลงในข้อบังคับของ สภามหาวิทยาลัยหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับวิธีคิดทางจรรยาบรรณของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย               ในความเห็นของผม เห็นว่าข้อบังคับนี้มีความสำคัญมากต่ออนาคตของมหาวิทยาลัยเพราะจรรยาบรรณจะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ และวิสัยทัศน์ก็จะชี้ให้เห็นว่าคิดถูกหรือคิดผิดในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย  ในอดีตนั้นเราทราบไม่ได้แน่นอนว่าวิสัยทัศน์             อันปราดเปรื่องนั้น เป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่ และถ้าผิดพลาดใครจะรับผิดชอบ  ทุกวันนี้   เราสามารถตรวจสอบวิสัยทัศน์ได้ โดยใช้นัยของจรรยาบรรณเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากกล่าวเช่นนี้ผู้อ่านคงคิดว่าเป็นเกณฑ์ที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ผมกำลังแสดงให้เห็นว่า กฎหมายเกี่ยวกับจรรยาบรรณ หรือกฎแห่งศีลธรรม  กำลังเป็นจุดมุ่งหมายของความรู้ เพราะหากความรู้ที่ไม่ได้สัมพันธ์กับระบบศีลธรรม  ก็ไม่สมควรเรียกว่าความรู้หรือแปลว่า ความรู้ที่ไม่ใช่ความรู้  จรรยาบรรณหรือศีลธรรมจึงสำคัญกว่าความรู้ที่เรามีอยู่อย่างมาก  ความรู้แบบไร้จรรยาบรรณมักจะก่อให้เกิดพิษภัยต้องผู้รู้อยู่เสมอ  เราก็สั่งสอนความรู้ชนิดนี้โดยไม่เห็นพิษภัยของมัน  ความรู้ของเรามันจึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ เช่นเดียวกับที่ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้ทัศนะว่า การศึกษาเหมือน หมาหางด้วน  ยิ่งรู้มากก็เอาตัวไม่รอดจากความทุกข์และยิ่งห่างไกลความจริงมากขึ้น หลักของจรรยาบรรณและหลักของศีลธรรมจึงเป็นการไต่อันดับของความรู้  ไปจนถึงเข้าใจความจริงชนิดที่ สูงกว่าการหาความรู้เพื่อประกอบอาชีพ แต่เป็นชนิดของความรู้ที่เข้าใจระบบของการมีชีวิตและเข้าใจว่าความรู้ชนิดใดเป็นเปลือกชนิดใดเป็นแก่นอย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องแปลก ที่มนุษย์ต้องมาร่างกติกาหรือข้อบังคับเพื่อเป็นเครื่องมือในการระงับความไม่รู้ของตัวเอง และกลัวว่าตัวเองจะควบคุมความประพฤติของตนเองไม่ได้  จึงต้องมีกฎหมายคอยควบคุม เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า มนุษย์ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองด้วยความรู้เท่าที่มีอยู่ได้  ต้องอาศัยสิ่งอื่นมาควบคุมเราอีกชั้นหนึ่ง  หากคิดถึงประเด็นนี้แล้ว  เราน่าจะไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้ใครๆได้เพราะยังควบคุมตัวเองไม่ได้  ดังนั้นจรรยาบรรณหรือศีลธรรมจึงเป็นกฎพื้นฐานเพื่อการก้าวพ้นไปสู่การเข้าถึงความจริง  โดยไม่จำเป็นต้องมีข้อบังคับของสภาคอยกำกับเมื่อนั้นเราจึงจะเรียกว่า เป็นผู้มีความรู้
หมายเลขบันทึก: 35061เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ถูกต้องมาก ๆ เลยครับ ที่จริงบุคลากรในมหาวิทยาลัยแต่ละคนเป็นคนที่มีความรู้สูง ๆ กันทั้งนั้นเลยครับ น่าจะใช้ความรู้เหล่านั้นคิดในสิ่งที่ดี ๆ ตอนไปเรียนปริญญายากกว่านี้เยอะครับ ดีใจมาก ๆ เลยครับที่อย่างน้อยก็มีอาจารย์อีกคนนึงที่มีความรักที่แท้จริงกับองค์กรที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยครับ

เห็นด้วยครับ หม่อมหลวง ปิ่น มาลากุล ก็สนับสนุนแนวคิดนี้ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท